เดอะ มาร์เชียน กู้ตาย 140 ล้านไมล์ (อังกฤษ: The Martian) เป็นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ กำกับโดยริดลีย์ สก็อตต์ เขียนบทโดยดรูว์ ก็อดดาร์ด โดยดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง เหยียบนรกสุญญากาศ เขียนโดยแอนดี เวียร์[5] นำแสดงโดย แม็ตต์ เดม่อน, เจสซิกา แชสเตนและไมเคิล เพ็นยา
เดอะ มาร์เชียน กู้ตาย 140 ล้านไมล์ | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | ริดลีย์ สก็อตต์ |
บทภาพยนตร์ | ดรูว์ ก็อดดาร์ด |
สร้างจาก | The Martian โดย แอนดี เวียร์ |
อำนวยการสร้าง |
|
นักแสดงนำ |
|
กำกับภาพ | ดาเรียส โวลสกี |
ตัดต่อ | เปียโตร สคาเลีย |
ดนตรีประกอบ | แฮร์รี เกร็กสัน-วิลเลียมส์ |
บริษัทผู้สร้าง |
|
ผู้จัดจำหน่าย | ทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์ |
วันฉาย | 11 กันยายน 2015 (TIFF) 30 กันยายน 2015 (สหราชอาณาจักร) 1 ตุลาคม 2015 (ไทย)[1] 2 ตุลาคม 2015 (สหรัฐอเมริกา) |
ความยาว | 141 นาที[2] |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | อังกฤษ |
ทุนสร้าง | 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[3] |
ทำเงิน | 630.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[4] |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโตครั้งที่ 40[6] และออกฉายที่สหราชอาณาจักรในวันที่ 30 กันยายน 2015[7] สำหรับประเทศไทย เข้าฉายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2015
เรื่องย่อ
ในปี ค.ศ. 2035[8][9] ลูกเรือของยานเอรีส III กำลังสำรวจที่ราบ Acidalia Planitia บนดาวอังคาร ซึ่งเป็นภารกิจวันที่ 18 จากทั้งหมด 31 วันบนดาวอังคาร พวกเขาพบกับพายุฝุ่นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับยานได้จึงตัดสินใจยกเลิกภารกิจ ระหว่างการอพยพ นักบินอวกาศ มาร์ก วัทนีย์ถูกชิ้นส่วนยานกระแทกจนกระเด็นหายไป เมื่อไม่พบสัญญาณชีพของวัทนีย์ ผู้บัญชาการภารกิจ เมลิสซา ลิวอิส จึงตัดสินใจออกยานเพื่อกลับไปที่ยานเฮอร์มีสที่ลอยอยู่ในวงโคจร
วัทนีย์ฟื้นขึ้นหลังมีสัญญาณเตือนออกซิเจนต่ำ เขาเดินทางไปที่แฮบ ซึ่งเป็นที่อาศัยบนดาวอังคารและทำแผล วัทนีย์เริ่มบันทึกวีดีโอและพบว่าโอกาสที่เขาจะได้รับความช่วยเหลือคือต้องรอให้ลูกเรือยานเอรีส IV มาถึงแอ่ง Schiaparelli ในอีก 4 ปีข้างหน้า วัทนีย์พบว่าเขาจะมีอาหารให้กินอีก 300 วัน จึงใช้ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ปลูกพืชจากมูลและดินบนดาวอังคารและผลิตน้ำจากการแยกไฮโดรเจนจากเครื่องยนต์ นอกจากนี้วัทนีย์ยังดัดแปลงรถสำรวจเพื่อใช้เดินทางไปยังจุดหมาย
ด้านผู้อำนวยการภารกิจ วินเซนต์ กาปูร์ ได้ตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมของดาวอังคารและพบว่าวัทนีย์ยังมีชีวิตอยู่ เขาหารือเรื่องนี้กับผู้ควบคุมการบินของยานเฮอร์มีส มิตช์ เฮนเดอร์สันและผู้อำนวยการนาซา เท็ดดี แซนเดอส์ แต่แซนเดอส์สั่งว่าอย่าเพิ่งบอกเรื่องนี้กับลูกเรือเอรีส III
