อานาปานสติ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อานาปานสติ หมายถึง การมีความระลึกรู้ตัวในลมหายใจเข้าออก (อาน- : ลมหายใจเข้า[1] + อปาน- : ลมหายใจออก[1] + สติ : ความระลึก) อานาปานสติเป็นได้ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน บางคัมภีร์กล่าวว่าเป็นอารมณ์กรรมฐานของมหาบุรุษทั้งหลาย มีอยู่ 16 คู่ โดยเป็นกายานุปัสสนา 4 คู่ เป็นเวทนานุปัสสนา 4 คู่ เป็นจิตตานุปัสสนา 4 คู่ และเป็นธัมมานุปัสสนา 4 คู่
การกำหนดรู้ในอานาปานสติ ตั้งแต่ข้อ 1-4 เป็นการกำหนดรู้ภายในกาย จัดเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
1. หายใจออก-เข้ายาวรู้
2. หายใจออก-เข้าสั้นรู้
3. หายใจออก-เข้า กำหนดกองลมที่กระทบในกายทั้งปวง
4. หายใจออก-เข้า เห็นกองลมทั้งปวงสงบก็รู้
เมื่อเจริญอานาปานสติ จนสัมปชัญญะทั้งสี่บริบูรณ์ก็จะเกิดสติสัมโพชฌงค์ขึ้นมา เมื่อศีลวิสุทธิเกิดขึ้นเพราะศรัทธาพละและปัญญาพละสมดุลกันก็จะเกิดธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ขึ้นมา เมื่อจิตตวิสุทธิเกิดขึ้นเพราะวิริยะพละสมดุลกับสมาธิพละก็จะเกิดวิริยะสัมโพชฌงค์ขึ้น
ตั้งแต่ข้อ 5 - 8 สติเริ่มละเอียดจะจับชัดที่ความรู้สึกได้ชัดเจน จัดเรียกว่า เวทนานุปัสสนา จนสามารถแยกรูปนามออกจากกันได้ชัดเจน หรือ นามรูปปริทเฉทญาณ
5. หายใจออก-เข้า กำหนดรู้ในความรู้สึกปีติ เกิดขึ้นเมื่อบรรลุทุติยฌาน (ปีติสัมโพชฌงค์)
6. หายใจออก-เข้า กำหนดรู้ในความรู้สึกสุข เกิดขึ้นเมื่อบรรลุตติยฌาน
7. หายใจออก-เข้า กำหนดรู้ในจิตสังขารทั้งปวง
8.หายใจออก-เข้า กำหนดระงับจิตตสังขารทั้งปวง (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์)
ตั้งแต่ข้อ 9 - 12 สติเริ่มละเอียดจะจับชัดที่การรู้หรือที่อายตนะได้ดี อันเป็นวิญญาณขันธ์ได้ชัดเจน เรียกว่า จิตตานุปัสสนา จนสามารถเท่าทันในเหตุปัจจัยของรูปนามได้ชัดเจน หรือ นามรูปปัจจยปริคคหญาณ
9. หายใจออก-เข้า พิจารณาจิต
10. หายใจออก-เข้า จิตบันเทิงร่าเริงก็รู้
11. หายใจออก-เข้า จิตตั้งมั่นก็รู้ (สมาธิสัมโพชฌงค์)
12. หายใจออก-เข้า จักเปลื้องจิตก็รู้ (อุเบกขาสัมโพชฌงค์)
ตั้งแต่ข้อ 13 - 16 สติละเอียดมากจนพิจารณารูปนามเพราะปรากฏชัดอยู่ในธัมมารมณ์ (สิ่งที่เกิดขึ้นในใจหรือมนายตนะ มี 3 อย่าง คือ เวทนา สัญญา สังขาร ธรรมในความหมายนี้หมายเอาความนึกคิดซึ่งก็คือการพิจารณานั้นเอง) จัดเรียกว่า ธัมมานุปัสสนา พิจารณาเห็นว่ารูปนามเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์
13. หายใจออก - เข้า พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ในขันธ์ทั้ง 5 มีลมหายใจเป็นตัวแทนรูปขันธ์ จะพบเห็นสังขตลักษณะ (ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) ในขันธ์ทั้งห้า (สมมสนญาณ อุทธยัพพยญาณ ภังคญาณ)
14. หายใจออก - เข้า พิจารณาโดยความคลายกำหนัดในรูปนาม เห็นรูปนามเป็นสิ่งไร้ค่า (ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ)
15. หายใจออก - เข้า พิจารณาโดยไม่ยึดติดถือมั่นในรูปนามขันธ์ห้าว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะเห็นความดับไปแห่งปฏิจจสมุปบาท (มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ)
16. หายใจออก - เข้า พิจารณาสละคืนขันธ์ (สัจจานุโลมมิกญาณ โคตรภูญาณ (หรือวิทานะญาณ) มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ)
ศึกษาคำอธิบายอานาปานสติ 16 ฐานอย่างละเอียดจากพระไตรปิฎกโดยตรงที่พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค อานาปาณกถา [๔๐๑]- [๔๒๒]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.