คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง

อำเภอเชียงตุง

อำเภอในรัฐฉาน ประเทศพม่า จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อำเภอเชียงตุงmap
Remove ads

อำเภอเชียงตุง (ไทเขิน: ᨶᨣᩬᩁᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ; ไทใหญ่: ၸႄႈဝဵင်းၵဵင်းတုင်; พม่า: ကျိုင်းတုံမြို့နယ်) เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า มีเมืองหลักคือเมืองเชียงตุง ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงตุงด้วย อาณาเขตเกือบทั้งหมดของอำเภอตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน มีพื้นที่ประมาณ 3,500 ตารางกิโลเมตร

ข้อมูลเบื้องต้น อำเภอเชียงตุง ကျိုင်းတုံမြို့နယ်, ประเทศ ...
Remove ads

เมื่อคราวที่ประเทศไทยส่งกำลังทหารเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของประเทศเมียนมาและจัดตั้งดินแดนสหรัฐไทยเดิมขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทางราชการไทยได้กำหนดชื่อเรียกของอำเภอเชียงตุงว่า "อำเพอเมืองเชียงตุง"[2]

Remove ads

ประวัติ

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเมืองเชียงตุงได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อกันว่าในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 เมืองเชียงตุงได้ถูกปกครองโดยชาวลัวะ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 1786 จึงถูกพระญามังรายผนวกให้อยู่ภายใต้อำนาจของเมืองเชียงใหม่[3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2107 หลังจากที่เมืองเชียงใหม่เสียให้แก่พระเจ้าบุเรงนองแล้ว เจ้าแก้วบุญนำ (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨠᩯ᩠᩶ᩅᨷᩩᨬᨶᩣᩴ) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงในขณะนั้น ก็ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพม่า[4] และนับจากนั้นพม่าก็ได้เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทเหนือเมืองเชียงตุงตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

Remove ads

ลักษณะประชากร

ประชากรหลักของเมืองเชียงตุงเป็นชาวไทกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่าไทขืน โดยภาษาของชาวไทขืนจะมีคำศัพท์แตกต่างจากภาษาของชาวไทหลวงหรือไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรหลักของรัฐฉาน อยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีภาษาเขียนที่แตกต่างกัน โดยภาษาเขียนของชาวไทขืน ได้ดัดแปลงมาจากอักษรธรรมล้านนาของเชียงใหม่[5]

นอกจากนี้ประชากรของเมืองเชียงตุงยังประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์อีกมากมาย เช่น ไทลื้อ ไทหลวง ไทเหนือ ลาหู่ อาข่า พม่า ว้า ลีซอ ปะหล่อง จีน กะชีน เป็นต้น[6] ชาวอำเภอเชียงตุงส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ศาสนาอื่นที่สำคัญคือ ศาสนาคริสต์ และการนับถือผี[7]

Remove ads

ที่ตั้งและลักษณะทางภูมิศาสตร์

อำเภอเชียงตุงตั้งอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางของรัฐฉานภาคตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภออื่นดังนี้

  • ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอเมืองขากและอำเภอเมืองลา จังหวัดเชียงตุง
  • ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอเมืองลา จังหวัดเชียงตุง อำเภอเมืองยองและอำเภอเมืองพยาก จังหวัดท่าขี้เหล็ก
  • ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอเมืองพยาก จังหวัดท่าขี้เหล็ก และอำเภอเมืองสาต จังหวัดเมืองสาต
  • ทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอเมืองเป็ง จังหวัดเชียงตุง

พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองเชียงตุงเป็นพื้นที่ภูเขา มีแอ่งที่ราบขนาดใหญ่อยู่บริเวณตอนกลางค่อนไปทางเหนือ มีแม่น้ำสำคัญคือแม่น้ำขืนและแม่น้ำหลวย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง

ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 1,500 มม. ในบริเวณพื้นราบ มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อนอยู่ที่ประมาณ 38 °ซ และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยในช่วงฤดูหนาวอยู่ที่ 21 °ซ

เขตการปกครอง

สรุป
มุมมอง
Thumb
แผนที่แสดงแนวเขตตำบลของอำเภอเชียงตุง

อำเภอเชียงตุงแบ่งการปกครองออกเป็น 1 เมือง (ᩅ᩠ᨿᨦ/မြို့/Town) และ 31 ตำบล (เอิ่ง/ᩋᩮᩥ᩠᩵ᨦ/ကျေးရွာအုပ်စု/Village Tract) ได้แก่

  1. เมืองเชียงตุง (ကျိုင်းတုံ)
  2. เอิ่งกาดเต่า (ကတ်တောင်)
  3. เอิ่งกาดถ้าย (ကတ်ထိုက်)
  4. เอิ่งกาดฟ้า (ကတ်ဖ)
  5. เอิ่งดอยหลวง (လွယ်လုံ)
  6. เอิ่งดอยเหมย (လွိုင်မွေ,လွယ်မွေ)
  7. เอิ่งท่าเดื่อ (တာလေ)
  8. เอิ่งนาปอ (နားပေါ်)
  9. เอิ่งน้ำขัก (နမ့်ခတ်)
  10. เอิ่งน้ำหลวง (နမ့်လုံ)
  11. เอิ่งน้ำอิง (နမ့်အင်း)
  12. เอิ่งปางจู่ (ပန်ကြူ)
  13. เอิ่งปางมาต (ပန်မတ်)
  14. เอิ่งเป็งเต้า (ပင်းတောက်)
  15. เอิ่งเมืองกาย (မိုင်းကိုင်)
  16. เอิ่งเมืองขอน (မိုင်းခွန်)
  17. เอิ่งเมืองงอม (မိုင်းငွန်း)
  18. เอิ่งเมืองเจม (မိုင်းဇင်း)
  19. เอิ่งเมืองนอ/ผาต้า (မိုင်းနော့/ဖာတ)
  20. เอิ่งเมืองปักใต้ (မိုင်းပတ် (အောက်))
  21. เอิ่งเมืองปักเหนือ (မိုင်းပတ် (အထက်))
  22. เอิ่งเมืองปันกลาง (မိုင်းပန် (လယ်))
  23. เอิ่งเมืองลัง (မိုင်းလန်း)
  24. เอิ่งเมืองลาบ (မိုင်းလပ်)
  25. เอิ่งเมืองอิน (မိုင်းအင်း)
  26. เอิ่งยางเกี๋ยง (ယန်းကျိန်)
  27. เอิ่งยางคะ (ယန်းခ)
  28. เอิ่งยางลอ (ယန်းလော)
  29. เอิ่งวัดซาว (ဝပ်ဆောင်း)
  30. เอิ่งหนองกุ้ง (နောင်ကုန်)
  31. เอิ่งหนองตอง (နောင်တောင်း)
  32. เอิ่งห้วยก๋อย (ဟွေကွယ်)

