มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (อังกฤษ: Princess of Naradhiwas University; อักษรย่อ: มนร. – PNU) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐลำดับที่ 77 ในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาสก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ภายหลังจากการหลอมรวมวิทยาลัยต่าง ๆ และยกฐานะขึ้นจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส วิทยาลัยการอาชีพตากใบ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี โดยชื่อ "มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์" นั้น ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 8 และ 9 เนื่องด้วยพระองค์ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
Princess of Naradhiwas University | |
ตราพระนามาภิไธย ก.ว. สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อเดิม | วิทยาลัยนราธิวาส มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
---|---|
ชื่อย่อ | มนร. / PNU |
คติพจน์ | มหาวิทยาลัยที่ประชาชนสัมผัสได้ |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ |
สถาปนา | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 673,160,700 บาท (พ.ศ. 2568)[1] |
นายกสภาฯ | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จงรัก พลาศัย |
อธิการบดี | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรีชา สะแลแม |
อาจารย์ | 394 คน (พ.ศ. 2561) |
บุคลากรทั้งหมด | 990 คน (พ.ศ. 2561) |
ผู้ศึกษา | 3,090 คน (พ.ศ. 2565) |
ที่ตั้ง | 99 ม.8 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส |
วิทยาเขต | ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย 2 แห่ง |
สี | สีทอง - สีฟ้า |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยใน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พุทธศักราช 2548[2] ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 14ก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกันยายน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีสำคัญต่างๆในกิจการของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในเขตภาคใต้อีกด้วย
โดยปัจจุบันมี ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา สะแลแม เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
จังหวัดนราธิวาส มีประชากรกลุ่มอายุที่ได้รับการศึกษาระดับนี้เพียงร้อยละ 2.4 ซึ่งต่ำที่สุดของประเทศ โดยอัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาของผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลาย ปี พ.ศ. 2543 มีเพียงร้อยละ 37.2 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาเฉลี่ยทั่วประเทศ ในปีเดียวกัน ที่ร้อยละ 81.1 ค่อนข้างมาก
ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดของประเทศ ประมาณร้อยละ 80 ของชาวมุสลิมที่มีอยู่ทั่วประเทศ และยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาที่มีการบูรณาการหลักการทางศาสนาอิสลามที่เปิดสอนถึงระดับอุดมศึกษา ทำให้ปัจจุบันจึงมีนักเรียนมุสลิมของไทยต้องเดินทางไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดนราธิวาส นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่และประหยัดงบประมาณของประเทศในการสูญเสียดุลการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมสร้างเอกภาพและคมมั่นคงของชาติ ต้องการเชื่อมโยงการศึกษากับศาสนาเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชนชาวมุสลิม ช่วยก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน และสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม วัฒนธรรมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐและประชาชนชาวมุสลิม ให้เกิดความรัก ความสามัคคี ลดความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง รวมทั้งการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ในระยะแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยใช้ชื่อว่าโครงการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยนราธิวาส" ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 หลังจากนั้นจึงได้มีการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์" เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระวินิจฉัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2549 พระราชทานตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ รูปมงกุฎสีทอง ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ตอนกลางเป็นอักษรย่อพระนาม กว. และอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสีน้ำทะเล ซึ่งสีฟ้าน้ำทะเล หรือสีฟ้าอมเขียว ของอักษรพระนามย่อ และอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสีประจำพระองค์
แรกเริ่มศูนย์กลางการจัดการศึกษา มีศูนย์กลางการบริหารงานตั้งอยู่ที่ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นที่ตั้งของสำนักงานกลาง อยู่ที่อำเภอเมืองนราธิวาส ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานอธิการบดี ณ ศูนย์ราชการใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นที่จัดตั้งพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต
ภายหลังจากการยกฐานะของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์แล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งอาคาร สถานที่และบุคลากร โดยมุ่งหวังที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาในศาสตร์ทุกสาขาที่มีความจำเป็นต้องสังคมและประเทศชาติ จึงมีการจัดตั้งคณะ วิทยาลัยต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา และจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพในด้านการเรียนการสอน และการทำวิจัย และขยายหน่วยงานของมหาวิทยาลัย โดยมีที่ทำการถาวร บริเวณ ศูนย์ราชการจังหวัดนราธิวาส โดยในระยะแรกได้ใช้อาคารเรียนของวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เป็นที่จัดการเรียนการสอน ซึ่งเปิดหลักสูตรในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของท้องถิ่นและประเทศ โดยรับนักศึกษาทั้งในระดับประกาศนีบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี คณะแรกๆเกิดจากการยกระดับจากวิทยาลัยขึ้นเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และคณะเกษตรศาสตร์
ต่อจากนั้นจึงมีการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะศิลปศาสตร์ ตามลำดับ หลังจากมหาวิทยาลัยใช้เวลาเตรียมการด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะเปิดสอนเวลาประมาณ2ปี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จึงได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ในปีการศึกษา พ.ศ. 2549
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็น 1 ใน 2 มหาวิทยาลัยที่เกิดจากการรวมหลายสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกันคือ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เพิ่มสาขาด้าน “การแพทย์” ขณะที่มหาวิทยาลัยนครพนมเพิ่มสาขาทางด้าน “การบิน”
ในการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์" และ "มหาวิทยาลัยนครพนม" นั้นใช้หลักการหลอมรวมสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้ว เป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ เป็นการกระจายโอกาสและสร้างความเสมอภาคให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปในจังหวัดพื้นที่ตั้งมหาวิทยาลัยและจังหวัดใกล้เคียงให้มีโอกาสเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากร นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นทั้งเป็นการพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่น ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น กับทั้งยังสามารถจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น
การจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์” นั้นเกิดจากการหลอมรวมของ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนราธิวาส วิทยาลัยการอาชีพตากใบ เป็นองค์กรเดียวกัน โดยไม่ขัดต่อปรัชญาการศึกษาและภารกิจของสถาบันการศึกษาเดิม การบริหาร การจัดการและการดำเนินการมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศ
ส่วนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนมเกิดจาการหลอมรวมสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม วิทยาลัยเทคนิคนครพนม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม เข้าด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสและนครพนมเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรอยต่อออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่จังหวัดนราธิวาสและนครพนมนอกจากจะเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่จะรองรับการศึกษาต่อและการใช้บริการทางการอุดมศึกษาให้กับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ
เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการจัดการศึกษา ตามแนวทางที่กำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 รวมทั้งเป็นการพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่น ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น กับทั้งยังสามารถจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น
ช่วยเสริมสร้างเอกภาพและความมั่นคงของชาติ ด้วยการเชื่อมโยงการศึกษากับศาสนาเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชนมุสลิม ช่วยก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน และสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม วัฒนธรรม และประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ลดความขัดแย้งทางสังคม การเมือง และการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
เป็นการพัฒนาให้จังหวัดนราธิวาส เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา วิจัยโดยเฉพาะด้านอิสลามศึกษาในภูมิภาค อันจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศของเยาวชนที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังจะสามารถดึงดูดนักศึกษาจากต่างชาติให้เข้ามาศึกษาในประเทศเพิ่มขึ้น
