Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พายุหมุนเขตร้อนจะถูกจัดระดับอย่างไม่เป็นทางการตามมาตราใดมาตราหนึ่งจากมาตราความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อน 5 ชนิด โดยใช้ความเร็วลมเฉลี่ยสูงสุดและแอ่งที่พายุหมุนเขตร้อนนั้นตั้งอยู่เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดชนิดมาตรา มาตราบางมาตราจะถูกกำหนดและใช้งานอย่างเป็นทางการโดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาที่สังเกตการณ์พายุหมุนเขตร้อน และบางมาตราถูกใช้เป็นมาตราทางเลือก เช่น วัดการสะสมพลังงานในพายุหมุน, ดัชนีการสูญเสียพลังงาน, ดัชนีพลังงานแบบบูรณาการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว และดัชนีความรุนแรงพายุเฮอริเคน
พายุหมุนเขตร้อนที่พัฒนาขึ้นในซีกโลกเหนือจะถูกจัดความรุนแรงโดยศูนย์เตือนภัย ตามมาตราใดมาตราหนึ่งจากสามมาตราที่ใช้ในซีกโลกเหนือ โดยพายุหมุนเขตร้อนหรือพายุหมุนกึ่งเขตร้อนที่ปรากฏอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ หรือมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อแรกพายุจะถูกจัดความรุนแรงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนและพายุโซนร้อนตามลำดับ จนเมื่อพายุโซนร้อนทวีกำลังแรงขึ้น จะถูกจัดเป็นพายุเฮอริเคน และหลังจากนั้นจึงจะถูกจัดความรุนแรงด้วยมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน โดยอ้างอิงความเร็วลมที่ความเร็วลมสูงสุดโดยประมาณที่พัดต่อเนื่องใน 1 นาที ส่วนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก พายุหมุนเขตร้อนจะถูกจัดความรุนแรงตามมาตราของคณะกรรมการไต้ฝุ่นของ ESCAP/WMO ซึ่งเป็นมาตราที่แบ่งความรุนแรงของพายุออกเป็นสี่ขั้น โดยอ้างอิงความเร็วลมที่ความเร็วลมสูงสุดโดยประมาณที่พัดต่อเนื่องใน 10 นาที
ในมหาสมุทรอินเดียเหนือ จะใช้มาตราของกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย ซึ่งแบ่งการจัดความรุนแรงออกเป็น 7 ขั้น โดยอ้างอิงความเร็วลมที่ความเร็วลมสูงสุดโดยประมาณที่พัดต่อเนื่องใน 3 นาที ส่วนพายุหมุนเขตร้อนที่พัฒนาในซีกโลกใต้จะถูกจัดความรุนแรงโดยศูนย์เตือนภัย ตามมาตราใดมาตราหนึ่งจากเพียงสองมาตราที่ใช้ในซีกโลกใต้ ซึ่งทั้งสองมาตราต่างอ้างอิงความเร็วลมโดยประมาณใน 10 นาทีเช่นเดียวกัน โดยมาตราพายุหมุนเขตร้อนของออสเตรเลีย จะใช้จัดความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนในทวีปออสเตรเลีย (รวมมหาสมุทรอินเดียใต้ฝั่งตะวันออก) และในแอ่งมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ส่วนในมหาสมุทรอินเดียใต้ฝั่งตะวันตกจะใช้มาตราของเมเตโอฟร็องส์ ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายในดินแดนของฝรั่งเศส รวมถึงนิวแคลิโดเนียและเฟรนช์พอลินีเชียด้วย
คำนิยามของความเร็วลมตามที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแนะนำไว้ และหน่วยงานทางอุตุนิยมวิทยาส่วนมากเลือกใช้ คือ ค่าเฉลี่ยของความเร็วลมสูงสุดที่พัดใน 10 นาที ที่ระดับความสูง 10 ม. (33 ฟุต) อย่างไรก็ตาม มาตราเฮอริเคนของแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน จะใช้การวัดความเร็วลมสูงสุดใน 1 นาที ที่ความสูง 10 ม. (33 ฟุต)[1][2] ส่วนมาตราที่ RSMC นิวเดลี ใช้คือความเร็วลมโดยประมาณใน 3 นาที และในมาตราออสเตรเลียจะใช้ทั้งค่าลมกระโชกสูงสุดเฉลี่ยใน 3 วินาที และความเร็วลมโดยประมาณใน 10 นาที[3][4] จึงทำให้การเปรียบเทียบระดับความรุนแรงของแต่ละแอ่งนั้นเป็นไปโดยยาก
โดยพายุหมุนเขตร้อนจะถูกตั้งชื่อเมื่อเริ่มมีความเร็วลมมากกว่า 35 นอต (40 ไมล์/ชม. หรือ 65 กม./ชม.)
