คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
พรรคแรงงานเกาหลี
พรรครัฐบาลของประเทศเกาหลีเหนือ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
พรรคแรงงานแห่งเกาหลี[a] (อังกฤษ: Workers' Party of Korea; ย่อ: WPK) หรือที่เรียกว่า พรรคแรงงานเกาหลี (อังกฤษ: Korean Workers' Party; ย่อ: KWP) เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ปกครองประเทศเกาหลีเหนือ ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1949 จากการรวมกันระหว่างพรรคแรงงานเกาหลีเหนือและพรรคแรงงานเกาหลีใต้ พรรคแรงงานเกาหลีเป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงดำเนินงานอยู่ในเกาหลี นอกจากนี้ยังควบคุมกองทัพประชาชนเกาหลี กองทัพของเกาหลีเหนือ พรรคแรงงานเกาหลีเป็นพรรคที่มีจำนวนผู้แทนมากที่สุดในสมัชชาประชาชนสูงสุดและอยู่ร่วมกับอีกสองพรรคการเมืองถูกกฎหมายอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคอย่างสมบูรณ์ และต้องยอมรับ "บทบาทนำ" ของพรรคแรงงานเกาหลีเป็นเงื่อนไขในการดำรงอยู่ของพวกเขา[1] พรรคแรงงานเกาหลีถูกห้ามในเกาหลีใต้ภายใต้รัฐบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติ และถูกคว่ำบาตรโดยสหประชาชาติ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐ[2]
Remove ads
อย่างเป็นทางการ พรรคแรงงานเกาหลีเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิล ซึ่งเป็นการสังเคราะห์แนวคิดของคิม อิล-ซ็องและคิม จ็อง-อิล[3][4] พรรคยึดมั่นในชูเช อุดมการณ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นของคิม อิล-ซ็องซึ่งส่งเสริมเอกราชและการพัฒนาชาติด้วยความพยายามของมวลชน แม้เดิมทีชูเชจะถูกนำเสนอในฐานะการตีความลัทธิมากซ์–เลนินแบบเกาหลี แต่ปัจจุบันพรรคได้นำเสนอในฐานะปรัชญาอิสระ
พรรคแรงงานเกาหลียอมรับว่าตระกูลคิมผู้ปกครองเป็นบ่อเกิดสูงสุดแห่งความคิดทางการเมืองของพรรค การประชุมพรรคครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นใน ค.ศ. 2012 ได้แก้ไขข้อบังคับของพรรคโดยระบุว่าลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิลเป็น "แนวคิดชี้นำเดียวของพรรค"[5] ภายใต้การปกครองของคิม จ็อง-อิล ผู่ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการป้องกันประเทศ ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกถอดจากเอกสารของพรรคและรัฐอย่างต่อเนื่องและถูกแทนที่ด้วยซ็อนกุน หรือนโยบายทหารมาก่อน กองทัพ แทนที่จะเป็นชนชั้นแรงงาน ถูกสถาปนาให้เป็นฐานอำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คิม จ็อง-อึน ผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา ได้กลับนโยบายนี้ใน ค.ศ. 2021 โดยแทนที่ซ็อนกุนด้วย "การเมืองที่ประชาชนมาก่อน" ในฐานะวิธีการทางการเมืองของพรรคและยืนยันถึงความมุ่งมั่นของพรรคต่อลัทธิคอมมิวนิสต์อีกครั้ง[3][4][6]
พรรคแรงงานเกาหลีได้รับการจัดองค์การตามระบบอุดมการณ์แบบองค์รวม ซึ่งคิดค้นโดยคิม ย็อง-จูและคิม จ็อง-อิล องค์กรสูงสุดของพรรคแรงงานเกาหลีอย่างเป็นทางการคือการประชุมใหญ่ของพรรค อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คิม จ็อง-อึนจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค การประชุมใหญ่แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ระหว่าง ค.ศ. 1980 ถึง 2016 ไม่มีการจัดการประชุมใหญ่ แม้พรรคแรงงานเกาหลีจะมีโครงสร้างองค์การคล้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์อื่น ๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีลักษณะเป็นสถาบันน้อยกว่ามากและการเมืองที่ไม่เป็นทางการมีบทบาทมากกว่าปกติ สถาบันต่าง ๆ เช่น คณะกรรมาธิการกลาง สำนักเลขาธิการ คณะกรรมการการทหารกลาง (CMC) กรมการเมือง และคณะผู้บริหารสูงสุดกรมการเมืองมีอำนาจน้อยกว่าที่ระบุไว้อย่างเป็นทางการในข้อบังคับพรรคมาก คิม จ็อง-อึนเป็นหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่
Remove ads
ประวัติศาสตร์
สรุป
มุมมอง
การก่อตั้งและช่วงต้น (ค.ศ. 1945–1953)
วันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1945 สำนักเกาหลีเหนือของพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลี (NKB–CPK) ได้ถูกก่อตั้งขึ้น[7] โดยมีคิม ยง-บ็อมเป็นประธานคนแรก[8] อย่างไรก็ตาม สำนักเกาหลีเหนือยังคงอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โซลและนำโดยพัก ฮ็อน-ย็อง[9] สองเดือนต่อมา ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของสำนักเกาหลีเหนือ คิม ยง-บ็อมถูกแทนที่โดยคิม อิล-ซ็อง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อาจถูกวางแผนโดยสหภาพโซเวียต[10] สำนักเกาหลีเหนือกลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1946 โดยมีการเลือกตั้งคิม อิล-ซ็องเป็นประธาน[11] วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 ทางการโซเวียตในเกาหลีเหนือก่อตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ แนวร่วมประชาชนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ[12] ในไม่ช้าพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือก็รวมเข้ากับพรรคประชาชนใหม่เกาหลี พรรคที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยคอมมิวนิสต์จากจีน[12] คณะกรรมาธิการพิเศษของทั้งสองพรรคให้สัตยาบันการรวมตัวในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 และมีผลอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น[13] หนึ่งเดือนต่อมา (28–30 สิงหาคม ค.ศ. 1946) พรรคได้จัดการประชุมก่อตั้ง โดยก่อตั้งพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ (WPNK)[13] การประชุมเลือกคิม ดู-บง อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนใหม่เกาหลีเป็นประธานพรรคคนแรก โดยมีคิม อิล-ซ็องเป็นรองประธานที่ได้รับการแต่งตั้ง[13] อย่างไรก็ตาม แม้ตำแหน่งอย่างเป็นทางการในลำดับชั้นของพรรคจะลดลง แต่คิม อิล-ซ็องยังคงเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ดี[14]

การควบคุมของพรรคเพิ่มขึ้นทั่วประเทศหลังการประชุมใหญ่[15] ตั้งแต่วันที่ 27 ถึง 30 มีนาคม ค.ศ. 1948 พรรคแรงงานเกาหลีเหนือจัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2[16] ขณะที่คิม ดู-บงยังคงเป็นหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ คิม อิล-ซ็องเป็นผู้นำเสนอรายงานหลักต่อที่ประชุม[17] ในรายงานนั้นเขาอ้างว่าเกาหลีเหนือเป็น "ฐานรากแห่งประชาธิปไตย" ตรงกันข้ามกับเกาหลีใต้ที่เขาเชื่อว่าเป็นเผด็จการ[17] วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1948 การประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาประชาชนสูงสุดอนุมัติรัฐธรรมนูญที่เสนอและร่างโดยแกนนำพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือที่เป็นอิสระอย่างเป็นทางการ[18] รัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เรียกร้องให้มีการก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือที่เป็นอิสระ แต่เรียกร้องให้มีการรวมชาติเกาหลีภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ โดยมีโซลเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (สปป.เกาหลี - DPRK) ไม่ใช่เปียงยาง[19] คิม อิล-ซ็องได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ารัฐบาลของประเทศใหม่ โดยมีคิม ดู-บงเป็นหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ[20] หนึ่งปีต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1949 พรรคแรงงานเกาหลีถูกก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือและพรรคแรงงานเกาหลีใต้[21]
คิม อิล-ซ็องไม่ใช่ผู้สนับสนุนที่กระตือรือร้นที่สุดในการรวมชาติเกาหลีด้วยกำลังทหาร บทบาทนั้นตกเป็นของคอมมิวนิสต์เกาหลีใต้ นำโดยพัก ฮอน-ย็อง[22] หลังการประชุมหลายครั้งระหว่างคิม อิล-ซ็องกับโจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต เกาหลีเหนือได้รุกรานเกาหลีใต้ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 ถือเป็นการเริ่มต้นสงครามเกาหลี[23] ด้วยการแทรกแซงของอเมริกาในสงคราม ทำให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเกือบจะล่มสลาย แต่ได้รับการช่วยเหลือจากการแทรกแซงของจีนในความขัดแย้ง[23] สงครามมีผลทำให้ลดอิทธิพลของโซเวียตเหนือคิม อิล-ซ็องและพรรคแรงงานเกาหลี[24] ในช่วงเวลานี้ แนวรอยแยกหลักในการเมืองยุคแรกของพรรคแรงงานเกาหลีได้ก่อตัวขึ้นเกิดเป็นสี่ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายในประเทศ (แกนนำพรรคแรงงานเกาหลีที่อยู่ในเกาหลีระหว่างการปกครองของญี่ปุ่น), ฝ่ายโซเวียต (ชาวเกาหลีจากสหภาพโซเวียต), ฝ่ายย็อนอัน (ชาวเกาหลีจากจีน) และฝ่ายกองโจร (ฝ่ายส่วนตัวของคิม อิล-ซ็อง)[24] อย่างไรก็ตาม คิม อิล-ซ็องจะไม่สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งในตำแหน่งของตนได้จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม[24]