นราธิวาสราชนครินทร์ คือ สร้อยพระนามทรงกรมที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน เป็นพระองค์แรกในรัชกาล ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดนราธิวาส เสมือนเป็นเจ้าแห่งเมืองนราธิวาส
(สืบเนื่องมาจากการที่พระราชโอรส-ธิดาและพระราชนัดดาที่พระราชสมภพสืบราชสกุลแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ล้วนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ทรงกรมตามนามหัวเมืองทางภาคใต้ทั้งสิ้น ดังเช่นพระนามทรงกรมเดิมในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ "กรมหลวงสงขลานครินทร์")
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอนุญาตให้อัญเชิญพระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ "กว." ล้อมรอบด้วยอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์สีน้ำทะเล เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2549 [4]
ได้แก่ สีทอง - สีฟ้า โดยมีความหมายดังนี้
คือดอกพิกุลสีขาวนวลเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เปรียบประดุจความดีงามของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กลีบดอกเป็นจักร เปรียบประดุจความแหลมคมของปัญญา กลิ่นหอมกรุ่นเปรียบได้กับความดีงามที่ไม่มีวันจาง แม้เมื่อร่วงจากต้นลงสู่พื้นหรือไปอยู่ ณ ที่ใด ก็ยังคงความดีงามอยู่ตลอดกาล
ศึกษา วิจัยวิชาชีพ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์ เป็นรากฐานในการพัฒนาคน ชุมชนของ3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
มุ่งมั่นให้การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะวิชาชีพ เพื่อความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์ ควบคู่คุณธรรม จริยธรรม และดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เสื้อครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเป็นเสื้อคลุม ผ้าโปร่งสีขาว ผ่าอกตลอดรอบขอบและที่ต้นแขนกับปลายแขน มีแถบสีทองและฟ้าเข้มทาบทับด้วยแถบทองบริเวณอกเสื้อทั้งสองข้างมีวงมีตรามหาวิทยาลัย ปริญญาตรี และเส้นมีการจัดสีพื้นกับสีประจำคณะ สีของเส้นที่แสดงระดับของวุฒิคือ ปริญญาตรี 1 เส้น ปริญญาโทและเอกใช้ 2 และ 3 เส้น ตามลำดับนั้น
เนื่องจากมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. 2548 แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เสนอว่าควรกำหนดให้มีตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นรูปมงกุฎสีทองซึ่งเป็นตราพระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ส่วนบนเป็นมงกุฎสีทอง ส่วนกลางมีอักษรย่อพระนาม กว.สีฟ้าน้ำทะเล ส่วนล่างเป็นโบว์สีทองวงซ้อนพับกัน ภายในแถบโบว์มีชื่อ"มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์"สีฟ้าน้ำทะเล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระวินิจฉัยและพระราชทานอนุญาต เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2549 และสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการและต่อมาจึงได้ประกาศ "พระราชกฤษฎีกากำหนดตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. 2551"[4] โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยสมบูรณ์
ครั้นเมื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ดำเนินการจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษา และได้จัดการเรียนการสอนรวมทั้งผลิตบัณฑิตแล้ว มหาวิทยาลัยจึงได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ณ หอประชุมคณะพยาบาลศาสตร์ (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนราธิวาส-เดิม) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ซึ่งนับได้ว่าเป็น "พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของจังหวัดนราธิวาส"
ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พุทธศักราช 2548
เป็นวันคล้ายวันเสด็จสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ "พระผู้พระราชทานกำเนิดนามนราธิวาสราชนครินทร์" ตรงกับวันที่ 2 มกราคม ของทุกปี
อนุสรณ์สถานแห่งนี้ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้จัดออกแบบก่อสร้างลานเทิดพระเกียรติ และได้สร้างอนุสรณ์สถานให้กับพระองค์ขึ้นในที่ดินแปลงใหม่ บริเวณศูนย์ราชการ ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
อนุสรณ์สถานดังกล่าวจัดสร้างในลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม ทรงบัว กว้างด้านละ 2 เมตร สูงจากพื้นถึงปลายยอด 3 เมตร ที่ปลายยอดเป็นตราสัญลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในรูปแบบมงกุฎสีทอง ทำด้วยทองเหลืองลอยตัวตามลักษณะสีของมหาวิทยาลัยฯ และอักษรย่อพระนาม กว.เป็นตัวนูนต่ำทำด้วยสแตนเลสสีฟ้าน้ำทะเล สะท้อนถึงบารมีของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และชื่อเสียงมหาวิทยาลัยที่กว้างไกลออกไปทุกสารทิศ ส่วนฐานของอนุสรณ์สถานเป็นที่ติดตั้งตัวหนังสือแสดงชื่อมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ด้าน
วันที่ 21 ก.ย. 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดสร้างขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัย ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข ออกแบบโดยกรมศิลปากร เป็นพระอนุสาวรีย์ประทับนั่งพระเก้าอี้ ขนาดสูง 1.2 เมตร กว้าง 0.85 เมตร พร้อมมีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้มีความสวยงาม