ประเภท | ความเร็วลม |
---|---|
ห้า | ≥70 ม./ว., ≥137 นอต ≥157 ไมล์/ชม., ≥252 กม./ชม. |
สี่ | 58–70 ม./ว., 113–136 นอต 130–156 ไมล์/ชม., 209–251 กม./ชม. |
สาม | 50–58 ม./ว., 96–112 นอต 111–129 ไมล์/ชม., 178–208 กม./ชม. |
สอง | 43–49 ม./ว., 83–95 นอต 96–110 ไมล์/ชม., 154–177 กม./ชม. |
หนึ่ง | 33–42 ม./ว., 64–82 นอต 74–95 ไมล์/ชม., 119–153 กม./ชม. |
พายุ โซนร้อน |
18–32 ม./ว., 34–63 นอต 39–73 ไมล์/ชม., 63–118 กม./ชม. |
---|---|
พายุ ดีเปรสชัน |
≤17 ม./ว., ≤33 นอต ≤38 ไมล์/ชม., ≤62 กม./ชม. |
พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นภายในซีกโลกเหนือ ทางด้านตะวันออกของเส้นเมริเดียนที่ 180 องศา จะถูกติดตามอย่างเป็นทางการโดยศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติหรือศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลาง[5] ภายในภูมิภาคนี้ พายุหมุนเขตร้อนถูกนิยามว่าเป็นแกนอากาศที่อบอุ่น (Warm cored), การแปรปรวนในระดับภูมิภาคแบบไม่มีหน้าปะทะอากาศ (Non-frontal synoptic disturbance) ที่ก่อตัวขึ้นเหนือทะเลในเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน โดยมีการจัดระบบการพาความร้อนในชั้นบรรยากาศ และมีศูนย์กลางการหมุนเวียนที่เหมาะสม[5] ในภูมิภาคนี้ยังนิยามพายุหมุนกึ่งเขตร้อนด้วยว่าเป็น การแปรปรวนของหย่อมความกดอากาศต่ำแบบไม่มีหน้าปะทะอากาศ (Non-frontal low pressure disturbance) ซึ่งมีคุณลักษณะเป็นทั้งแบบพายุหมุนเขตร้อนและพายุหมุนนอกเขตร้อน[5] โดยเมื่อใดก็ตามที่พายุควรจะได้รับการจัดความรุนแรงตามหมวดเหล่านี้ จะมีการเริ่มออกคำแนะนำ และศูนย์เตือนภัยจะจัดความรุนแรงระบบในฐานะพายุดีเปรสชันเขตร้อน หรือพายุดีเปรสชันกึ่งเขตร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อความเร็วลมต่อเนื่องในหนึ่งนาทีอยู่ที่ประมาณหรืออย่างน้อย 33 นอต (62 กม./ชม. หรือ 38 ไมล์/ชม)[5]
นอกจากนี้ พายุดีเปรสชันเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อนยังจะได้รับรหัส หมายเลขพายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclone number) ซึ่งประกอบด้วยหมายเลขแบบตัวสะกดในภาษาอังกฤษ (จาก ONE ถึง THIRTY หรือน้อยกว่า ซึ่งหมายเลขเหล่านี้จะไม่ถูกวนใช้ใหม่จนกว่าจะถึงปีถัดไป) ตามด้วยยติภังค์ ("-") (ยกเว้นระบบพายุในแอตแลนติกเหนือ) และตัวอักษรต่อท้าย (โดย "-E" สำหรับแปซิฟิกตะวันออก และ "-C" สำหรับแปซิฟิกกลาง)[6] และจะเขียนย่อเป็นตัวเลขสองหลัก (รวมถึงส่วนต่อท้ายใด ๆ ด้วย) เช่น TD 08 สำหรับพายุดีเปรสชัน EIGHT ในแอตแลนติกเหนือ, TD 21E สำหรับพายุดีเปรสชัน TWENTYONE-E ในแปซิฟิกตะวันออก, หรือ TD 03C สำหรับพายุดีเปรสชัน THREE-C ในแปซิฟิกกลาง ซึ่งรหัสเหล่านี้ถูกสร้างไว้เพื่อการออกแถลงการณ์และวัตถุประสงค์อื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ถ้าการแปรปรวนของลมในเขตร้อนมีความสามารถในการเป็นพายุโซนร้อนหรือพายุเฮอริเคน และจะพัดขึ้นฝั่งภายใน 48 ชั่วโมง จะมีการริเริ่มออกคำแนะนำ และจะถูกจัดความรุนแรงเป็น "ระบบที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อน" (Potential tropical cyclone หรือ PTC)[5] และมีหมายเลข PTC สองหลักด้วย (เช่น PTC-09 หรือ PTC-15E) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหมายเลขของพายุหมุนเขตร้อนข้างต้น หากระบบดังกล่าวทวีกำลังแรงขึ้นและมีลมพัดต่อเนื่องในหนึ่งนาทีที่ 34–63 นอต (63–118 กม./ชม. หรือ 39–73 ไมล์/ชม.) พายุนั้นจะถูกจัดให้เป็นพายุโซนร้อน หรือพายุกึ่งโซนร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง และได้รับการประกาศชื่อพายุ[5] (ซึ่งชื่อนั้นจะถูกนำไปแทนที่หมายเลขพายุหมุนเขตร้อนแบบสะกด ส่วนหมายเลขสองหลักที่เป็นตัวเลขเดิม จะยังคงถูกสงวนไว้เพื่อเหตุผลบางอย่าง เช่น เพื่อใช้ในระบบพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อนอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น TS 12 (เคิร์ก))
ถ้าหากพายุโซนร้อนมีกำลังแรงขึ้นและมีลมโดยประมาณหรือที่วัดได้มากกว่า 64 นอต (119 กม./ชม. หรือ 74 ไมล์/ชม.) มันจะถูกเรียกว่าพายุเฮอริเคน และจะถูกจัดประเภทตามมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน (SSHWS)[5] โดยการจัดความรุนแรงขั้นต่ำที่สุดตามมาตรามาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน คือ พายุเฮอริเคนระดับ 1 (Category 1 hurricane) ซึ่งพายุมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 64–82 นอต (119–153 กม./ชม. หรือ 74–95 ไมล์/ชม.)[5][7] เมื่อพายุเฮอริเคนทวีกำลังแรงขึ้นอีกโดยมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 83–95 นอต (154–177 กม./ชม. หรือ 96–110 ไมล์/ชม.) มันจะถูกจัดเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 2 (Category 2 hurricane)[5][7] และเมื่อพายุเฮอริเคนมีความรุนแรงเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 3 (Category 3 hurricane) พายุจะมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 96–112 นอต (178–208 กม./ชม. หรือ 111–129 ไมล์/ชม.) ซึ่งตั้งแต่ระดับนี้เป็นต้นไป ศูนย์เตือนภัยจะพิจารณาให้พายุเป็นพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่ (Major hurricane) ด้วย[7] เมื่อพายุเฮอริเคนมีกำลังแรงขึ้นอีกมันจะถูกจัดเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 4 (Category 4 hurricane) โดยมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 113–136 นอต (209–251 กม./ชม. หรือ 130–156 ไมล์/ชม.) หากพายุเฮอริเคนยังทวีกำลังแรงขึ้นอีก มันจะถูกจัดให้เป็นพายุเฮอริเคนระดับ 5 (Category 5 hurricane) โดยมีความเร็วลมอย่างน้อย 137 นอต (252 กม./ชม. หรือ 157 ไมล์/ชม.)