เมืองเชียงตุง มีฐานะเทียบเท่าเทศบาลนครของประเทศไทย แบ่งเขตการปกครองย่อยลงไปเป็นแขวง (ရပ်ကွက်/Ward) โดยมีจำนวนทั้งหมด 5 แขวง[8] ซึ่งเรียกว่าเขต (ᨡᩮ᩠ᨲ) ส่วนตำบลต่าง ๆ จะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นหมู่บ้าน (ᨷ᩶ᩤ᩠ᨶ/ကျေးရွာ/Village) ซึ่งอำเภอเชียงตุงมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 718 หมู่บ้าน[9]

ข้อมูลเพิ่มเติม #, ตำบล/แขวง ...
Remove ads

การสาธารณสุข

อำเภอเมืองเชียงตุง มีโรงพยาบาล 6 แห่ง[12] ดังนี้

  1. โรงพยาบาลเชียงตุง — หรือโรงยาหลวงเชียงตุง (ᩰᩁ᩠ᨦᨿᩣᩉᩖᩅ᩠ᨦᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ) เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองเจม มีขนาด 200 เตียง เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงตุง
  2. โรงพยาบาลหมายเลข 3/300 — หรือโรงพยาบาลทหาร (တပ်မတော်စစ်ဆေးရုံ) เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองเจม มีขนาด 300 เตียง
  3. โรงพยาบาลดอยเหมย — เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ตั้งอยู่ในเขตตำบลดอยเหมย มีขนาด 16 เตียง
  4. โรงพยาบาลเมืองขอน — เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองขอน มีขนาด 16 เตียง
  5. โรงพยาบาลเมืองกาย — เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองกาย มีขนาด 16 เตียง
  6. โรงพยาบาลเจตนา (စေတနာဆေးရုံ) — เป็นโรงพยาบาลเอกชน ตั้งอยู่ในพื้นที่เขต 3 เวียงเชียงตุง มีขนาด 25 เตียง

นอกจากนี้ภายในเขตอำเภอเชียงตุงยังมีสถานบริการพยาบาลของเอกชน (คลินิก) อีกประมาณ 40 แห่ง ซึ่งเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในเวียงเชียงตุง และยังมีสถานบริการรัฐบาลระดับตำบลกระจายอยูในตำบลต่าง ๆ อย่างน้อยตำบลละหนึ่งแห่ง

Remove ads

การศึกษา

สรุป
มุมมอง

ระดับอุดมศึกษา

อำเภอเชียงตุงมีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง[13] ได้แก่

ข้อมูลเพิ่มเติม #, ชื่อ ...

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

อำเภอเชียงตุงมีโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมปลาย 15 แห่ง[14] ได้แก่

ข้อมูลเพิ่มเติม #, ชื่อ ...

การศึกษาของคณะสงฆ์

การศึกษาของขณะสงฆ์ในเมืองเชียงตุง แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ[15]

  1. ระบบการศึกษาตามจารีตของชาวไต ซึ่งเป็นระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม ไม่มีแบบแผนในการเรียนการสอนที่ชัดเจน โดยคร่าว ๆ แล้วประกอบด้วย 3 ระดับ คือ 1) ชั้นปฐมะ 2) ชั้นทุติยะ และ 3) ชั้นตติยะ ในปัจจุบันเป็นระบบการเรียนการสอนที่ไม่ได้รับความนิยมนัก จะพบได้เฉพาะในวัดไตใหญ่
  2. ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย 2 ระบบ คือ
    1. ระบบการเรียนการสอนตามหลักสูตรของรัฐบาลเมียนมา หรือ “ระบบต่าน” โดยการศึกษาจะแบ่งเป็น 10 ชั้นปี เหมือนระบบการศึกษาของฆราวาสทั่วไป เป็นหลักสูตรภาคบังคับของรัฐบาลจากส่วนกลาง ใช้ภาษาพม่าในการเรียนการสอน และมีข้อจำกัดที่ทำให้พระสงฆ์สามารถเรียนได้ถึงต่าน 5 เท่านั้น (เทียบเท่ากับระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของไทย) ทำให้เป็นระบบที่ไม่ได้รับความนิยมสำหรับชาวเชียงตุง
    2. ระบบการเรียนการสอนแบบนักธรรม เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยคณะสงฆ์เมืองเชียงตุง โดยริเริ่มมีขึ้นที่วัดราชฐานหลวงหัวข่วงใน พ.ศ.2491  ซึ่งการจัดการศึกษาโดยคณะสงฆ์เมืองเชียงตุงนี้จะครอบคลุมเฉพาะในเขตเมืองเชียงตุงและตำบลรอบนอกที่อยู่ภายใต้สำนักเรียน 9 แห่ง  ได้แก่
ข้อมูลเพิ่มเติม #, สำนักเรียน ...

การจัดการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 7 ชั้น คือ

  1. ชั้นมูล (มูลละ) — เป็นการเรียนอักขระไทเขิน การเรียนการสอนจะทำที่วัดทั่วไป แต่การสอบวัดความรู้จะทำในงานสอบธรรมที่จัดขึ้นโดยสำนักเรียนต่าง ๆ เป็นชั้นที่ประชาชนทั่วไปนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในช่วงเข้าพรรษา เพื่อสืบทอดความรู้ในภาษาไทเขิน
  2. ชั้นปฐมะ — เป็นหลักสูตรว่าด้วยการเรียนบทสวดมนต์ การสอบจะจัดขึ้นที่วัดราชฐานหลวงหัวข่วง ในงานสอบธรรมประจำปี
  3. ธรรมศึกษาชั้นต้น หรือ นักธรรมชั้นตรี — เป็นชั้นเริ่มต้นในการศึกษาระดับปริยัติธรรม
  4. ธรรมศึกษาชั้นกลาง หรือ นักธรรมชั้นโท
  5. ธรรมศึกษาชั้นปลาย หรือ นักธรรมเอก
  6. หลักสูตรวิชาบาลีไวยกรณ์เบื้องต้นและการแปลภาษาบาลี หรือ เปรียญธรรมประโยค 1-2
  7. หลักสูตรวิชาบาลีไวยกรณ์ชั้นสูงและการแปลภาษาบาลี หรือ เปรียญธรรมประโยค 5-6 — ผู้ที่ศึกษาจบชั้น 7 แล้ว จะมีคุณสมบัติเข้าไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป
Remove ads

การคมนาคม

สรุป
มุมมอง

ทางอากาศ

อำเภอเชียงตุงมีสนามบินพลเรือน 1 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองกุ้ง เป็นสนามบินภายในประเทศ

ทางบก

ถนนติดต่อระหว่างเมือง

อำเภอเชียงตุงมีถนนติดต่อระหว่างเมืองที่สำคัญดังนี้[16]

  1. ถนนมิถิลา-ตองจี-เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก — คือทางหลวงแห่งชาติหมายเลข 4 และเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียสาย 2 มีระยะทางของถนนอยู่ในเขตอำเภอเชียงตุงประมาณ 57 กิโลเมตร เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปเมืองตองจีและเมืองท่าขึ้เหล็ก โดยเส้นทางของถนนจะผ่านเข้ามาในเขตอำเภอเชียงตุงทางทิศตะวันตกที่ตำบลเมืองปันกลาง ผ่านตำบลปางจู่ ตำบลยางลอ เข้าสู่เขตเมืองเชียงตุง (ในเวียง) แล้วหักลงไปทางทิศใต้ ผ่านเขตตำบลเมืองเจม ตำบลดอยเหมย และออกจากเขตอำเภอเชียงตุงที่ตำบลยางคะ สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ มีอาทิเช่น น้ำตกปางจู่ สถานีรถไฟเชียงตุง มหาวิทยาลัยเชียงตุง อนุสาวรีย์อิสรภาพ กาดหลวงเชียงตุง กองทัพน้อยภาคสามเหลี่ยม (တြိဂံတိုင်းစစ်ဌာနချုပ်) โรงพยาบาลเชียงตุง ดอยปางควาย และดอยเหมย เป็นต้น
  2. ถนนเชียงตุง-เมืองลา — เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียสาย 3 ส่วนใต้ มีระยะทางของถนนอยู่ในเขตอำเภอเชียงตุงประมาณ 48 กิโลเมตร เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปยังเมืองลา จุดเริ่มต้นของถนนสายนี้อยู่ที่วัดพระเจ้าหลวง เมืองเชียงตุง (ในเวียง) ผ่านตำบลหนองกุ้ง ตำบลกาดฟ้า และออกจากเขตอำเภอเชียงตุงที่ตำบลยางเกี๋ยง สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ มีอาทิเช่น หนองคำ สนามบินเชียงตุง หมู่บ้านหนองเงิน และหมู่บ้านกาดฟ้า เป็นต้น
  3. ถนนเชียงตุง-เมืองขาก-เมืองยาง — มีระยะทางของถนนอยู่ในเขตอำเภอเชียงตุงประมาณ 33 กิโลเมตร เป็นเส้นทางหลักที่ใช้ในการเดินนทางไปยังเมืองขากและเมืองยาง จุดเริ่มต้นของถนนสายนี้อยู่ที่วัดพระเจ้าหลวง เมืองเชียงตุง (ในเวียง) ผ่านตำบลยางลอ ตำบลวัดซาว ตำบลกาดเต่า และออกจากเขตอำเภอเชียงตุงที่ตำบลเป็งเต้า สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ มีอาทิ หมู่บ้านกาดเต่า และ 13 หลัก เป็นต้น
  4. ถนนเชียงตุง-เมืองขอน-เมืองกก — มีระยะทางของถนนอยู่ในเขตอำเภอเชียงตุงประมาณ 32 กิโลเมตร เป็นเส้นทางหลักที่ใช้ในการเดินทางไปยังเมือขก (เมืองกก) จังหวัดเมืองสาด จุดเริ่มต้นของถนนสายนี้แยกออกจากถนนมิถิลา-ตองจี-เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก ที่บริเวณใกล้ด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบ้านยางลู ตำบลเมืองเจม เส้นทางผ่านตำบลห้วยก๋อย ตำบลน้ำอิง และออกจากเขตอำเภอเชียงตุงที่ตำบลหนองตอง สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ มีอาทิ 19 หลัก เป็นต้น
Remove ads

