วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น มีชื่อจริงว่า ธีระพล สำราญกลาง เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรของนายแก่เฮง และนางลม สำราญกลาง ต่อมาครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น | |
---|---|
เกิด | ธีระพล สำราญกลาง 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 |
ยอดมวยไทย
วีระพลเคยชกมวยไทยมาก่อนอย่างโชกโชน เป็นมวยฝีมือดี ในชื่อ "วีระพล สหพรหม" ประสบความสำเร็จอย่างมาก เคยเป็นแชมป์มวยไทย 3 รุ่นของเวทีราชดำเนิน เคยผลัดแพ้-ชนะในแบบน็อก กับ "แซมซั่น" แสนเมืองน้อย ลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ (ซึ่งต่อมากลายมาเป็นแชมป์โลกของสหพันธ์มวยโลก (WBF) ในรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท ที่ป้องกันตำแหน่งไว้ได้มากถึง 38 ครั้ง) โดยเป็นการแพ้น็อกครั้งแรกในการชกมวยไทยของแสนเมืองน้อยด้วย[1] รวมถึงเคยเป็นนักมวยไทยยอดเยี่ยมของเวทีราชดำเนิน ในปี พ.ศ. 2536 เมื่อหาคู่ชกในแบบมวยไทยไม่ได้แล้ว "เสี่ยฮุย" สุชาติ พิสิฐวุฒินันท์ จึงได้ซื้อตัววีระพลต่อมาจาก "อั้งม้อ" ชูเจริญ ระวีอร่ามวงศ์ ผู้จัดการคนเดิม เพื่อสร้างสรรค์ในแบบมวยสากลอาชีพ โดยตั้งเป้าไว้ที่เป็นแชมป์โลก
ชก 4 ครั้งเป็นแชมป์โลก
วีระพลชกมวยสากลครั้งแรก ก็ได้ชิงแชมป์เลย โดยชิงแชมป์เงาของสภามวยโลก (WBC) รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท กับโจเอล จูนิโอ นักมวยชาวฟิลิปปินส์ โดยชนะน็อกในยกที่ 3 ไป จากนั้นวีระพล อุ่นเครื่องอีก 3 ครั้ง ก็ได้ชิงแชมป์โลกของจริงกับนักมวยไทยด้วยกันเอง คือ ดาวรุ่ง ชูวัฒนะ นับเป็นศึกสายเลือดอีกครั้ง โดยมีเดิมพันวางไว้สูงของผู้จัดการทั้งสองฝ่าย และศึกครั้งนี้ สุชาติ พิฐวุฒินันท์ เป็นผู้จัดเอง นอกจากนี้แล้ว ทั้งคู่เมื่อครั้งยังชกมวยไทย เคยมีผู้จัดการคนเดียวกัน คือ "อั้งม้อ" ชูเจริญ ระวีอร่ามวงศ์ จึงเสมือนเป็นศึกสายเลือดของนักมวยค่ายเดียวกันเองอีกด้วย ซึ่งผลการชก วีระพลเป็นฝ่ายใช้ลีลาหลอกล่อ ดักชกเอาชนะคะแนน 12 ยก ดาวรุ่งไป แม้ในยกที่ 2 จะถูกหมัดของดาวรุ่งชกเอาจนก้นเตี้ย แต่ก็ได้กลายเป็นแชมป์โลกของสมาคมมวยโลก (WBA) รุ่นแบนตัมเวท คนใหม่ และเป็น แชมป์โลกที่มีสถิติการชกมวยน้อยที่สุดเป็นอันดับสองของโลก คือ ชกเพียง 4 ครั้ง ก็ได้แชมป์โลกด้วย (อันดับหนึ่ง คือ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ และ วาซีล โลมาเชนโก ที่ชกเพียง 3 ครั้ง)
แชมป์โลกสมัยที่ 2
แต่วีระพลป้องกันตำแหน่งครั้งแรกกับ นานา คอนาดู นักมวยรองแชมป์โลก WBA อันดับ 1 ชาวกานา ที่ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2539 วีระพลก็เสียตำแหน่งไปทันที โดยแพ้ทีเคโอในยกที่ 2 เท่านั้น แต่กลุ่มผู้สนับสนุนคือ สุชาติ พิสิฐวุฒินันท์ ก็ไม่ละทิ้งความพยายาม โดยตั้งเป้าไว้ที่จะให้ชิงแชมป์โลกอีกครั้ง วีระพลจึงถูกสร้างสรรค์อีกครั้งอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขึ้นชกสม่ำเสมอสร้างประสบการณ์และความแข็งแกร่ง เมื่อ ศิริมงคล สิงห์มนัสศักดิ์ เสียตำแหน่งแชมป์โลกสภามวยโลก (WBC) แบนตัมเวท ให้แก่ โจอิจิโร ทัตสึโยชิ นักมวยชาวญี่ปุ่นไป วีระพลจึงมีโอกาสขึ้นชิงแชมป์อีกครั้งในฐานะรองแชมป์โลก WBC อันดับ 5 โดยที่วีระพลเดินทางไปชกถึงประเทศญี่ปุ่น และก็สามารถเอาชนะทีเคโอ โจอิจิโร ทัตสึโยชิ ไปได้ในยกที่ 6 อย่างงดงาม เป็นที่น่าประทับใจ
ซึ่งในการชกครั้งนี้ วีระพลยังต้องเจอกับความชุลมุนจากบรรดาแฟน ๆ ของทัตสึโยชิที่เข้ามารุมทำร้ายด้วย เมื่อวีระพลและคณะได้เดินจากห้องพักถึงเวที และเมื่อชกเสร็จแล้วก็ยังต้องรออีกกว่า 30 นาที จึงจะลงจากเวทีได้ [2]
