Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าอเบลแห่งเดนมาร์ก หรือ อเบล วัลเดมาร์เซน (ค.ศ. 1218 - 29 มิถุนายน ค.ศ. 1252) ทรงเป็นดยุกแห่งชเลสวิกตั้งแต่ค.ศ. 1232 ถึงค.ศ. 1252 และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กตั้งแต่ค.ศ. 1250 จนกระทั่งสวรรคต พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กที่ประสูติแต่พระมเหสีพระองค์ที่สองคือ บึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส และเป็นพระอนุชาในพระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก และพระเชษฐาในพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก[1]
พระเจ้าอเบลแห่งเดนมาร์ก | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
พระบรมสาทิสลักษณ์ฝาผนังของกษัตริยอเบลบนปราสาทครอนบอร์ก | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กและชาวเวนด์ | |||||
ครองราชย์ | 1 พฤศจิกายน 1250 – 29 มิถุนายน 1252 | ||||
ราชาภิเษก | 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1250 | ||||
ก่อนหน้า | อีริคที่ 4 | ||||
ถัดไป | คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 | ||||
ประสูติ | ค.ศ. 1218 | ||||
สวรรคต | 29 มิถุนายน ค.ศ. 1252 ปี) ไอเดอสเต็ดท์ | (34||||
ฝังพระศพ | ครั้งแรกที่มหาวิหารชเลสวิก ครั้งต่อมาที่ปราสาทก็อททร็อป | ||||
คู่อภิเษก | เม็ชทิลท์แห่งฮ็อลชไตน์ | ||||
พระราชบุตร |
| ||||
| |||||
ราชวงศ์ | แอสตริดเซน | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก | ||||
พระราชมารดา | เจ้าหญิงบึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
ขณะทรงเป็นดยุกแห่งชเลสวิก พระองค์ทรงขัดแย้งกับกษัตริยอีริคที่ 4 ผู้เป็นพระเชษฐา ซึ่งกษัตริย์ถูกลอบปลงพระชนม์ในปีค.ศ. 1250 และเป็นที่โจษจันว่ามีการวางแผนฆาตกรรม ดยุกอเบลทรงกล่าวคำสาบานต่อพระเจ้าเพื่อลบล้างมลทินนั้น และพระองค์ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงครองราชย์ในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากทรงถูกปลงพระชนม์ขณะปฏิบัติการทางทหารในฟรีเชีย
รัชกาลของกษัตริย์อเบลเป็นรัชกาลที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดในบรรดาพระมหากษัตริย์เดนมาร์กในศตวรรษที่ 9 พระองค์ทรงสร้างการสืบทอดตำแหน่งดยุกแห่งชเลสวิกผ่านการสืบทายาทใน "ตระกูลอเบล" ซึ่งปกครองดัชชีชเลสวิกจนถึงปีค.ศ. 1375[2]
ในปีค.ศ. 1232 มีการเลือกตั้งให้เจ้าชายอีริค พระเชษฐาของพระองค์ให้ขึ้นเป็นพระประมุขร่วมของพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก พระราชบิดาและเป็นรัชทายาท ส่วนเจ้าชายอเบลได้รับการเลือกให้สืบตำแหน่งของพระเชษฐาในตำแหน่ง ดยุกแห่งชเลสวิก
ในปีค.ศ. 1237 ดยุกอเบลได้อภิเษกสมรสกับเม็ชทิลท์แห่งฮ็อลชไตน์ ธิดาในเคานท์อดอล์ฟที่ 4 แห่งฮ็อลชไตน์ (ค.ศ. 1205-1261) เนื่องจากเคานท์อดอล์ฟที่ 4 ทรงสละทางโลก และสละตำแหน่งเพื่อไปเป็นนักบวชในคณะฟรานซิสกันในปีเดียวกัน ดยุกอเบลจึงต้องกลายเป็นผู้สำเร็จราชการให้แก่พระอนุชาของพระมเหสีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้แก่ โยฮันน์ที่ 1 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-คีล (ค.ศ. 1226-1263) และเกอร์ฮาร์ดที่ 1 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-อิตเซโฮเอ (ค.ศ. 1232-1290)[3]
หลังจากการสวรรคตของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 ในปีค.ศ. 1241 ยุวกษัตริย์อีริค พระเชษฐาของดยุกอเบลได้ครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก ในปีต่อมา ดยุกอเบลได้ต่อต้านพระเชษฐา เนื่องจากพระองค์อยากจะให้ดัชชีชเลสวิกเป็นเอกราช พระองค์ได้เผาทำลายและปล้นสะดมตั้งแต่เมืองราเนอส์ไปจนถึงโอเดนเซ บนเกาะฟึน กษัตริย์อีริคได้ทำให้กองทัพของดยุกอเบลต้องประหลาดใจด้วยการโจมตีค่ายของอเบลที่ชเลสวิก ทำให้โซฟีแห่งชเลสวิก พระธิดาที่ยังเยาว์ของดยุกอเบลต้องหลบหนี "ด้วยพระบาทที่เปลือยเปล่าไร้รองพระบาท"[4]
การสู้รบยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่ง เจ้าหญิงโซฟีแห่งเดนมาร์ก (ราว ค.ศ. 1217-1247) พระเชษฐภคินีของดยุกอเบล และเป็นชายาในโยฮันที่ 1 มาร์เกรฟแห่งบรันเดนบูร์ก (ราวค.ศ. 1213-1266) เข้ามาเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อตกลงระหว่างดยุกอเบลและกษัตริย์อีริคที่ 4 ซึ่งดำเนินไปจนถึงค.ศ. 1250 เมื่อกษัตริย์อีริคที่ 4 ถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จไปเยี่ยมเยือนตำหนักของดยุกอเบลในชเลสวิก
กษัตริย์อีริคที่ 4 ทรงถูกปลงพระชนม์โดยเลฟ กัดมุนด์เซน (ราวค.ศ. 1195-1252) มหาดเล็กของดยุกอเบลและมือสังหารคนอื่นๆ พระวรกายไร้เศียรของกษัตริย์ถูกโยนทิ้งลงอ่าวชเล แต่ดยุกอเบลและขุนนางยี่สิบสี่คนจะประกอบพิธีสาบานอย่างเป็นทางการ ("พิธีสัตย์สาบานโหลทวีคูณ"; ในเดนมาร์ก "dobbelt tolvter-ed") ว่า องค์ดยุกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม แต่เป็นที่รู้ไปทั่วในหมู่พสกนิกรว่า กษัตริย์อีริคถูกปลงพระชนม์ด้วยคำสั่งของพระอนุชา มีคำที่คนทั่วไปพูดกันตามคติศาสนายูดายว่าทรงเป็น "อาเบลตามชื่อ แต่เป็นคาอินตามการกระทำ" (เดนมาร์ก, "Abel af navn, Kain af gavn") (ตำนานของศาสนายูดายระบุว่าคาอินผู้เป็นพี่ชายฆ่าอาเบลผู้เป็นน้องชาย)[5]
หลังจากทรงปลดเปลื้องจากข้อกล่าวหาด้วยคำสาบานแล้ว ดยุกอเบลได้รับการประกาศให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กที่สภาวีบอร์ก ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1250 กษัตริย์อเบลครองราชย์ได้เพียงหนึ่งปีครึ่ง พระองค์ทรงได้รับข่าวว่าชาวนาในฟรีเชียนำโดยซิกโก สฮาร์เดมาแห่งฟรีส์ลันด์ ปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีตามที่เดนมาร์กเรียกเก็บ กษัตริย์อเบลจึงจัดกองทัพเพื่อไปปราบปราม ขณะทรงมีพระชนมายุ 33 พรรษา กษัตริย์อเบลถูกปลงพระชนม์โดยช่างทำล้อเกวียนที่ชื่อว่า เฮนเนอ ทรงถูกสังหารบนสะพานฮูซุมใกล้เมืองไอเดอสเต็ดท์ ในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1252
ในขณะนั้นพระโอรสของกษัตริย์อเบลคือ วัลเดมาร์ที่ 3 ดยุกแห่งชเลสวิก (ค.ศ. 1238-1257) ถูกจับตัวเรียกค่าไถ่โดยอาร์กบิชอปแห่งโคโลญ และดังนั้นพระอนุชาของกษัตริย์คือ เจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในวันคริสต์มาสปีค.ศ. 1252 ณ มหาวิหารลุนด์[6]
หลังจากการสวรรคตของกษัตริย์อเบล สมเด็จพระพันปีหลวงเม็ชทิลท์ได้เข้าถือครองเป็นนางชีในคอนแวนต์ แต่หลังจากนั้นทรงสละทางศาสนาเพื่อเสกสมรสกับขุนนางสวีเดนคือ บีร์เยอ ยาร์ล ในปีค.ศ. 1261[7] บีร์เยอเคยเป็นศัตรูของกษัตริย์อเบล และไม่นานก่อนกษัตริย์สวรรคต บีร์เยอสร้างความพยาบาทอันยาวนานทางการทหารต่อต้านพระองค์ และทุกอย่างยุติลงเมื่อกษัตริย์สวรรคต[8]
