จากการศึกษาของนักโบราณคดีพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในแถบนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่ที่พบมากที่สุดคือหลักฐานทางวัฒนธรรมของขอมโบราณ ไม่ว่าจะเป็นทั้งปราสาทหิน ปราสาทอิฐต่างๆ หรือชิ้นส่วนโบราณวัตถุประเภทภาชนะ เครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญจริงๆ ของบุรีรัมย์นั้นจะเริ่มประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายโดยปรากฏชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา เรียกว่า เมืองแปะ
ความเป็นมานั้นย้อนกลับไปได้ถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกรุงธนบุรี ครั้งนั้นพระยานางรองคบคิดเป็นกบฏร่วมกับเจ้าโอ, เจ้าอิน และอุปฮาด เมืองจำปาศักดิ์ จึงโปรดให้รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อยังดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพไปปราบและจับตัวพระยานางรองประหารชีวิต จากนั้นสมทบกับเจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) คุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือยกไปตีเมืองจำปาศักดิ์, เมืองโขง และเมืองอัตตะปือ ได้ทั้ง 3 เมือง ประหารชีวิต เจ้าโอ, เจ้าอิน และอุปฮาด เมืองจำปาศักดิ์ แล้วเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ ใกล้เคียงให้สวามิภักดิ์ ได้แก่ เขมรป่าดง, ตะลุง, สุรินทร์, สังขะ และเมืองขุขันธ์ รวบรวมผู้คนตั้งเมืองขึ้นในเขตขอม และให้บุตรเจ้าเมืองผไทสมันต์แห่งพุทธไธสงขึ้นเป็นเจ้าเมืองคนแรก
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2440 - 2441 เมืองบุรีรัมย์ได้กลับไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมาเรียกว่า "บริเวณนางรอง" ประกอบด้วย เมืองบุรีรัมย์ นางรอง รัตนบุรี ประโคนชัย และพุทไธสง พ.ศ. 2442 มีประกาศเปลี่ยนชื่อ ในคราวนี้เปลี่ยนชื่อ บริเวณนางรองเป็น "เมืองนางรอง" มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ตั้งที่ว่าการอยู่ที่เมืองบุรีรัมย์ แต่ตราตำแหน่งเป็นตราผู้ว่าการนางรอง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "บุรีรัมย์" และเปลี่ยนตราตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2444 เป็นต้นมา จนกระทั่งสมัยปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบภูมิภาคใหม่ จึงได้ชื่อจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
- วันที่ 29 เมษายน 2460 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็น อำเภอเมืองบุรีรัมย์[1]
- วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2478 แยกพื้นที่ตำบลทะเมนชัย ตำบลตลาดโพธิ์ จากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ และตำบลยางลาว (ตำบลโคกกลางในปัจจุบัน) จากอำเภอนางรอง ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอลำปลายมาศ[2][3] และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์
- วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2479 จัดตั้งเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ในท้องที่บางส่วนของตำบลในเมือง[4]
- วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2481 ตั้งตำบลสตึก แยกออกจากตำบลดงพลอง ตั้งตำบลทุ่งวัง แยกออกจากตำบลดงพลอง ตั้งตำบลปะเคียบ แยกออกจากตำบลพระครู ตั้งตำบลร่อนทอง แยกออกจากตำบลปราสาท และตั้งตำบลหนองใหญ่ แยกออกจากตำบลปราสาท[5]
- วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2481 แยกพื้นที่ตำบลสตึก ตำบลทุ่งวัง ตำบลปะเคียบ ตำบลร่อนทอง ตำบลหนองใหญ่ และตำบลดงพลอง จากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอสตึก[6] และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์
