พระธาตุไจที่โย่
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระธาตุไจที่โย่ (พม่า: ကျိုက်ထီးရိုးဘုရား, ออกเสียง: [t͡ɕaɪ̯ʔ.tʰí.jó pʰə.já]; มอญ: ကျာ်သိယဵု, ออกเสียง: [tɕaiʔ sɔeʔ jɜ̀]) หรือที่คนไทยเรียกว่า พระธาตุอินทร์แขวน เป็นเจดีย์ที่จาริกแสวงบุญของพุทธศาสนิกชน ตั้งอยู่ในรัฐมอญ ประเทศพม่า เป็นพระเจดีย์ขนาดเล็ก (7.3 เมตร (24 ฟุต)) สร้างขึ้นบนก้อนหินแกรนิตที่ปิดด้วยทองคำเปลวโดยผู้ที่นับถือศรัทธา
พระธาตุไจที่โย่ | |
---|---|
ကျိုက်ထီးရိုးဘုရား | |
ศาสนา | |
ศาสนา | พุทธ |
นิกาย | เถรวาท |
สถานะ | เปิด |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | จังหวัดไจโท รัฐมอญ พม่า |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 17.481682°N 97.098118°E |
ลักษณะจำเพาะ | |
ความสูงยอดแหลม | 15 เมตร (49 ฟุต) |
ระดับความสูง | 1,100 m (3,609 ft) |
เชื่อว่าพระธาตุไจที่โย่เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาสูงชันบนยอดเขาไจที่โย่อย่างหมิ่นเหม่ เหมือนจะหล่นและท้าทายแรงดึงดูดของโลกโดยไม่ตกลงมา ตามตำนานระบุว่าฤๅษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้าและนำมาไว้ในมวยผม ตั้งใจจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของฤๅษี ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงช่วยเสาะหาก้อนหินดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทรและนำมาวางไว้บนภูเขา พระธาตุไจที่โย่นับเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวพม่า[1][2][3][4]
ปัจจุบันผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้านในบริเวณพระธาตุ ซึ่งดูแลโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเฝ้าประตูรั้วรอบขอบชิด ผู้หญิงสามารถเข้าออกได้ที่ระเบียงด้านนอกและลานด้านล่างของก้อนหิน
ในภาษามอญ คำว่า ไจก์ (ကျာ်) แปลว่า "พระเจดีย์" และ เหย่อ (ယဵု) แปลว่า "ทูนไว้ข้างบน" ส่วนคำว่า อิซอย (ဣသိ มาจากคำว่า ริซิ ရိသိ ในภาษาบาลี) ในภาษามอญแปลว่า "ฤๅษี" ดังนั้น ไจที่โย่ จึงหมายถึง "พระเจดีย์บนศีรษะฤๅษี"[5][6]
ตำนานที่เกี่ยวข้องกับเจดีย์กล่าวว่า ฤๅษีติสสะได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้า และมัดซ่อนไว้ในจุกผมเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางกลับเพื่อถวายกษัตริย์ ด้วยความปรารถนาที่จะประดิษฐานพระเกศาไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างเหมือนศีรษะของฤๅษี กษัตริย์มีพระมารดาเป็นธิดาของพญานาค พบหินที่ด้านล่างของทะเล และได้รับความช่วยเหลือจากพระอินทร์ ในการหาสถานที่วางหินเพื่อสร้างพระเจดีย์ เรือที่ใช้ในการขนส่งก้อนหินกลายเป็นหิน และเป็นที่เคารพบูชาโดยผู้จาริกแสวงบุญ โดยอยู่ห่างจากพระธาตุไจที่โย่ประมาณ 300 เมตร (980 ฟุต) รู้จักกันในชื่อ พระเจดีย์เจาะตานบาน (Kyaukthanban Pagoda) แปลว่า "พระเจดีย์เรือหิน"[1][6][7]
ตำนานอีกตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล ฤๅษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้า เมื่อครั้นได้มาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ ส่วนฤๅษีติสสะกลับนำไปซ่อนไว้ในมวยผม เมื่อเวลาล่วงเลยถึงคราวที่ฤๅษีติสสะจะต้องละสังขารเต็มที เขาตั้งใจไว้ว่าจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของเขา พระอินทร์จึงช่วยเสาะหาก้อนหินดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทรและนำมาวางไว้บนภูเขาหิน บางตำนานก็เล่าว่า มีฤๅษีองค์หนึ่งซ่อนพระเกศาที่ได้รับมาจากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้นมาโปรดสัตว์ในถ้ำไว้ในมวยผมมาเป็นเวลานาน เมื่อใกล้ถึงวาระที่จะต้องละสังขารจึงตัดสินใจมอบพระเกศาให้กับพระเจ้าติสสะ กษัตริย์ผู้ครองนครแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของลูกศิษย์ที่นำมาฝากให้ฤๅษีช่วยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก แต่ก่อนอื่นพระเจ้าติสสะต้องหาก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายศีรษะของฤๅษี โดยมีพระอินทร์เป็นผู้ช่วยค้นหาจากใต้สมุทรนำมาวางไว้ที่หน้าผา[8][9]
ในความเชื่อ ผู้จาริกแสวงบุญโดยการเดินป่าจากฐานค่ายกีนมู่นมายังพระธาตุ สามครั้งติดต่อกันในหนึ่งปีจะมีความมั่งคั่งและได้รับคำสรรเสริญ[10]
พระธาตุไจที่โย่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอไจโท จังหวัดสะเทิม รัฐมอญ กับอำเภอชเวจีน จังหวัดพะโค ภาคพะโค ใกล้ชายฝั่งตะนาวศรีตอนเหนือ ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 1,100 เมตร (3,609 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางบนยอดเขาไจที่โย่ (ยังเป็นที่รู้จักกันในนามเนินเขาเคลาซาหรือทิวเขาโยมาตะวันออก) อยู่บนสันเขาปองลองของทิวเขาโยมาตะวันออก ห่างจากนครย่างกุ้งประมาณ 210 กิโลเมตร (130 ไมล์) และห่างขึ้นมาทางเหนือจากเมาะลำเลิง เมืองหลักของรัฐมอญ 140 กิโลเมตร (86 ไมล์)[11][12] หมู่บ้านกีนมู่น 16 กิโลเมตร (10 ไมล์) ตั้งอยู่ที่ฐานของภูเขาไจที่โย่ เป็นเส้นทางเริ่มต้นในการเดินทางขึ้นไปพระธาตุไจที่โย่ ตลอดเส้นทางมีก้อนหินแกรนิตบนภูเขาหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในสภาพหมิ่นเหม่ สถานีสุดท้ายรู้จักในชื่อ ยาเตตอง เป็นจุดสุดท้ายสำหรับการจราจรยานพาหนะ จากนั้นผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวจะต้องขึ้นไปพระธาตุด้วยการเดินเท้าหรือขึ้นเสลี่ยง จากจุดหยุดรถยาเตตองขึ้นไปบริเวณพระธาตุ มีร้านค้าขนาดเล็กตามทางริมสองฝั่ง ด้านบนของภูเขามีรูปปั้นชินเตคล้ายสิงโตขนาดใหญ่สองตัวคอยเฝ้าประตูทางเข้าพระธาตุ[1][3][7][13] เส้นทางถนนบนภูเขาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542[1] จากฐานที่หมู่บ้านกีนมู่นมายังพระธาตุมีระยะทางทั้งหมดประมาณ 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) และเป็นส่วนหนึ่งของการจาริกแสวงบุญ[14] นอกจากนี้ยังมีวัดและเจดีย์หลายแห่งที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ บนเนินเขาบริเวณใกล้เคียงกับพระธาตุไจที่โย่ ผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาโดยการเดินป่าตามเส้นทางการเดินเท้า[10]