วัทนีย์ออกไปค้นหายานแพทไฟน์เดอร์และดัดแปลงกล้องเพื่อใช้ติดต่อกับทีมห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL) นาซาแนะนำให้วัทนีย์ดัดแปลงรถสำรวจกับแพทไฟน์เดอร์เพื่อให้ติดต่อได้ง่ายขึ้น เมื่อรู้ว่าทางนาซายังไม่บอกเรื่องที่เขารอดชีวิตกับเพื่อนร่วมงาน วัทนีย์โกรธจัด แซนเดอส์จึงสั่งให้เฮนเดอร์สันบอกเรื่องนี้กับลูกทีมเอรีส III
เฮนเดอร์สันและผู้อำนวยการ JPL บรูซ อิง วางแผนจะส่งยานบรรจุเสบียงไปให้วัทนีย์ที่รอการมาของยานเอรีส IV ด้านวัทนีย์ประสบเหตุแฮบรั่วและระเบิด ทำให้พืชที่ปลูกไว้เสียหาย แซนเดอส์สั่งให้เร่งการผลิตยานบรรจุเสบียงโดยให้ข้ามขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัย ส่งผลให้ยานระเบิดเมื่อถูกปล่อยขึ้น
องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CNSA เสนอความช่วยเหลือให้นาซาใช้บูสเตอร์เพื่อขนส่งเสบียงไปยังดาวอังคาร แต่นักพลศาสตร์ดวงดาวของ JPL ริช เพอร์เนลล์ เสนอให้ใช้ความโน้มถ่วงช่วยในการพายานเฮอร์มีสกลับไปที่ดาวอังคาร โดยใช้บูสเตอร์ของ CNSA เติมเสบียงให้เฮอร์มีสแทน แต่แซนเดอส์ปฏิเสธแผนนี้เพราะมีความเสี่ยง เฮนเดอร์สันแอบส่งข้อมูลแผนการนี้ให้ยานเฮอร์มีส ลิวอิสและลูกเรือทุกคนตัดสินใจใช้แผนนี้
วัทนีย์ใช้เวลา 90 วันบนดาวอังคารขับรถสำรวจมาที่จุดนัดพบและดัดแปลงยานที่จะส่งเขาขึ้นไปหายานเฮอร์มีส ด้านลูกเรือยานเฮอร์มีสใช้แรงระเบิดจากการสูญเสียความดันเพื่อช่วยเร่งความเร็วแต่ก็ยังไม่พอ ลิวอิสจึงออกไปนอกยานเพื่อรอรับตัววัทนีย์ เพื่อพบว่าระยะทางยังไม่ถึงที่ต้องการ วัทนีย์เจาะถุงมือของชุดอวกาศเพื่อใช้ขับดันพาเขาไปหาลิวอิส การช่วยเหลือประสบความสำเร็จท่ามกลางความดีใจของคนทั่วโลกที่ได้ชมการถ่ายทอดสด
หลังกลับมาที่โลก วัทนีย์สอนประสบการณ์บนดาวอังคารให้กับนักบินอวกาศรุ่นใหม่ ๆ
นักแสดง
นักบินอวกาศ
- แม็ตต์ เดม่อน รับบท มาร์ก วัทนีย์
- เจสซิกา แชสเตน รับบท เมลิสซา ลิวอิส
- ไมเคิล เพ็นยา รับบท ริค มาร์ติเนซ
- เคท แมรา รับบท เบธ โจแฮนส์เซน
- เซบาสเตียน สแตน รับบท คริส เบ็ค
- แอคเซล แฮนนี รับบท อเล็กซ์ โวเกล
นาซาและนักวิทยาศาสตร์
- เจฟฟ์ แดเนียลส์ รับบท เท็ดดี แซนเดอส์
- ชูวิเท็ล เอจีโอฟอร์ รับบท วินเซนต์ กาปูร์
- ฌอน บีน รับบท มิตช์ เฮนเดอร์สัน
- แมคเคนซี เดวิส รับบท มินดี พาร์ค
- เบเนดิกต์ หว่อง รับบท บรูซ อิง
- ดอนัลด์ โกลเวอร์ รับบท ริช เพอร์เนลล์
การผลิต
ผู้อำนวยการสร้าง ไซมอน คินเบิร์ก เริ่มพัฒนาภาพยนตร์เรื่องนี้หลังจากทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์ตกลงที่จะดัดแปลงนวนิยายของแอนดี เวียร์ ในปี 2013 โดยดรูว์ ก็อดดาร์ดรับหน้าที่เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ แต่ภายหลัง ริดลีย์ สก็อตต์ได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้กำกับแทน โดยมีแม็ตต์ เดม่อนเป็นนักแสดงหลัก การถ่ายทำเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2014 และใช้เวลา 70 วัน สถานที่ส่วนใหญ่ที่ใช้ถ่ายทำคือในฮังการีและจอร์แดน
ความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์
