สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. (อังกฤษ: Office of the National Security Council) เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงและข่าวกรองของไทยที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีของประเทศไทยใช้ในการประสานงานด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ[3][4]

ข้อมูลเบื้องต้น ภาพรวมสภา, ก่อตั้ง ...
สภาความมั่นคงแห่งชาติ
Office of the National Security Council
ตราประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ภาพรวมสภา
ก่อตั้ง11 ธันวาคม พ.ศ. 2453; 113 ปีก่อน (2453-12-11)
สภาก่อนหน้า
  • สภาการป้องกันพระราชอาณาจักร (พ.ศ. 2453 – พ.ศ. 2475)
  • สภาการสงคราม (พ.ศ. 2483 – พ.ศ. 2487)
  • สภาป้องกันราชอาณาจักร (พ.ศ. 2487 – พ.ศ. 2502)
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ทำเนียบรัฐบาลไทย
บุคลากร355 คน (พ.ศ. 2562)[1]
งบประมาณต่อปี279,600,500 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
ฝ่ายบริหารสภา
ต้นสังกัดสภาสำนักนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ปิด

สภาความมั่นคงแห่งชาติมีสำนักงานทำหน้าที่เลขานุการสภา คือสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ประวัติ

สภาความมั่นคงแห่งชาติ เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้มีภารกิจทางด้านการทหารเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และมีการประสานงานที่ดี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีสภาเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานและมีเสนาธิการทหารบกเป็นเลขานุการสภา[5]

ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ และเรียกชื่อใหม่ว่า “สภาการป้องกันพระราชอาณาจักร” [6] จนกระทั่งวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร สภาการป้องกันพระราชอาณาจักรจึงถูกยกเลิกไป [7] ต่อมาเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการจัดตั้ง “สภาการสงคราม” ขึ้น โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาการสงคราม ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกที่เกี่ยวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ[8] แต่ก็ยกเลิกไป เนื่องจากได้มีการจัดตั้ง “สภาป้องกันราชอาณาจักร” ขึ้นแทน โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร เมื่อ 10 กันยายน พ.ศ. 2487[9]

จากนั้นเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักรออกมาใหม่ ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม[10] และใช้อยู่จนกระทั่งได้มีการการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การยกเลิกพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2499 และประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502[11] นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “สภาป้องกันราชอาณาจักร” เป็น “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” มาจนกระทั่งทุกวันนี้

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507 โดยมีการปรับปรุงองค์ประกอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยได้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาอาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือ หัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในเรื่องนั้น ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้ที่ได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น[12]

สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 กำหนดให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สภา มช.) ประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่ง 11 ราย ดังต่อไปนี้

สมาชิก สภา มช.
1 นายกรัฐมนตรี ประธาน
2 รองนายกรัฐมนตรี รองประธาน
3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมาชิก
4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมาชิก
5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมาชิก
6 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมาชิก
7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาชิก
8 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมาชิก
9 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมาชิก
10 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมาชิก
11 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิกและเลขานุการ

ทั้งนี้ ในการประชุมสภา มช. แต่ละครั้ง สามารถเชิญรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่นอกเหนือจากสมาชิกสภา มช. เข้าร่วมการประชุมเป็นครั้งคราว ในฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ หากมีประเด็นพิจารณาที่เห็นสมควรแก่การเชิญให้ความเห็นและลงมติที่ประชุม

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงาน โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ ซึ่งกำหนดให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยในการพิจารณาเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาความมั่นคงเเห่งชาติเสนอชื่อบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 มาตรา 21 กำหนดให้มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. รับผิดชอบในงานธุรการของสภา และศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับ งานของสภา
  2. จัดทำร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติตามเป้าหมายและแนวทาง ที่สภากำหนดเพื่อเสนอต่อสภา
  3. เสนอแนะและให้ความเห็นต่อสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
  4. ให้คำปรึกษา เสนอแนะ และให้ความเห็น ตลอดจนอำนวยการและประสานการปฏิบัติงานใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  5. ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์ และแจ้งเตือนสถานการณ์ด้านความมั่นคง การเปลี่ยนแปลง ของสถานการณ์ สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ พิสูจน์ทราบและคาดการณ์ภัยคุกคาม และการประเมินกำลังอำนาจของชาติ
  6. ประสานงานหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในกิจการด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ ด้านการประเมินสภาวะแวดล้อม และด้านวิชาการที่เกี่ยวกับความมั่นคง
  7. ศึกษา วิจัย รวบรวม พัฒนา ส่งเสริม และเผยแพร่ข้อมูลหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับ ความมั่นคงแห่งชาติ
  8. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น หรือตามที่สภา นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

กล่าวโดยสรุป สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการ ที่ตอบสนองต่อการเตรียมรับมือ ป้องกัน และตอบสนองภัยคุกคามด้านต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยปัจจุบัน รับผิดชอบการจัดทำนโยบายด้านความมั่นคงหลัก คือ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งฉบับปัจจุบันคือ ระยะ พ.ศ. 2566-2570 สถาะปัจจุบัน อยู่ระหว่างเสนอทูลเกล้าฯ รวมทั้ง แผนปฏิบัติการที่รองรับภัยคุกคามด้านต่างๆ อาทิ แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์ แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ เป็นต้น

สถานที่ตั้งของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ปัจจุบัน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีที่ตั้ง 3 แห่ง คือ อาคารสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล, อาคาร 20 ทำเนียบรัฐบาล และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารบี) แจ้งวัฒนะ

การแบ่งส่วนราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 รับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และมีสาระสำคัญเป็นการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะทำให้การปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ สมช. ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2563 แบ่งส่วนราชการ[13][14] ออกเป็น 4 ภารกิจ ดังนี้ กลุ่มภารกิจนโยบายและบริหารแผนงานความมั่นคง, กลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และอำนวยความมั่นคงเฉพาะด้าน, กลุ่มภารกิจสนับสนุนทางวิชาการและเครือข่ายการมีส่วนร่วม, กลุ่มภารกิจสนับสนุนทางการบริหาร

อ้างอิง

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.