Loading AI tools
วัดในกรุงเทพมหานคร จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบุปผารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในแขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
วัดบุปผารามวรวิหาร | |
---|---|
พระอุโบสถ | |
ชื่อสามัญ | วัดบุปผาราม, วัดดอกไม้ |
ที่ตั้ง | เลขที่ 293 ซอยอรุณอมรินทร์ 5 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
เจ้าอาวาส | พระเทพญาณวัชราจารย์ (บรรจบ ตาที) |
เว็บไซต์ | http://www.watbuppha.org |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดบุปผารามวรวิหาร สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อว่า วัดดอกไม้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ต่อมาเป็นวัดร้าง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านผู้หญิงจันทร์ ภรรยาเอกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้ทำการปฏิสังขรณ์วัด เนื่องจากเป็นวัดใกล้บ้านท่าน ต่อมาปี พ.ศ. 2391 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อครั้งยังเป็นจมื่นไวยวรนาถและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นจมื่นราชามาตย์ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ ท่านได้สร้างถาวรวัตถุสำคัญ ๆ ของวัดขึ้น คือพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฎีตึกโบราณ 2 ชั้นและชั้นเดียว รวมทั้งกำแพงวัด ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงช่วยในการบูรณะปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดบุปผาราม[1]
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2487 วัดบุปผารามถูกระเบิดทำลาย ทำให้พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎีตึกโบราณ และกำแพงวัด ได้รับความเสียหายยากแก่การซ่อมแซม เจ้าอาวาสในขณะนั้นพระธรรมวราลังการ (กล่อม อนุภาสเถระ) ได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎี และกำแพงวัดขึ้นมาใหม่ วัดได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เนื่องจากย้ายสถานที่ก่อสร้างจากที่เดิม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2507[2]
พระอุโบสถมีผู้ออกแบบคือ หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) มีขนาดยาว 27 เมตร กว้าง 14 เมตร ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน ตรงกลางเป็นรูปตรามหาสุริยมณฑลแบบไทย คือตราราชสีห์เทียมรถ ซึ่งเป็นตราประจำตัวของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ ถัดมาเป็นรูปพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ พื้นประดับกระจกสี ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มทรงมหาพิชัยมงกุฎ เป็นสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 บานประตู้หน้าต่างไม้สัก ด้านนอกติดแผ่นทองแดงลายแกะสลักดุนปิดทองพื้นลายดอกพุดตาน ช่วงบนเป็นลายตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ช่วงกลางเป็นลายตราบัวแก้ว ช่วงล่างเป็นลายเครื่องอิสริยยศของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ หลังอุโบสถติดแผ่นทองแดงสลักดุตเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ที่ฐานชั้นล่างมีรูปพระอัครสาวก (พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ) เป็นพระหล่อ ลงรักปิดทอง นั่งพับเพียบประนมมือบนแท่งต่ำอยู่ข้างซ้ายข้างขวาของพระประธาน
ศาลาการเปรียญ สร้างใหม่พร้อมอุโบสถ มีชื่อศาลาว่า ศาลาสมเด็จ มีลักษณะสถาปัตยกรรมทรงไทย มีประดับ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน เป็นรูปตรามหาสุริยมณฑลแบบฝรั่ง คือรูปอาทิตย์มีรูปหน้าคนอยู่ตรงกลาง ทาสีทอง พื้นสีขาว ภายในศาลาประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัยแบบพระพุทธชินราช
พระวิหารเป็นถาวรวัตถุแห่งเดียวในวัดที่ยังคงหลงเหลือ มีลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ผสมไทยจีน อันเป็นพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 มีตรามหาสุริยมณฑลแบบไทย (ราชสีห์เทียมรถ) อยู่ตรงกลางซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนป้นปิดทอง ประดับกระจกสีรูปดอกพุดตาน มีตรามหาสุริยมณฑลแบบไทยเทิดมหาพิชยัมงกุฎอยู่ตรงกลาง ภายในวิหารเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธประวัติ พระประธานเป็นพระปางมารวิชัย แบบพระพุทธชินราช มีพาไลและระเบียงล้อมมรอบพระวิหาร พาไลเขียนสีลายรดน้า ปิดทอง ระเบียงปูหินอ่อน[3]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.