สถานที่ท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป

  • หนองตุง (ᩉ᩠ᨶᨦᩬᨲᩩᨦ) — เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองเชียงตุง (ในเวียง) เขต 2 เป็นจุดที่มีทัศนียภาพโล่งกว้าง มีสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมตั้งอยู่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก
  • กาดหลวง (ᨠᩣ᩠ᨯᩉᩖᩅ᩠ᨦ) — เป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดของเมือง ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองเชียงตุง (ในเวียง) เขต 1
  • หอหลวงเชียงตุงจำลอง (ᩉᩳᩉᩖᩅ᩠ᨦᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ) — เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของเมือเชียงตุง โดยจำลองแบบการก่อสร้างมาจากหอหลวงเมืองเชียงตุงหลังเก่า ที่เริ่มก่อสร้างในรัชสมัยของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงเมื่อ พ.ศ. 2448 และถูกรื้อลงใน พ.ศ 2534 อาคารหอหลวงเชียงตุงจำลองหลังนี้ตั้งอยู่ในเขต 2 ของเมืองเชียงตุง (ในเวียง) บริเวณริมหนองตุงทางทิศตะวันออก ใกล้กับตำแหน่งของหอหลวงเมืองเชียงตุงหลังเก่าที่ถูกรื้อไป มีการประกอบพิธีเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมีพลเอกอาวุโสมี่นอองไลง์ นายกรัฐมนตรีเมียนมาในขณะนั้นเป็นประธาน และ ดร. เจ้านาง หยินหยินน้อย (Yin Yin Nwe) ซึ่งเป็นนัดดาของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ได้เข้าร่วมในพิธีครั้งนี้ด้วย[17] หอหลวงเชียงตุงจำลองได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นครั้งแรกเป็นการชั่วคราว (การตกแต่งภายในยังไม่เสร็จสมบูรณ์) ระหว่างวันที่ 27 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไท ระหว่างเวลา 9.00 น. – 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศเมียนมา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  • พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม — ตั้งอยู่บนดอยจอมสัก เมืองเชียงตุง (ในเวียง) เขต 1 ติดกับพระพุทธรูปพระเจ้าชี้นิ้วดอยจอมสัก
  • น้ำตกเชียงตุง (หัวยาง) — ตั้งอยู่บริเวณบ้านหัวยาง (ᩉᩫ᩠ᩅᨿᩣ᩠ᨦ) ตำบลกาดเต่า (ᨠᩣ᩠ᨯᨴᩮᩢ᩵ᩤ) อยู่ห่างจากเมืองเชียงตุงประมาณ 16 กิโลเมตร
  • ดอยเหมย (ᨯᩭᩉᩮᩨ᩠ᨾ᩠ᨿ) — เป็นดอยสูง อยู่ห่างจากเมืองเชียงตุงประมาณ 20 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตตำบลดอยเหมย มีภูมิอากาศเย็นสบาย มีสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่หลายแห่ง ในช่วงฤดูหนาวต้นหมอกก๋อมที่ขึ้นในพื้นที่จะออกดอกจำนวนมาก เพิ่มความงามด้านทัศนียภาพในพื้นที่
  • ดอยปางควาย (ᨯᩭᨸᩣ᩠ᨦᨣᩤ᩠ᨿ) - เป็นตอยสูง อยู่ใกล้ดอยเหมย ตั้งอยู่ในเขตตำบลดอยเหมย เป็นที่ตั้งของพุทธมณฑลนครเชียงตุง มีจุดชมวิว รีสอร์ท และร้านกาแฟ หลายแห่ง
  • บ่อน้ำพุร้อนบ้านหล้าว — ตั้งอยู่ใกล้บ้านน้ำปุ่ง (ᨶᩣᩴ᩶ᨻᩩ᩵ᨦ) และบ้านหล้าว (ᨷᩢᩤ᩠ᨶᩃᩢᩣ᩠ᩅ) ตำบลดอยหลวง (ᨯᩭᩉᩖᩅ᩠ᨦ) อยู่ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร
  • 13 หลัก — เป็นหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำขืน ตั้งอยู่ในเขตตำบลกาดเต่า อยู่ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร หรือ 13 ไมล์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมในช่วงฤดูร้อน
  • 19 หลัก — เป็นจุดชมทัศนียภาพบนภูเขาสูง ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองขอน บนถนนเชียงตุง-เมืองขอน-เมืองกก ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางทิศใต้ราว 37 กิโลเมตร หรือ 19 ไมล์นับจากจุดเริ่มต้นของถนนเชียงตุง-เมืองขอน-เมืองกก
  • จุดชมทิวทัศน์พระธาตุจุ๊กเป็งฟ้า — เป็นจุดสูงสุดของยอดดอยสองแห่งที่มีทางเดินต่อเนื่องจากพระธาตุจุ๊กเป็งฟ้าขึ้นไป โดยจุดชมวิวที่สองนั้น ถือว่าเป็นจุดสูงสุดที่สามารถชมทิวทัศน์แอ่งที่ราบทางตอนเหนือของเมืองเขียงตุงได้ในมุมกว้าง

สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ในเขตเมืองเชียงตุง (ในเวียง)