[5][7] ส่วนลักษณะพายุหมุนหลังเขตร้อน หรือ ระบบพายุหมุนเขตร้อนที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่เหลือหรือสลายตัวไปแล้ว คำแนะนำอย่างเป็นทางการที่ออกให้กับพายุมักจะยุติลงในขั้นนี้[5] อย่างไรก็ตาม คำแนะนำอาจจะยังคงมีการประกาศต่อไป ถ้าหากว่าลักษณะพายุหมุนหลังเขตร้อนนั้น จะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สิน[5] และจะยังคงมีการออกคำแนะนำต่อไปด้วย ถ้าหากหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือนั้น มีโอกาสที่จะมีการฟื้นฟูตัวเองขึ้นใหม่ และผลิตแรงลมระดับพายุโซนร้อนหรือพายุเฮอริเคนเหนือบริเวณแผ่นดินได้ภายใน 48 ชั่วโมง[5]
มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สันนั้น แต่เดิมถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้ทั้งความเร็วลมและน้ำขึ้นจากพายุ แต่นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วลมและน้ำขึ้นจากพายุนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวเนื่องกัน มาตรานี้จึงถูกเปลี่ยนเป็น "มาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน" (SSHWS) และขึ้นอยู่กับความเร็วลมเพียงอย่างเดียว
แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของการจัดระดับมาตราจะสัมพันธ์กับความแรงของลม แต่การจัดระดับนั้นไม่ใช่กฎที่เป็นจริงเสมอไปในแง่ของผลกระทบ พายุที่ถูกจัดระดับอยู่ในระดับต่ำนั้นก็สามารถสร้างความเสียหายมหาศาลกว่าพายุที่ถูกจัดระดับอยู่ในระดับสูงได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น ภูมิประเทศในท้องถิ่น ความหนาแน่นของประชากร และปริมาณน้ำฝนทั้งหมด ตัวอย่างเช่น พายุเฮอริเคนระดับ 2 ที่พัดขึ้นฝั่งในเขตชุมชนเมืองจะสร้างความเสียหายได้มากกว่าพายุเฮอริเคนระดับ 5 ที่พัดขึ้นฝั่งในเขตชนบท ในความเป็นจริงแล้ว ระบบพายุโซนร้อนหรือที่มีความรุนแรงน้อยกว่าพายุเฮอริเคนนั้น ก็สามารถสร้างความเสียหาย, ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุทกภัยและแผ่นดินถล่มอย่างมีนัยสำคัญได้เช่นกัน
ในอดีต คำว่า Great hurricane หรือ พายุเฮอริเคนใหญ่ ถูกใช้อธิบายถึงพายุที่มีความเร็วลมอย่างน้อย 110 นอต (200 กม./ชม. หรือ 125 ไมล์/ชม.) มีรัศมีขนาดใหญ่ (มากกว่า 160 กม. หรือ 100 ไมล์) และสร้างการทำลายล้างมหาศาล โดยคำนี้เลิกใช้ไปหลังจากที่มีการแนะนำมาตราแซฟเฟอร์–ซิมป์สันในช่วงต้นยุค ค.ศ. 1970[8]
มีการเปลี่ยนแปลงมาตราดังกล่าวเล็กน้อยก่อนหน้าฤดูพายุเฮอริเคน พ.ศ. 2555 โดยความเร็วลมสำหรับระดับ 3–5 ถูกปรับแต่งเพื่อจำกัดข้อผิดพลาดในการปัดเศษที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลก่อนหน้า เมื่อพายุเฮอริเคนมีความเร็วลม 115 นอต (215 กม./ชม. หรือ 130 ไมล์/ชม.)[9]
ประเภท | ความเร็วลมต่อเนื่อง |
---|---|
พายุไต้ฝุ่นรุนแรง | ≥105 นอต ≥194 กม./ชม. |
พายุไต้ฝุ่น กำลังแรงอย่างมาก |
85–104 นอต 157–193 กม./ชม. |
พายุไต้ฝุ่น กำลังแรง |
64–84 นอต 118–156 กม./ชม. |
พายุโซนร้อน กำลังแรง |
48–63 นอต 89–117 กม./ชม. |
พายุโซนร้อน | 34–47 นอต 62–88 กม./ชม. |
พายุดีเปรสชันเขตร้อน | ≤33 นอต ≤61 กม./ชม. |
พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นภายในซีกโลกเหนือ ระหว่างเส้นเมริเดียนที่ 180 องศาถึงเส้นเมริเดียนที่ 100 องศาตะวันออก จะถูกติดตามอย่างเป็นทางการโดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA, RSMC โตเกียว)[10] ภายในภูมิภาคนี้พายุหมุนเขตร้อนจะถูกนิยามเป็น การเริ่มขึ้นของพายุหมุนในระดับภูมิภาคแบบไม่มีหน้าปะทะอากาศเหนือทะเลเขตร้อน (Non-frontal synoptic scale cyclone originating over tropical waters) หรือกึ่งเขตร้อน (sub-tropical waters) ซึ่งมีการจัดระบบการพาความร้อนและมีการไหลเวียนลมพื้นผิวแบบพายุหมุนอย่างแน่นอน[10] การจัดความรุนแรงขั้นต่ำที่สุดที่ใช้โดยคณะกรรมการไต้ฝุ่น คือ พายุดีเปรสชันเขตร้อน ด้วยความเร็วลมต่อเนื่อง 10 นาทีอย่างน้อย 33 นอต (61 กม./ชม. หรือ 17 ม./ว. หรือ 38 ไมล์/ชม.)[10] ถ้าหากพายุดีเปรสชันเขตร้อนนั้นทวีกำลังแรงขึ้น โดยมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 33–47 นอต (61–87 กม./ชม. หรือ 17–24 ม./ว. หรือ 38–54 ไมล์/ชม.) พายุนั้นจะได้รับการตั้งชื่อและถูกจัดความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อน[10] ถ้าหากระบบยังทวีกำลังแรงต่อไปอีก โดยมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 48–63 นอต (89–117 กม./ชม. หรือ 25–32 ม./ว. หรือ 55–72 ไมล์/ชม.) พายุนั้นจะถูกจัดความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรง[10] ส่วนการจัดระดับความรุนแรงที่สูงที่สุดตามมาตราของคณะกรรมการไต้ฝุ่น คือ พายุไต้ฝุ่น โดยพายุจะต้องมีความเร็วลมมากกว่า 64 นอต (119 กม./ชม. หรือ 33 ม./ว. หรือ 74 ไมล์/ชม.)[10]
