จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อันเดรส โบนีฟาซีโอ อี เด กัสโตร (Andrés Bonifacio y de Castro) เป็นนักปฏิวัติหัวรุนแรงในการเรียกร้องเอกราชของฟิลิปปินส์จากสเปน รุ่นเดียวกับโฮเซ รีซัล และเอมีลีโอ อากีนัลโด เขาจัดตั้งสมาคมลับกาตีปูนัน (Katipunan) เพื่อต่อสู้กับสเปน ตามแผนการนั้น เขาต้องการลุกฮือขึ้นขับไล่สเปนด้วยอาวุธ แต่รีซัลไม่เห็นด้วย โบนีฟาซีโอถูกฆ่าตายเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 หลังการตายของรีซัลไม่นาน รวมอายุได้ 34 ปี ในปัจจุบัน โบนีฟาซิโอยังถือว่าเป็นวีรบุรุษแห่งมะนิลา มีอนุสรณ์สถานของเขาที่จัตุรัสลีวาซัง ถนนแมกคัลลี วันที่ 30 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันโบนีฟาซิโอเพื่อระลึกถึงเขา
อันเดรส โบนีฟาซีโอ | |
---|---|
เกิด | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406 ตอนโด, มะนิลา, ฟิลิปปินส์ |
เสียชีวิต | 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 (33 ปี) มารากอนดอน, คาวิเต, ฟิลิปปินส์ |
สาเหตุเสียชีวิต | โทษประหารชีวิต |
สัญชาติ | ฟิลิปปินส์ |
มีชื่อเสียงจาก | การปฏิวัติฟิลิปปินส์ |
พรรคการเมือง | สันนิบาตฟีลีปีนา พรรคกาตีปูนัน |
คู่สมรส | เกรโกรเรีย เด เจซุส |
โบนีฟาซิโอเกิดเมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406 ที่ตำบลตอนโดในมะนิลา ครอบครัวของเขายากจนมาก และเขาเป็นกำพร้าตั้งแต่อายุ 14 ปี ในวัยเด็ก เขาประกอบอาชีพเป็นกรรมกร และขายของเก่า รับจ้างเป็นยาม เขาจึงไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาในระบบ แต่ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้ จึงพยายามศึกษาด้วยตนเองจนอ่านออกเขียนได้ เขาได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของโฮเซ่ ริซัลเรื่องอันล่วงละเมิดมิได้ นอกจากนั้น โบนีฟาซิโอยังได้เป็นสมาชิกรุ่นแรกๆ ของสันนิบาตฟีลีปีนาที่ริซัลก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2435 แต่หลังจากนั้นไม่นาน ริซัลถูกเนรเทศไปยังเมืองอาปีตัน สันนิบาตจึงสลายตัวลง หลังจากนั้นไม่นาน โบนีฟาซิโอจึงก่อตั้งขบวนการกาตีปูนัน ขึ้นเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 โดยใช้แนวคิดของริซัลเป็นแกนหลัก
ต่อมาใน พ.ศ. 2437 โบนีฟาซิโอได้จัดประชุมสมาชิกที่เทือกเขามอนทัลบัน เพื่อวางแผนปฏิวัติ ก่อนจะกำหนดการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2439 แต่ฝ่ายกาตีปูนันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โบนีฟาซิโอหนีไปตั้งตัวที่เทือกเขามอนทันบัล แต่รัฐบาลสเปนก็ดำเนินนโยบายผิดพลาดด้วยการสั่งประหารชีวิตโฮเซ่ ริซัล ทำให้ขบวนการกาตีปูนันฟื้นตัวขึ้นมาอีก โบนีฟาซิโอยังคงจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับสเปน และจัดตั้งรัฐบาลกาตีปูนันที่ตำบลเตเฮโรส และพยายามร่วมมือกับกลุ่มชาตินิยมอื่นๆ
โบนีฟาซิโอได้ร่วมมือกับเอมีลีโอ อากีนัลโด และได้ตกลงตั้งสภาปฏิวัติใหญ่ขึ้นที่เตเฮโรส และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2439 ปรากฏว่าอากีนัลโดได้เป็นประธานาธิบดี โบนีฟาซิโอได้เป็นผู้อำนวยการทางด้านมหาดไทย แต่ก็มีผู้คัดค้านอีกทำให้เขาเสียหน้า ในที่สุดจึงถอนตัว ไม่ยอมรับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ กลุ่มของโบนีฟาซิโอกับกลุ่มของอากีนัลโดจึงต่อสู้กัน ผลปรากฏว่าโบนีฟาซิโอเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถูกจับตัวได้และถูกประหารชีวิตเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ขบวนการกาตีปูนันจึงสิ้นสุดลง
ใน พ.ศ. 2461 สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนให้ฟิลิปปินส์หาศพของโบนีฟาซิโอที่อาจจะหลงเหลืออยู่ในมารากอนดอน และมีผู้พบโครงกระดูกที่คาดว่าจะเป็นของโบนีฟาซิโอในไร่อ้อย และได้นำมาเก็บรักษาไว้ เมื่ออากีนัลโดออกมาต่อต้าน เอ็มมานูเอล เกซอน ใน พ.ศ. 2478 เกซอนได้พยายามปลุกระดมเกี่ยวกับความทรงจำถึงโบนีฟาซิโอ เพื่อต่อต้านอากีนัลโด เพราะอากีนัลโดเป็นผู้ประหารชีวิตโบนีฟาซิโอ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ญี่ปุ่นรุกรานฟิลิปปินส์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเข้ายึดครองมะนิลา กระดูกของโบนีฟาซิโอได้หายไป .[1] [2][3]
นักประวัติศาสตร์บางกลุ่ม เช่น Milagros Guerrero, Emmanuel Encarnación, และ Ramón Villegas ได้ยอมรับว่าโบนีฟาซิโอเป็นประธานาธิบดีคนแรกของฟิลิปปินส์แทนที่อากีนัลโดที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ มุมมองนี้ถือว่าโบนีฟาซีโอเป็นผู้นำของกาตีปูนันที่ได้จัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติในช่วง พ.ศ. 2439 - 2440 ซึ่งก่อนการจัดตั้งรัฐบาลที่เตเฮโรสของอากีนัลโด โดย Guerrero เขียนว่า โบนีฟาซิโอได้สร้างแนวคิดของชาติฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า Haring Bayang Katagalugan ("ชาติตากาล็อกสูงสุด") ซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยแนวคิดฟิลิปินัสของอากีนัลโด รัฐบาลที่เตเฮโรสจัดเป็น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 1 ส่วนโบนีฟาซิโอถือเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐตากาล็อก[4][5][6]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.