วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ในแขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ริมคลองบางพรมฝั่งใต้ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหารที่ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือ
วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร | |
---|---|
วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร | |
ชื่อสามัญ | วัดรัชฎาธิฐาน, วัดเงิน, วัดเงินบางพรม, วัดรัชฎา |
ที่ตั้ง | เลขที่ 692 ถนนแก้วเงินทอง แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระธรรมวัชรวิมล (ประเวช ธนปญฺโญ) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
วัดสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ในชื่อ วัดเงิน สร้างโดยเจ้าขรัวเงิน พระภัสดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ขณะที่เจ้าขรัวทองซึ่งเป็นน้องชายได้สร้างวัดคนละฝั่งคลองบางพรม คือ วัดทอง ต่อมาในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสถาปนาวัดเงินเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระอมรินทรา พระราชมารดา โปรดให้สร้างพระอุโบสถขึ้น และมีพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ. 2366 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จนปี พ.ศ. 2397 รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานนามวัดเงินเป็น วัดรัชฎาธิฐาน
ในปี พ.ศ. 2495 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระอุโบสถและวิหารเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดรัชฎาธิษฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 มีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และหอไตร แล้วเสร็จในปี 2557 ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร พระวิหารน้อย ซุ้มประตูและกำแพงเขตพุทธาวาส รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์[1]
อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ
รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดสร้างตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือมีพาไลรอบ หน้าบันก่ออิฐถือปูนประดับลายปูนปั้นเครือเถาลายพุดตาน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา วัดมีใบเสมาเป็นเสมาเดี่ยวขนาดใหญ่หนามาก ความเก่าแก่น่าจะราวรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถหรือพระเจ้าทรงธรรมลงมา รอบพระอุโบสถหลังเดิมมีกำแพงแก้วล้อมรอบ แยกออกจากพระวิหารหลังเดิมหรือพระอุโบสถหลังปัจจุบัน
พระอุโบสถหลังใหม่สร้างในตำแหน่งของพระวิหารเดิมที่ชำรุดพังทลาย โดยเริ่มสร้างปี พ.ศ. 2531 เป็นทรงไทย มีหน้าบันประดับภาพตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของรัชกาลที่ 9 พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หล่อด้วยโลหะ ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.50 เมตร ไม่ปรากฏพระนาม
เจดีย์ประดิษฐานอยู่รายรอบพระอุโบสถหรือพระวิหารหลังเดิม เป็นมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 9 องค์ เมื่อรื้อพระวิหารเพื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ก็ยังคงรักษาเจดีย์เหล่านี้ไว้ พระวิหารน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกหรือด้านหลังพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานสูง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซุ้มประตูทำเลียนแบบศิลปะจีน คาดว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ด้านหน้ามีบานประดูลายรดน้ำของเก่า เขียนเป็นลายพันธุ์พฤกษา ด้านล่างเป็นภาพทหารฝรั่งสวมหมวกปีกกว้างขี่ม้า[2]
หอพระไตรปิฎก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 บ้างสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ก่อนที่จะได้รับการปฏิสังขรณ์สร้างใหม่ทั้งหมด (แต่อาจสร้างขึ้นตามผังเดิม) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ศาลาการเปรียญของวัด เดิมเป็นพระตำหนักของกรมพระศรีสุดารักษ์ที่พระราชทานมาให้สร้างเป็นศาลาการเปรียญในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ได้ย้ายตำแหน่งในปี พ.ศ. 2502 ภายในมีธรรมาสน์บุษบก ประดิษฐานอยู่ ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ลักษณะเป็นแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเชิงกลอนซ้อน 5 ชั้น งดงามมาก
วัดมีโรงเรียนพระปริยัติราชวรเวที เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาส สร้างเมื่อ พ.ศ. 2545
รายนามเจ้าอาวาส
ลำดับ | นาม | ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.) |
---|---|---|
1. | พระวิสุทธิสังวรเถร (เสม) | |
2. | พระวินัยกิจการีเถร (ภู่) | ครองวัดถึง พ.ศ. 2432 |
3. | พระวินัยกิจการีเถร (ปั้น) | 2432 – 2469 |
4. | พระครูภาวนาภิรมย์ (ซุ่ม) | 2469 – 2472 |
5. | พระครูภาวนาภิรมย์ (พลอย พฺรหฺมโชโต) | 2472 – 2488 |
6. | พระครูภาวนาภิรมย์ (สาย) | 2488 – 2503 |
7. | พระสรภาณโกศล (สมบูรณ์ โชติปาโล) | 2504 – 2529 |
8. | พระธรรมวัชรวิมล (ประเวช ธนปญฺโญ) | 2529 - ปัจจุบัน |
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.