กรมอุตุนิยมวิทยาจีน, หอสังเกตการณ์ฮ่องกง (HKO), สำนักงานบริหารบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์แห่งฟิลิปปินส์ (PAGASA) และกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ต่างแบ่งประเภทของพายุไต้ฝุ่นเพิ่มเติม เพื่อวัตถุประสงค์ภายในประเทศของตนด้วย[10] โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะแบ่งประเภทของพายุไต้ฝุ่นออกเป็นสามประเภท ตามความเร็วลมสูงสุดใน 10 นาที ถ้าต่ำกว่า 84 นอต (156 กม./ชม. หรือ 43 ม./ว. หรือ 97 ไมล์/ชม.) จะถูกจัดเป็นประเภทพายุไต้ฝุ่น, ถ้าความเร็วลมอยู่ระหว่าง 85–104 นอต (157–193 กม./ชม. หรือ 44–54 ม./ว. หรือ 98–120 ไมล์/ชม.) จะถูกจัดประเภทเป็นพายุไต้ฝุ่นกำลังแรงมาก และถ้าความเร็วลมมากกว่า 105 นอต (194 กม./ชม. หรือ 54 ม./ว. หรือ 121 ไมล์/ชม.) จะถูกจัดเป็นพายุไต้ฝุ่นรุนแรง[10] ส่วนหอสังเกตการณ์ฮ่องกงและกรมอุตุนิยมวิทยาจีน จะแบ่งประเภทของพายุไต้ฝุ่นออกเป็นสามประเภท โดยทั้งสององค์กรจะจัดให้พายุที่มีความเร็วลม 80 นอต (150 กม./ชม. หรือ 41 ม./ว. หรือ 92 ไมล์/ชม.) เป็นประเภทพายุไต้ฝุ่น และพายุที่มีกำลังแรงกว่าโดยมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 85–104 นอต (157–193 กม./ชม. หรือ 44–54 ม./ว. หรือ 98–120 ไมล์/ชม.) เป็นพายุไต้ฝุ่นกำลังแรง ขณะที่พายุที่มีความเร็วลมตั้งแต่ 100 นอต (190 กม./ชม. หรือ 51 ม./ว. หรือ 120 ไมล์/ชม.) จะถูกจัดให้เป็นพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น[10][11] ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 สำนักงานบริหารบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์แห่งฟิลิปปินส์ ได้เสนอการใช้คำว่า พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น และแนะนำให้ใช้กับระบบพายุที่มีความเร็วลมมากว่า 120 นอต (220 กม./ชม. หรือ 62 ม./ว. หรือ 140 ไมล์/ชม.)[12]
นอกเหนือจากหน่วยงานให้บริการทางอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของแต่ละชาติแล้ว ยังมีศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม (JTWC) ของสหรัฐ ที่เฝ้าติดตามแอ่งนี้เช่นกัน รวมถึงยังมีการออกคำเตือนพายุหมุนเขตร้อนที่มีนัยสำคัญสำหรับรัฐบาลสหรัฐด้วย[13] โดยศูนย์นี้จะกำหนดหมายเลขพายุหมุนเขตร้อนสองหลัก (พร้อมทั้งอักษร "W" ต่อท้าย)[6] การเตือนภัยนี้จะใช้ความเร็วลมต่อเนื่องใน 1 นาที เนื่องจากสามารถเทียบเคียงกับมาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สันได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมจะใช้มาตราของหน่วยงานเอง ในการจัดความรุนแรงภายในแอ่งนี้[14] โดยการจัดความรุนแรงของศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้แก่ พายุดีเปรสชันเขตร้อน, พายุโซนร้อน, พายุไต้ฝุ่น และ พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น[14] อีกทั้งเมื่อพายุดีเปรสชันเขตร้อนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนแล้ว และได้รับชื่อจากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมจะทำการเพิ่มข้อมูลชื่อสากลที่ได้รับนั้น (โดยการใส่วงเล็บเพิ่มลงไป) กับหมายเลขพายุหมุนเขตร้อน[6] (ตัวอย่างเช่น ในฤดูกาล 2561 พายุดีเปรสชันเขตร้อน TWENTY-W หรือย่อว่า TD 20W ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเบบินคา (Bebinca) ทางศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมจะกล่าวถึงพายุลูกนี้ว่า TS 20W (BEBINCA) ในคำแนะนำพายุของศูนย์ฯ) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมปรับความรุนแรงของพายุดีเปรสชันเขตร้อนใดเป็นพายุโซนร้อน โดยปราศจากการปรับของกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นด้วย (เนื่องจากความแตกต่างระหว่างมาตราวัดความเร็วลมระหว่างหน่วยงานทั้งสอง) ชื่อในวงเล็บจะถูกใส่เป็นหมายเลขพายุหมุนเขตร้อนแบบสะกดในภาษาอังกฤษแทน เช่น TS 16W (SIXTEEN) จนกว่ากรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจะปรับพายุลูกนั้นให้เป็นพายุโซนร้อนและประกาศชื่อกับพายุ เมื่อทราบชื่อแล้วทางศูนย์จะนำชื่อในไปใส่ในวงเล็บตามปกติต่อไป[14]
นอกจากนี้สำนักสภาพอากาศกลางไต้หวันยังมีมาตราพายุหมุนเขตร้อนของสำนักเองในภาษาจีน แต่เมื่อใช้ภาษาอังกฤษจะใช้มาตราของคณะกรรมการไต้ฝุ่นแทน[15]
ประเภท | ความเร็วลมเฉลี่ย (เฉลี่ย 3 นาที) |
---|---|
พายุซูเปอร์ไซโคลน | >120 นอต >222 กม./ชม. |
พายุไซโคลน กำลังแรงอย่างมาก |
90–119 นอต 166–221 กม./ชม. |
พายุไซโคลน กำลังแรงมาก |
64–89 นอต 118–165 กม./ชม. |
พายุไซโคลน กำลังแรง |
48–63 นอต 88–117 กม./ชม. |
พายุไซโคลน | 34–47 นอต 62–87 กม./ชม. |
พายุดีเปรสชันหมุนเร็ว | 28–33 นอต 52–61 กม./ชม. |
พายุดีเปรสชัน | ≤27 นอต ≤51 กม./ชม. |