การรวมอำนาจของคิม อิล-ซ็อง (ค.ศ. 1953–1980)

ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคแรงงานเกาหลีกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (CPSU) เลวร้ายลงเมื่อนีกีตา ครุชชอฟ ผู้สืบทอดตำแหน่งของสตาลิน เริ่มดำเนินนโยบายล้มล้างอิทธิพลสตาลิน[25] ในช่วงความแตกแยกจีน–โซเวียต ความแตกแยกทางอุดมการณ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) คิม อิล-ซ็องดำเนินกลยุทธ์อยู่ระหว่างสองมหาอำนาจสังคมนิยมนั้น ด้วยการทำเช่นนั้น เขาได้ลดอิทธิพลของพวกเขาที่มีต่อพรรคแรงงานเกาหลี[25] ภายใน ค.ส. 1962 คิม อิล-ซ็องและพรรคแรงงานเกาหลีสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ และ "ในช่วงสองสามปี เกาหลีเหนือสนับสนุนจุดยืนของจีนอย่างไม่มีเงื่อนไขในทุกประเด็นสำคัญ"[25] ความแตกแยกหลักระหว่างพรรคแรงงานเกาหลีกับพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตในช่วงเวลานี้คือคิม อิล-ซ็องไม่เห็นด้วยกับการประณามลัทธิสตาลิน การสร้างระบบผู้นำร่วม และทฤษฎีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างโลกทุนนิยมและสังคมนิยม[25] คิม อิล-ซ็องเชื่อว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติมีความหมายเหมือนกับการยอมจำนนและรู้ว่าการล้มล้างอิทธิพลสตาลินในเกาหลีเหนือจะยุติอำนาจอันไร้ขีดจำกัดของเขาเหนือพรรคแรงงานเกาหลีอย่างแท้จริง[25] ผลของความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตกับพรรคแรงงานเกาหลีคือสหภาพโซเวียตระงับความช่วยเหลือต่อเกาหลีเหนือ[26]
ขณะเดียวกัน จีนก็ไม่เต็มใจจะเพิ่มความช่วยเหลือ และผลที่ตามมาคือ อุตสาหกรรมหลายแห่งในเกาหลีเหนืออยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย[26] เหมา เจ๋อตงเริ่มต้นการปฏิวัติวัฒนธรรมในเวลาต่อมา เหตุการณ์ที่พรรคแรงงานเกาหลีวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น "ลัทธิฉวยโอกาสฝ่ายซ้าย" และเป็นการแสดงออกของ "ทฤษฎีทรอตสกีว่าด้วยการปฏิวัติถาวร"[26] ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเสถียรภาพในช่วงทศวรรษ 1960 โดยพรรคแรงงานเกาหลีแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจะยังคงเป็นกลางในความแตกแยกจีน–โซเวียต[26] ส่งผลให้มีการเปิดตัวโครงการชูเชใน ค.ศ. 1966 โดยมีเป้าหมายเพื่อการพึ่งพาตนเองในทุกระดับชาติ สิ่งนี้ได้เสริมสร้างสถานะของคิม อิล-ซ็องในพรรคแรงงานเกาหลี[26]
ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ลัทธิบูชาบุคคลของคิม อิล-ซ็องก้าวไปสู่จุดสูงสุดใหม่[27] ก่อนหน้านั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าของสตาลินหรือเหมากระทั่ง ค.ศ. 1972 เมื่อวันเกิดของเขาในวันที่ 15 เมษายนกลายเป็นวันหยุดราชการหลักของประเทศและเริ่มมีการสร้างรูปปั้นของเขาไปทั่วประเทศ[27] คิมกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่", "ดวงอาทิตย์ของชาติ", "นายพลผู้ไร้พ่ายที่แข็งแกร่ง", และ "จอมพลแห่งสาธารณรัฐอันทรงอำนาจ" ในสิ่งพิมพ์ของพรรคแรงงานเกาหลีและรัฐบาล โฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นทางการระบุว่า "ความจงรักภักดีอย่างแรงกล้าต่อท่านผู้นำ" เป็นหนึ่งในลักษณะสำคัญของชาวเกาหลีทุกคน[27]
คิม อิล-ซ็องและฝ่ายกองโจรของเขาได้กวาดล้างฝ่ายตรงข้ามภายในพรรคแรงงานเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 สร้างความไม่พอใจให้กับทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต[24] ฝ่ายในประเทศถูกกวาดล้างเป็นกลุ่มแรก (ในช่วง ค.ศ. 1953–55) ตามด้วยฝ่ายย็อนอันในช่วง ค.ศ. 1957–58 และชาวเกาหลีโซเวียต (พร้อมกับใครก็ตามที่ถูกมองว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้นำพรรคแรงงานเกาหลี) ในการกวาดล้างช่วง ค.ศ. 1957–62[28] อ้างอิงจากนักประวัติศาสตร์ อันเดรย์ ลันคอฟ "คิม อิล-ซ็องไม่ได้กลายเป็นเพียงผู้มีอำนาจสูงสุดเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ปกครองเกาหลีเหนือที่ทรงอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ 'ผู้นำคนแรกในหมู่ผู้เท่าเทียมกัน' อย่างที่เคยเป็นในช่วงปลายทศวรรษ 1940 อีกต่อไป"[29] หลังกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามภายในพรรคแรงงานเกาหลีแล้ว คิม อิล-ซ็องเสริมสร้างฐานอำนาจของตนเองด้วยคติเห็นแก่ญาติและการสืบทอดอำนาจภายในตระกูลคิมและฝ่ายกองโจร[30] ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 "ข้ารัฐการระดับสูงของเกาหลีเหนือในสัดส่วนที่สูง (และเพิ่มขึ้น) เป็นบุตรของข้ารัฐการระดับสูง"[30]
ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 คิม อิล-ซ็องได้แต่งตั้งสมาชิกในครอบครัวให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ[31] ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ตำแหน่งระดับชาติชั้นนำหลายตำแหน่งถูกครอบครองโดยบุคคลในครอบครัวของเขา ได้แก่ คัง ซ็อง-ซัน (นายกสภาบริหารและสมาชิกสำนักเลขาธิการพรรค) พัก ซ็อง-ชอล (รองประธานาธิบดี) ฮวัง จัง-ย็อบและคิม ชุงริน (สมาชิกสำนักเลขาธิการพรรค) คิม ยง-ซุน (หัวหน้ากรมต่างประเทศพรรคและสมาชิกสำนักเลขาธิการพรรค) คัง ฮี-ว็อน (เลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคแรงงานเกาหลีประจำเทศบาลกรุงเปียงยางและรองนายกสภาบริหาร) คิม ทัล-ฮย็อน (รัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศ) คิม ชัน-จู (รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและรองประธานสภาบริหาร) และยัง ฮย็อง-ซ็อบ (ประธานสถาบันสังคมศาสตร์และประธานสมัชชาประชาชนสูงสุด)[31] บุคคลเหล่านี้ได้รับแต่งตั้งเพียงเพราะความสัมพันธ์ของพวกเขากับตระกูลคิม และคาดการณ์ได้ว่าพวกเขาจะยังคงดำรงตำแหน่งตราบเท่าที่ตระกูลคิมยังคงควบคุมพรรคแรงงานเกาหลีและประเทศ[31] เหตุผลที่คิมสนับสนุนคติเห็นแก่ญาติ (ทั้งของตนเองและของฝ่ายกองโจร) สามารถอธิบายได้จากข้อเท็จจริงที่ว่าเขาไม่ต้องการให้ระบบรัฐการของพรรคเป็นภัยคุกคามต่อการปกครองของเขาและบุตรชายของเขา ดังเช่นที่เกิดขึ้นในรัฐสังคมนิยมอื่น ๆ[31]
ในช่วงแรกผู้สังเกตการณ์ต่างชาติโดยทั่วไปเชื่อว่าคิม อิล-ซ็องกำลังวางแผนให้คิม ย็อง-จู น้องชายของตน สืบทอดอำนาจต่อจากเขา[32] อำนาจของคิม ย็อง-จูค่อย ๆ เพิ่มขึ้น กระทั่งเขากลายเป็นประธานร่วมของคณะกรรมาธิการประสานงานเหนือ-ใต้[32] ตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 1972 จนถึงการประชุมใหญ่พรรคแรงงานเกาหลีครั้งที่ 6 คิม ย็องจู-กลายเป็นบุคคลที่ห่างเหินจากระบอบขึ้นเรื่อย ๆ ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 6 เขาเสียที่นั่งในกรมการเมืองและคณะกรรมาธิการกลาง[32] และข่าวลือที่ว่าคิม อิล-ซ็องเริ่มวางตัวคิม จ็อง-อิลตั้งแต่ ค.ศ. 1966 ก็ได้รับการยืนยัน[32] ตั้งแต่ ค.ศ. 1974 จนถึงการประชุมใหญ่ครั้งที่ 6 คิม จ็อง-อิล (สื่อเกาหลีเหนือเรียกว่า "ศูนย์กลางพรรค") เป็นบุคคลที่มีอำนาจมากเป็นอันดับสองในเกาหลีเหนือ[32] การเลือกตั้งเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยบิดาของเขาถูกกล่าวหาว่าสร้างราชวงศ์หรือเปลี่ยนเกาหลีเหนือให้กลายเป็นรัฐศักดินา[33]
การปกครองของคิม จ็อง-อิล (ค.ศ. 1980–2011)

ด้วยการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการของคิม จ็อง-อิลเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งในที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6 อำนาจจึงรวมศูนย์อยู่ในตระกูลคิมมากขึ้น[34] เจ้าหน้าที่พรรคแรงงานเกาหลีเริ่มพูดถึงการสืบทอดตำแหน่งของเขาอย่างเปิดเผย และตั้งแต่ ค.ศ. 1981 เขาเริ่มเข้าร่วม (และนำ) การทัวร์[34] ใน ค.ศ. 1982 เขาได้รับตำแหน่งวีรบุรุษแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และเขียนหนังสือว่าด้วยแนวคิดชูเช (On the Juche Idea)[34] ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติเชื่อว่าการแต่งตั้งคิม จ็อง-อิลจะเพิ่มการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ในหนังสือว่าด้วยแนวคิดชูเช เขาทำให้ชัดเจนว่าการเป็นผู้นำของเขาจะไม่เป็นจุดเริ่มต้นของผู้นำรุ่นใหม่[35] พรรคแรงงานเกาหลีไม่สามารถแก้ไขวิกฤตที่เผชิญหน้ากับการเป็นผู้นำของคิม อิล-ซ็องและคิม จ็อง-อิลทั้งในและต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชราธิปไตยในระดับสูงสุดของพรรคแรงงานเกาหลีและประเทศ[36]