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์มีนายกสภามหาวิทยาลัย ดังรายนามต่อไปนี้
นายกสภามหาวิทยาลัย | ||
---|---|---|
รายนามอธิการบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กระแส ชนะวงศ์ | วาระที่ 1 : 3 มีนาคม พ.ศ. 2549[5] - 2 มีนาคม พ.ศ. 2553 | |
วาระที่ 2 : 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553[6] - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557 | ||
2. มังกร หริรักษ์ | 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557[7] - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 | |
3. ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย | วาระที่ 1 : 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559[8] - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 | |
วาระที่ 2 : 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561[9] - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565 | ||
วาระที่ 3 : 13 สิงหาคม พ.ศ. 2566[10] - ปัจจุบัน |
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์มีอธิการบดี ดังรายนามต่อไปนี้
อธิการบดี | ||
---|---|---|
รายนามอธิการบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย | วาระที่ 1 : 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 | |
วาระที่ 2 : 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557 | ||
2. รศ.ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี | วาระที่ 1 : 11 มีนาคม พ.ศ. 2558 - 26 เมษายน พ.ศ. 2562 | |
วาระที่ 2 : 26 เมษายน พ.ศ. 2562 - 25 เมษายน พ.ศ.2566 | ||
3. ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม | 26 เมษายน พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน[11] |
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ครอบคลุมทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคพิเศษ และระดับประกาศนียบัตร
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มีหน่วยงานในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 7 คณะ 3 วิทยาลัย และ 1 สถาบัน[12] ดังต่อไปนี้
รับทั้งนักศึกษาศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม |
|
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ในเขตภาคใต้ตอนล่าง เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้พระราชทานนามให้แก่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนใช้สนับสนุนและพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคาร สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เขตศูนย์ราชการแห่งใหม่ บริเวณนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งของ คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี และหอประชุมใหญ่
เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและควบคุมมาตรฐานการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งหมด
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่การก่อสร้างอาคารของแต่ละคณะและแต่ละหน่วยงานนั้นคำนึงถึงกลุ่มสาขาวิชาเป็นหลัก โดยมีคณะ และสำนักงานต่างๆ แบ่งออกเป็น กลุ่มอาคารสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีเกษตร โดยพื้นที่การสร้างมหาวิทยาลัยแห่งใหม่จะประกอบไปด้วย สาธารณูปโภค และสวัสดิการต่างๆที่เอื้ออำนวยความสะดวก แก่เจ้าหน้า อาจารย์ และนักศึกษาและมีถนนเชื่อมต่อเข้าสู่อาคารต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่การศึกษา และเนื้อที่ใช้สอยต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. งานออกแบบ
2. งานควบคุมงานก่อสร้าง
หลังจากที่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้จัดตั้งแล้วและรวมวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จึงได้ขยายพื้นที่ไปที่ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอระแงะ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยมุ่งหวังให้แต่ละศูนย์เขตการศึกษาเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเฉพาะตามที่วิทยาลัยเดิมจัดการศึกษาอยู่แล้ว มีคณะที่จัดตั้งได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ โครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ โดยพื้นที่คณะเกษตรศาสตร์ และวิทยาลัยการอาชีพตากใบนั้น มิได้จัดการบริหารแบบวิทยาเขตแต่อย่างใด
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อยู่ในจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่
พื้นที่บริเวณอำเภอเมือง เป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัย โดยแบ่งออกได้ 3 บริเวณ[13] ได้แก่
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เลขที่ 49 ถนนระแงะมรรคา ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส 96000 โทรศัพท์ 0-7351-1174, 0-7351-1192 โทรสาร 0-7351-1905 อีเมล: info@pnu.ac.th
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.