หลังจากนั้นวีระพลได้ชกป้องกันตำแหน่งอีกหลายหลายครั้ง ทั้งในและนอกประเทศ นับ 10 กว่าครั้ง เป็นขวัญใจของแฟนมวย ได้รับรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมของชาติ หลายต่อหลายครั้ง แต่ในการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 15 กับ โฮซูมิ ฮาเซงาวะ นักมวยรองแชมป์โลก WBC อันดับ 4 ชาวญี่ปุ่น วีระพลกลับเป็นฝ่ายแพ้คะแนนเสียแชมป์ไปอย่างสูสี และเมื่อได้มีการแก้มือกันอีกครั้ง ผลการชกก็ออกมาเป็นว่า วีระพลเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอไปในยกที่ 9 อีก แต่ วีระพลและกลุ่มผู้สนับสนุนก็ยังไม่ละความพยายาม ยังคงสนับสนุนวีระพลต่อไป โดยหวังว่าจะกลับมาเป็นแชมป์อีกครั้ง ในสมัยที่ 3
ท้ายที่สุดในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2551 วีระพลขึ้นชกตัดเชือกเพื่อไปหาผู้ชนะไปชิงแชมป์โลก โดยพบกับ แชมป์อินเตอร์เนชันแนล (แชมป์เงา WBC) วูซี มาลิงกา ชาวแอฟริกาใต้ที่ จังหวัดนนทบุรี ปรากฏว่า วีระพล สู้สังขารและสภาพร่างกายไม่ไหว เป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอในยกที่ 4 เท่านั้น โดยในปลายยกที่ 3 วีระพลถูกหมัดรัวชุดของมาลิงกา จนลงไปกองนับแปดก่อนระฆังจะช่วยหมดยกพอดี ขึ้นยกที่ 4 วีระพลยังถูกหมัดฮุกรัวเป็นชุดของมาลิงกา จนกรรมการบนเวทีเห็นว่าวีระพลหมดทางสู้ จึงยุติการชกไปเพียงแค่ยกที่ 4 เท่านั้น ทำให้หลังจากไฟต์นี้ ความหวังในการขึ้นชิงแชมป์โลกอีกครั้งของวีระพลต้องดับวูบลงไป แต่หลังจากนี้วีระพลก็ยังคงชกเคลื่อนไหวอีกเป็นระยะ ๆ พร้อมกับเป็นเทรนเนอร์ให้กับ นภาพล เกียรติศักดิ์โชคชัย นักมวยในสังกัดเดียวกันเมื่อครั้งขึ้นชิงแชมป์โลก WBC รุ่นซูเปอร์แบนตัมเวท กับ โทชิอากิ นิชิโอกะ ด้วย ด้วยเห็นว่าวีระพลเคยชกกับนิชิโอกะมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน ก่อนที่จะแขวนนวมไปในที่สุด
วีระพลเป็นคนมีหน้าตาเคร่งขรึม จึงได้รับฉายาว่า "พยัคฆ์หน้าขรึม"
ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 มีกระแสข่าวว่าวีระพลเตรียมจะขึ้นชกมวยไทยกับแสนเมืองน้อย ลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ อดีตนักมวยไทยชื่อดังและอดีตแชมป์โลกของสหพันธ์มวยโลก (WBF) ในรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท ซึ่งแรกๆวีระพลขอปรึกษากับทางครอบครัวก่อนว่าจะให้ชกหรือไม่ [3] ต่อมา นายณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์ศึกเพชรยินดี ได้ประกาศว่า มวยคู่นี้จะขึ้นชกกันในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ในรายการศึกเพชรยินดี ที่เวทีราชดำเนิน [4]โดยผลการชกเป็น แสนเมืองน้อย ลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ เป็นฝ่ายเอาชนะคะแนนไปอย่างขาดลอย โดยไม่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ แต่มีการนำเทปบันทึกภาพมาออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ดาวเทียมหลังการชกไม่กี่ชั่วโมง เช่นเดียวกับมวยไทยเวทีมาตรฐานตามปกติ
ชีวิตส่วนตัว
วีระพลปัจจุบันสมรสแล้ว มีลูกชายหนึ่งคน และลูกสาวหนึ่งคน หลังจากแขวนนวมแล้ว วีระพลได้เปิดกิจการร้านอาหารที่อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ชื่อ "ร้านแชมป์โลก" โดยเป็นผู้ปรุงอาหารเอง[1]
เกียรติประวัติ
- แชมป์เงา WBC รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท (2537 - 2538)
- ชิง, 5 ธันวาคม 2537 ชนะทีเคโอ ยก 3 โจเอล จูนิโอ ( ฟิลิปปินส์) ที่ ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี
- ป้องกันครั้งที่ 1, 26 มีนาคม 2538 ชนะทีเคโอ ยก 9 เมลวิน มากราโม (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.นนทบุรี
- สิงหาคม 2538 สละแชมป์
- แชมป์โลก WBA รุ่นแบนตัมเวท (2538 - 2539)
- ชิง, 17 กันยายน 2538 ชนะคะแนน ดาวรุ่ง ชูวัฒนะ ที่ เซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี
- เสียแชมป์ 28 มกราคม 2539 แพ้ทีเคโอ ยก 2 นานา คอนาดู ( กานา) ที่ สนามกีฬา จ.กาญจนบุรี
- แชมป์โลก WBC รุ่นแบนตัมเวท (2541 - 2549)
- ชิง, 29 ธันวาคม 2541 ชนะทีเคโอ ยก 6 โจอิจิโร ทัตสึโยชิ ( ญี่ปุ่น) ที่ ศูนย์กีฬาในร่มกลางเทศบาลโอซากะ โอซากะ
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 21 พฤษภาคม 2542 ชนะน็อค ยก 5 มัวโร บลังก์ ( อุรุกวัย) ที่ สนามกีฬากลาง จ.สระบุรี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 29 ส.ค. 2542 ชนะทีเคโอ ยก 7 โจอิจิโร ทัตสึโยชิ (ญี่ปุ่น) ที่ เคียวเซร่า โดม โอซากะ โอซากะ
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3, 11 มีนาคม 2543 ชนะคะแนน อาดัน บาร์กัส ( เม็กซิโก) ที่ ตลาดชายแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 4, 25 มิถุนายน 2543 ชนะคะแนน โทชิอากิ นิชิโอกะ (ญี่ปุ่น) ที่ โรงยิมเนเซียมเมืองทากาซาโงะ ทากาซาโงะ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 5, 5 ธันวาคม 2543 ชนะทีเคโอ ยก 5 โอสการ์ อาร์ซินิเอกา (เม็กซิโก) ที่ ท้องสนามหลวง
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 6, 14 พฤษภาคม 2544 ชนะน็อค ยก 3 ริการ์โด บาราฆัส (เม็กซิโก) ที่ โดม เดอ ปารีส ฝรั่งเศส
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 7, 1 กันยายน 2544 เสมอ โทชิอากิ นิชิโอกะ (ญี่ปุ่น) ที่ โยโกฮามะอารีนา จ.คานางาวะ
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 8, 11 มกราคม 2545 ชนะคะแนน เซร์ฆิโอ เปเรซ (เม็กซิโก) ที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 9, 1 พฤษภาคม 2545 ชนะคะแนน ฮูลิโอ โกโรเนล ( โคลอมเบีย) ที่ สะพานพระราม 5 จ.นนทบุรี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 10, 1 พฤษภาคม 2546 ชนะคะแนน อูโก เดียนโซ (เม็กซิโก) ที่ เดอะมอลล์ บางแค
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 11, 4 ตุลาคม 2546 เสมอ โทชิอากิ นิชิโอกะ (ญี่ปุ่น) ที่ สนามกีฬาแห่งชาติเรียวโงกุ โตเกียว
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 12, 6 มีนาคม 2547 ชนะคะแนน โทชิอากิ นิชิโอกะ (ญี่ปุ่น) ที่ ไซตามะซูเปอร์อารีนา จังหวัดไซตามะ
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 13, 1 พฤษภาคม 2547 ชนะทีเคโอ ยก 12 ฆูลิโอ เซซาร์ อาบิลา (เม็กซิโก) ที่ จ.หนองคาย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 14, 11 กันยายน 2547 ชนะคะแนน เซซิลิโอ ซานโตส (เม็กซิโก) ที่ ลานหน้าเขื่อนเจ้าพระยาจ.ชัยนาท
- เสียแชมป์, 16 เม.ย. 2548 แพ้คะแนน โฮซูมิ ฮาเซงาวะ (ญี่ปุ่น) ที่ สนามกีฬาต่อสู้ญี่ปุ่น โตเกียว
- แชมป์ ABCO รุ่นแบนตัมเวท
- ชิง, 27 พฤศจิกายน 2550 ชนะคะแนน ริชาร์ด ลาเอโน่ (ฟิลิปปินส์) ที่ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี
- สละแชมป์
- เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
- ชิงแชมป์โลก WBC รุ่นแบนตัมเวท, 25 มีนาคม 2549 แพ้ทีเคโอ ยก 9 โฮซูมิ ฮาเซงาวะ (ญี่ปุ่น) ที่ เวิลด์เมมโมเรียลฮอล โคเบะ ญี่ปุ่น
- ชิงแชมป์เงา WBC รุ่นแบนตัมเวท, 12 มิถุนายน 2551 แพ้ทีเคโอ วูซี มาลิงกา ยก 4 ที่ นนทบุรี
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.