เมื่อโอ จิน-อูเสียชีวิตในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 คิม จ็อง-อิลจึงกลายเป็นสมาชิกที่มีชีวิตอยู่เพียงคนเดียวของคณะผู้บริหารสูงสุด (predisium) องค์กรสูงสุดของพรรคแรงงานเกาหลีเมื่อกรมการเมือง (politburo) และคณะกรรมาธิการกลางไม่ได้ประชุม[37] แม้จะไม่มีรายชื่อสมาชิกของคณะกรรมการการทหารกลาง (CMC, องค์กรสูงสุดของพรรคในกิจการทหาร) ของพรรคแรงงานเกาหลีเผยแพร่ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 ถึง 2010 แต่ก็มีสัญญาณที่ชัดเจนของการเคลื่อนไหวในลำดับชั้นทางทหารในช่วง ค.ศ. 1995[38] เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีพรรคแรงงานเกาหลี คิม จ็อง-อิลริเริ่มการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการการทหารกลาง (และผู้นำทางทหารโดยทั่วไป) เพื่อประนีประนอมกลุ่มผู้มีอำนาจเก่าและเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่[38] อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ปรับเปลี่ยนคณะกรรมาธิการกลางพรรคแรงงานเกาหลีหรือรัฐบาล ในช่วงทศวรรษ 1990 การเปลี่ยนแปลงสมาชิกส่วนใหญ่เกิดจากการเสียชีวิตตามธรรมชาติของสมาชิก[39]
ตั้งแต่ ค.ศ. 1995 คิม จ็อง-อิลให้ความสำคัญกับกองทัพมากกว่าพรรคแรงงานเกาหลีและประเทศ[39] ปัญหาเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับทุพภิกขภัยซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อยครึ่งล้าน ทำให้การควบคุมประเทศของเขาลดลง[40] แทนที่จะแนะนำการปฏิรูปโครงสร้าง คิมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การขาดการควบคุมเศรษฐกิจของพรรคแรงงานเกาหลี โดยตำหนิสาขาในระดับท้องถิ่นและจังหวัดที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งจากส่วนกลางได้[41] ในสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยคิม อิล-ซ็อง เขากล่าวว่า "เหตุผลที่ประชาชนภักดีต่อคำสั่งของคณะกรรมาธิการกลางไม่ใช่เพราะองค์กรและเจ้าหน้าที่ของพรรค แต่เป็นเพราะอำนาจของฉัน"[41] คิม จ็อง-อิลกล่าวว่าบิดาของเขาเคยบอกให้เขาเลี่ยงเรื่องเศรษฐกิจ โดยอ้างว่าควรปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญจัดการจะดีกว่า หลังสุนทรพจน์นี้ ความรับผิดชอบของพรรคแรงงานเกาหลีในการควบคุมเศรษฐกิจจึงถูกมอบให้กับสภาบริหาร (รัฐบาลกลาง)[41] เมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1996 คิม จ็อง-อิลสรุปว่าทั้งพรรคแรงงานเกาหลีและรัฐบาลกลางไม่สามารถบริหารประเทศได้ และเริ่มโอนอำนาจควบคุมไปยังกองทัพ[42] การแก้ไขรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. 1998 เปลี่ยนทิศทางอำนาจสูงสุดของประเทศไปยังผู้นำของกองทัพ แทนที่จะเป็นพรรคแรงงานเกาหลี[43]
วันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ครบรอบสามปีแห่งการไว้ทุกข์แด่คิม อิล-ซ็อง[44] ต่อมาในปีเดียวกันนั้น วันที่ 8 ตุลาคม คิม จ็อง-อิลได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคแรงงานเกาหลีซึ่งเป็นตำแหน่งที่เพิ่งสถาปนาขึ้นใหม่[44] ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมีการอภิปรายกันอย่างมากเกี่ยวกับเหตุผลที่คิม จ็อง-อิลได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคแรงงานเกาหลี แทนการสืบทอดตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมาธิการกลางพรรคแรงงานเกาหลีต่อจากบิดา[44] ในการละเมิดข้อบังคับของพรรคแรงงานเกาหลีอย่างชัดเจน คิม จ็อง-อิลได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคแรงงานเกาหลีในการประกาศร่วมกันของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 6 และคณะกรรมการการทหารกลางแทนที่จะมาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการกลาง[44] แม้จะเชื่อกันว่าคิม จ็อง-อิลจะเรียกประชุมใหญ่ในเวลาอันใกล้หลังการแต่งตั้งของเขา (เพื่อเลือกผู้นำพรรคแรงงานเกาหลีชุดใหม่) แต่เขาก็ไม่ได้ทำ[44] พรรคแรงงานเกาหลีจะไม่ได้รับการฟื้นฟูองค์กรกระทั่งการประชุมครั้งที่ 3 ใน ค.ศ. 2010[44]
กระทั่งถึงตอนนั้น คิม จ็อง-อิลปกครองในฐานะอัตตาธิปัตย์[44] เฉพาะในสถาบันของพรรคแรงงานเกาหลีที่ถือว่าสำคัญเท่านั้น สมาชิกใหม่และผู้นำจึงได้รับการแต่งตั้งเพื่อเข้ารับตำแหน่งแทนเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต[44] การประชุมสมัชชาประชาชนสูงสุดครั้งที่ 10 จัดขึ้นในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1998 และได้แก้ไขรัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือ[45] รัฐธรรมนูญที่แก้ไขนี้ทำให้คณะกรรมการป้องกันประเทศ (NDC) ซึ่งก่อนหน้านี้มีหน้าที่กำกับดูแลกองทัพ กลายเป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ[46] แม้รัฐธรรมนูญใหม่จะให้อำนาจแก่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการฯ มีความเป็นอิสระจากเจ้าหน้าที่ของพรรคแรงงานเกาหลีมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้พรรคอ่อนแอลง[47] คิม จ็อง-อิลยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคแรงงานเกาหลี โดยควบคุมกรมองค์การและชี้นำ (OGD) และสถาบันอื่น ๆ[47] ขณะที่องค์ประกอบของผู้นำส่วนกลางพรรคแรงงานเกาหลีไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่จนกระทั่ง ค.ศ. 2010 แต่พรรคแรงงานเกาหลียังคงรักษาสถานะสำคัญในฐานะองค์การมวลชน[48]
วันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2010 กรมการเมืองประกาศว่าจะมีการเรียกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมพรรคครั้งที่ 3[48] โดยให้เหตุผลอย่างเป็นทางการถึงความจำเป็นที่ต้อง "สะท้อนความต้องการของการพัฒนาการปฏิวัติของพรรค ซึ่งกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการนำมาซึ่งรัฐที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาตามแนวทางชูเช"[48] การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน โดยมีการแก้ไขข้อบังคับของพรรคและเลือกตั้ง (และถอดถอน) สมาชิกคณะกรรมาธิการกลาง สำนักเลขาธิการ กรมการเมือง คณะผู้บริหารสูงสุดและองค์กรอื่น ๆ[48] คิม จ็อง-อึนได้รับการยืนยันในฐานะผู้สืบทอดอำนาจ[49] รองจอมพล รี ย็อง-โฮ และพลเอกหญิง คิม คย็อง-ฮี (น้องสาวของคิม จ็องอิล) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำในกองทัพประชาชนเกาหลีและพรรคแรงงานเกาหลีเพื่อช่วยให้เขาเสริมสร้างอำนาจ[50] ในปีถัดมา ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2011 คิม จ็อง-อิลถึงแก่อสัญกรรม[51]
การปกครองของคิม จ็อง-อึน (ค.ศ. 2011–ปัจจุบัน)

หลังอสัญกรรมของคิม จ็อง-อิล กลุ่มชนชั้นนำของเกาหลีเหนือได้เสริมสร้างตำแหน่งของคิม จ็อง-อึน เขาได้รับการประกาศให้เป็นผู้ปกครองประเทศเมื่อรายงานอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับอสัญกรรมของบิดาถูกเผยแพร่ในวันที่ 19 ธันวาคม[52] วันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2011 หนังสือพิมพ์ทางการโรดงชินมุนยกย่องเขาในฐานะผู้นำสูงสุดของพรรคและประเทศ[53] วันที่ 30 ธันวาคม การประชุมของกรมการเมืองแต่งตั้งเขาอย่างเป็นทางการให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพประชาชนเกาหลี หลังจากเขาได้รับการเสนอชื่อสำหรับตำแหน่งนี้โดยคิม จ็อง-อิลในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 (วันครบรอบที่คิม จ็อง-อิลได้เป็นเลขาธิการใหญ่)[54] แม้เขาจะไม่ได้เป็นสมาชิกกรมการเมือง คิม จ็อง-อึนก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่เป็นทางการในฐานะผู้นำสูงสุดของพรรคแรงงานเกาหลี[55]
หลังงานเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีวันเกิดของคิม จ็อง-อิล กรมการเมืองได้ประกาศในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ว่าจะจัดการประชุมพรรคครั้งที่ 4 (ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 2012 ใกล้วันครบรอบ 100 ปีวันเกิดของคิม อิล-ซ็อง) "เพื่อเชิดชูชีวิตและการกระทำปฏิวัติอันศักดิ์สิทธิ์ของคิม จ็อง-อิลไปชั่วกาลนาน และบรรลุภารกิจชูเช ภารกิจปฏิวัติซ็อนกุน โดยรวมกันเป็นหนึ่งเดียวรอบตัวคิม จ็อง-อึน"[56] คิม จ็อง-อึนได้รับการเลื่อนยศเป็น "จอมพลแห่งสาธารณรัฐ" ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012[57] ในการประชุมพรรคครั้งที่ 4 ในวันที่ 11 เมษายน คิม จ็อง-อิลได้รับการประกาศให้เป็นเลขาธิการพรรคตลอดกาลและคิม จ็อง-อึนได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการหมายเลขหนึ่งของพรรคแรงงานเกาหลีและคณะผู้บริหารสูงสุด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สถาปนาขึ้นใหม่ การประชุมได้แก้ไขข้อบังคับของพรรคให้ระบุว่าลัทธิคิมอิลซ็อง-คิมจ็องอิล "เป็นแนวทางชี้นำเพียงหนึ่งเดียวของพรรค"[58][5] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 พรรคเผชิญกับการต่อสู้ภายในอย่างเปิดเผยครั้งแรกในรอบหลายสิบปีด้วยการกวาดล้างชัง ซ็อง-แท็ก[59]
พรรคได้เห็นการฟื้นฟูในระดับหนึ่งภายใต้การนำของคิม จ็อง-อึน โดยมีการประชุมที่บ่อยขึ้น มีการจัดประชุมสองครั้ง หลังเว้นช่วงไป 44 ปี และมีการประชุมใหญ่ (congress) ระหว่าง ค.ศ. 2010 ถึง 2016[60] หลังจัดการสวนสนามทหารครั้งใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของพรรคในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2015 กรมการเมืองประกาศว่าการประชุมใหญ่ครั้งที่ 7 จะจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 หลังเว้นช่วงไป 36 ปี การประชุมใหญ่ได้ประกาศแผนห้าปีฉบับแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และมอบตำแหน่งใหม่ให้แก่คิม จ็อง-อึน คือตำแหน่งประธาน ซึ่งเข้ามาแทนที่ตำแหน่งเลขาธิการหมายเลขหนึ่งก่อนหน้า[61]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 มีการประชุมใหญ่พรรคแรงงานเกาหลีครั้งที่ 8 ซึ่งคิม จ็อง-อึนได้รับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ แทนที่ตำแหน่งประธาน[62] การประชุมครั้งนี้ยังเป็นการแสดงถึงการรวมอำนาจควบคุมกองทัพของพรรคแรงงานเกาหลีและอำนาจของกองทัพที่ลดลง โดยจำนวนผู้แทนจากกองทัพทั้งในการประชุมและกรมการเมืองลดลง คิม ยอ-จ็อง น้องสาวของคิม ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกกรมการเมือง[63] มีรายงานในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 ว่าพรรคสถาปนาตำแหน่ง 'เลขาธิการหมายเลขหนึ่ง' (first secretary) โดยมีการคาดการณ์ว่าโช ยง-ว็อน[64] หรือคิม ดก-ฮุน นายกรัฐมนตรีเกาหลีเหนือจะดำรงตำแหน่งนี้[65] ตั้งแต่ ค.ศ. 2021 คิม จ็อง-อึนได้เริ่มฟื้นฟูแนวคิดคอมมิวนิสต์และศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ภายในพรรคแรงงานเกาหลี โดยมีการนำอุดมการณ์ดังกล่าวกลับมาเขียนไว้ในข้อบังคับของพรรคอีกครั้ง[3][66] และเพิ่มนโยบาย "การเมืองที่ประชาชนมาก่อน" ในข้อบังคับของพรรคมากขึ้น[6]
Remove ads
อุดมการณ์
สรุป
มุมมอง
พรรคแรงงานเกาหลียังคงรักษาภาพลักษณ์ของพรรคฝ่ายซ้าย[67] และโดยปกติจะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคแรงงานนานาชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนบ้าง[68] มติ ค.ศ. 2011 ของพรรคภายใต้หัวข้อ "ขอให้เราร่วมกันเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีวันคล้ายวันเกิดของท่านผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ สหายประธานาธิบดีคิม อิล-ซ็อง ในฐานะเทศกาลทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ" ได้รับการลงนามโดย 30 พรรคจาก 79 พรรคที่เข้าร่วม[69] พรรคแรงงานเกาหลีมองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการฝ่ายซ้ายและสังคมนิยมทั่วโลก ในช่วงสงครามเย็น พรรคแรงงานเกาหลีและเกาหลีเหนือมีนโยบาย "ส่งออกการปฏิวัติ" โดยให้ความช่วยเหลือแก่กองโจรฝ่ายซ้ายทั่วโลก นอกจากนี้ ข้อบังคับของพรรคยังระบุว่าเป้าหมายสูงสุดคือ "การสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ที่อุดมคติของประชาชนได้รับการตระหนักอย่างเต็มที่" และยังระบุเพิ่มเติมว่าพรรคยึดมั่นใน "หลักการปฏิวัติของลัทธิมากซ์–เลนิน"[6] อย่างไรก็ตาม ไบรอัน เรย์โนลส์ ไมเยอส์, แจสเปอร์ เบ็กเกอร์ และซอ แด-ซุกแย้งว่าอุดมการณ์ของพรรคแรงงานเกาหลีนั้นเกลียดกลัวต่างชาติ เหยียดเชื้อชาติ และชาตินิยม[67][70][71]
ชูเช
ความสัมพันธ์กับลัทธิมากซ์-เลนิน
แม้คำว่า "ชูเช" จะถูกใช้ครั้งแรกในสุนทรพจน์ของคิม อิล-ซ็อง (ที่กล่าวใน ค.ศ. 1955) เรื่อง "ว่าด้วยการขจัดสิทธันตนิยมและรูปแบบนิยมและการสร้างชูเชในงานทางอุดมการณ์" แต่ชูเชในฐานะอุดมการณ์ที่สอดคล้องกันไม่ได้พัฒนาจนกระทั่งทศวรรษ 1960[72] คล้ายกับลัทธิสตาลิน มันนำไปสู่การพัฒนาระบบอุดมการณ์ที่ไม่เป็นทางการ (ต่อมาทำให้เป็นทางการ) เพื่อปกป้องความเป็นผู้นำของพรรคส่วนกลาง[73] จนกระทั่งราว ค.ศ. 1972 ชูเชถูกเรียกว่า "การประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์" ของลัทธิมากซ์–เลนิน และ "ลัทธิมากซ์–เลนินในปัจจุบัน" และคิม อิล-ซ็องได้รับการยกย่องว่าเป็น "นักมากซ์–เลนินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยเรา"[73] อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 1976 ชูเชได้กลายเป็นอุดมการณ์แยกต่างหาก คิม จ็อง-อิลเรียกมันว่า "อุดมการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ เนื้อหาและโครงสร้างที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นลัทธิมากซ์–เลนิน"[73]
ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 ชูเชถูกยกฐานะให้เทียบเท่ากับลัทธิมากซ์-เลนิน[74] มันได้รับความโดดเด่นมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 และในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 6 ใน ค.ศ.1980 มันได้รับการยอมรับว่าเป็นอุดมการณ์เดียวของพรรคแรงงานเกาหลี[74] ในช่วงทศวรรษต่อมา ชูเชเปลี่ยนจากแนวปฏิบัติไปสู่อุดมการณ์บริสุทธิ์[74] หนังสือ "ว่าด้วยแนวคิดชูเช" (On the Juche Idea) เป็นตำราหลักเกี่ยวกับชูเช ได้รับการตีพิมพ์ในนามของคิม จ็อง-อิลใน ค.ศ. 1982[75] ตามการศึกษานี้ ชูเชเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับคิม อิล-ซ็องและ "แสดงถึงแนวคิดชี้นำของการปฏิวัติเกาหลี ... เรากำลังเผชิญกับภารกิจอันทรงเกียรติในการสร้างแบบจำลองสังคมทั้งหมดตามแนวคิดชูเช"[75] ในงานเขียนนั้น คิม จ็อง-อิลกล่าวว่าชูเชไม่ใช่แค่การประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ของลัทธิมากซ์-เลนินเท่านั้น แต่เป็น "สมัยใหม่ในการพัฒนาประวัติศาสตร์โลก"[75] การที่พรรคแรงงานเกาหลีละทิ้งหลักการพื้นฐานของลัทธิมากซ์–เลนินถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในบทความ "ให้เราเดินขบวนภายใต้ผืนธงแห่งลัทธิมากซ์-เลนินและแนวคิดชูเช" ("Let Us March Under the Banner of Marxism–Leninism and the Juche Idea")[76]
แม้ชูเชจะถูกมองว่าเป็นการประยุกต์ใช้ลัทธิมากซ์และเลนินอย่างสร้างสรรค์[77] นักวิชาการบางคนโต้แย้งว่ามันมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับพวกมันน้อยมาก[78] นโยบายต่าง ๆ อาจถูกอธิบายได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลแบบมาร์กซิสต์หรือเลนินิสต์ ทำให้การระบุอิทธิพลที่เฉพาะเจาะจงจากอุดมการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องยาก[78] นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่าการเชื่อมโยงชูเชกับชาตินิยมนั้นง่ายกว่า แต่ไม่ใช่ชาตินิยมรูปแบบเฉพาะตัว แม้พรรคแรงงานเกาหลีจะอ้างว่าเป็นชาตินิยมสังคมนิยม[78] นักวิเคราะห์บางคนระบุว่าชาตินิยมสังคมนิยมของมันจะคล้ายกับชาตินิยมกระฎุมพีมากกว่า ความต่างหลักคือชาตินิยมสังคมนิยมเป็นชาตินิยมในรัฐสังคมนิยม[79] ชูเชพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการยึดครอง การแทรกแซงและอิทธิพลจากต่างประเทศ (โดยหลัก ๆ คือจีนและสหภาพโซเวียต) ในกิจการของเกาหลีเหนือ และอาจถูกอธิบายได้ว่า "เป็นการตอบสนองที่เป็นปกติและดีต่อสุขภาพของประชาชนเกาหลีต่อการถูกกดขี่ที่พวกเขาได้รับภายใต้การครอบงำจากต่างชาติ"[80] อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่เป็นมาร์กซิสต์หรือเลนินิสต์โดยเฉพาะในการตอบสนองนี้ เหตุผลหลักที่มันถูกอธิบายว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" คือมันเกิดขึ้นในรัฐสังคมนิยมที่ประกาศตนเอง[80] พรรคแรงงานเกาหลี (และผู้นำเกาหลีเหนือโดยทั่วไป) ไม่ได้อธิบายรายละเอียดว่านโยบายของพวกเขาเป็นมาร์กซิสต์ เลนินิสต์ หรือคอมมิวนิสต์อย่างไร ชูเชถูกกำหนดให้เป็น "เกาหลี" และอื่น ๆ ถูกกำหนดให้เป็น "ต่างชาติ"[81]
หลักการพื้นฐาน
คุณขอให้ผมอธิบายแนวคิดชูเชอย่างละเอียด แต่ไม่มีจุดสิ้นสุดสำหรับมัน นโยบายและแนวทางทั้งหมดของพรรคเราล้วนมาจากแนวคิดชูเช และแนวคิดนี้ก็ถูกบรรจุอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