- วันที่ 3 เมษายน 2482 ตั้งตำบลสะแกโพรง แยกออกจากตำบลบ้านบัว ตั้งตำบลเสม็ด แยกออกจากตำบลบ้านบัว ตำบลในเมือง และตำบลสวายจีก ตั้งตำบลกระสัง แยกออกจากตำบลสองชั้น และตำบลห้วยราช ตั้งตำบลลำดวน แยกออกจากตำบลห้วยราช ตั้งตำบลสามแวง แยกออกจากตำบลห้วยราช และตำบลบ้านยาง กับโอนพื้นที่หมู่ 19,20 (ในขณะนั้น) ของตำบลสวายจีก ไปขึ้นกับตำบลสองชั้น กับโอนพื้นที่หมู่ 1,7,18,19 (ในขณะนั้น) ของตำบลในเมือง ไปขึ้นกับตำบลบ้านบัว กับโอนพื้นที่หมู่ 13 (ในขณะนั้น) ของตำบลในเมือง และพื้นที่หมู่ 14 ของตำบลปราสาท ไปขึ้นกับตำบลบ้านยาง กับโอนพื้นที่หมู่ 1,5,23 (ในขณะนั้น) ของตำบลสวายจีก และพื้นที่หมู่ 8,9 ของตำบลบ้านยาง ไปขึ้นกับตำบลห้วยราช กับโอนพื้นที่หมู่ 1,22,24 (ในขณะนั้น) ของตำบลพระครู ไปขึ้นกับตำบลดงพลอง กิ่งอำเภอสตึก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ กับโอนพื้นที่หมู่ 19 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านบัว ไปขึ้นกับตำบลทะเมนชัย กิ่งอำเภอลำปลายมาศ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และตั้งตำบลลำปลายมาศ แยกออกจากตำบลทะเมนชัย[7]
- วันที่ 30 กรกฎาคม 2483 เปลี่ยนแปลงชื่อตำบลยางลาว กิ่งอำเภอลำปลายมาศ เป็น ตำบลโคกกลาง[8]
- วันที่ 21 ตุลาคม 2490 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอลำปลายมาศ และกิ่งอำเภอสตึก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอลำปลายมาศ และ อำเภอสตึก[9]
- วันที่ 24 พฤษภาคม 2492 ตั้งตำบลถลุงเหล็ก แยกออกจากตำบลพระครู ตั้งตำบลบ้านด่าน แยกออกจากตำบลปราสาท[10]
- วันที่ 1 มิถุนายน 2497 แยกพื้นที่ตำบลกระสัง ตำบลลำดวน และตำบลสองชั้น อำเภอเมืองบุรีรัมย์ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอกระสัง[11] และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์
- วันที่ 28 พฤศจิกายน 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลกระสัง ในท้องที่บางส่วนของตำบลกระสัง[12]
- วันที่ 17 ธันวาคม 2500 ตั้งตำบลเมืองไผ่ แยกออกจากตำบลกระสัง ตั้งตำบลชุมแสง แยกออกจากตำบลลำดวน[13]
- วันที่ 22 กรกฎาคม 2501 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอกระสัง[14]
- วันที่ 9 พฤษภาคม 2504 ขยายเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลในเมืองทั้งตำบล[15]
- วันที่ 11 กันยายน 2505 ตั้งตำบลคูเมือง แยกออกจากตำบลพระครู[16]
- วันที 19 มิถุนายน 2505 จัดตั้งสุขาภิบาลห้วยราช ในท้องที่บางส่วนของตำบลห้วยราช[17]
- วันที่ 6 พฤศจิกายน 2505 โอนพื้นที่หมู่ 14 (ในขณะนั้น) ของตำบลพระครู ไปตั้งเป็นหมู่ 10 ของตำบลคูเมือง[18] และเปลี่ยนแปลงเขตตำบลพระครูกับตำบลคูเมืองจากการโอนพื้นที่หมู่บ้าน
- วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2506 ตั้งตำบลตูมใหญ่ แยกออกจากตำบลถลุงเหล็ก[19]
- วันที่ 20 เมษายน 2508 ตั้งตำบลหนองตาด แยกออกจากตำบลบ้านบัว และตำบลอิสาณ[20]
- วันที่ 19 กรกฎาคม 2509 จัดตั้งสุขาภิบาลหินเหล็กไฟ ในท้องที่บางส่วนของตำบลตูมใหญ่[21]
- วันที่ 25 มิถุนายน 2511 โอนพื้นที่ตำบลปะเคียบ อำเภอสตึก ไปขึ้นกับ อำเภอเมืองบุรีรัมย์[22]
- วันที่ 11 พฤศจิกายน 2512 แยกพื้นที่ตำบลคูเมือง ตำบลปะเคียบ และตำบลตูมใหญ่ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอคูเมือง[23] และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์
- วันที่ 19 ตุลาคม 2514 ตั้งตำบลบ้านแพ แยกออกจากตำบลปะเคียบ ตั้งตำบลหินเหล็กไฟ แยกออกจากตำบลตูมใหญ่ ตั้งตำบลพรสำราญ แยกออกจากตำบลคูเมือง[24]
- วันที่ 8 สิงหาคม 2515 ตั้งตำบลโนนขวาง แยกออกจากตำบลบ้านด่าน[25]
- วันที่ 21 สิงหาคม 2518 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอคูเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอคูเมือง[26]
- วันที่ 20 พฤศจิกายน 2522 ตั้งตำบลตาเสา แยกออกจากตำบลสามแวง ตั้งตำบลลุมปุ๊ก แยกออกจากตำบลบ้านบัว ตั้งตำบลสองห้อง แยกออกจากตำบลสะแกโพรง[27]
- วันที่ 23 กันยายน 2523 ตั้งตำบลบัวทอง แยกออกจากตำบลบ้านยาง[28]
- วันที่ 2 ตุลาคม 2527 ตั้งตำบลชุมเห็ด แยกออกจากตำบลอิสาณ[29]
- วันที่ 23 ตุลาคม 2527 ตั้งตำบลสนวน แยกออกจากตำบลสวายจีก[30]
- วันที่ 12 ธันวาคม 2529 ตั้งตำบลหลักเขต แยกออกจากตำบลสวายจีก[31]
- วันที่ 6 สิงหาคม 2530 ตั้งตำบลวังเหนือ แยกออกจากตำบลปราสาท[32]
- วันที่ 27 ธันวาคม 2531 ตั้งตำบลบ้านตะโก แยกออกจากตำบลห้วยราช[33]
- วันที่ 18 ตุลาคม 2532 ตั้งตำบลสะแกซำ แยกออกจากตำบลเสม็ด[34]
- วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 แยกพื้นที่ตำบลห้วยราช ตำบลสามแวง ตำบลตาเสา ตำบลบ้านตะโก และตำบลสนวน จากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอห้วยราช[35] และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์
- วันที่ 7 กันยายน 2533 ตั้งตำบลกลันทา แยกออกจากตำบลถลุงเหล็ก[36]
- วันที่ 29 กรกฎาคม 2534 ตั้งตำบลกระสัง แยกออกจากตำบลบ้านบัว[37]
- วันที่ 13 กันยายน 2534 ตั้งตำบลโคกเหล็ก แยกออกจากตำบลสามแวง[38]
- วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535 กำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ตำบลเสม็ด ให้มีเขตการปกครองรวม 12 หมู่บ้าน[39] ตำบลห้วยราช ให้มีเขตการปกครองรวม 17 หมู่บ้าน[40] ตำบลบ้านบัว ให้มีเขตการปกครองรวม 27 หมู่บ้าน[41] ตำบลชุมเห็ด ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[42] ตำบลหนองตาด ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[43] ตำบลบ้านด่าน ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[44] ตำบลสะแกโพรง ให้มีเขตการปกครองรวม 19 หมู่บ้าน[45] ตำบลสวายจีก ให้มีเขตการปกครองรวม 16 หมู่บ้าน[46] ตำบลถลุงเหล็ก ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[47] ตำบลบ้านยาง ให้มีเขตการปกครองรวม 16 หมู่บ้าน[48] ตำบลสามแวง ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[49] ตำบลตาเสา ให้มีเขตการปกครองรวม 17 หมู่บ้าน[50] ตำบลปราสาท ให้มีเขตการปกครองรวม 15 หมู่บ้าน[51] ตำบลสองห้อง ให้มีเขตการปกครองรวม 17 หมู่บ้าน[52] ตำบลวังเหนือ ให้มีเขตการปกครองรวม 12 หมู่บ้าน[53] ตำบลอิสาณ ให้มีเขตการปกครองรวม 13 หมู่บ้าน[54] ตำบลบัวทอง ให้มีเขตการปกครองรวม 12 หมู่บ้าน[55] ตำบลพระครู ให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน[56] ตำบลโนนขวาง ให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน[57] ตำบลลุมปุ๊ก ให้มีเขตการปกครองรวม 12 หมู่บ้าน[58] ตำบลสนวน ให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน[59] ตำบลหลักเขต ให้มีเขตการปกครองรวม 10 หมู่บ้าน[60] ตำบลบ้านตะโก ให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน[61] และตำบลสะแกซำ ให้มีเขตการปกครองรวม 13 หมู่บ้าน[62]
- วันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ตั้งตำบลเมืองฝาง แยกออกจากตำบลสองห้อง[63]
- วันที่ 8 สิงหาคม 2538 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอห้วยราช อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอห้วยราช[64]
- วันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 ตั้งตำบลเมืองโพธิ์ แยกออกจากตำบลตาเสา และตั้งตำบลห้วยราชา แยกออกจากตำบลห้วยราช[65]
- วันที่ 26 มิถุนายน 2539 แยกพื้นที่ตำบลบ้านด่าน ตำบลปราสาท ตำบลวังเหนือ และตำบลโนนขวาง จากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอบ้านด่าน[66] และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์
- วันที 8 กันยายน 2550 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอบ้านด่าน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอบ้านด่าน[67]
- วันที่ 18 กรกฎาคม 2551 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลอิสาณ เป็น เทศบาลตำบลอิสาณ[68]
- วันที่ 29 กันยายน 2552 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลหลักเขต เป็น เทศบาลตำบลหลักเขต[69]
- วันที่ 21 สิงหาคม 2555 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลชุมเห็ด เป็น เทศบาลเมืองชุมเห็ด[70]
- วันที่ 23 สิงหาคม 2555 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว เป็น เทศบาลตำบลบ้านบัว[71]
- วันที่ 24 สิงหาคม 2555 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตาด เป็น เทศบาลตำบลหนองตาด[72]
- วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ยกฐานะเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เป็น เทศบาลนครบุรีรัมย์ พร้อมกับให้ยุบเทศบาลตำบลอิสาณ และรับพื้นที่บางส่วนของตำบลเสม็ด จากองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดให้ไปรวมกับพื้นที่เทศบาลนครบุรีรัมย์