Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อรรถกถามูลปริยายวรรค เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ปปัญจสูทนี พระสูตรในมูลปริยายวรรคมี 10 พระสูตร ได้แก่ มูลปริยายสูตร, สัพพาสวสังวรสูตร, ธรรมทายาทสูตร, ภยเภรวสูตร, อนังคณสูตร, อากังเขยยสูตร, วัตถูปมสูตร, สัลเลขสูตร, สัมมาทิฏฐิสูตร และสติปัฏฐานสูตร ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ได้มีคำอธิบายตามลำดับ ดังนี้
อรรถกถา มูลปริยายสูตร พระสูตรนี้ว่าด้วยเรื่องราวอันเป็นมูลธรรมทั้งปวง กล่าวคือพื้นฐานของปุถุชน, ภิกษุผู้เป็นเสขะ, ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ และภูมิของพระศาสดา [1] ซึ่งผู้รจนาอรรถกถาได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความหมายของบุคคลเหล่านี้ และให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น การระบุว่า พระอนาคามี และพระขีณาสพชั้นสุทธาวาส ย่อมมีเฉพาะในเวลาที่พระพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นเท่านั้น ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้น แม้ตลอดอสงไขยกัลป ในกาลนั้น ภูมินั้นย่อมว่างเปล่า [2] พระอรหันต์นั้น ท่านเห็นโทษในความกำหนัด พิจารณาเห็นทุกข์อยู่เป็นผู้ หลุดพ้นแล้ว ด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์. ท่านเห็นโทษในโทสะ พิจารณาเห็นโดยความ เป็นของไม่เที่ยง เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยอนิมิตตวิโมกข์. ท่านเห็นโทษในโมหะ พิจารณาในความเป็นอนัตตาอยู่ เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยสุญญตวิโมกข์ [3] และการระบุว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายกับเหล่าพระสาวก ไม่มีความแตกต่างกัน ในการละกิเลส ด้วยมรรคนั้น ก็จริง ถึงกระนั้น ก็ยังมีความแตกต่างกัน ในเรื่องความรอบรู้ [4] เป็นต้น
อรรถกถา สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการสำรวมระวังอาสวะทุกชนิด [5] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ชื่อว่าอาสวะ เพราะไหลไป เพราะหมักดองอยู่นาน และอาสวะที่พึงละเพราะสังวรนั้น เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น ของโสดาปัตติมรรคและ ของมรรคทั้ง 3 เหล่านั้นทั้งหมด ทั้งนี้ พระเถระพรรณนาว่า อาสวะบางเหล่า ย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยอำนาจ การอุทเทศ (การท่องจำ) ปริปุจฉา (การสอบถาม) ปริยัติ (การเล่าเรียน) นวกรรม (การก่อสร้าง) โยนิโสมนสิการ (การพิจารณาโดยแยบคาย) (อ.สัพพาสวสังวรสูตร) [6]
อรรถกถา ธรรมทายาทสูตร ว่าด้วยผู้รับมรดกธรรม โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้เป็นผู้รับมรดกธรรม (ธัมมทายาท) อย่าเป็นผู้รับมรดกอามิส (อามิสทายาท) [7] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ภิกษุผู้เห็นแก่ ปัจจัยย่อมสิ้นเดชอับแสงระหว่างบริษัท 4 คล้ายกับถ่านไฟ ที่ดับแล้ว ส่วนภิกษุผู้มีจิตหวนกลับจากปัจจัย เป็นผู้หนักในธรรมประพฤติ ครอบงำอามิสอยู่เป็นนิตย์ ย่อมมีเดชคล้ายกับราชสีห์ [8] พร้อมกันนี้ ยังยกตัวอย่างพฤติกรรมที่เกิดจากบาปธรรม ของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาท เช่น ย่อมโกรธคนอื่นที่ได้ลาภ [9]
อรรถกถา ภยเภรวสูตร ว่าด้วยความกลัวและสิ่งที่กลัว [10] สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความที่พระองค์ว่ามีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อาชีวะ บริสุทธิ์ ไม่มีความอยากได้มาก จึงจิตตั้งมั่น มีปัญญา มิหวั่นเกรงสิ่งใด [11] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า สติมี 2 อย่าง คือ สติประกอบด้วยปัญญา สติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา สติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ย่อมหย่อนกำลัง สติที่หย่อนกำลัง จะทำหน้าที่ ของสติไม่ได้ ภิกษุหลงลืมสติ ขาดสัมปชัญญะ (ปัญญา) ย่อมไม่สามารถจะ ทำแม้เพียงการกำหนดอารมณ์ได้เลย [12] พร้อมอธิบายว่า การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สามารถกำจัดความกลัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสรณะที่เป็นโลกุตตระ ย่อมมีสามัญญผล 4 เป็นวิบาก ส่วนการถึงสรณะ ที่เป็นโลกิยะ ย่อมมีภพสมบัติ และโภคสมบัติ เป็นผล [13]