ก้อนหินสีทองที่มีการสร้างพระเจดีย์ขนาดเล็กไว้ด้านบน มีความสูงประมาณ 25 ฟุต (7.6 เมตร) และมีเส้นรอบวง 50 ฟุต (15 เมตร) พระเจดีย์เหนือหินมีความสูงประมาณ 7.3 เมตร (24 ฟุต) ก้อนหินตั้งอยู่บนแท่นหินธรรมชาติที่ดูเหมือนเป็นฐานของพระธาตุ ตั้งอยู่บนระนาบที่เอียงและบริเวณที่สัมผัสมีขนาดเล็กมาก ก้อนหินและฐานหินเป็นอิสระจากกัน ก้อนหินสีทองมีส่วนที่ยื่นออกไปครึ่งหนึ่งของความยาว และตั้งอยู่ที่ปลายสุดของพื้นผิวที่ลาดเอียงของฐานหินที่ชันดิ่งลงไปในหุบเขาเบื้องล่าง มีรูปประดับกลีบบัวสีทองล้อมรอบฐานหิน ก้อนหินดูลักษณะเหมือนจะล้มลงมาทุกขณะ บันไดสู่พระธาตุมีอาคารซับซ้อนหลายรูปแบบเช่น ลาดดาดฟ้าชมทิวทัศน์, เจดีย์ต่าง ๆ, วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปและศาลนะ (วิญญาณ) เป็นต้น อย่างไรก็ตามพระธาตุไจที่โย่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักสำหรับผู้แสวงบุญที่สวดมนต์และปิดทองบนพระธาตุด้วยความศรัทธา ห่างออกไปเล็กน้อยมีฆ้องตั้งอยู่ บริเวณกลางลานเป็นเสาหงส์มีระฆังและรูปปั้นเทวดากับนะทั้งสี่ทิศล้อมรอบเสา[1][3][4][7][10][13][14]
ลานหลักใกล้กับพระธาตุมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและถวายเครื่องบูชาของผู้แสวงบุญ ที่อยู่ติดกับลานคือหมู่บ้านที่มีร้านอาหาร ร้านขายของกระจุกกระจิกและเกสต์เฮาส์ มีการทำระเบียงขึ้นใหม่ตามชั้นของเนินเขาซึ่งผู้เข้าชมสามารถมองเห็นทัศนียภาพของพระธาตุ[1]
พระธาตุไจที่โย่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเทศกาลจาริกแสวงบุญช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม บรรยากาศของความศรัทธาจะเห็นได้ทั่วบริเวณพระธาตุ ขณะที่พระธาตุส่องประกายระยิบระยับในเฉดสีที่แตกต่างจากรุ่งอรุณถึงค่ำ (เวลารุ่งอรุณและตอนพระอาทิตย์ตกดินเป็นเอกลักษณ์) การสวดมนต์ของผู้แสวงบุญจะดังขึ้นในบริเวณพระวิหาร แสงเทียนและการทำสมาธิถวายเป็นพุทธบูชามีต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ผู้ชายสามารถเข้าไปปิดทองบนองค์พระธาตุได้ อย่างไรก็ตามผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังองค์พระธาตุ ผู้แสวงบุญที่มายังพระธาตุไจที่โย่มาจากทุกภูมิภาคของประเทศพม่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนก็แวะไปที่พระธาตุ แม้แต่ผู้พิการที่เคร่งศาสนาก็ขึ้นบันไดมายังพระธาตุด้วยไม้ค้ำ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินขึ้นไปจะถูกยกขึ้นบนแคร่หามเพื่อพาไปยังพระธาตุ[2][4][15] ช่วงจันทร์เพ็ญ เดือนดะบ้อง ในปฏิทินพม่าหรือตรงกับช่วงเดือนมีนาคม เป็นโอกาสพิเศษสำหรับผู้แสวงบุญที่มาเยี่ยมชมพระธาตุ ในวันนี้จะมีการจุดเทียนกว่าเก้าหมื่นชิ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ผู้ที่ไปเยี่ยมชมพระธาตุยังมีการถวายอาหารผลไม้และธูปเทียน[6][16]
ปัจจุบันผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้านในบริเวณพระธาตุ ซึ่งดูแลโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเฝ้าประตูรั้วรอบขอบชิด ผู้หญิงสามารถเข้าออกได้ที่ระเบียงด้านนอกและลานด้านล่างของก้อนหิน ความเชื่อเกิดขึ้นจากข้อปฏิบัติที่ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อทางกายกับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งพระธาตุเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนศีรษะพระภิกษุสงฆ์
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.