  • วัดพระเจ้าหลวง (ᩅᩢ᩠ᨯᨻᩕᨧᩮᩢᩢᩣᩉᩖᩅ᩠ᨦ)
  • วัดราชฐานหลวงหัวข่วง (ᩅᩢ᩠ᨯᩁᩣᨩᨮᩣ᩠ᨶᩉᩖᩅ᩠ᨦᩉᩫ᩠ᩅᨡ᩠ᩅ᩵ᨦ)
  • วัดพระธาตุหลวงจอมคำ (ᩅᩢ᩠ᨯᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᩉᩖᩅ᩠ᨦᨧᩬᨾᨤᩴᩣ)
  • วัดพระธาตุจอมมน (ᩅᩢ᩠ᨯᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᩉᩖᩅ᩠ᨦᨧᩬᨾᨾᩫ᩠ᨶ) และต้นไม้หมายเมือง
  • วัดราชฐานหลวงเชียงยืน (ᩅᩢ᩠ᨯᩁᩣᨩᨮᩣ᩠ᨶᩉᩖᩅ᩠ᨦᨩ᩠ᨿᨦᨿᩨ᩠ᨶ)
  • วัดพระแก้ว (ᩅᩢ᩠ᨯᨻᩕᨠᩯ᩠᩶ᩅ)
  • วัดอินทบุปผาราม (ᩅᩢ᩠ᨯᩍᨶ᩠ᨴᨷᩩᨷ᩠ᨹᩣᩁᩣ᩠ᨾ)
  • วัดราชฐานหลวงป่าแดง สีหฬนัตตารามะ (ᩈᩦᩉᩊᨶᨲ᩠ᨲᩣᩁᩣᨾ ᩅᩢ᩠ᨯᩁᩣᨩᨮᩣ᩠ᨶᩉᩖᩅ᩠ᨦᨸ᩵ᩣᨯᩯ᩠ᨦ)
  • วัดเชียงจันทน์ (ᩅᩢ᩠ᨯᨩ᩠ᨿᨦᨧᨶ᩠ᨴ᩼)
  • วัดเชียงงาม (ᩅᩢ᩠ᨯᨩ᩠ᨿᨦᨦᩣ᩠ᨾ)
  • วัดหนองคำ (ᩉ᩠ᨶᨦᩬᨤᩴᩣ)
  • พระเจ้าชี้นิ้วดอยจอมสัก (ခေမာရဋ္ဌဗျာဒိတ်ပေးရပ်တော်မူဘုရားကြီး)
  • กู่เจ้าฟ้าเชียงตุง (ᨠᩪ᩵ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨼ᩶ᩣᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ) — สุสานบรรจุพระอัฐิของเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงแปดพระองค์ ตั้งอยู่ในเขต 3 ของเมืองเชียงตุง (ในเวียง) ติดถนนเซตานหลวง ใกล้ประตูป่าแดง และเนื่องจากกู่เจ้าฟ้าเชียงตุงนี้ตั้งอยู่ในบริเวณกาดหลวงเก่า จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หอเจ้าหลวงกาด” ตำแหน่งของกู่ทั้งแปดองค์เรียงไปตามลำดับดังนี้
    1. กู่องค์แรก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก (ด้านใกล้ประตูป่าแดง) ซึ่งเป็นกู่ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง เป็นกู่บรรจุพระอัฐิของเจ้าฟ้ากองไต (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨼ᩶ᩣᨠᩬᨦᨴᩱ)
    2. กู่องค์ที่สอง ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นกู่บรรจุพระอัฐิของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨼ᩶ᩣᨠᩬ᩶ᩁᨠᩯ᩠᩶ᩅᩋᩥ᩠ᨶᨳᩯ᩠ᩃᨦ) กู่ในลำดับถัดจากนั้นจะมีขนาดใกล้เคียงกันและเล็กกว่ากู่สององค์แรก
    3. กู่องค์ที่สาม เป็นกู่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้ากองคำฟู (ᩮᨧᩢ᩶ᩣᨼ᩶ᩣᨠᩬᩙᨤᩴᩣᨼᩪ)
    4. กู่องค์ที่สี่ เป็นกู่บรรจุอัฐิของเจ้ากองไทยหรือเจ้าหม่อมเชียงแขง (ᩮᨧᩢ᩶ᩣᨠᩬᩙᨴᩱ᩠ᨿ หรือ ᩮᨧᩢ᩶ᩣᩉ᩠ᨾ᩵ᨾᩬᨩ᩠ᨿᩙᨡᩯ᩠ᨦ)
    5. กู่องค์ที่ห้า เป็นกู่บรรจุอัฐิเจ้าคำแสน (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨤᩴᩣᩈᩯ᩠ᨶ)
    6. กู่องค์ที่หก เป็นกู่บรรจุอัฐิของเจ้ามหาพรหม (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨾᩉᩣᨻᩕᩫ᩠ᨾ)
    7. กู่องค์ที่เจ็ด เป็นกู่บรรจุอัฐิของเจ้ามหาขนานดวงแสง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨾᩉᩣᨡ᩠ᨶᩣ᩠ᨶᨯ᩠ᩅᨦᩈᩯ᩠ᨦ) และ
    8. กู่องค์ที่แปด ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย เป็นกู่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าชายหลวง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨼ᩶ᩣᨩᩣ᩠ᨿᩉᩖᩅ᩠ᨦ) ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์สุดท้าย กู่องค์นี้สร้างขึ้นเป็นองค์สุดท้ายและเป็นกู่องค์เดียวที่มีป้ายจารึกเป็นภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ ในขณะที่ป้ายจารึกของกู่องค์อื่นจะถูกจากรึกด้วยภาษาไทขืน (ข้อมูลถึงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2568) [18][19][20]
  • อนุสาวรีย์เจ้าฟ้ามหาขนาน — พระราชานุสาวรีย์ของเจ้าฟ้ามหาสิงหบวรสุธรรมราชา หรือเจ้าฟ้ามหาขนานดวงแสง เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 35 ตั้งอยู่ในเขต 3 ของเมืองเชียงตุง (ในเวียง) ติดถนนเซตานหลวง ตรงข้ามกู่เจ้าฟ้าเชียงตุง โดยมีการประกอบพิธีประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
  • ประตูป่าแดง — เป็นประตูเมืองหนึ่งในสิบสองประตูของเมืองเชียงตุง ตั้งอยู่ในเขต 3 ของเมืองเชียงตุง (ในเวียง) เป็นประตูเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ ปัจจุบันได้ปิดการจราจรผ่านประตูไปตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และได้ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
  • กู่เจ้านางสุวรรณา — สุสานบรรจุพระอัฐิของเจ้านางสุวรรณา (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨶᩣ᩠ᨦᩈᩩᩅᩢᨱ᩠ᨱᩣ) พระราชมารดาของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านน้อยนอ (ᨷᩢᩤ᩠ᨶᨶᩢᩭᨶᩳ) เวียงเชียงตุง
  • กูเจ้านางบัวสวรรค์ — สุสานบรรจุพระอัฐิของเจ้านาย 3 องค์ คือ เจ้านางบัวสวรรค์ (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨶᩣ᩠ᨦᨷᩫ᩠ᩅᩈᩅᩢᩁ᩠᩼ᨣ / ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨶᩣ᩠ᨦᩅᩫ᩠ᩅᩈ᩠ᩅᩢᩁ) พระธิดาของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง กับพระชายาของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงอีก 2 องค์ คือ เจ้านางแดง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨶᩣ᩠ᨦᨯᩯ᩠ᨦ) และ เจ้านางบัวทิพย์น้อย (ᩮᨧᩢ᩶ᩣᨶᩣ᩠ᨦᨷᩫ᩠ᩅᨴᩥ᩠ᨷᨶ᩶ᩭ) สุสานนี้ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุภูมมินท์ (ᩅᩢ᩠ᨯᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᨽᩪᨾᩦ᩠ᨾᨶ᩠᩼ᨴ) ซึ่งตั้งอยู่ในเขต 4 เมืองเชียงตุง (ในเวียง)

