Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อภิชาติ ดำดี (เกิด 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503) เป็นนักการเมืองและนักพูดชาวไทย เป็นสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 11 และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกระบี่
อภิชาติ ดำดี | |
---|---|
สมาชิกวุฒิสภา | |
ดำรงตำแหน่ง 30 มีนาคม พ.ศ. 2557 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2529–2550) |
อภิชาติ ดำดี เป็นชาวจังหวัดกระบี่ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 เวลาเช้าตรู่ ตรงกับวันมาฆบูชาของปีนั้นพอดี เป็นบุตรคนที่ 4 ของอาจารย์ดวลและอาจารย์วรรโณ ดำดี ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน จากครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เป็นข้าราชการครู คุณแม่และพ่อได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว เป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดกระบี่ ที่ขณะนี้ทำหน้าที่ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่และประธานสภาวัฒนธรรมภาคใต้ พี่น้องส่วนใหญ่ในครอบครัวประกอบอาชีพครูและแพทย์ ครอบครัว “ดำดี” ปลูกฝังให้สมาชิกในครอบครัวดำเนินชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย เห็นคุณค่าของการทำงาน มีเหตุผลและอิสระทางความคิด ให้ความสำคัญกับการศึกษาและการทำประโยชน์ให้สังคม ครอบครัว “ดำดี” ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็น “ครอบครัวประชาธิปไตยตัวอย่าง” เมื่อ พ.ศ. 2550
อภิชาติ ดำดี เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนอิศรานุสรณ์และโรงเรียนโภคาพาณิชย์นุกูลที่จังหวัดกระบี่ จากนั้นเข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2516 จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2527 ระดับปริญญาโทด้านการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อปี 2548 ด้วยผลการเรียนขั้นเกียรตินิยม นอกจากนั้นยังได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงจากหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้าพร้อมรางวัลโล่พระราชทาน “เอกสารวิชาการส่วนบุคคลดีเด่น” เรื่อง “หลักพระพุทธศาสนากับการส่งเสริมวิถีชีวิตประชาธิปไตย" เมื่อปี 2548 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการพัฒนาและการปฏิรูปองค์การ (DODT : Doctor of Organization Development and Transformation) จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ซีบู (Cebu Doctors’ University) ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2552 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีอีกสาขาหนึ่ง คือ นิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี 2554
ขณะเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ อภิชาติ ดำดีได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ เรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ (The Ship for Southeast Asian Youth Program) การเข้าร่วมโครงการระดับนานาชาติครั้งนี้ทำให้ดร.อภิชาติมีมุมมองที่เข้าถึงความเป็นไทย และเข้าใจความเป็นสากล จนปัจจุบันนี้ ดร.อภิชาติ ดำดี มีโอกาสได้ศึกษาดูงานต่างประเทศมาแล้ว ทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น เยอรมัน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ศรีลังกา กัมพูชา อิตาลี ไต้หวัน ฯลฯ
ตลอดช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย ดร.อภิชาติ ดำดี เป็นนักกิจกรรม รุ่นเดียวกับ สุรพล นิติไกรพจน์, สมคิด เลิศไพฑูรย์, วสันต์ ภัยหลีกลี้, วิฑูรย์ นามบุตร, นพดล ปัทมะ, อัญชลี วานิช เทพบุตร และบุญสม อัครธรรมกุล[1] และมีส่วนร่วมในงานสังคมหลายด้าน จึงได้รับ “เหรียญนักศึกษาผู้ทำชื่อเสียงดีเด่น” และเมื่อจบการศึกษาไปแล้วก็ได้รับ “โล่ศิษย์เก่าผู้ทำคุณประโยชน์” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในศิษย์เก่าที่ได้รับเกียรติบัตร “ศิษย์เก่าดีเด่น” เนื่องในโอกาสมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 70 ปี
อภิชาติ ดำดี เป็นหนึ่งในนักพูดระดับแนวหน้าของเมืองไทย ด้วยบุคลิกที่มีอารมณ์ขัน เป็นกันเอง มีวิธีการสื่อสารที่สนุกสนาน เข้าใจง่ายและเข้าถึงชาวบ้าน ทำให้การพูด การบรรยายมีเสน่ห์ชวนติดตาม เอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นคือการผสมผสานทักษะทางภาษา,ศิลปวัฒธรรมและภูมิปัญญาไทยเข้ากับการนำเสนออย่างกลมกลืน ความเป็นนักพูดขวัญใจชาวบ้านนั้นประจักษ์ได้จากการที่ผู้ชมรายการโทรทัศน์ได้ร่วมกันลงคะแนนให้เป็นนักพูดยอดนิยม ได้รับรางวัลเข็มกลัดทองคำฝังเพชร “นักพูดดีเด่น” จากรายการ “ทีวี-วาที 9 ใหม่” ของคุณกรรณิกา ธรรมเกษร
นอกจากความสามารถทางด้าน “วาทศิลป์” แล้ว ดร.อภิชาติ ดำดี ยังเป็นนัก “วรรณศิลป์” ที่มีผลงานการประพันธ์หลายรูปแบบ ทั้งบทกวี, เรื่องสั้น, คำขวัญ,บทละคร, บทเพลง, บทเพลงพื้นบ้าน, บทความ ฯลฯ
ในช่วงชีวิตนักศึกษา ดร.อภิชาติ ดำดี ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านวรรณศิลป์ไว้มากมาย เป็นเจ้าของนามปากกา “ดินสอโดม” ได้รับรางวัลจากการประกวดงานเขียนอาทิ