เพื่อความถูกต้องในทางวิทยาศาสตร์ ทางผู้สร้างภาพยนตร์ได้เชิญเจมส์ แอล. กรีน ผู้อำนวยการแผนกวิทยาดาวเคราะห์ของนาซามาเป็นที่ปรึกษาภาพยนตร์[10] โดยกระบวนการที่ตัวละครใช้ผลิตน้ำและการผลิตความร้อนจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเทอร์โมอิเล็กตริกไอโซโทปรังสี (radioisotope thermoelectric generator หรือ RTG) นั้นถูกต้องตามความเป็นจริง[11] รวมถึงความเป็นไปได้ที่ตัวละครในภาพยนตร์ใช้มูลและดินบนดาวอังคารในการปลูกพืช และการอุดรอยรั่วบนชุดอวกาศ[12] อย่างไรก็ตาม พายุฝุ่นที่ปรากฏในภาพยนตร์นั้นสร้างความเสียหายได้น้อยมากในความเป็นจริง เนื่องจากความดันบรรยากาศที่ต่ำบนดาวอังคาร[13] นอกจากนี้ ดาวอังคารยังมีภูมิอากาศที่หนาวเย็นกว่าในภาพยนตร์[14]
ริดลีย์ สก็อตต์ ผู้กำกับภาพยนตร์เลือกที่จะไม่แสดงความแตกต่างของแรงโน้มถ่วงบนดาวอังคาร ซึ่งในความเป็นจริงมีค่าน้อยกว่าบนโลก 40%[15]
การตอบรับ
การตอบรับในประเทศไทย
เดอะ มาร์เชียน กู้ตาย 140 ล้านไมล์ ทำรายได้เปิดตัวในประเทศไทย 7.74 ล้านบาท[16] ระหว่างวันที่ 15-21 ตุลาคม 2015 ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ 29.43 ล้านบาท[17]
รางวัล
เดอะ มาร์เชียน กู้ตาย 140 ล้านไมล์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ:
- รางวัล American Association of Retired Persons สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ริดลีย์ สก็อตต์)[18]
- รางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แอฟริกัน-อเมริกัน (African-American Film Critics Association) สาขา Top Ten Films[19]
- รางวัลสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (American Film Institute) สาขา Top Ten Films[20]
- รางวัล Art Directors Guild Awards[21]
- สาขา Contemporary Film (อาร์เธอร์ แม็กซ์)
- สาขา Best Art Direction (สเตฟาน สเปธ)
- รางวัลเอ็มไพร์ (Empire Awards) สาขานักแสดงยอดเยี่ยม (แม็ตต์ เดม่อน)[22]
- รางวัลลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 73[23]
- Best Motion Picture – Musical or Comedy
- Best Actor – Motion Picture Musical or Comedy
- โกลเดนเทรเลอร์อะวอดส์[24]
- สาขา Best Drama
- สาขา Best Thriller Poster
- รางวัล Hollywood Film Awards สาขาผู้อำนวยการสร้าง (ริดลีย์ สก็อตต์)[25]
- รางวัลฮิวโก สาขา Hugo Award for Best Dramatic Presentation[26]
- รางวัล National Board of Review[27]
- สาขา Top Ten Films
- สาขา Best Director (ริดลีย์ สก็อตต์)
- สาขา Best Actor (แม็ตต์ เดม่อน)
- สาขา Best Adapted Screenplay (ดรูว์ ก็อดดาร์ด)
- รางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปาล์มสปริงส์ (Palm Springs International Film Festival) สาขา Chairman's Award (แม็ตต์ เดม่อน)[28]
- รางวัลพีเพิลส์ชอยส์ (People's Choice Awards) สาขา Favourite Dramatic Movie[29]
- รางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซานตาบาร์บารา (Santa Barbara International Film Festival) สาขา Artisan Award (อาร์เธอร์ แม็กซ์)[30]
- รางวัลแซทเทลไลต์ (Satellite Awards) สาขา Best Sound (Editing and Mixing)[31]
- รางวัลแซทเทิร์น สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม[32][33]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.