นอกเขตเมืองเชียงตุง (นอกเวียง)

  • วัดพระธาตุจอมหมอก (ᩅᩢ᩠ᨯᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᨧᩬᨾᩉ᩠ᨾᨠᩬ) — ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร
  • วัดพระธาตุป้านเมือง (ᩅᩢ᩠ᨯᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᨸ᩶ᩣ᩠ᨶᨾᩮᩨ᩠ᨦ) — ตั้งอยู่ในเขตตำบลเป็งเต้า (ᨸᩮ᩠ᨦᨴᩮᩢ᩶ᩣ) ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางทิศเหนือประมาณ 22 กิโลเมตร
  • พระธาตุจุ๊กเป็งฟ้า — ตั้งอยู่ในเขตบ้านหัวยาง (ᩉᩫ᩠ᩅᨿᩣ᩠ᨦ) ตำบลกาดเต่า (ᨠᩣ᩠ᨯᨴᩮᩤ᩵) ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางทิศเหนือประมาณ 21 กิโลเมตร ใกล้น้ำตกเชียงตุง (หัวยาง)
  • พระธาตุจอมแก้ว (ᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᨧᩬᨾᨠᩯᩢ᩠᩶ᩅ) — ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเดื่อลอเหนือ (ᨯᩮᩬᩨ᩵ᩉᩳᩉ᩠ᨶᩮᩨᩋ) ตำบลกาดฟ้า (ᨠᩣ᩠ᨯᨼ᩶ᩣ) ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางทิศเหนือประมาณ 16 กิโลเมตร
  • วัดพระธาตุเวียงไชย (ᩅᩢ᩠ᨯᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᩅ᩠ᨿᨦᨩᩱ᩠ᨿ) — ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านป่าขาม (ᨸ᩵ᩣᨡᩣ᩠ᨾ) ตำบลกาดฟ้า ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางทิศเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร
  • พระธาตุจอมดอย (ᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᨧᩬᨾᨯᩭ) — ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองลัง (ᨾᩮᩨ᩠ᨦᩃᩢ᩠ᨦ) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร เกี่ยวกับพระธาตุองค์นี้มีตำนานเล่าว่า "เมื่อครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงท้องที่แถบนี้ ประทับยืนอยู่บนดอยซึ่งปัจจุบันประดิษฐานพระธาตุจอมดอย ประชาชนแถบนั้นเป็นพวกละว้า หัวหน้าหมู่บ้านชื่อก้านอ้ายอ่อน (หรืออุ่น) กับภรรยาพากันมากราบไหว้บูชาและขอพระเกศาธาตุของพระพุทธองค์ไว้องค์หนึ่งเพื่อเป็นที่เคารพบูชา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปแล้วหลังจากนั้นก้านอ้ายอ่อนก็ร่วมกับชาวบ้านซึ่งเป็นละว้าด้วยกันมุมานะสร้างพระสถูปขึ้นองค์หนึ่งเพื่อบรรจุพระเกศาธาตุไว้ แต่เจ้าผู้ครองเชียงตุงเห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าเชื่อถือเพราะเป็นเพียงคนป่าคนดอย ที่ไหนจึงจะได้รับประทานพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้าได้ จึงห้ามมิให้สร้าง แต่ก้านอ้ายอ่อนก็ยังคงสร้างต่อไปจนสำเร็จ เจ้าครองเชียงตุงจึงนำเอาก้านอ้ายอ่อนและภรรยาไปประหารเสีย ก่อนตายก้านอ้ายอ่อนได้สาปแช่งไว้ว่า ต่อไปในอนาคตอย่าได้มีเจ้าผู้ครองเชียงตุงคนใดได้มาเคารพสักการะพระธาตุเลย หากเจ้าผู้ครองเชียงตุงองค์ใดยังขืนเสด็จขึ้นมาเคารพบูชาพระธาตุก็ขอให้เจ้าครองเชียงตุงองค์นั้นถึงแก่กาลวิบัติต่าง ๆ นานา" ทำให้ "ไม่เคยมีเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ใดเสด็จมาถึงที่นั่นสักพระองค์เดียว เพราะไม่กล้ากลัวคำสาปแช่งของก้านอ้ายอ่อน ได้แต่ส่งเครื่องบูชามาถวายแทนตัวเท่านั้น"[21]
  • หมู่บ้านหนองเงิน (ᨷᩢᩤ᩠ᨶᩉ᩠ᨶᨦᩬᨦᩨ᩠ᨶ) — ตั้งอยู่ในเขตตำบลกาดฟ้า เป็นหมู่บ้านของชาวไทเหนือ มีลักษณะพิเศษที่สถาปัตยกรรมของบ้านเรือนซึ่งทำด้วยดิน ตั้งอยู่ในเขตตำบลกาดฟ้า ห่างจากเมืองเชียงตุงประมาณ 6 กิโลเมตร เคยมีโครงการจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ แต่เนื่องจากประสบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และเหตุการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองหลังการรัฐประหารใน ค.ศ. 2021 โครงการถึงถูกชะลอออกไป
Remove ads