ผู้คนจำนวนมากมองว่าการสวรรคตอย่างปัจจุบันทันด่วนของกษัตริย์อเบลเป็นการพิพากษาจากพระเจ้าด้วยความผิดที่พระองค์ปลงพระชนม์พระเชษฐา พระบรมศพของกษัตริย์อเบลถูกฝังที่มหาวิหารชเลสวิก ว่ากันว่าบาทหลวงได้ยินเสียงแปลกๆ ในตอนกลางคืน พวกเขาจึงกลัวที่จะเข้าไปในโบสถ์ช่วงนั้น พวกเขาเชื่อว่าดวงพระวิญญาณที่ชั่วร้ายของกษัตริย์อเบลจะออกมาดำเนินไปทั่วในตอนกลางคืน ดังนั้นพระบรมศพของกษัตริย์จึงถูกนำออกมานอกโบสถ์ และยัดพระบรมศพลงในหลุมศพที่เปียกชื้นข้างปราสาทก็อททร็อปนอกเมืองชเลสวิก บางคนได้นำไม้ตอกเสียบทะลุโลงเข้าหน้าอกของกษัตริย์อเบลเพื่อแน่ใจว่าพระองค์ยังคงอยู่ในหลุมศพนั้น มีการเล่าขานกันมายาวนานว่าผีกษัตริย์ไม่พบความสุขสงบและบางครั้งมีรายงานเกี่ยวกับ "การล่าสัตว์ของอเบล" ซึ่งปรากฏชายใบหน้าสีดำขี่ม้าสีขาว พร้อมสุนัขปีศาจล่าเนื้อ ออกล่าไปบริเวณท่าเทียบเรือและป่าของชเลสวิก[9]
เชื้อสายของกษัตริย์อเบล ถูกเรียกว่า "ตระกูลอเบล" ปกครองจัตแลนด์ใต้จนถึงปีค.ศ. 1375 มักจะร่วมมือกับญาติวงศ์ในฮ็อลชไตน์ ในการสร้างปัญหาถาวรให้แก่รัฐบาลเดนมาร์ก พวกเขาแยกกันปกครองฟรีเชีย ฮ็อลชไตน์และชเลสวิกส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในเขตเดนมาร์ก พระปนัดดาของพระองค์ครองราชย์ในช่วงเวลาสั้นๆ คือ พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 3 แห่งเดนมาร์ก ก่อนจะถูกปลดออกจากราชบัลลังก์ แต่เชื้อสายของกษัตริย์อเบลได้สืบราชบัลลังก์ผ่านพระปนัดดาหญิงคือ เฮลวิกแห่งชเลสวิช ที่ได้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กผ่านการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก เชื้อสายของพระราชินีเฮลวิกสิ้นสุดลงด้วยรัชกาลของพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 3 ผู้สืบบัลลังก์ต่อมาคือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์กก็สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์อเบล ผ่านพระราชธิดาคือ เจ้าหญิงโซฟี ดังนั้นถ้าไม่นับเชื้อสายของพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 ที่สืบมาถึงพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 พระมหากษัตริย์เดนมาร์กทุกพระองค์ล้วนสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์อเบล
ทรงอภิเษกสมรสกับเม็ชทิลท์แห่งฮ็อลชไตน์ หรือ มาทิลดา ในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1237 มีพระราชโอรสธิดาดังนี้
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา | |
- | เจ้าชายวัลเดมาร์ที่ 3 ดยุกแห่งชเลสวิก | ค.ศ. 1238 | ค.ศ. 1257 | ไม่ทรงอภิเษกสมรส |
- | เจ้าหญิงโซฟีแห่งเดนมาร์ก | ค.ศ. 1240 | หลัง ค.ศ. 1284 | อภิเษกสมรสวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1258 กับ เบิร์นฮาร์ดที่ 1 เจ้าชายแห่งอัลฮัลท์-เบิร์นบูร์ก มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ ได้แก่ โยฮันที่ 1 เจ้าชายแห่งอัลฮัลท์-เบิร์นบูร์ก อัลเบร็คท์ บิชอปแห่งฮัลเบอสตัดท์ เบิร์นฮาร์ดที่ 2 เจ้าชายแห่งอัลฮัลท์-เบิร์นบูร์ก ไฮน์ริช เจ้าคณะโดมินิกันในฮัลเบอสตัดท์ รูดอล์ฟแห่งอัลฮัลท์-เบิร์นบูร์ก โซฟี เคานท์เตสแห่งฮ็อลชไตน์ |
เจ้าชายอีริคที่ 1 ดยุกแห่งชเลสวิก | ราว ค.ศ. 1241 | 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1272 | อภิเษกสมรส ค.ศ. 1259 หรือ 1260 กับ มาร์กาเรเธแห่งรือเกิน มีพระโอรสธิดา 3 พระองค์ ได้แก่ มาร์เกรเธอ เคานท์เตสแห่งชเวรีน วัลเดมาร์ที่ 4 ดยุกแห่งชเลสวิก อีริค ลอร์ดแห่งลังก์เอลันด์ | |
- | เจ้าชายอเบล ลอร์ดแห่งลังก์เอลันด์ | ค.ศ. 1252 | ค.ศ. 1279 | อภิเษกสมรส กับ เม็ชทิลท์แห่งชเวรีน มีพระธิดา 1 พระองค์ ได้แก่ มาร์เกรเธอ อธิการิณีอารามซาร์เรนทีน |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.