ราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์ค
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์ค (เยอรมัน: Haus Württemberg) เป็นราชวงศ์เก่าแก่เยอรมันและเคยเป็นราชวงศ์ของราชอาณาจักรเวือร์ทเทิมแบร์ค
![]() | |
พระราชอิสริยยศ | เคานต์แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค ดยุกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค ผู้คัดเลือกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค พระมหากษัตริย์แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค พระมหากษัตริย์ลิทัวเนีย เคานต์แห่งมงเบลียาร์ |
---|---|
ปกครอง | เวือร์ทเทิมแบร์ค |
สาขา | เทค (สิ้นสาย) อูรัค |
ประมุขพระองค์แรก | ค็อนราทที่ 1 เคานต์แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค |
ผู้นำสกุลองค์ปัจจุบัน | วิลเฮ็ล์ม ดยุกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค |
ประมุขพระองค์สุดท้าย | พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค |
สถาปนา | ค.ศ. 1081 |
ล่มสลาย | ค.ศ. 1918 |
ประวัติศาสตร์
สรุป
มุมมอง
เคาน์ตี
ประมาณ ค.ศ. 1080 บรรพบุรุษของราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์ค ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า "วิร์เทิมแบร์ค" ได้ตั้งถิ่นฐานในเขตชตุทการ์ท[1] ค็อนราทแห่งเวือร์ทเทิมแบร์คได้สืบทอดตำแหน่งจากราชวงศ์เบวเทลสบัคและสร้างปราสาทวิร์เทิมแบร์คขึ้นมา ประมาณปี ค.ศ. 1089 พระองค์ได้รับตำแหน่งเป็นเคานต์ โดยดินแดนของพระองค์ซึ่งเดิมมีเพียงบริเวณรอบ ๆ ปราสาท ได้ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากการได้มาซึ่งดินแดนของราชวงศ์ที่ยากจน เช่น ราชวงศ์ทือบิงเงิน [2]
ดัชชี
ในการประชุมสภาเมืองวอร์มส์ใน ค.ศ. 1495 เคานต์เอแบร์ฮาร์ดที่ 5 ได้รับการแต่งตั้งเป็นดยุก (Herzog) โดยจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 ซึ่งต่อมาได้เป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างปี ค.ศ. 1534–1537 ดยุกอูลริชได้ประกาศรับการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ ทำให้เวือร์ทเทิมแบร์คกลายเป็นรัฐโปรเตสแตนต์ โดยที่ดยุกอูลริชได้กลายเป็นประมุขของศาสนจักรโปรเตสแตนต์ท้องถิ่น
ในศตวรรษที่ 18 สายราชวงศ์โปรเตสแตนต์ในฝ่ายชายได้สิ้นสุดลง ทำให้ตำแหน่งประมุขของราชวงศ์ตกเป็นของดยุกคาร์ล อเล็คซันเดอร์ซึ่งเป็นคาทอลิก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราชวงศ์จะเป็นคาทอลิก แต่นิกายโปรเตสแตนต์ยังคงเป็นศาสนาประจำรัฐ โดยมีสภาคณะสงฆ์ที่ประกอบด้วยขุนนางแห่งเวือร์ทเทิมแบร์คบริหารงาน ต่อมาในปี ค.ศ. 1797 ดยุกเฟรเดอริกที่ 2 ซึ่งเป็นโปรเตสแตนต์ได้ขึ้นครองตำแหน่ง ทำให้ราชวงศ์กลับมาเป็นโปรเตสแตนต์อีกครั้ง[3]
ราชอาณาจักร
จากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงการปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และจากการที่เวือร์ทเทิมแบร์คเป็นพันธมิตรของนโปเลียน ดยุกเฟรเดอริกที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าผู้คัดเลือกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์คในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1803 และได้รับดินแดนเพิ่มขึ้นจากการยึดครองและการปรับเปลี่ยนเขตแดน ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1806 พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
ใน ค.ศ. 1828 พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งเวือร์ทเทิมแบร์คได้ประกาศกฎหมายราชวงศ์ฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของราชวงศ์รวมถึงกฎการสืบทอดบัลลังก์แบบลูกชายคนโต (สิทธิของบุตรหัวปี) เฉพาะในสายชาย และข้อจำกัดเกี่ยวกับการแต่งงานที่ต้องเป็นสมรสที่เท่าเทียมกันทางชนชั้น
ใน ค.ศ. 1867 ราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์คได้สถาปนาตำแหน่งดยุกแห่งอูรัคสำหรับเจ้าชายวิลเฮ็ล์มโดยเป็นพระโอรสจากการการแต่งงานต่างฐานันดรใน ค.ศ. 1800 ซึ่งทำให้พระองค์และทายาทถูกตัดสิทธิ์ในการปกครองอาณาจักร ต่อมาใน ค.ศ. 1871 ตำแหน่งดยุกแห่งเทค ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อเจ้าชายฟรันทซ์ ดยุกแห่งเทค ด้วยเหตุผลทางราชวงศ์เช่นเดียวกัน
ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 การปฏิวัติเยอรมันได้นำไปสู่การล่มสลายของระบอบกษัตริย์ทั้งหมดในจักรวรรดิเยอรมัน โดยพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 2 ทรงสละราชบัลลังก์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เมื่ออดีตกษัตริย์วิลเฮ็ล์มที่ 2 สวรรคตใน ค.ศ. 1921 สายหลักของราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์คได้สิ้นสุดลง ตำแหน่งประมุขของราชวงศ์ตกเป็นของพระญาติห่าง ๆ คือ อัลเบร็คท์ ดยุกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
ราชวงศ์
การสืบสายราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์คยังคงมีต่อมาจนถึงปัจจุบันถึงแม้ว่าราชวงส์จะไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆ
ราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์คตั้งแต่ ค.ศ. 1918
- พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 2, ค.ศ. 1918–1921
- ดยุกอัลเบร็คท์, ค.ศ. 1921–1939
- ดยุกฟิลลิพ, ค.ศ. 1939–1975
- ดยุกคาร์ล, ค.ศ. 1975–2022
- วิลเฮ็ล์ม ดยุกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค, ค.ศ. 2022–ปัจจุบัน
อ้างอิง
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.