พายุหมุนเขตร้อนใดที่ก่อตัวในมหาสมุทรอินเดียเหนือ ระหว่างเส้นเมริเดียนที่ 100 องศาตะวันออกถึงเส้นเมริเดียนที่ 45 องศาตะวันออก จะถูกติดตามโดยกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD, RSMC นิวเดลี)[3] ภายในภูมิภาคนี้พายุหมุนเขตร้อนถูกนิยามเป็น พายุหมุนในระดับภูมิภาคแบบไม่มีหน้าปะทะอากาศ (Non-frontal synoptic scale cyclone) ที่เริ่มขึ้นเหนือทะเลในเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน ซึ่งมีการจัดระบบการพาความร้อนและมีการไหลเวียนลมพื้นผิวแบบพายุหมุนอย่างแน่นอน[3] การจัดความรุนแรงอย่างเป็นทางการขั้นต่ำที่สุด ที่ใช้กันภายในมหาสมุทรอินเดียเหนือคือ พายุดีเปรสชัน ซึ่งมีความเร็วลมต่อเนื่องใน 3 นาทีอยู่ระหว่าง 17–27 นอต (31–49 กม./ชม. หรือ 20–31 ไมล์/ชม.)[3] หากพายุดีเปรสชันทวีกำลังแรงขึ้น มันจะกลายเป็นพายุดีเปรสชันหมุนเร็ว ซึ่งมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 28–33 นอต (50–61 กม./ชม. หรือ 32–38 ไมล์/ชม.)[3] หากพายุดีเปรสชันหมุนเร็วมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน มันจะได้รับชื่อจากกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย โดยจะต้องมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 34–47 นอต (62–88 กม./ชม. หรือ 39–54 ไมล์/ชม.)[3] หากพายุทวีกำลังแรงขึ้นอีกมันจะถูกจัดเป็นพายุไซโคลนกำลังแรง โดยพายุระดับนี้มีกำลังลมแบบพายุโซนร้อน ซึ่งจะมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 48–63 นอต (89–117 กม./ชม. หรือ 55–72 ไมล์/ชม.) หากพายุยังทวีกำลังแรงขึ้นไปอีก มันจะถูกจัดเป็นพายุไซโคลนกำลังแรง โดยพายุตั้งแต่ระดับนี้ขึ้นไปจะมีกำลังลมแบบพายุเฮอริเคนหรือพายุไต้ฝุ่น ซึ่งจะมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 48–63 นอต (89–117 กม./ชม. หรือ 55–72 ไมล์/ชม.) หากพายุทวีกำลังแรงขึ้นอีก มันจะถูกจัดเป็นพายุไซโคลนกำลังแรงมาก โดยมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 64–89 นอต (118–166 กม./ชม. หรือ 73–102 ไมล์/ชม.) ซึ่งหากพายุยังทวีกำลังแรงขึ้นอีก มันจะถูกจัดเป็นพายุไซโคลนกำลังแรงอย่างมาก โดยมีความเร็วลมอยู่ระหว่าง 90–119 นอต (166–221 กม./ชม. หรือ 104–137 ไมล์/ชม.)[3] สำหรับการจัดความรุนแรงขั้นสูงสุดในมหาสมุทรอินเดียเหนือคือ พายุซูเปอร์ไซโคลน โดยมีความเร็วลมมากกว่า 120 นอต (222 กม./ชม. หรือ 138 ไมล์/ชม.)[3]
ตามประวัติศาสตร์แล้ว ระบบจะถูกจัดความรุนแรงเป็นพายุดีเปรสชัน ถ้าบริเวณของระบบนั้นมีความกดอากาศต่ำเมื่อเทียบกับบริเวณโดยรอบ[16] และในประวัติศาสตร์ยังมีการจัดความรุนแรงแบบอื่นถูกใช้ด้วย คือ พายุไซโคลนที่มีลมไม่เกินกว่าระดับ 10 ตามมาตราโบฟอร์ต และพายุไซโคลนที่มีลมอยู่ในระดับ 11 หรือ 12 ตามมาตราโบฟอร์ต[16] ระหว่างปี พ.ศ. 2467 ถึง 2531 พายุหมุนเขตร้อนในแอ่งนี้ถูกแบ่งการจัดความรุนแรงออกเป็นสี่ประเภทคือ พายุดีเปรสชัน พายุดีเปรสชันหมุนเร็ว พายุไซโคลน และพายุไซโคลนกำลังแรง[16] อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2531 เมื่อมีการนำประเภท "พายุไซโคลนกำลังแรงที่มีแกนของลมพายุเฮอริเคน" มาใช้สำหรับพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมมากกว่า 64 นอต (119 กม./ชม. หรือ 74 ไมล์/ชม.)[16] ในระหว่างปี พ.ศ. 2542 มีการนำประเภทใหม่มาใช้เพิ่มเติมคือ "พายุไซโคลนกำลังแรงมาก" และ "พายุซูเปอร์ไซโคลน" ขณะที่ประเภทพายุไซโคลนกำลังแรงที่มีแกนของลมพายุเฮอริเคนนั้น ถูกตัดทิ้งออกไป[16] ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558 มีการแก้ไขอื่น ๆ กับมาตราความรุนแรงอีก โดยกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียมีการเรียกพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดต่อเนื่องใน 3 นาที ระหว่าง 90–119 นอต (166–221 กม./ชม. หรือ 104–137 ไมล์/ชม.) เป็นประเภทพายุไซโคลนกำลังแรงอย่างมาก[17]
ส่วนศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมของสหรัฐก็ติดตามในแอ่งนี้เช่นกัน และยังมีการออกคำเตือนพายุหมุนเขตร้อนที่มีนัยสำคัญสำหรับรัฐบาลสหรัฐด้วย[13] นอกจากนี้ยังมีการกำหนดหมายเลขพายุหมุนเขตร้อนเช่นเดียวกันกับแอ่งอื่น ๆ ข้างต้นด้วย (แม้ว่าจะเป็นรูปแบบที่ไม่เป็นทางการสำหรับแอ่งนี้และแอ่งอื่น โดยพายุไซโคลนที่ก่อตัวอยู่ในทะเลอาหรับจะได้รับตัวอักษร "A" ต่อท้าย ขณะที่พายุที่ก่อตัวในอ่าวเบงกอลจะได้รับตัวอักษร "B" ต่อท้าย) การเตือนภัยนี้จะใช้ความเร็วลมต่อเนื่องใน 1 นาที เนื่องจากสามารถเทียบเคียงกับมาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สันได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความรุนแรงใด ๆ ในแอ่งนี้ ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมจะจัดประเภทระบบทั้งหมดเป็น พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclones) พร้อมด้วยหมายเลขพายุหมุนเขตร้อน (โดยมีการใส่ชื่อพายุลงในวงเล็บ และใช้วิธีปฏิบัติเช่นเดียวกันกับพายุไต้ฝุ่นในหัวข้อด้านบน)[14]
ประเภท | ลมเฉลี่ย |
---|---|
พายุไซโคลนรุนแรงมาก | >115 นอต >212 กม./ชม. |
พายุไซโคลนรุนแรง | 90–115 นอต 166–212 กม./ชม. |
พายุไซโคลน | 64–89 นอต 118–165 กม./ชม. |
พายุโซนร้อนกำลังแรง | 48–63 นอต 89–117 กม./ชม. |
พายุโซนร้อน กำลังปานกลาง |
34–47 นอต 63–88 กม./ชม. |
พายุดีเปรสชันเขตร้อน | 28–33 นอต 51–62 กม./ชม. |
หย่อมความกดอากาศต่ำ เขตร้อน |
<28 นอต <50 กม./ชม. |
พายุหมุนเขตร้อนใดที่ก่อตัวภายในซีกโลกใต้ ระหว่างทวีปแอฟริกาถึงเส้นเมริเดียนที่ 90 องศาตะวันออก จะถูกติดตามโดยศูนย์พายุหมุนเขตร้อนเรอูว์นียงของเมเตโอ-ฟร็องส์ (MFR, RSMC เรอูว์นียง)[18] ภายในภูมิภาคนี้การแปรปรวนของลมในเขตร้อน (Tropical disturbance) จะถูกนิยามเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในระดับภูมิภาคแบบไม่มีหน้าปะทะอากาศ (Non-frontal synoptic scale low pressure area) ที่เริ่มขึ้นเหนือทะเลในเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน ซึ่งมีการจัดระบบการพาความร้อนและมีการไหลเวียนลมพื้นผิวแบบพายุหมุนอย่างแน่นอน ด้วยความเร็วลมเฉลี่ยประมาณไม่เกิน 27 นอต (50 กม./ชม.)