วัฒนธรรมประเพณี

สรุป
มุมมอง

เทศกาลประจำปี

  • เทศกาลอาบน้ำร้อน — ช่วงต้นเดือนมกราคม ที่น้ำพุร้อนบ้านหล้าว
  • เทศกาลดอกซากูระบานดอยเหมย — จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม ที่อุทยานแห่งชาติดอยเหมย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อระหว่างวันที่ 6-10 มกราคม พ.ศ. 2565
  • เทศกาลวัดกาดเก่า — จัดขึ้น ณ บริเวณที่ตั้งของกาดหลวงเดิม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเชียงจันทร์ ใกล้กู่เจ้าฟ้าเชียงตุง โดยหัวตลาดอยู่ที่วัดหัวกาด และท้ายตลาอดยู่ที่วัดราชฐานหลวงหัวข่วง แต่แรกจัดขึ้นราว 2-3 วันก่อนเทศกาลสงกรานต์ แต่ในปัจจุบันมักเลือกจัดในวันแรมเลขคี่ เดือนห้า ตามปฏิทินไทขืน ก่อนเทศกาลสงกรานต์ และตรงกับวันกาดเต่า ซึ่งจะตรงกับช่วงกลางถึงปลายของเดือนมีนาคมในแต่ละปี โดยจะมีการจัดพิธีสักการะหอเจ้าหลวงกาดพร้อมกันไปด้วย วันกาดเก่านี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันกาดเจ้าฟ้า
ข้อมูลเพิ่มเติม ปี พ.ศ., วันจัดงาน ...

หมายเหตุ — ในปี พ.ศ. 2563 แต่เดิมได้กำหนดให้มีการจัดงานวันกาดเก่าขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ทำให้มีประกาศยกเลิกการจัดงานในวันที่ 14 มีนาคม อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันที่ 16 มีนาคม ก็ยังมีผู้ค้ามาตั้งร้านขายของและมีประชาชนเข้ามาร่วมงาน ร่วมถึงมีการเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะกู่เจ้าหลวงได้ตามปกติ แต่จำนวนผู้ค้าและประชาชนที่มาร่วมงานมีน้อยกว่าในปีที่ผ่านๆ มา

  • เทศกาลตั้งธรรม — จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม
  • เทศกาลสงกรานต์ — จัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน
  • เทศกาลเข้าพรรษา — จัดขึ้นในช่วงวันเข้าพรรษา
  • เทศกาลออกพรรษา — จัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษา
  • เทศกาลกินเจ — จัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม
  • เทศกาลปีใหม่ไท — จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคม

วันกาด

วันกาดคือวันที่กำหนดให้มีการจัดตลาดนัดขึ้นภายในเวียงเชียงตุง ซึ่งเชื่อว่าเป็นธรรมเนียมที่รับมาจากจีน โดยตั้งแต่ในสมัยโบราณได้กำหนดให้มีการจัดตลาดนัดใหญ่ 5 วันต่อครั้ง ณ บริเวณกาดหลวงเดิม หรือกาดเก่า เรียกวันที่จัดตลาดนัดนี้ขึ้นว่า "วันกาดหลวง" ซึ่งมาจากคำว่า "กาด" ที่แปลว่าตลาด กับคำว่า "หลวง" ที่แปลว่าใหญ่ ส่วนอีกสี่วันที่เหลือ แม้จะไม่มีการจัดตลาดนัดใหญ่เหมือนในวันกาดหลวง แต่ก็จะยังมีผู้นำสินค้ามาขายอยู่บ้าง โดยจะมีการนับรอบวันในการจัดให้มีตลาดนัดหมุมเวียนไปดังนี้[22]

  1. วันกาดหลวง — เป็นวันที่กำหนดให้จัดตลาดนัดใหญ่ บริเวณกาดตุ๋ง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเชียงจันทร์ ใกล้สุสานเจ้าฟ้าเชียงตุง กินพื้นที่ตั้งแต่วัดหัวกาดยาวไปตามถนนจนถึงวัดหัวข่วง วันนี้จะมีผู้ค้านำสินค้ามาขายมากที่สุด และเป็นวันที่คึกคักที่สุด
  2. วันวายกาดหลวง — เป็นวันที่ไม่มีการจัดตลาดนัด แต่ยังมีผู้ค้าจำนวนเล็กน้อยที่นำสินค้ามาขาย
  3. วันกาดลี — เป็นวันที่มีการจัดตลานัด แต่จะไม่คึกคักนัก
  4. วันวายกาดลี — เป็นวันที่ไม่มีการจัดตลาดนัด แต่ยังมีผู้ค้าจำนวนเล็กน้อยที่นำสินค้ามาขาย เช่นเดียวกับวันวายกาดหลวง
  5. วันกาดข่วง — เป็นวันที่ผู้ค้าที่เตรียมตัวจะมาขายสินค้าในวันกาดหลวง ซึ่งเป็นวันถัดไป มาตั้งร้านขาย โดยจะไปกระจุกตัวตั้งร้านกันที่บริเวณวัดราชฐานหลวงหัวข่วง

