Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าบรมราชา เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงอโยธยา รัชกาลที่ 9 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1853–1887
สมเด็จพระเจ้าบรมราชา | |
---|---|
พระเจ้ากรุงอโยธยา | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 1853 – พ.ศ. 1887 (34 ปี) |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าธรรมราชา |
ถัดไป | สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 |
สวรรคต | พ.ศ. 1887 |
ชายา | พระนางเจ้าสุนันทาเทวี |
พระราชบิดา | พระเจ้าธรรมไตรโลก กรุงศรีสัชนาลัย |
ใน พระราชพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมราชาว่าเสด็จพระราชสมภพแต่พระเจ้าธรรมไตรโลกแห่งกรุงศรีสัชนาลัยเป็นพระราชบิดา[1]สมเด็จพระเจ้าธรรมราชา และเจ้าราชาธิราชเป็นพระเชษฐาร่วมสายพระโลหิต หลังทรงราชาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติครองกรุงอโยธยาแล้ว ทรงได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าบรมราชา[1] หรือ พระบาทสมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดีศรีวิสุทธิสุริยวงษองคบุริโสดมบรมจักรพรรดิ ราชาธิราชตรีภูวะนาธิเบศบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว[2] ปรากฏใน พระอายการเบดเสรจ มหาศักราช ๑๒๖๓ ปีมะแม (พ.ศ. 1886) เสวยรายสมบัติครองกรุงอโยธยาตั้งแต่ พ.ศ. 1853 – พ.ศ. 1887 เป็นเวลา 34 ปี[3]
ครั้นสมเด็จพระเจ้าธรรมราชา พระเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคต เหล่าขุนนางเสนาอำมาตย์กรุงอโยธยาจึงอัญเชิญพระเจ้าบรมราชา พระราชอนุชากระทำพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกรุงอโยธยาราชธานี เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าบรมราชา[1] โปรดให้นางสุนันทาเทวี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าสุวรรณราชาเป็นพระอัครมเหสี
ด้วยบุญญาธิการของสมเด็จพระเจ้าบรมราชาครั้นพระนางเจ้าสุนันทาเทวีทรงพระครรภ์ล่วงไป 10 เดือนจวนเวลาค่ำใกล้ประสูติ บรรดาชาวจีน จาม พราหมณ์ นักเทศน์ กุลา อังกฤษ ญี่ปุ่น และวิลันดา (ฮอลันดา) ต่างพากันแต่งเรือสำเภาเข้ามาค้าขายถึงกรุงอโยธยา และถวายเครื่องราชบรรณาการแก่สมเด็จพระเจ้าบรมราชา[1]
ครั้นพระนางเจ้าสุนันทาเทวีประสูติพระราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าบรมราชาจึงพระราชทานนามพระราชกุมารว่า วรเชษฐกุมาร เมื่อเจ้าวรเชษฐกุมารมีพระชนม์ครบ 16 พรรษา สมเด็จพระเจ้าบรมราชาทรงมีพระทัยใคร่ออกผนวช และมอบเวรราชสมบัติแก่พระราชบุตร จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่ขุนนางเสนาอำมาตย์ให้ส่งข่าวถึงพระประยูรญาติทั้งเมืองฝ่ายข้างเหนือ และเมืองข้างใต้[1]
เมื่อวันพุธ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 6 ปีฉลูศก สมเด็จพระเจ้าบรมราชาเสด็จออกจากกรุงอโยธยาพร้อมด้วยเจ้าวรเชษฐกุมาร พระราชกุมาร พระสนาม และเสนามนตรีแห่ล้อมขบวนเป็นบริวารไปยังวัดสมโณโกฏิ (หรือ วัดสมณโกฏฐาราม)[4] มีพระสังฆราชาเป็นประธาน พระมหาเทพโมฬีเป็นผู้แสดงกรรมวาจา และพระมหาธรรมไตรโลก วัดสุทธาเป็นอนุสาวนะ มีพระสงฆ์ประชุม 100 รูป กระทำพระราชพิธีอุปสมบทสมเด็จพระเจ้าบรมราชา และยังมีพระสงฆ์อุปสมบทใหม่อีกกว่า 100 รูป
สมเด็จพระเจ้าบรมราชาทรงผนวช ณ วัดสมโณโกฏิ แล้วเสด็จไปประทับอยู่ ณ อารามวัดป่าหลวงนอกเมืองชลอนตราบเท่าสิ้นพระชนมายุของพระองค์ในพระอารามนั้น[1]
มานิต วัลลิโภดม และคณะ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้าบรมราชาซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ครองราชสมบัติกรุงพระนครอโยธยาระหว่าง พ.ศ. 1853 ถึง พ.ศ. 1887 เป็นกษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาพระพุทธไตรรัตนนายก (วัดพนัญเชิง)[5] ตามที่ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า:–
จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก (พ.ศ. ๑๘๖๗) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง[6]
พระราชพงศาวดารเหนือ ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าบรมราชาพระอัครมเหสี 1 พระองค์
มีนักประวัติศาสตร์ประเมินว่า พงศาวดารเหนือ เป็นเอกสารมีความคลาดเคลื่อนมาก "พระบรมราชา" พระองค์นี้อาจหมายถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ก็ได้[7]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.