Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมู่วิหารสกอร์บา (มอลตา: It-Tempji ta' Skorba) เป็นซากปรักหักพังหินใหญ่ที่ขอบด้านเหนือของย่านอิซเซ็บบีห์ในหมู่บ้านลิมจาร์ ประเทศมอลตา ซึ่งให้ข้อมูลที่ละเอียดเกี่ยวกับยุคแรกเริ่มสุดของวัฒนธรรมยุคหินใหม่ในมอลตา[1] เพิ่งมีการขุดค้นทางโบราณคดีที่นี่ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 เท่านั้น ถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับแหล่งหินใหญ่อื่น ๆ ซึ่งบางแห่งมีการขุดค้นมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความสำคัญของหมู่วิหารสกอร์บานำไปสู่การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกยูเนสโกร่วมกับหมู่วิหารหินใหญ่อีก 5 แห่งในมอลตาระหว่าง ค.ศ. 1980–2015
บริเวณทางเข้าวิหารใต้ของหมู่วิหารสกอร์บา | |
ที่ตั้ง | อิซเซ็บบีห์ ลิมจาร์ มอลตา |
---|---|
พิกัด | 35°55′14.84″N 14°22′39.58″E |
ประเภท | วิหาร หมู่บ้าน |
ความเป็นมา | |
วัสดุ | หินปูน |
สร้าง | ประมาณ 4,850 ปีก่อน ค.ศ. (ซากปรักหักพังเก่าแก่สุด) ประมาณ 3,600 ปีก่อน ค.ศ. (วิหาร) |
สมัย | ระยะอาร์ดาลัม ระยะสกอร์บาเทา ระยะสกอร์บาแดง ระยะจกันตียา ระยะฮัลตาร์ชีน |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ขุดค้น | ค.ศ. 1914–1961 |
ผู้ขุดค้น | เดวิด เอช. ทรัมป์ |
สภาพ | ซากปรักหักพัง |
ผู้ถือกรรมสิทธิ์ | รัฐบาลมอลตา |
ผู้บริหารจัดการ | เฮริทิจมอลตา |
การเปิดให้เข้าชม | เปิด |
เว็บไซต์ | เฮริทิจมอลตา |
วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา (หมู่วิหารสกอร์บา) * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
ช่องประตูวิหารใต้ของหมู่วิหารสกอร์บา | |
ประเทศ | มอลตา |
ภูมิภาค ** | ยุโรปและอเมริกาเหนือ |
ประเภท | มรดกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | (iv) |
อ้างอิง | 132 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 1980 (คณะกรรมการสมัยที่ 4) |
เพิ่มเติม | 1992, 2015 |
พื้นที่ | 0.103 เฮกตาร์ (0.25 เอเคอร์) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
การขุดค้นหมู่วิหารสกอร์บาในสมัยหลังทำให้สามารถใช้วิธีการตรวจหาอายุและการวิเคราะห์แบบสมัยใหม่ได้ ตัววิหารไม่อยู่ในสภาพที่ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับหมู่วิหารฮาจาร์อีมและฮัลตาร์ชีนที่สมบูรณ์กว่า อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่ซากปรักหักพัง แต่อยู่ที่โบราณวัตถุที่รวบรวมได้จากการขุดค้นมากกว่า[2]
ดูเหมือนว่าพื้นที่ย่านอิซเซ็บบีห์รอบ ๆ หมู่วิหารสกอร์บาจะมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคหินใหม่ตอนต้น ระหว่างที่ทิมิสโตคลีส แซมมิต นักประวัติศาสตร์ชาวมอลตา กำลังขุดค้นหมู่วิหารตาฮัจรัตใกล้ ๆ กันนั้น มีเพียงแผ่นหินตั้งเพียงแผ่นเดียวที่โผล่ยื่นออกมาจากเนินซากปรักหักพังเล็ก ๆ บนพื้นที่หมู่วิหารสกอร์บา แม้ว่าเนินแห่งนี้จะมีชื่ออยู่ในรายการโบราณวัตถุสถานมอลตา ค.ศ. 1925[3] แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากนักโบราณคดีจนกระทั่งเดวิด เอช. ทรัมป์ เข้ามาขุดค้นระหว่าง ค.ศ. 1960–1963[4]
ซากที่หลงเหลืออยู่บนแหล่งนี้ ได้แก่ กลุ่มหินตั้งขนาดใหญ่ (หนึ่งในนั้นสูง 3.4 เมตร) ฐานส่วนล่างสุดของหมู่วิหาร แผ่นหินปูพื้นที่มีรูสำหรับเทของเหลวในพิธีกรรมบวงสรวงตรงทางเข้า และส่วนพื้นของวิหารหลังหนึ่งซึ่งเป็นวิหารใต้ ประกอบด้วยมุขโค้ง 3 มุข ผังที่มีมุขโค้ง 3 มุขนี้เป็นแบบฉบับของสิ่งก่อสร้างหินใหญ่ในระยะจกันตียา เป็นที่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่ของมุขโค้ง 2 มุขแรกและส่วนหน้าอาคารทั้งหมดได้ทลายลงจนราบ
ผนังด้านทิศเหนือของวิหารใต้อยู่ในสภาพที่ดีกว่าผนังด้านอื่น เดิมทีทางเข้าวิหารพาไปสู่ลานกว้างภายใน แต่ต่อมาในระยะฮัลตาร์ชีน ช่องประตูกลางวิหารถูกปิดโดยมีการตั้งแท่นบูชาไว้ตรงมุมที่เกิดจากการปิด[1] ทางทิศตะวันออกของวิหารใต้มีการสร้างวิหารขึ้นอีกหลังในระยะฮัลตาร์ชีน โดยมีมุขโค้ง 4 มุขและช่องเว้าตรงกลาง 1 ช่อง[5]
ก่อนจะมีการสร้างหมู่วิหารสกอร์บา บนพื้นที่เดียวกันนี้เคยมีหมู่บ้านตั้งอยู่มาเป็นเวลานานประมาณ 12 ศตวรรษ โครงสร้างที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ของหมู่บ้านดังกล่าวคือกำแพงยาว 11 เมตรทางทิศตะวันตกของทางเข้าวิหารแรก[6] ที่บริเวณฐานของกำแพงนี้มีการค้นพบโบราณวัตถุจากระยะอาร์ดาลัมซึ่งเป็นสมัยที่มนุษย์เข้าครอบครองพื้นที่บนเกาะมอลตาเป็นครั้งแรกเท่าที่ทราบ มีการค้นพบถ่านซึ่งจากการวิเคราะห์ด้วยคาร์บอนพบว่ามีอายุย้อนไปถึง 4,850 ปีก่อนคริสต์ศักราช[6]
เครื่องปั้นดินเผาที่พบในแหล่งโบราณคดีนี้แบ่งออกเป็นสองรูปแบบ ได้แก่ "สกอร์บาเทา" ซึ่งมีลักษณะเด่นตรงที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาสีเทาที่ไม่มีลวดลาย และ "สกอร์บาแดง" ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับแบบสกอร์บาเทาทุกประการแต่ลงสีโดยใช้รงควัตถุโอเคอร์สีแดง
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.