Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"มีทู" (อังกฤษ: Me Too) แปลว่า "ฉันด้วย" เป็นแฮชแท็กสองคำที่แพร่หลายรวดเร็วหลังใช้ในสื่อสังคมช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017 เพื่อประณามการประทุษร้ายทางเพศ (sexual assault) และการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) หลังจากฮาร์วีย์ เวน์สเตน (Harvey Weinstein) ผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบทางเพศ[1][2][3] วลีนี้ ทารานา เบิร์ก (Tarana Burke) นักกิจกรรมสังคม ใช้ในแง่ดังกล่าวมานานแล้ว ภายหลังจึงเป็นที่นิยมขึ้นเมื่ออะลิสซา มิลาโน (Alyssa Milano) นักแสดงหญิง เชิญชวนผู้หญิงทั้งหลายให้ทวีตสองคำนี้ออกไปเพื่อบอกเล่าประสบการณ์อันจะช่วยชี้ให้เห็นพฤติกรรมเกลียดผู้หญิง[4][5] นับแต่นั้น จึงมีผู้คนนับล้าน รวมถึงผู้มีชื่อเสียงมากมาย ใช้แฮชแท็กนี้แบ่งปันประสบการณ์ของตน[6][7]
ทารานา เบิร์ก นักกิจกรรมสังคมและนักจัดการชุมชน ริเริ่มวลี "มีทู" นี้ที่เครือข่ายสังคมมายสเปซ (Myspace)[8] เมื่อ ค.ศ. 2006 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับรากหญ้าเพื่อส่งเสริม "การสร้างพลังด้วยการรับรู้ร่วมกัน" (empowerment through empathy) ในกลุ่มผู้หญิงผิวสีที่มีประสบการณ์ถูกทารุณทางเพศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส[4][9][10][11][12] เบิร์กได้สร้างสารคดีชื่อ มีทู โดยแถลงว่า ได้แรงบันดาลใจในการใช้ถ้อยคำนี้มาจากการที่ไม่รู้จะตอบสนองอย่างไรกับเด็กหญิงวัยสิบสามปีที่ไว้ใจเล่าให้เธอฟังว่า ตนถูกทารุณทางเพศ เบิร์กกล่าวภายหลังว่า ตอนนั้นน่าจะได้บอกไปว่า "มีทู" (ฉันก็ด้วย)[8]
ครั้นวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2017 อะลิสซา มิลาโน นักแสดงหญิง เชิญชวนให้เผยแพร่วลีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ จะได้แสดงให้เห็นขอบเขตและความแพร่หลายของปัญหาทางเพศ เธอทวีตว่า "ถ้าผู้หญิงทั้งหลายที่ถูกคุกคามหรือประทุษร้ายทางเพศขึ้นสเตตัสว่า 'ฉันด้วย' อาจทำให้ผู้คนรับรู้ว่าปัญหามันหนักหนาสาหัสเพียงใด" ("If all the women who have been sexually harassed or assaulted wrote 'Me too.' as a status, we might give people a sense of the magnitude of the problem.")[13][14][15][6][4] ภายหลังมิลาโนแถลงว่า วลีนี้เอามาจากเบิร์ก และระบุว่า เรื่องราวของเบิร์กนั้น "อบอุ่นหัวใจและสร้างแรงบันดาลใจ"[8]
จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2017 มีการใช้วลีนี้แล้วกว่า 200,000 ครั้ง[16] วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 2017 ทวีตออกไปแล้วกว่า 500,000 ครั้ง[1] ส่วนที่เฟซบุ๊ก ภายใน 24 ชั่วโมงแรก มีผู้คนกว่า 4.7 ล้านคนใช้เป็นแฮชแท็กแล้วกว่า 12 ล้านข้อความ[7] มีรายงานว่า ผู้ใช้สื่อสังคมในสหรัฐอย่างน้อย 45% มีเพื่อนที่ใช้วลีดังกล่าว[17]
แฮชแท็กนี้ติดอันดับความนิยมในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 85 ประเทศ ซึ่งรวมถึงปากีสถาน สหราชอาณาจักร และอินเดีย[18]
มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า แฮชแท็กนี้เป็นการโยนความรับผิดให้ตัวผู้ถูกคุกคามหรือทารุณทางเพศเอง ซึ่งไม่ต่างกับการซ้ำเติม (re-traumatizing)[19][20][21][22] บางคนมองว่า แฮชแท็กนี้ทำให้สังคมเหนื่อยหน่ายและเกรี้ยวโกรธ มากกว่าจะเกิดความเห็นอกเห็นใจกันถ้วนหน้า[23][24] เบิร์กเองเดิมทีก็วิพากษ์ความเคลื่อนไหวนี้ว่า เป็นการเมินเฉยต่อกิจกรรมของหญิงผิวดำในการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับการประทุษร้ายทางเพศ แต่ภายหลังกลับลำสรรเสริญผู้ร่วมเคลื่อนไหว และยกความดีให้มิลาโนที่เอ่ยถึงขบวนการทำนองเดียวกันของตน[9]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.