— คิม อิล-ซ็อง เมื่อถูกผู้สัมภาษณ์ชาวญี่ปุ่นถามให้จำกัดความแนวคิดชูเช [82]
เป้าหมายหลักของชูเชสำหรับเกาหลีเหนือคือความเป็นอิสระทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหาร คิม อิล-ซ็อง ในสุนทรพจน์ "ให้เราปกป้องจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติของความเป็นอิสระ การพึ่งพาตนเอง และการป้องกันตนเองให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นในทุกด้านของกิจกรรมของรัฐ" ต่อสมัชชาประชาชนสูงสุดใน ค.ศ. 1967 ได้สรุปหลักการชูเชไว้ดังนี้:[83]
รัฐบาลจะดำเนินนโยบายความเป็นอิสระ การพึ่งพาตนเอง และการป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความเป็นอิสระทางการเมืองของประเทศ (ชาจู) สร้างรากฐานเศรษฐกิจแห่งชาติที่เป็นอิสระให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สามารถรับประกันการรวมชาติ ความเป็นอิสระ และความเจริญรุ่งเรืองของชาติของเราได้อย่างสมบูรณ์ (ชาริบ) และเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ เพื่อปกป้องความมั่นคงของปิตุภูมิอย่างน่าเชื่อถือด้วยกำลังของเราเอง (ชาวี) โดยการนำแนวคิดชูเชของพรรคของเราไปปฏิบัติอย่างงดงามในทุกด้าน"[84]
ความเป็นอิสระทางการเมือง (ชาจู; chaju) เป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของชูเช ชูเชเน้นความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างชาติ ยืนยันว่าทุกรัฐมีสิทธิ์ในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง ในทางปฏิบัติ ความเชื่อในเรื่องการกำหนดการปกครองด้วยตนเองและอำนาจอธิปไตยที่เท่าเทียมกันได้เปลี่ยนเกาหลีเหนือให้กลายเป็น "อาณาจักรฤๅษี" ที่ถูกมองเช่นนั้น ตามที่พรรคแรงงานเกาหลีตีความ การยอมจำนนต่อแรงกดดันหรือการแทรกแซงจากต่างประเทศจะเป็นการละเมิดหลักการชาจูและคุกคามความสามารถของประเทศในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนเอง สิ่งนี้อาจอธิบายได้ว่าทำไมคิม จ็อง-อิลจึงเชื่อว่าการปฏิวัติเกาหลีจะล้มเหลวหากเกาหลีเหนือพึ่งพาหน่วยงานต่างประเทศ ในความสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมที่เป็นพันธมิตรอย่างจีนและสหภาพโซเวียต คิม อิล-ซ็องกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ การสนับสนุนซึ่งกันและกันและการพึ่งพาอาศัยกัน โดยยอมรับว่ามันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเกาหลีเหนือที่จะเรียนรู้จากประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม เขาเกลียดความคิดที่ว่าเกาหลีเหนือสามารถ (หรือควร) พึ่งพาประเทศทั้งสองและไม่ต้องการปฏิบัติตามตัวอย่างของพวกเขาอย่างดื้อรั้น คิม อิล-ซ็องกล่าวว่าพรรคแรงงานเกาหลีจำเป็นต้อง "ปฏิเสธแนวโน้มที่จะกลืนสิ่งของของผู้อื่นโดยไม่ย่อยหรือเลียนแบบพวกมันอย่างกลไก" อย่างเด็ดเดี่ยว โดยให้เหตุผลว่าความสำเร็จของเกาหลีเหนือขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระของพรรคแรงงานเกาหลีในการดำเนินนโยบาย เพื่อให้แน่ใจว่าเกาหลีเหนือจะมีความเป็นอิสระ การประกาศอย่างเป็นทางการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องรวมกันภายใต้พรรคแรงงานเกาหลีและผู้นำผู้ยิ่งใหญ่[85]
ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ (ชาริบ; charip) ถูกมองว่าเป็นพื้นฐานทางวัตถุของชาจู หนึ่งในความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคิม อิล-ซ็องเกี่ยวข้องกับการพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศของเกาหลีเหนือ เขาเชื่อว่ามันจะคุกคามความสามารถของประเทศในการพัฒนาสังคมนิยม ซึ่งมีเพียงรัฐที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเป็นอิสระเท่านั้นที่สามารถทำได้ ชาริบเน้นเศรษฐกิจระดับชาติที่เป็นอิสระโดยมีพื้นฐานจากอุตสาหกรรมหนัก ในทางทฤษฎี ภาคส่วนนี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนที่เหลือ[85] คิม จ็อง-อิล กล่าวว่า:
การสร้างเศรษฐกิจแห่งชาติที่เป็นอิสระหมายถึงการสร้างเศรษฐกิจที่ปราศจากการพึ่งพาผู้อื่นและยืนหยัดด้วยตนเองได้ เศรษฐกิจที่รับใช้ประชาชนของตนเองและพัฒนาด้วยความแข็งแกร่งของทรัพยากรของประเทศตนเองและด้วยความพยายามของประชาชนของตนเอง[86]
คิม อิล-ซ็องถือว่าความเป็นอิสระทางทหาร (ชาวี; chawi) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แม้จะยอมรับว่าเกาหลีเหนืออาจต้องการการสนับสนุนทางทหารในการทำสงครามกับศัตรูจักรวรรดินิยม แต่เขาเน้นย้ำถึงการตอบสนองภายในประเทศ และสรุปทัศนคติของพรรค (และรัฐ) ต่อการเผชิญหน้าทางทหารว่า "เราไม่ต้องการสงคราม และเราก็ไม่กลัวสงคราม และเราก็ไม่ขอร้องสันติภาพจากพวกจักรวรรดินิยม"[86]
ตามชูเช เนื่องจากสติสัมปชัญญะของมนุษย์ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมตนเองได้อย่างสูงสุดและมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงโลก[87] สิ่งนี้ต่างจากลัทธิมากซ์แบบดั้งเดิม ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของตนกับปัจจัยการผลิตมากกว่าตัวตนของพวกเขาเอง[88] ทัศนะของชูเชเกี่ยวกับการปฏิวัติที่นำโดยผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ แทนที่จะเป็นกลุ่มนักปฏิวัติที่มีความรู้ เป็นการแตกหักจากแนวคิดของเลนินเกี่ยวกับพรรคแนวหน้า[88]
ชาตินิยม
คาร์ล มาคส์และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ไม่ได้อธิบายความแตกต่างระหว่างรัฐและกฎหมายอย่างชัดเจน โดยมุ่งเน้นไปที่การแบ่งแยกชนชั้นภายในชาติ[73] พวกเขาแย้งว่าชาติและกฎหมาย (ในรูปแบบที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้น) จะถูกล้มล้างและแทนที่ด้วยการปกครองของชนกรรมาชีพ[73] นี่คือมุมมองหลักของนักทฤษฎีโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1920 อย่างไรก็ตาม เมื่อสตาลินขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 1929 มุมมองนี้ก็ถูกโจมตี[89] เขาวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของนีโคไล บูฮารินที่ว่าชนกรรมาชีพเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวโน้มของรัฐ โดยแย้งว่าเนื่องจากรัฐ (สหภาพโซเวียต) กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชนกรรมาชีพจึงเป็นไปอย่างกลมกลืน[89] ใน ค.ศ. 1936 สตาลินแย้งว่ารัฐจะยังคงอยู่ต่อไปแม้สหภาพโซเวียตจะบรรลุสู่วิถีการผลิตแบบคอมมิวนิสต์แล้วก็ตาม แต่โลกสังคมนิยมถูกล้อมรอบด้วยกำลังทุนนิยม[89] คิม อิล-ซ็องนำจุดยืนนี้ไปสู่ข้อสรุปเชิงตรรกะ โดยแย้งว่ารัฐจะยังคงอยู่ต่อไปหลังจากที่เกาหลีเหนือบรรลุสู่วิถีการผลิตแบบคอมมิวนิสต์แล้ว จนกว่าจะเกิดการปฏิวัติโลกในอนาคต[89] ตราบใดที่ทุนนิยมยังคงอยู่ แม้โลกสังคมนิยมจะมีความโดดเด่นเหนือกว่า เกาหลีเหนือก็ยังคงถูกคุกคามจากการฟื้นฟูของระบบทุนนิยมได้[90]
การฟื้นคืนชีพของคำว่า "รัฐ" ในสหภาพโซเวียตภายใต้สตาลินนำไปสู่การฟื้นคืนชีพของคำว่า "ชาติ" ในเกาหลีเหนือภายใต้คิม อิล-ซ็อง[90] แม้จะมีข้อกล่าวอ้างอย่างเป็นทางการว่าสหภาพโซเวียตมีพื้นฐานอยู่บน "ชนชั้น" มากกว่า "รัฐ" แต่คำหลังนี้ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930[90] ในปี 1955 คิม อิลซุงได้แสดงมุมมองที่คล้ายคลึงกันในสุนทรพจน์ของเขา "ว่าด้วยการขจัดสิทธันตนิยมและรูปแบบนิยมและการสร้างชูเชในงานทางอุดมการณ์":[90]
สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ไม่ใช่การปฏิวัติในประเทศต่างชาติ หากแต่เป็นการปฏิวัติเกาหลีของเรา ดังนั้น ทุกการกระทำทางอุดมการณ์จะต้องเป็นประโยชน์ต่อการปฏิวัติเกาหลี เพื่อให้การปฏิวัติเกาหลีสำเร็จลุล่วง บุคคลหนึ่งควรตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาติเรา ภูมิศาสตร์ของเกาหลี และขนบธรรมเนียมประเพณีของเรา[90]
นับแต่นั้นมา เขากับพรรคแรงงานเกาหลีได้เน้นย้ำบทบาทของ "ประเพณีปฏิวัติ" และประเพณีทางวัฒนธรรมของเกาหลีในการปฏิวัติของตน[90] ในการประชุมพรรค สมาชิกและแกนนำได้เรียนรู้เกี่ยวกับศักดิ์ศรีแห่งชาติของเกาหลีเหนือและการฟื้นฟูที่กำลังจะมาถึง[90] มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อแสดงความเป็นเกาหลี[90] ใน ค.ศ. 1965 คิม อิล-ซ็องกล่าวว่าหากคอมมิวนิสต์ยังคงต่อต้านความเป็นปัจเจกและอธิปไตย ขบวนการก็จะถูกคุกคามโดยสิทธันตนิยมและลัทธิแก้[91] เขาตำหนิพวกคอมมิวนิสต์ที่เขาเชื่อว่ายึดถือ "สุญนิยมชาติโดยการยกย่องทุกสิ่งที่เป็นของต่างชาติและใส่ร้ายทุกสิ่งที่เป็นของชาติ" และพยายามที่จะนำรูปแบบต่างชาติมาใช้กับประเทศของตน[91] ในช่วงทศวรรษ 1960 ชูเชเป็นอุดมการณ์เต็มรูปแบบซึ่งเรียกร้องให้มีการสร้างสังคมนิยมของเกาหลีเหนือในแนวทางที่แตกต่างและไม่แทรกแซงกิจการภายใน อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษต่อมาชูเชถูกกำหนดให้เป็นระบบที่มี "หลักการพื้นฐานคือการตระหนักถึงอธิปไตย"[91]