ต่อมาในรัชสมัยของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง พระองค์ทรงพัฒนาปรับปรุงเมืองเชียงตุงในหลายด้าน โดยใน พ.ศ. 2478 ทรงโปรดให้สร้างกาดหลวงแห่งใหม่ คือกาดหลวงในปัจจุบัน[23] และยกเลิกการจัดตลาดนัดใหญ่ในบริเวณเดิม กาดหลวงใหม่มีลักษณะเป็นตลาดถาวรที่เปิดจำหน่ายสินค้าทุกวัน ทำให้การจัดตลาดนัดภายในเมืองเชียงตุงมีความสำคัญลดลง จนเหลือวันที่มีการจัดตลาดนัดตามธรรมเนียมนี้อยู่เพียงวันเดียว คือในวันกาดหลวง การนับวันกาดหมุมเวียนแบบเดิมจึงไม่ถูกนำมาใช้อีก แต่ก็ได้มีการสืบทอดดัดแปลงนำไปใช้งาน โดยได้มีการจัดตลาดนัดขึ้นในชุมชนใหญ่ทางทิศเหนือของเชียงตุง 4 แห่ง หมุนเวียนกันไปในช่วงที่ไม่ใช่วันกาดหลวง จนทำให้เกิดการนับรอบวันของการจัดให้มีตลาดแบบใหม่ขึ้น อันประกอบด้วย

  1. วันกาดตุง (ᩅᩢ᩠ᨶᨠᩣ᩠ᨯᨲᩩᨦ) — มีการจัดตลาดนัดที่กาดหลวง (ᨠᩣ᩠ᨯᩉᩖᩅ᩠ᨦ) ในเมืองเชียงตุง
  2. วันกาดบุ้ง (ᩅᩢ᩠ᨶᨠᩣ᩠ᨯᨷᩩᩢᨦ) — มีการจัดตลาดนัดที่บ้านกาดบุ้ง (ᨷ᩶ᩤ᩠ᨶᨠᩣ᩠ᨯᨷᩩᩢᨦ) ตำบลกาดถ้าย (ᩋᩮᩥ᩠᩵ᨦᨠᩣ᩠ᨯᨳ᩶ᩣ᩠ᨿ) เป็นตลาดนัดที่จัดให้มีขึ้นทุก 5 วัน สอดคล้องกับรอบวัดกาดมาตั้งแต่อดีต โดยผู้ค้าจะไปซื้อสินค้าจากเวียงเชียงตุงในวันกาดหลวงเพื่อมาขายที่นี่ในวันรุ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของชุมชนห่างไกลในแถบนี้ที่ไม่สะดวกจะเข้าไปซื้อสินค้าในเวียงเชียงตุง
  3. วันกาดเต่า (ᩅᩢ᩠ᨶᨠᩣ᩠ᨯᨴᩮᩢ᩵ᩤ) — มีการจัดตลาดนัดที่บ้านกาดเต่า (ᨷ᩶ᩤ᩠ᨶᨠᩣ᩠ᨯᨴᩮᩢ᩵ᩤ) ตำบลกาดเต่า (ᩋᩮᩥ᩠᩵ᨦᨠᩣ᩠ᨯᨴᩮᩢ᩵ᩤ)
  4. วันกาดถ้าย (ᩅᩢ᩠ᨶᨠᩣ᩠ᨯᨳ᩶ᩣ᩠ᨿ) — มีการจัดตลาดนัดที่บ้านกาดถ้าย (ᨷ᩶ᩤ᩠ᨶᨠᩣ᩠ᨯᨳ᩶ᩣ᩠ᨿ) ตำบลกาดถ้าย (ᩋᩮᩥ᩠᩵ᨦᨠᩣ᩠ᨯᨳ᩶ᩣ᩠ᨿ) เป็นตลาดนัดที่จัดให้มีขึ้นทุก 5 วัน สอดคล้องกับรอบวันกาดมาตั้งแต่อดีต โดยผู้ค้าจะมารับซื้อสินค้าของป่าที่นำมาขายจากพื้นที่ใกล้เคียงก่อนหน้าวันกาดหลวง 1 วัน เพื่อจะเตรียมนำสินค้าเหล่านั้นไปขายที่เวียงเชียงตุงในวันกาดหลวงซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้น และเนื่องจากจุดประสงค์ที่แตกต่างจากการจัดให้มีกาดบุ้ง จึงทำให้กาดบุ้งและกาดถ้ายถูกจัดแยกออกจากกันเป็นคนละวัน ทั้งที่ตลาดนัดทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างกันเพียงประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น
  5. วันกาดฟ้า (ᩅᩢ᩠ᨶᨠᩣ᩠ᨯᨼ᩶ᩣ) — มีการจัดตลาดนัดที่บ้านกาดฟ้า (ᨷ᩶ᩤ᩠ᨶᨠᩣ᩠ᨯᨼ᩶ᩣ) ตำบลกาดฟ้า (ᩋᩮᩥ᩠᩵ᨦᨠᩣ᩠ᨯᨼ᩶ᩣ)
ข้อมูลเพิ่มเติม ปี พ.ศ., วันกาด ...
Remove ads

อ้างอิง

Loading content...
Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Remove ads