การแปรปรวนของลมในเขตร้อน เป็นคำเรียกทั่วไปที่เมเตโอ-ฟร็องส์ใช้เรียกหย่อมความกดอากาศต่ำแบบไม่มีหน้าปะทะอากาศ ที่มีการจัดระบบการพาความร้อนและมีการไหลเวียนลมพื้นผิวแบบพายุหมุน[18] ตัวระบบควรจะมีความเร็วลมโดยประมาณน้อยกว่า 28 นอต (50 กม./ชม. หรือ 32 ไมล์/ชม.)[18]
ระบบพายุจะถูกกำหนดให้เป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน หรือ พายุดีเปรสชันกึ่งเขตร้อน เมื่อมันมีความเร็วลมมากกว่า 28 นอต (50 กม./ชม. หรือ 32 ไมล์/ชม.) หากพายุทวีกำลังแรงขึ้นอีก และมีความเร็วลมมากกว่า 35 นอต (65 กม./ชม. หรือ 40 ไมล์/ชม.) มันจะถูกกำหนดให้เป็นพายุโซนร้อนกำลังปานกลาง และจะได้รับชื่อจากศูนย์ย่อยภูมิภาคในมอริเชียสหรือมาดากัสการ์เพียงศูนย์ใดศูนย์หนึ่ง ส่วนระบบพายุกึ่งเขตร้อนในแอ่งนี้นั้น ไม่ว่าจะมีความรุนแรงเท่าใด มันก็จะถูกกำหนดให้เป็นพายุดีเปรสชันกึ่งเขตร้อนเสมอ[19]
หากพายุที่รับชื่อแล้วนั้นยังทวีกำลังแรงขึ้นไปอีก จนมีความเร็วลมถึง 48 นอต (89 กม./ชม. หรือ 55 ไมล์/ชม.) มันจะถูกกำหนดให้เป็นพายุโซนร้อนกำลังแรง[19] และจะได้รับการกำหนดให้เป็นพายุไซโคลน เมื่อพายุนั้นมีความเร็วลมถึง 64 นอต (118 กม./ชม. หรือ 74 ไมล์/ชม.)[18] หากพายุไซโคลนนั้นทวีกำลังแรงขึ้น จนมีความเร็วลมถึง 90 นอต (166 กม./ชม. หรือ 103 ไมล์/ชม.) มันจะถูกกำหนดให้เป็นพายุไซโคลนรุนแรง[18] ส่วนถ้าพายุยังทวีกำลังแรงขึ้นอีก และมีความเร็วลมถึง 115 นอต (212 กม./ชม. หรือ 132 ไมล์/ชม.) มันจะถูกกำหนดให้เป็นพายุไซโคลนรุนแรงมาก ซึ่งเป็นประเภทความรุนแรงสูงที่สุดในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก–ใต้[19]
เมื่อการประชุมคณะกรรมการพายุหมุนเขตร้อนภูมิภาคหนึ่ง (RA I Tropical cyclone committee) ครั้งที่สิบในช่วงปี พ.ศ. 2534 มีการแนะนำให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดระดับความรุนแรงสำหรับในฤดูกาล พ.ศ. 2536–2537[20] โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการตัดสินใจให้การจัดความรุนแรงเดิมที่แบ่งพายุดีเปรสชันเขตร้อนออกเป็น พายุดีเปรสชันเขตร้อนกำลังอ่อน (Weak Tropical Depression), พายุดีเปรสชันเขตร้อนกำลังปานกลาง (Moderate Tropical Depression), พายุดีเปรสชันเขตร้อนกำลังแรง (Severe Tropical Depression) นั้นเปลี่ยนเสียใหม่เป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน (Tropical Depression), พายุโซนร้อนกำลังปานกลาง และพายุโซนร้อนกำลังแรง[20] โดยการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลใช้ในช่วงฤดูกาล พ.ศ. 2536–2537[20]
ส่วนศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมของสหรัฐก็ติดตามในแอ่งนี้เช่นกัน และยังมีการออกคำเตือนพายุหมุนเขตร้อนที่มีนัยสำคัญในนามรัฐบาลสหรัฐด้วย[13] ระบบพายุจะถูกกำหนดหมายเลขพายุหมุนเขตร้อนแบบไม่เป็นทางการ พร้อมเติมตัวอักษร "S" ต่อท้าย (ซึ่งครอบคลุมทั้งมหาสมุทรอินเดียใต้ รวมถึงทั้งพื้นที่รับผิดชอบของ BMKG และ BoM ทางฝั่งตะวันตกของเส้นเมริเดียนที่ 135 องศาตะวันออกด้วย) การเตือนภัยนี้จะใช้ความเร็วลมต่อเนื่องใน 1 นาที เนื่องจากสามารถเทียบเคียงกับมาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สันได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความรุนแรงใด ๆ ในแอ่งนี้ ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมจะจัดประเภทระบบทั้งหมดเป็น พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclones) พร้อมด้วยหมายเลขพายุหมุนเขตร้อน (โดยมีการใส่ชื่อพายุลงในวงเล็บ และใช้วิธีปฏิบัติเช่นเดียวกันกับพายุไต้ฝุ่นและมหาสมุทรอินเดียเหนือในหัวข้อด้านบน)[14]
ระดับ | ลมเฉลี่ย | ลมกระโชก |
---|---|---|
ห้า | >107 นอต >200 กม./ชม. |
>151 นอต >279 กม./ชม. |
สี่ | 86-107 นอต 160-200 กม./ชม. |
122-151 นอต 225-279 กม./ชม. |
สาม | 64-85 นอต 118-159 กม./ชม. |
90-121 นอต 165-224 กม./ชม. |
สอง | 48-63 นอต 89-117 กม./ชม. |
68-89 นอต 125-164 กม./ชม. |
หนึ่ง | 34-47 นอต 63-88 กม./ชม. |
49-67 นอต 91-125 กม./ชม. |
ความกดอากาศต่ำ เขตร้อน |
<34 นอต <63 กม./ชม. |
<49 นอต <91 กม./ชม. |
พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นในซีกโลกใต้ นับจากทางตะวันออกของเส้นเมริเดียนที่ 90 องศาตะวันออก จะถูกติดตามอย่างเป็นทางการโดยศูนย์เตือนพายุหมุนเขตร้อนหนึ่งศูนย์หรือมากกว่านั้น[21] ซึ่งศูนย์เหล่านี้ดำเนินงานโดยกรมอุตุนิยมวิทยาฟีจี, เมทเซอร์วิซของนิวซีแลนด์, กรมอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์แห่งอินโดนีเซีย (BMKG), หน่วยงานบริการลมฟ้าอากาศแห่งชาติของปาปัวนิวกีนี และสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย (BoM)[21] ภายในภูมิภาคนี้พายุหมุนเขตร้อนถูกนิยามเป็น หย่อมความกดอากาศต่ำในระดับภูมิภาคแบบไม่มีหน้าปะทะอากาศ (Non-frontal synoptic scale low pressure area) ที่เริ่มขึ้นเหนือทะเลในเขตร้อน โดยมีการจัดระบบการไหลเวียนลมและมีความเร็วลมต่อเนื่องใน 10 นาทีมากกว่า 34 นอต (63 กม./ชม. หรือ 39 ไมล์/ชม.) ใกล้ศูนย์กลาง[21] เมื่อพายุมีความเร็วลมถึงระดับนี้แล้ว มันจะได้รับชื่อจากศูนย์เตือนพายุหมุนเขตร้อน และเริ่มถูกจัดระดับตามมาตราความรุนแรงพายุหมุนเขตร้อนของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมาตราที่แบ่งพายุหมุนเขตร้อนออกเป็นห้าระดับ ขึ้นอยู่กับความเร็วลมสูงสุดใน 10 นาที[21][22] พายุไซโคลนระดับ 1 จะมีความเร็วลมต่อเนื่องใน 10 นาทีอยู่ที่ 34–47 นอต (36–87 กม./ชม. หรือ 39–54 ไมล์/ชม.) ขณะที่พายุไซโคลนระดับ 2 จะมีความเร็วลมต่อเนื่องใน 10 นาทีอยู่ที่ 48–63 นอต (89–117 กม./ชม. หรือ 55–72 ไมล์/ชม.)