ถึงขณะนี้ ดร.อภิชาติ ดำดี มีงานเขียนที่รวมเล่มเป็นหนังสือแล้ว อาทิ
ดร.อภิชาติ ดำดี เข้าสู่วงการโทรทัศน์ เมื่อปี 2526 โดยเริ่มต้นจากการเป็นวิทยากรรับเชิญในรายการเวที-วาที ช่อง 5 ของคุณกรรณิกา ธรรมเกษร จากนั้นได้มีโอกาสเป็นผู้พากย์, เป็นพิธีกรและเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หลายรายการ อาทิ
รายการโทรทัศน์และวิทยุที่ อภิชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการหรือเป็นผู้ผลิตนั้น ส่วนใหญ่เป็นสาระบันเทิงที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้สู่ชุมชน ทั้งในด้านการเกษตร, การแนะนำอาชีพ, ภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย, การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรชุมชน ตลอดจนการเผยแพร่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในมิติต่างๆ รายการโทรทัศน์ที่ทำให้ อภิชาติ มีภาพลักษณ์ของนักส่งเสริมการเกษตรอย่างเด่นชัด เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยาวนานในกลุ่มเป้าหมายระดับชาวบ้านคือรายการ “ผู้ใหญ่บ้านดำดี” ช่อง 9 อสมท.
อภิชาติ มีความสนใจทางการเมืองมาตั้งแต่วัยเรียน เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อเนื่องถึงช่วงที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเพียง 2 ปี อภิชาติ ก็ได้เริ่มต้นทำงานการเมือง โดยได้รับการคัดสรรจากพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเขตกรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2529 และการเลือกตั้งซ่อม ปี 2530 แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง
ต่อมาเมื่อปี 2549 อภิชาติ ได้ตัดสินใจกลับมาทำงานการเมืองอีกวาระหนึ่ง โดยรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่จังหวัดกระบี่บ้านเกิดและครั้งนี้ก็ได้รับเลือกตั้ง แต่ยังไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ก็เกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 จากนั้นมาในปี 2550 อภิชาติ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 การทำหน้าที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ อภิชาติ ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 หลายเรื่อง กล่าวคือ
การนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาประเทศและการบริหารราชการแผ่นดิน ดังบัญญัติไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมาตรา 83 และมาตรา 78, การรักษา พัฒนาและให้ความคุ้มครองที่ต้องครอบคลุมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทยในมาตรา 86 (2) รวมทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะในมาตรา 47 และการเร่งรัดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ภายใน 180 วันนับแต่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในบทเฉพาะกาลมาตรา 305 (1)
นอกจากการทำหน้าที่อภิปราย, แปรญัตติ, ร่วมงานในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว อภิชาติ ได้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จังหวัดกระบี่ ร่วมกับบุคลากรในพื้นที่ดำเนินการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นประชาชนจังหวัดกระบี่ เพื่อนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการจัดกิจกรรม, การจัดทำสื่อเผยแพร่เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผลการลงประชามติในจังหวัดกระบี่จึงปรากฏว่ามีประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
จากการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ในปี 2550 อภิชาติ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 4 “จตุตถดิเรกคุณาภรณ์”
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557 อภิชาติ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดกระบี่ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 58 คน เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557[2]
อภิชาติ เข้าปฏิญาณตนปฏิบัติหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 และได้ทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ปปช. ตั้งแต่วันแรกของการเข้าทำงาน ต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม วุฒิสภาได้มีการประชุมเพื่อลงมติเลือกประธานและรองประธานคนที่ 2 อภิชาติ ดำดี เป็นหนึ่งในแกนนำสมาชิกวุฒิสภาจากภาคใต้ที่ช่วยกันสนับสนุนเลือก สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในขณะนั้นให้เป็นประธานวุฒิสภา และสนับสนุนให้ พีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2
นอกจากจะเป็นผู้ประกอบการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสื่อสารมวลชนแล้ว อภิชาติ ยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรและผู้บรรยายรับเชิญในหัวข้อต่างๆ ให้กับสถาบันการศึกษา, สถาบันฝึกอบรมมัลติสมาร์ท (www.multi-smart.com), หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาและกรรมการองค์กรทางสังคมอีกหลายองค์กร
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.