แม้นักทฤษฎีของพรรคแรงงานเกาหลีในช่วงแรกจะมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อคำว่า "ชาติ" และ "ชาตินิยม" เนื่องจากอิทธิพลของคำจำกัดความแบบสตาลินที่ว่า "รัฐ" แต่ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 คำจำกัดความของพวกเขาที่ว่าชาติคือ "ชุมชนที่มีเสถียรภาพ ก่อตัวขึ้นตามประวัติศาสตร์ของผู้คนบนพื้นฐานของภาษา อาณาเขต ชีวิตทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมร่วมกัน" ได้รับการแก้ไขและลักษณะของ "สายเลือดเดียวกัน" ถูกเพิ่มเข้าไปในคำจำกัดความนั้น[91] ในช่วงทศวรรษ 1980 ชีวิตทางเศรษฐกิจร่วมกันถูกลบออกจากคำจำกัดความ โดยที่สายเลือดเดียวกันได้รับการเน้นย้ำมากขึ้น[92] พรรคแรงงานเกาหลีปรับปรุงความหมายของชาตินิยมเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต[92] ก่อนหน้านี้ถูกกำหนดในแง่ของสตาลินว่าเป็นอาวุธของชนชั้นกระฎุมพีในการเอารัดเอาเปรียบกรรมกร ชาตินิยมได้เปลี่ยนจากแนวคิดปฏิกิริยาไปสู่แนวคิดก้าวหน้า[92] คิม อิล-ซ็องแยก "ชาตินิยม" ออกจากสิ่งที่เขาเรียกว่า "ชาตินิยมที่แท้จริง" ขณะที่ชาตินิยมที่แท้จริงเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้า ชาตินิยมยังคงเป็นปฏิกิริยา:[92]
ชาตินิยมที่แท้จริงนั้นคล้ายกับความรักชาติ มีเพียงผู้รักชาติอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะสามารถกลายเป็นนักสากลนิยมที่อุทิศตนและจริงใจได้ ในแง่นี้ เมื่อฉันกล่าวว่าคอมมิวนิสต์ ในเวลาเดียวกัน ฉันหมายถึงชาตินิยมและสากลนิยมด้วย[92]
ข้อกล่าวหาเรื่องความเกลียดกลัวต่างชาติและการเหยียดเชื้อชาติ
ไม่ว่าจะชื่ออะไรและไม่ว่าการกล่าวอ้างของคิมจะซับซ้อนเพียงใด แนวคิดชูเชของเขาก็เป็นเพียงชาตินิยมที่เกลียดกลัวต่างชาติ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องน้อยมากกับคอมมิวนิสต์
— ซอ แด-ซุก, ผู้เขียนหนังสือ Kim Il Sung: The North Korean Leader[93]
ในช่วงทศวรรษ 1960 พรรคแรงงานเกาหลีเริ่มบังคับให้ชาวเกาหลีหย่าร้างกับคู่สมรสชาวยุโรป (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มตะวันออก) โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคแรงงานเกาหลีเรียกการแต่งงานเหล่านี้ว่าเป็น "อาชญากรรมต่อเชื้อชาติเกาหลี" และสถานทูตของกลุ่มตะวันออกในประเทศเริ่มกล่าวหาว่าระบอบเป็นฟาสซิสต์[70] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1963 นักการทูตโซเวียตคนหนึ่งบรรยายถึงวงการเมืองของคิม อิล-ซ็องว่าเป็น "ตำรวจลับทางการเมือง"[70] เจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ จากกลุ่มตะวันออกในเกาหลีเหนือก็แสดงความเห็นที่คล้ายคลึงกัน โดยเอกอัครราชทูตเยอรมนีตะวันออกเรียกนโยบายนี้ว่า "แบบเกิบเบิลส์" (อ้างถึงโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประชาบาลและโฆษณาการของฮิตเลอร์)[70] แม้สิ่งนี้จะถูกกล่าวในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและกลุ่มตะวันออกตกต่ำ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการรับรู้ถึงการเหยียดเชื้อชาติในนโยบายของคิม อิล-ซ็อง[70]
ในหนังสือของเขาเรื่อง The Cleanest Race (2010) ไบรอัน เรย์โนลส์ ไมเออส์ปฏิเสธแนวคิดที่ว่าชูเชเป็นอุดมการณ์นำของเกาหลีเหนือ เขาเห็นว่าการยกย่องต่อสาธารณะนั้นถูกออกแบบมาเพื่อหลอกลวงชาวต่างชาติ มันดำรงอยู่เพื่อให้ถูกสรรเสริญมากกว่าจะถูกปฏิบัติตาม[94] ไมเออส์เขียนว่าชูเชเป็นอุดมการณ์จอมปลอม ที่พัฒนาขึ้นเพื่อยกย่องคิม อิล-ซ็องให้เป็นนักคิดทางการเมืองที่เทียบเท่าเหมา เจ๋อตง[95] ตามความเห็นของไมเออส์ นโยบายทหารมาก่อนของเกาหลีเหนือ การเหยียดเชื้อชาติและความเกลียดกลัวต่างชาติ (ดังตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่มีมูลเหตุจากเชื้อชาติ เช่น ความพยายามรุมประชาทัณฑ์นักการทูตชาวคิวบาผิวดำและการบังคับทำแท้งหญิงเกาหลีเหนือที่ตั้งครรภ์กับชายชาวจีน) บ่งชี้ถึงรากฐานทางการเมืองขวาจัด (ที่สืบทอดมาจากจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงที่เข้ายึดครองเกาหลี) มากกว่าซ้ายจัด[94][96]
ลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิล
ลัทธิคิมอิลซ็อง (김일성주의) และหลักสิบประการสำหรับการสร้างระบบอุดมการณ์แบบองค์รวมได้รับการแนะนำอย่างเป็นทางการโดยคิม จ็อง-อิลใน ค.ศ. 1974[97] มีรายงานว่าคิม จ็อง-อิลทำเช่นนั้นเพื่อเสริมสร้างตำแหน่งของเขาภายในพรรคแรงงานเกาหลี โดยใช้ประโยชน์จากอำนาจทางการเมืองสูงสุดของบิดา[97] ลัทธิคิมอิลซ็องหมายถึงแนวคิดของคิม อิลซ็อง ขณะที่หลักสิบประการทำหน้าที่เป็นแนวทางสำหรับชีวิตทางการเมืองและสังคมของเกาหลีเหนือ[97] คิม จ็อง-อิลโต้แย้งว่าแนวคิดของบิดาได้พัฒนาขึ้นและดังนั้นจึงสมควรได้รับชื่อที่ต่างกันของตนเอง[98] สื่อของรัฐเกาหลีเหนือก่อนหน้านี้ได้อธิบายแนวคิดของคิม อิล-ซ็องว่าเป็น "ลัทธิมากซ์–เลนินร่วมสมัย" โดยเรียกแนวคิดเหล่านั้นว่า "ลัทธิคิมอิลซ็อง" คิม จ็อง-อิลพยายามยกระดับแนวคิดของบิดาให้มีสถานะเทียบเท่ากับลัทธิสตาลินและลัทธิเหมา[98] ไม่นานหลังการแนะนำ "ลัทธิคิมอิลซ็อง" เข้าสู่พจนานุกรมของเกาหลีเหนือ คิม จ็อง-อิลเริ่มเรียกร้องให้มีการ "เปลี่ยนแปลงสังคมเกาหลีเหนือให้เป็นแบบลัทธิคิมอิลซ็อง"[97]
ลิม แจ-ช็อน นักวิเคราะห์การเมือง โต้แย้งว่าไม่มีความต่างที่สังเกตได้ระหว่างลัทธิคิมอิลซ็องกับชูเช และทั้งสองคำนี้สามารถใช้แทนกันได้[97] อย่างไรก็ตาม ในสุนทรพจน ค.ศ. 1976 ของเขาเรื่อง "ว่าด้วยการทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นต้นฉบับของลัทธิคิมอิลซ็อง" คิม จ็อง-อิลกล่าวว่าลัทธิคิมอิลซ็องประกอบด้วย "แนวคิดชูเชและทฤษฎีการปฏิวัติและวิธีการเป็นผู้นำที่กว้างไกลซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดนี้"[99] เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "ลัทธิคิมอิลซ็องเป็นแนวคิดดั้งเดิมที่ไม่สามารถอธิบายได้ภายในกรอบของลัทธิมากซ์–เลนิน แนวคิดชูเช ซึ่งเป็นแก่นแท้ของลัทธิคิมอิลซ็อง เป็นแนวคิดที่ค้นพบใหม่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ"[98] คิม จ็อง-อิลกล่าวต่อไปอีกว่าลัทธิมากซ์–เลนินล้าสมัยและต้องถูกแทนที่ด้วยลัทธิคิมอิลซ็อง:[100]
ทฤษฎีการปฏิวัติของลัทธิคิมอิลซ็องเป็นทฤษฎีการปฏิวัติที่ได้ให้คำตอบแก่ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติการปฏิวัติในสมัยใหม่ที่ต่างจากสมัยที่ทำให้เกิดลัทธิมากซ์–เลนิน บนพื้นฐานของแนวคิดชูเช ผู้นำได้ให้คำอธิบายอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับทฤษฎี กลยุทธ์ และยุทธวิธีของการปลดปล่อยชาติ การปลดปล่อยชนชั้น และการปลดปล่อยมนุษย์ในสมัยของเรา ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าทฤษฎีการปฏิวัติของลัทธิคิมอิลซ็องเป็นทฤษฎีการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์แบบในสมัยชูเช[100]
ตามที่ชิน กี-วุก นักวิเคราะห์กล่าวไว้ แนวคิดของชูเชและลัทธิคิมอิลซ็องนั้นโดยแก่นแท้แล้วเป็นการ "แสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาหลีเหนือเหนือลัทธิลัทธิมากซ์–เลนิน ซึ่งถูกมองว่ามีความเป็นสากลกว่า"[100] ศัพท์ใหม่นี้บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงจากสังคมนิยมไปสู่ชาตินิยม[100] สิ่งนี้ปรากฏชัดในสุนทรพจน์ที่คิม จ็อง-อิลกล่าวใน ค.ศ. 1982 ระหว่างการเฉลิมฉลองวันเกิดครบรอบ 70 ปีของบิดา ซึ่งเขากล่าวว่าความรักชาติมาก่อนความรักสังคมนิยม[101] ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะนี้ก่อให้เกิดแนวคิดต่าง ๆ เช่น "ทฤษฎีชาติเกาหลีเป็นอันดับหนึ่ง" (조선민족제일주의) และ "สังคมนิยมแบบของเรา" (우리식사회주의).[102]
หลังการเสียชีวิตของคิม จ็อง-อิลในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ลัทธิคิมอิลซ็องได้กลายเป็น ลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิล (김일성-김정일주의) ในการประชุมครั้งที่ 4 ของพรรคแรงงานเกาหลีในเดือนเมษายน ค.ศ. 2012[103] สมาชิกพรรคในการประชุมกล่าวว่าพรรคแรงงานเกาหลีเป็น "พรรคของคิม อิล-ซ็องและคิม จ็อง-อิล" และประกาศว่าลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิลเป็น "แนวคิดชี้นำเดียวของพรรค[103] หลังจากนั้น สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) กล่าวว่า "ประชาชนเกาหลีเรียกนโยบายปฏิวัติและแนวคิดของท่านประธานาธิบดี [คิม อิล-ซ็อง] และคิม จ็อง-อิลว่าลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิลมานานแล้วและยอมรับว่าเป็นแนวทางชี้นำของชาติ"[104] คิม จ็อง-อึน บุตรชายของคิม จ็อง-อิล ซึ่งสืบทอดตำแหน่งผู้นำพรรคแรงงานเกาหลีกล่าวว่า:
ลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิลเป็นระบบบูรณาการของแนวคิด ทฤษฎีและวิธีการของชูเช และเป็นอุดมการณ์ปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ที่เป็นตัวแทนของสมัยชูเช ภายใต้การนำของลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิล เราควรดำเนินการสร้างพรรคและกิจกรรมของพรรค เพื่อรักษาลักษณะปฏิวัติของพรรคเราและขับเคลื่อนการปฏิวัติและการก่อสร้างให้สอดคล้องกับแนวคิดและความตั้งใจของท่านประธานาธิบดี [คิม อิล-ซ็อง] และท่านนายพล [คิม จ็อง-อิล][105]
เนนารา (Naenara) เว็บทำอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ประกาศว่า: "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเป็นรัฐสังคมนิยมอิสระที่ชี้นำโดยลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิลอันยิ่งใหญ่ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ"[106]
Remove ads
วิธีการปกครอง
สรุป
มุมมอง
ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่
เกาหลีเหนือถือว่ามนุษยชาติเป็นพลังขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ "มวลชนได้รับสถานะเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง และผู้นำเป็นศูนย์กลางของมวลชน"[107] ลัทธิมากซ์ดั้งเดิมถือว่าการต่อสู้ระหว่างชนชั้นเป็นพลังขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ลัทธิมากซ์ยังมองว่าการต่อสู้ระหว่างชนชั้นจะสิ้นสุดลงในที่สุด เมื่อความแตกต่างระหว่างชนชั้นเริ่มหายไปในสังคมคอมมิวนิสต์[108] จากจุดนี้ไป มนุษยชาติจะสามารถ "สร้างประวัติศาสตร์ของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีสติ" เมื่อสังคมมนุษย์เลิกถูกขับเคลื่อนโดยพลังทางสังคม เช่น การต่อสู้ระหว่างชนชั้น แต่กลายเป็น "ผลจากการกระทำโดยเสรีของตนเอง"[109]
ชูเชเป็นอุดมการณ์ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางซึ่งเชื่อว่า "มนุษย์เป็นนายของทุกสิ่งและเป็นผู้ตัดสินทุกสิ่ง"[107] เช่นเดียวกับความคิดลัทธิมากซ์–เลนิน ชูเชเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นไปตามกฎเกณฑ์แต่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนความก้าวหน้า "มวลชนคือผู้ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์"[110] จากทัศนคติของชูเช การต่อสู้ของมนุษยชาติโดยรวมเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองถูกจำกัดโดยชนชั้นปกครองในสังคมที่มีชนชั้น[111] นอกจากนี้ มีเพียงชนชั้นแรงงานเท่านั้นที่สามารถเอาชนะข้อจำกัดเหล่านี้และบรรลุสังคมที่มนุษยชาติสามารถสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองได้อย่างอิสระและสร้างสรรค์[112] ชูเชสอดคล้องกับวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ โดยมองว่าความสามารถของมนุษยชาติในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของตนเองเป็นจุดสุดยอดของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ระยะยาว ซึ่งรากฐานถูกวางโดยการเข้ามาของชนชั้นแรงงานในสมัยทุนนิยม และด้วยเหตุนี้ชูเชจึงเป็นเอกลักษณ์ของสมัยสังคมนิยม[113] อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มวลชนประสบความสำเร็จ พวกเขาจำเป็นต้องมีผู้นำผู้ยิ่งใหญ่[110] ลัทธิมากซ์–เลนินโต้แย้งว่าประชาชนจะนำโดยอาศัยความสัมพันธ์ของพวกเขากับการผลิต ในเกาหลีเหนือ ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่เพียงคนเดียวถือเป็นสิ่งจำเป็น และสิ่งนี้ช่วยให้คิม อิล-ซ็องสถาปนาระบอบอัตตาธิปไตยแบบคนเดียวได้[114]
ทฤษฎีนี้ทำให้ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้นำที่เด็ดขาดและสูงสุด[115] ชนชั้นแรงงานไม่ได้คิดด้วยตนเอง แต่คิดผ่านผู้นำผู้ยิ่งใหญ่[115] เขาคือมันสมองของชนชั้นแรงงานและเป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงผู้เดียวของพวกเขา[115] การต่อสู้ระหว่างชนชั้นสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านผู้นำผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น งานที่ยากโดยทั่วไป (และการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิวัติโดยเฉพาะ) สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านและ/หรือโดยเขาเท่านั้น[115] ดังนั้น ในการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่คือพลังนำของชนชั้นแรงงาน[115] เขาเป็นมนุษย์ผู้ไร้ที่ติ ไม่ทุจริต ไม่เคยทำผิดพลาด มีความเมตตาเสมอและปกครองเพื่อประโยชน์ของมวลชน (ชนชั้นแรงงาน)[116] เพื่อให้ระบบผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ทำงานได้ จะต้องมีอุดมการณ์ที่เป็นเอกภาพ[117] ในเกาหลีเหนือ สิ่งนี้เรียกว่าระบบอุดมการณ์เอกานุภาพ[117]
ราชวงศ์คิม
ราชวงศ์คิมเริ่มต้นด้วยคิม อิล-ซ็อง ผู้นำคนแรกของพรรคแรงงานเกาหลีและเกาหลีเหนือ[118] อุดมการณ์อย่างเป็นทางการคือระบบของเกาหลีเหนือทำงานได้ "ดี" เพราะถูกก่อตั้งโดยคิม อิล-ซ็อง ซึ่งผู้สืบทอดของเขาปฏิบัติตามสายเลือดของเขา[119] เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเกี่ยวกับ "ประวัติศาสตร์การปฏิวัติของท่านผู้นำผู้ยิ่งใหญ่" และ "ประวัติศาสตร์การปฏิวัติของท่านผู้นำที่รัก" (คิม จ็อง-อิล)[119] ตัวเลือกแรกของคิม อิล-ซ็องในฐานะผู้สืบทอดคือคิม ย็อง-จู น้องชายของเขา แต่ต่อมาเขาตัดสินใจแต่งตั้งคิม จ็อง-อิล บุตรชายแทน การตัดสินใจนี้ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 6[32] คิม จ็อง-อิลแต่งตั้งคิม จ็อง-อึน บุตรชายคนเล็กของเขา เป็นผู้สืบทอดในการประชุมพรรคแรงงานเกาหลีครั้งที่ 3 ใน ค.ศ. 2010 และบุตรชายของเขาสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาในช่วงต้น ค.ศ. 2011[49] เนื่องจากการสืบทอดอำนาจภายในครอบครัวและการแต่งตั้งสมาชิกในครอบครัวให้ดำรงตำแหน่งสูง ตระกูลคิมจึงถูกเรียกว่าราชวงศ์[120] ซอ แด-ซุก ผู้เขียนหนังสือ Kim Il Sung: The North Korean Leader กล่าวว่า "สิ่งที่เขา [คิม อิล-ซ็อง] สร้างขึ้นในเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม คล้ายคลึงกับระบบการเมืองที่รองรับการปกครองส่วนตัวของเขามากกว่ารัฐคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมในเกาหลี ไม่ใช่ระบบการเมืองที่เขาสร้างขึ้นที่จะอยู่รอดต่อไป แต่เป็นบุตรชายของเขา [คิม จ็อง-อิล] ซึ่งเขาได้แต่งตั้งเป็นทายาท ที่จะสืบทอดการปกครองของเขา"[121] ตระกูลคิมที่ปกครองได้รับการบรรยายว่าเป็นผู้นำของสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยพฤตินัย[122][123][124] หรือ "เผด็จการสืบทอด"[125]
ระบบอุดมการณ์เอกานุภาพ
หลักสิบประการสำหรับการสถาปนาระบบอุดมการณ์เอกานุภาพเป็นชุดหลักการสิบประการและข้อกำหนด 65 ข้อซึ่งกำหนดมาตรฐานสำหรับการปกครองและชี้นำพฤติกรรมของประชาชนในเกาหลีเหนือ[126] หลักสิบประการได้ก้าวข้ามรัฐธรรมนูญของชาติหรือกฤษฎีกาของพรรคแรงงาน และในทางปฏิบัติถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ[127][128][129]
ซ็องบุน
มะเขือเทศที่แดงทั้งลูกตั้งแต่เปลือกจนถึงเนื้อใน เปรียบเสมือนคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์แบบและน่าเชื่อถือ แอปเปิลที่แดงเฉพาะเปลือกนอก เปรียบเสมือนคนที่ยังต้องปรับปรุงทางอุดมการณ์ และองุ่นนั้นหมดหวังอย่างสิ้นเชิง
— การแบ่งชนชั้นหลักสามระดับในสังคมเกาหลีเหนือ (ชนชั้นหลัก, ชนชั้นกลาง, และชนชั้นศัตรู) ถูกอธิบายโดยใช้คำอุปมาเป็นมะเขือเทศ แอปเปิล และองุ่น ตามลำดับ[130]
ซ็องบุนเป็นชื่อที่ใช้เรียกระบบวรรณะที่ถูกสถาปนาขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1957 โดยกรมการเมืองพรรคแรงงานเกาหลีเมื่อมีการรับรองมติ "ว่าด้วยการเปลี่ยนการต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติให้เป็นการเคลื่อนไหวของคนทั้งชาติและทั้งพรรค" (รู้จักในชื่อมติ 30 พฤษภาคม)[131] สิ่งนี้นำไปสู่การกวาดล้างในสังคมเกาหลีเหนือซึ่งบุคคลทุกคนถูกตรวจสอบความภักดีต่อพรรคและผู้นำ[132] การกวาดล้างเริ่มขึ้นอย่างจริงจังใน ค.ศ. 1959 เมื่อพรรคแรงงานเกาหลีจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลใหม่โดยมีคิม ย็อง-จู น้องชายของคิม อิล-ซ็องเป็นหัวหน้า[132]