[22][23] เมื่อพายุไซโคลนระดับ 2 กลายเป็นพายุไซโคลนระดับ 3 มันจะถูกจัดความรุนแรงใหม่เป็น พายุไซโคลนกำลังแรง โดยมีความเร็วลมอยู่ที่ 64–85 นอต (119–157 กม./ชม. หรือ 74–98 ไมล์/ชม.)[22][23] พายุไซโคลนกำลังแรงระดับ 4 มีความเร็วลมอยู่ที่ 86–110 นอต (157–200 กม./ชม. หรือ 99–130 ไมล์/ชม.) ขณะที่การจัดความรุนแรงสูงสุดคือ พายุไซโคลนกำลังแรงระดับ 5 ซึ่งมีความเร็วลมอย่างน้อย 108 นอต (200 กม./ชม. หรือ 124 ไมล์/ชม.) ขึ้นไป[22][23]
สำหรับระบบพายุที่มีความรุนแรงต่ำกว่าพายุไซโคลน จะมีคำที่ใช้กับระบบเหล่านี้ต่างกัน ประกอบด้วย การแปรปรวนของลมในเขตร้อน (Tropical Disturbance), บริเวณความกดอากาศต่ำเขตร้อน (Tropical Low) และ พายุดีเปรสชันเขตร้อน (Tropical Depression)[21] การแปรปรวนของลมในเขตร้อนนั้นหมายถึง การเริ่มของระบบในระดับภูมิภาคแบบไม่มีหน้าปะทะอากาศในเขตร้อน โดยมีการพาความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ/หรือ มีข้อบ่งชี้ถึงการไหลเวียน[21] ส่วนพายุดีเปรสชันเขตร้อนหรือบริเวณความกดอากาศต่ำเขตร้อน คือ การแปรปรวนของลม (Disturbance) ที่มีการไหลเวียนอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถทำการประมาณตำแหน่งของศูนย์กลางได้แล้ว และมีความเร็วลมสูงสุดเฉลี่ยใน 10 นาทีน้อยกว่า 34 นอต (63 กม./ชม. หรือ 39 ไมล์/ชม.) ใกล้ศูนย์กลาง[21] ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาฟีจีจะมีหมายเลข FMS ให้กับระบบเมื่อมีความเป็นไปได้ว่ามันจะพัฒนาไปเป็นพายุไซโคลน หรือจะมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินภายในพื้นที่รับผิดชอบของตน และจะมีการวิเคราะห์สำหรับ 24 ชั่วโมงก่อนหน้าด้วย[21] มาตราพายุหมุนเขตร้อนของออสเตรเลียนี้ถูกนำเสนอโดยสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย ก่อนหน้าฤดูกาล พ.ศ. 2523–2524
ส่วนศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมของสหรัฐก็ติดตามในแอ่งนี้เช่นกัน และยังมีการออกคำเตือนพายุหมุนเขตร้อนที่มีนัยสำคัญในนามรัฐบาลสหรัฐด้วย[13] ระบบพายุจะถูกกำหนดหมายเลขพายุหมุนเขตร้อนแบบไม่เป็นทางการ พร้อมเติมตัวอักษร "S" ต่อท้าย (ถ้าเริ่มต้นทางตะวันตกของเส้นเมริเดียนที่ 135 องศาตะวันออก และตลอดทั้งมหาสมุทรอินเดียใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของเมเตโอ-ฟร็องส์) หรือ เติมตัวอักษร "P" ต่อท้าย (ถ้าเริ่มทางตะวันออกของเส้นเมริเดียนที่ 135 องศาตะวันออก และตลอดทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดของสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย, หน่วยงานบริการลมฟ้าอากาศแห่งชาติของปาปัวนิวกีนี, กรมอุตุนิยมวิทยาฟีจี และเมทเซอร์วิซของนิวซีแลนด์) การเตือนภัยนี้จะใช้ความเร็วลมต่อเนื่องใน 1 นาที เนื่องจากสามารถเทียบเคียงกับมาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สันได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความรุนแรงใด ๆ ในแอ่งนี้ ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมจะจัดประเภทระบบทั้งหมดเป็น พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclones) พร้อมด้วยหมายเลขพายุหมุนเขตร้อน (โดยมีการใส่ชื่อพายุลงในวงเล็บ และใช้วิธีปฏิบัติเช่นเดียวกันกับพายุไต้ฝุ่นและมหาสมุทรอินเดียในหัวข้อด้านบน)[14]
ยังมีมาตราอื่นที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาคหรือศูนย์เตือนภัยพายุหมุนเขตร้อนไม่ใช้อย่างเป็นทางการ ทว่ามีองค์การอื่นใช้ เช่น องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ ตัวอย่างเช่น "ดัชนีพลังงานจลน์เบ็ดเสร็จ" (Integrated Kinetic Energy index) ซึ่งวัดศักย์ทำลายล้างของคลื่นพายุซัดฝั่ง มีระดับตั้งแต่หนึ่งถึงหก โดยหกมีศักยะทำลายล้างสูงสุด[24]
"พลังงานพายุหมุนสะสม" (accumulated cyclone energy; ACE) เป็นมาตราที่องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติและหน่วยงานอื่นใช้เพื่อแสดงกัมมันตภาพของพายุหมุนเขตร้อนลูกหนึ่ง ๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือกำลังพายุหมุนเขตร้อนและฤดูกาลพายุหมุนเขตร้อนทั้งหมด[25] โดยคำนวณโดยนำความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางของพายุหมุนเขตร้อนกัมมันต์ทุกลูก (ความเร็วลมตั้งแต่ 35 น็อตขึ้นไป) ที่ระยะห่าง 6 ชั่วโมงยกกำลังสอง จำนวนดังกล่าวปกติถูกหารด้วย 10,000 เพื่อให้คำนวณต่อได้ง่ายขึ้น หน่วยของ ACE คือ 104 น็อต2 และสำหรับใช้เป็นดัชนี มีการสันนิษฐานหน่วย[25] นอกจากนี้ อาจคำนวณโดยใช้ความเร็วลมยกกำลังสาม ซึ่งเรียก ดัชนีการสลายกำลัง (Power Dissipation Index หรือ PDI)[26]
"ดัชนีความรุนแรงเฮอริเคน" (Hurricane Severity Index; HSI) เป็นอีกมาตราหนึ่งที่มีการใช้และจัดความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนโดยอาศัยทั้งความรุนแรงและขนาดของสนามลม[27] HSI กำหนดให้มี 0 ถึง 50 แต้ม โดยแบ่งเป็นความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนสูงสุด 25 แต้ม และขนาดสนามลมสูงสุด 25 แต้ม[27] การให้แต้มเป็นแบบอัตราเลื่อน โดยแต้มส่วนใหญ่สงวนไว้สำหรับแรงเฮอริเคนและสนามลมขนาดใหญ่[27]
ศัพทวิทยาสำหรับพายุหมุนเขตร้อนที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ชื่อย่อภาษาอังกฤษใต้ชื่อแอ่งเป็นชื่อของศูนย์เตือนภัยอย่างเป็นทางการทั่วโลก โดยมีเพียงศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ (NHC), ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลาง (CPHC) และศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม (JTWC) เท่านั้นที่ใช้ความเร็วลมต่อเนื่องใน 1 นาที และมีเพียงกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) เท่านั้นที่ใช้ความเร็วลมต่อเนื่องใน 3 นาที (ไม่ปรากฏในตาราง) นอกนั้นศูนย์เตือนภัยอื่นทั่วโลกจะใช้ความเร็วลมต่อเนื่องใน 10 นาที
ตารางเปรียบเทียบความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อน | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา โบฟอร์ต |
ความเร็วลมต่อเนื่อง 1 นาที (NHC/CPHC/JTWC) |
ความเร็วลมต่อเนื่อง 10 นาที (WMO/JMA/MF/BOM/FMS) |
แปซิฟิกตะวันออกเฉียงเหนือและ แอตแลนติกเหนือ NHC/CPHC |
แปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ JTWC |
แปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ JMA |
มหาสมุทรอินเดียเหนือ IMD |
มหาสมุทรอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ MF |
ออสเตรเลียและแปซิฟิกใต้ BOM/FMS |
0–7 | <32 นอต (59 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | <28 นอต (52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุดีเปรสชันเขตร้อน | พายุดีเปรสชันเขตร้อน | พายุดีเปรสชันเขตร้อน | พายุดีเปรสชัน | พื้นที่ของอากาศแปรปรวน | การแปรปรวนของลมในเขตร้อน |
7 | 33 นอต (61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 28–29 นอต (52–54 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุดีเปรสชันหมุนเร็ว | การแปรปรวนของลมในเขตร้อน | พายุดีเปรสชันเขตร้อน | |||
8 | 34–37 นอต (63–69 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 30–33 นอต (56–61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุโซนร้อน | พายุโซนร้อน | พายุดีเปรสชันเขตร้อน | บริเวณความกดอากาศต่ำเขตร้อน | ||
9–10 | 38–54 นอต (70–100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 34–47 นอต (63–87 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุโซนร้อน | พายุไซโคลน | พายุโซนร้อนกำลังปานกลาง | พายุไซโคลน ระดับ 1 | ||
11 | 55–63 นอต (102–117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 48–55 นอต (89–102 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุโซนร้อนกำลังแรง | พายุไซโคลนกำลังแรง | พายุโซนร้อนกำลังแรง | พายุไซโคลน ระดับ 2 | ||
12+ | 64–71 นอต (119–131 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 56–63 นอต (104–117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุเฮอริเคนระดับ 1 | พายุไต้ฝุ่น | ||||
72–82 นอต (133–152 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 64–72 นอต (119–133 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุไต้ฝุ่นกำลังแรง | พายุไซโคลน กำลังแรงมาก |
พายุไซโคลน | พายุไซโคลนกำลังแรง ระดับ 3 | |||
83–95 นอต (154–176 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 73–83 นอต (135–154 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุเฮอริเคนระดับ 2 | ||||||
96–97 นอต (178–180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 84–85 นอต (156–157 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุเฮอริเคน ขนาดใหญ่ระดับ 3 |
พายุไต้ฝุ่นกำลังแรง อย่างมาก | |||||
98–112 นอต (181–207 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 86–98 นอต (159–181 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุไซโคลนกำลังแรง อย่างมาก |
พายุไซโคลนรุนแรง | พายุไซโคลนกำลังแรง ระดับ 4 | ||||
113–122 นอต (209–226 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 99–107 นอต (183–198 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุเฮอริเคน ขนาดใหญ่ระดับ 4 | ||||||
123–129 นอต (228–239 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 108–113 นอต (200–209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุไต้ฝุ่นรุนแรง | พายุไซโคลนกำลังแรง ระดับ 5 | |||||
130–136 นอต (241–252 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | 114–119 นอต (211–220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น | พายุซูเปอร์ไซโคลน | พายุไซโคลนรุนแรงมาก | ||||
>137 นอต (254 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | >120 นอต (220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) | พายุเฮอริเคน ขนาดใหญ่ระดับ 5 |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.