อรรถกถา อนังคณสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้ไม่มีกิเลส กล่าวคือ บุคคลทั้งหลายแบ่งเป็นพวกที่ไม่รู้ตามความจริง จะเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลส มีจิตเศร้าหมองทำกาลกิริยา ส่วนพวกที่รู้ตามความจริง ถ้ามีกิเลสก็พยายามเพื่อละกิเลส ถ้าไม่มีกิเลส ราคะก็จะไม่ตามรบกวน ในที่สุดก็จะเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส ไม่มีจิตเศร้าหมองทำกาลกิริยา [14] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า กิเลส พระพุทธองค์ ตรัสเรียกว่า อังคณะ (เป็นเหมือนเนิน) กิเลสเพียงดังเนินนั้น ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ หรือ หมายถึง มลทินอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือ เปือกตม [15]
อรรถกถา อากังเขยยสูตร ว่าด้วยความหวังของภิกษุ ได้แก่ ความหวังขนาดธรรมดา ให้เป็นที่รักเคารพของเพื่อนพรหมจารีขึ้นไปจนถึงความหวังขั้นสูงสุด คือการทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ (เป็นพระอรหันต์) [16] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวข้อปฏิบัติให้ถึงความหวังสูงสุดว่า ศีลที่ ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย จะจัดเป็นศีลที่บริบูรณ์ไม่ได้ เปรียบเหมือนนาที่ ประกอบด้วยโทษ 4 อย่าง และปาฏิโมกขสังวร ศีลนั้นของผู้ใด ไม่ด่างพร้อย ผู้นั้นย่อมสามารถที่จะรักษาศีล ที่เหลือให้ดำรงอยู่ตามปกติได้ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีศีรษะไม่ขาด ก็อาจรักษา ชีวิตไว้ได้ [17]
อรรถกถา วัตถูปมสูตร พระสูตรอุปมาด้วยผ้าที่ย้อมสี กล่าวคือ เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคคติ เป็นหวังได้ เปรียบเหมือนผ้าที่เศร้าหมองมีมลทินจับ [18] พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติ ประภัสสร ก็จิตนั้นแลเศร้าหมองไป เพราะอุปกิเลส ที่จรมา จิตนั้นเมื่อได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ บุคคลก็สามารถทำให้ประภัสสร ยิ่งขึ้นอีกได้ ความพยายามในการชำระจิตนั้น ย่อมไม่ไร้ผล [19] นอกจากนี้ ท่านยังแจกจแงถึงการการละกิเลสว่ามีอยู่ 2 อย่าง คือ ละตามลำดับกิเลส ละตามมรรค, โสดาปัตติมรรค ย่อมละ ความลบหลู่คุณท่าน ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา โอ้อวด อนาคามิมรรค ย่อมละความพยาบาท ความโกรธ ความผูกโกรธ ความเลินเล่อ อรหันตมรรค ย่อมละความเพ่งเล็ง ความหัวดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความมัวเมา [20]
อรรถกถา สัลเลขสูตร ว่าด้วยการขัดเกลากิเลส กล่าวคือ ภิกษุพึงทำความขัดเกลากิเลสในพุทธศาสนา นี้ คือ งดเว้นจากกิเลส 44 ประเภท [21] พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ใดเมื่อไม่เห็นการฟุ้งขึ้นแห่งกิเลสที่ข่มไว้ด้วยสมถะ หรือที่ข่มไว้ได้ด้วยวิปัสสนา ย่อมเข้าใจว่า ตนเองเป็น พระโสดาบันบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง ดังเช่นเรื่องของพระมหาเถระในหังกนวิหาร รูปหนึ่ง ในจิตตลดาบรรพต สำคัญว่าตนเป็น พระอรหันต์ จนพรรษา 60 ล่วงแล้ว [22]
อรรถกถา สัมมาทิฏฐิสูตร สูตรว่าด้วยความเห็นชอบ โดยยกอาการรู้จักอกุศลและมูลรากของอกุศล การรู้จักกุศลและมูลรากของกุศลขึ้นแสดง ตามด้วยปริยายข้ออื่น ๆ อีก 15 ข้อ และโดยรู้จักสิ่งนั้น เหตุเกิดของสิ่งนั้นความดับของสิ่งนั้น ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับสิ่งนั้น [23] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า สัมมาทิฏฐิ มี 2 อย่าง คือ โลกิยะ และโลกุตตระ, คนที่มีสัมมาทิฏฐิ มี 3 ประเภท คือ ปุถุชน เสกขบุคคล (ผู้ต้องศึกษา) อเสกขบุคคล (ผู้ไม่ต้องศึกษา) และกล่าววว่า การวิรัติ (เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว) แยกออกเป็น 3 อย่าง คือ สัมปัตตวิรัติ (เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า) สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน) สมุจเฉทวิรัติ (เว้นได้โดยเด็ดขาด) [24]
อรรถกถา สติปัฏฐานสูตร พระสูตรว่าด้วยการตั้งสติ 4 ประการ และอานิสงส์ แห่งการเจริญสติปัฏฐาน 4 พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ชาวกุรุรัฐ ผู้ที่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ให้สดับนั้น เป็นผู้มีร่างกาย และจิตใจเหมาะสมเป็นนิจ มีกำลังปัญญา สามารถ รับฟัง พระธรรมเทศนาอันลึกซึ้งได้ [25] และชี้แจงว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง สติปัฏฐานสูตร เป็นธรรมเครื่องนำออกในระยะ 7 ปี ด้วยอำนาจเวไนยบุคคล (ผู้พอจะแนะนำสั่งสอนได้) ผู้มีสติปัญญาปานกลาง เท่านั้น [26]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.