ประชาชนชาวเกาหลีเหนือถูกแบ่งออกเป็นสาม "กลุ่ม" (เป็นศัตรู เป็นกลาง หรือเป็นมิตร)[132] และกลุ่มที่บุคคลนั้นถูกจัดอยู่ในนั้นเป็นสิ่งสืบทอดทางกรรมพันธุ์[132] กลุ่มที่เป็นศัตรูไม่สามารถอาศัยอยู่ใกล้เปียงยาง (เมืองหลวงของประเทศ) หรือเมืองใหญ่อื่น ๆ หรือใกล้ชายแดนของเกาหลีเหนือที่ติดกับประเทศอื่น ๆ[132] ซ็องบุนส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการจ้างงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณสมบัติในการเข้าร่วมพรรคแรงงานเกาหลี[130] อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของมันได้ลดลงพร้อมกับการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและการล่มสลายของเศรษฐกิจเกาหลีเหนือ (และระบบการแจกจ่ายสาธารณะ) ในช่วงทศวรรษ 1990[133]
ตรงกันข้าม รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศว่าพลเมืองทุกคนมีความเท่าเทียมกันและปฏิเสธการเลือกปฏิบัติใด ๆ บนพื้นฐานของภูมิหลังครอบครัว[134][135]
Remove ads
โครงสร้าง
สรุป
มุมมอง
องค์กรส่วนกลาง
การประชุมใหญ่ (congress) เป็นองค์กรสูงสุดของพรรคและมีการประชุมเป็นครั้งคราว[136] ตามข้อบังคับของพรรค คณะกรรมาธิการกลางสามารถเรียกประชุมใหญ่ได้หากแจ้งให้พรรคส่วนอื่นทราบล่วงหน้าอย่างน้อยหกเดือน[136] ข้อบังคับของพรรคกำหนดให้การประชุมใหญ่มีหน้าที่รับผิดชอบเจ็ดประการ:[136]
- เลือกตั้งคณะกรรมาธิการกลาง
- เลือกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกลาง
- เลือกตั้งเลขาธิการใหญ่
- พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่กำลังจะหมดวาระ
- พิจารณารายงานของคณะกรรมการตรวจสอบกลางชุดที่กำลังจะหมดวาระ
- อภิปรายและบัญญัตินโยบายของพรรค
- แก้ไขข้อบังคับของพรรคและทำการแก้ไขเพิ่มเติม
ระหว่างการประชุมระดับชาติของพรรคแรงงานเกาหลี คณะกรรมาธิการกลางเป็นสถาบันที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด[137] คณะกรรมการตรวจสอบกลางมีหน้าที่รับผิดชอบการกำกับดูแลการเงินของพรรคและทำงานแยกจากคณะกรรมาธิการกลาง[138] คณะกรรมาธิการกลางเลือกตั้งองค์ประกอบของหลายหน่วยงานเพื่อดำเนินงานของตน การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 1 ของคณะกรรมาธิการกลางที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่จะเลือกตั้งคณะกรรมการการทหารกลาง (CMC) สำนักเลขาธิการ กรมการเมือง คณะผู้บริหารสูงสุด และคณะกรรมการตรวจสอบกลาง[139][140] กรมการเมืองใช้อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมาธิการกลางเมื่อไม่มีการประชุมเต็มคณะ[141] คณะผู้บริหารสูงสุดคือองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของพรรคเมื่อกรมการเมือง คณะกรรมาธิการกลาง การประชุมผู้แทนและการประชุมใหญ่ไม่อยู่ในสมัยประชุม[142] ก่อตั้งขึ้นในการประชุมใหญ่ระดับชาติครั้งที่ 6 ใน ค.ศ. 1980[142]
คณะกรรมการการทหารกลางเป็นสถาบันที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในกิจการทางทหารภายในพรรคและควบคุมการปฏิบัติการของกองทัพประชาชนเกาหลี[143] เลขาธิการใหญ่พรรคแรงงานเกาหลีดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง ขณะเดียวกัน สำนักเลขาธิการเป็นองค์กรปฏิบัติการสูงสุดและมีเลขาธิการพรรคใหญ่แรงงานเกาหลีเป็นหัวหน้า ประกอบด้วยเลขาธิการหลายคนที่โดยปกติเป็นหัวหน้ากรม คณะกรรมการ สิ่งพิมพ์ และองค์กรอื่น ๆ ภายใต้คณะกรรมาธิการกลาง[144] คณะกรรมการตรวจสอบกลางมีหน้าที่แก้ไขปัญหาทางวินัยที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกพรรค เรื่องที่ถูกสอบสวนมีตั้งแต่การทุจริตไปจนถึงกิจกรรมต่อต้านพรรคและต่อต้านการปฏิวัติ โดยทั่วไปครอบคลุมการละเมิดข้อบังคับของพรรคทั้งหมด[145]
การประชุมเต็มคณะครั้งแรกของคณะกรรมาธิการกลางยังเลือกหัวหน้ากรม สำนัก และสถาบันอื่น ๆ เพื่อดำเนินการตามภารกิจ[146][147] ปัจจุบันพรรคแรงงานเกาหลีมีกรมในคณะกรรมาธิการกลางมากกว่า 15 กรม[147] พรรคควบคุมองค์กรภาคประชาชนและหนังสือพิมพ์หลายฉบับผ่านกรมเหล่านี้ เช่น โรดงชินมุน[147] กองทัพประชาชนเกาหลี (KPA) ตามข้อบังคับของพรรคแรงงานเกาหลีถือเป็น "กองกำลังติดอาวุธปฏิวัติของพรรคแรงงานเกาหลีซึ่งสืบทอดประเพณีปฏิวัติ[148] องค์กรนำในกองทัพฯ คือสำนักการเมืองทั่วไป (GPB) ซึ่งตามข้อบังคับของพรรคแรงงานเกาหลีกำหนดให้เป็น "องค์กรบริหารของคณะกรรมาธิการพรรคกองทัพประชาชนเกาหลีและดังนั้นจึงมีอำนาจเช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการกลางในการดำเนินกิจกรรม"[149] สำนักฯ ควบคุมกลไกของพรรคและเจ้าหน้าที่การเมืองทุกคนในกองทัพฯ[149]
องค์กรระดับล่าง

พรรคแรงงานเกาหลีมีองค์กรระดับท้องถิ่นสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นของเกาหลีเหนือทั้งสามระดับ ได้แก่ (1) จังหวัดและเทศบาลระดับจังหวัด (2) นครพิเศษ นครทั่วไป และเขตเมือง และ (3) เทศมณฑลชนบทและหมู่บ้าน[150] เกาหลีเหนือมีเก้าจังหวัด แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมาธิการพรรคระดับจังหวัด องค์ประกอบของคณะกรรมาธิการเหล่านี้ถูกกำหนดโดยพรรคแรงงานเกาหลี[150]
พรรคแรงงานเกาหลีมีสมาชิกสองประเภท ได้แก่ สมาชิกสามัญและสมาชิกทดลอง[151] การเป็นสมาชิกเปิดรับสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปและจะได้รับการอนุมัติหลังยื่นใบสมัคร (ต้องมีสมาชิกพรรคสองคนที่มีสถานะดีอย่างน้อยสองปีรับรอง) ต่อหน่วยย่อย[151] ใบสมัครจะได้รับการพิจารณาในการประชุมเต็มคณะของหน่วยย่อย และการตัดสินใจอนุมัติจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการพรรคระดับเทศมณฑล[151] หลังใบสมัครได้รับการอนุมัติแล้ว ระยะเวลาทดลองงานหนึ่งปีตามข้อบังคับอาจถูกยกเว้นภายใต้ "สถานการณ์พิเศษ" ที่ไม่ได้ระบุไว้ ทำให้ผู้สมัครสามารถเป็นสมาชิกเต็มตัวได้[151] การสรรหาสมาชิกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมองค์การและชี้นำ และสาขาในระดับท้องถิ่น[151]
พรรคแรงงานเกาหลีอ้างว่ามีสมาชิกมากกว่าสามล้านคนใน ค.ศ. 1988 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากสมาชิกสองล้านคนที่ประกาศใน ค.ศ. 1976 การเพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลมาจากการรณรงค์ขับเคลื่อนขบวนการสามปฏิวัติ[152] ในเวลานั้น ร้อยละ 12 ของประชากรเป็นสมาชิกพรรค เป็นจำนวนที่มากผิดปกติสำหรับประเทศคอมมิวนิสต์และเป็นตัวเลขที่เทียบได้กับโรมาเนียเท่านั้น[153] ตัวเลขในภายหลังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ[152] แต่ปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีสมาชิกอยู่ที่ 6.5 ล้านคน[154]
สังคมเกาหลีเหนือแบ่งออกเป็นสามชนชั้น ได้แก่ แรงงานอุตสาหกรรม ชาวนา และซามูว็อน (ปัญญาชนและชนชั้นกระฎุมพีระดับล่าง)[152] นับตั้งแต่ ค.ศ. 1948 แรงงานอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสมาชิกพรรคมากที่สุด ตามมาด้วยชาวนาและซามูวอน[152] ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เมื่อประชากรเกาหลีเหนือมีสัดส่วนในเขตเมืองถึงร้อยละ 50 องค์ประกอบของกลุ่มพรรคก็เปลี่ยนแปลงไป โดยมีผู้ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจเป็นสมาชิกพรรคมากขึ้น และจำนวนสมาชิกในสหกรณ์การเกษตรลดลง[155]
Remove ads
สัญลักษณ์
สัญลักษณ์ของพรรคแรงงานเกาหลี (WPK) เป็นการปรับปรุงจากสัญลักษณ์คอมมิวนิสต์รูปค้อนเคียว โดยเพิ่มพู่กันอักษรวิจิตรแบบเกาหลีดั้งเดิมเข้าไป สัญลักษณ์เหล่านี้แสดงถึงชนชั้นสามกลุ่มในสังคมเกาหลีตามที่พรรคแรงงานเกาหลีอธิบายไว้ ได้แก่ แรงงานอุตสาหกรรม (ค้อน) ชาวนา (เคียว) และซามูว็อน (พู่กันหมึก) ชนชั้นซามูว็อนประกอบด้วยเสมียน พ่อค้าขนาดเล็ก ข้ารัฐการ ครูอาจารย์ และนักเขียน ชนชั้นนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในการวิเคราะห์ชนชั้นของเกาหลีเหนือและถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการรู้หนังสือในหมู่ประชากรของประเทศ[156]
Remove ads
ประวัติการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสมัชชาประชาชนสูงสุด
Remove ads
ดูเพิ่ม
- ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเกาหลี
- การเลือกตั้งในประเทศเกาหลีเหนือ
- การเมืองเกาหลีเหนือ
- รายชื่อพรรคการเมืองในประเทศเกาหลีเหนือ
- แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติต่อต้านจักรวรรดินิยม
- สโมสรกีฬาเปียงยาง
หมายเหตุ
อ้างอิง
หนังสืออ่านเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads