Loading AI tools
วัดในจังหวัดราชบุรี จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร พบหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ถนนเขางู ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองราชบุรี ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง เดิมเรียกว่า "วัดหน้าพระธาตุ" "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ" มีพระปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงสูง 12 วา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่พระปรางค์ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันมีพระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นเจ้าอาวาส
วัดมหาธาตุวรวิหาร | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
แรกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมขอมได้แพร่เข้าสู่ดินแดนราชบุรี จึงได้มีการก่อสร้างและดัดแปลงศาสนสถานกลางเมืองราชบุรีขึ้นเป็นพระปรางค์ และสร้างกำแพงศิลาแลงล้อมรอบเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองตามคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลของขอมโบราณ[1] ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 ได้มีการขยายพื้นที่ออกไปทางทิศตะวันตกและก่อสร้างพระปรางค์ขนาดใหญ่บนฐานเขียง ฐานชั้นล่างสุดเป็นแบบบัวลูกฟักสองชั้นรองรับเรือนธาตุเหนือขึ้นไปเป็นบัวเชิงบาตรรองรับส่วนยอดปักนพศูล พระปรางค์ประดับลวดลายปูนปั้นในส่วนต่างๆอย่างงดงาม สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางมีการก่อพระปรางค์บริวารเพิ่มสามองค์ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่22ได้สร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมจำนวน 5 องค์ล้อมไว้อีกชั้นบนฐานเดียวกัน ส่วนมุขยาวด้านหน้าสันนิษฐานว่าเป็นการต่อขึ้นใหม่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองราชบุรีจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก ประชาชนก็ย้ายตามความเจริญไปด้วย วัดมหาธาตุจึงกลายเป็นวัดร้างไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2338 พระภิกษุองค์หนึ่งชื่อพระบุญมา ได้ธุดงค์มาเห็นวัดนี้มีสถานที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมจึงได้ขอความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนช่วยกันปัดกวาดซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ ในที่สุด วัดมหาธาตุจึงกลับมาเป็นศูนย์กลางของศาสนาเช่นเดิม และยังคงเป็นมาจนถึงปัจจุบัน
พระปรางค์ประธาน เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 และได้รับการซ่อมแซมเพิ่มเติมในสมัยอยุธยาตอนต้นตรงส่วนที่เป็นซุ้มด้านตะวันออก และภาพจิตรกรรมภายใน ประกอบด้วยพระปรางค์ประธานและพระปรางค์บริวาร 3 องค์บนฐานเดียวกันมีการตกแต่งองค์พระปรางค์ทั้งหมดด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างงดงาน ด้านตะวันออกของพระปรางค์ประธานมีบันไดและขึ้นมุขยื่น ภายในเป็นคูหาเชื่อมต่อกับพระปรางค์ ผนังภายในองค์พระปรางค์ทุกด้านมีภาพจิตรกรรมรูปพระอดีตพุทะเจ้า สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสร้างองค์พระปรางค์ พระวิหารหลวง อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ภายนอกระเบียงคด เป็นซากอาคารในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานด้านล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้ามีมุขยื่น บนพระวิหารเคยมีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่ แต่พังทลายลงหมด บนฐานวิหารมีอาคารไม้โล่ง หลังคาเครื่องไม่มุงสังกะสี อาคารหลังนี้กล่าวกันว่า นายหยินบิดาของขุนสิทธิสุวรรณพงศ์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรีเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 พระวิหารนี้เคยเป็นที่ตั้งโรงเรียนพระอภิธรรมราชบุรี ภายในอาคารพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนหินทรายขนาดใหญ่แสดงปางมารวิชัย 2 องค์ ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน พุทธศิลปะแบบอยุยาตอนต้น ด้านข้างทั้งสองและด้านหน้าของพระวิหารที่มุมด้านตะวันออกแยงเหนือและด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีวิหารขนาดเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายสีแดงปางมารวิชัยประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกันคล้ายกับพระพุทธรูปบนพระวิหารหลวง
พระอุโบสถ สันนิษฐานจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมว่าสร้างขึ้นตอนปลายสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 22 ซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2509 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลด 2 ชั้น 3 ตับ เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้าและด้านหลังทำพาไลยื่นรองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนจำนวน 3 ตับ ด้านข้างมีชายคาปีกนกโดยรอบ ฐานอาคารมีลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย คือแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภาหรือที่เรียกว่าแอ่นท้องช้าง ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นปูนประดับกระจกเป็นซุ้มหน้านาง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานดอกบัว ด้านนอกโดยรอบมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ
พระมณฑป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระปรางค์ประธานภายนอกกำแพงแก้วปัจจุบันอยู่ในเขตสังฆาวาสของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบบนฐานเขียงรองรับฐานสิงห์ ผนังรอบด้านมีซุ้มหน้าต่างทรงมณฑปด้านละ 1 ซุ้ม เว้นด้านตะวันออกเป็นซุ้มประตูทางเข้ามีบันไดขึ้น – ลง เครื่องหลัวคาของพระมณฑปพังทลายลงหมดแล้ว ภายในพระมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาททำด้วยหินทรายสีแดง ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงส์ และตอนผจญกองทัพพญามาร ปัจจุบันมีสภาพลบเลือนเกือบหมด เพราะไม่มีหลังคาคลุมทำให้น้ำฝนชะล้างสีจนภาพเลอะเลือน พระมณฑปหลังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระเจดีย์ เป็นเจดีย์รายเรียงเป็นแถวอยู่ด้านหน้าพระมณฑปจำนวน 5 องค์ เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังกลมจำนวน 4 องค์ และพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีก 1 องค์ ทั้งหมดเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ฐานของพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองมีจารึกบนแผ่นหินอ่อนความว่า พ.ศ. 2462 สามเณรเซียะเล็ก พร้อมบุตรทิพ เจริญ ฮกเซ่งพิจารณาเห็นว่า พระเจดีย์เป็นปูชนียวัตถุถาวรจึงได้พร้อมใจกันมีศรัทธาสร้างขึ้นไว้ในพระพุทธศาสนานิพ์พานปัจจ์โยโหตุอนาคตะฯ
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.