Loading AI tools
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ เป็นพระราชพงศาวดารไทยซึ่งหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) พบต้นฉบับที่บ้านราษฎรแห่งหนึ่งและนำมาให้หอพระสมุดวชิรญาณใน พ.ศ. 2450 หอพระสมุดจึงตั้งชื่อว่า ฉบับหลวงประเสริฐ ให้เป็นเกียรติแก่ผู้พบ[9]
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ | |
---|---|
หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ | |
เอกสารตัวเขียน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ เลขที่ 30 (ชุดอยุธยา) จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร | |
ประเภท | พงศาวดาร |
วันที่เขียน |
|
ภาษา | ไทย |
ผู้แต่ง | |
ผู้จัดให้มี |
|
วัสดุ | สมุดไทย |
สภาพ |
|
อักษร | ไทย |
เนื้อหา | ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา |
การค้นพบ | หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) ใน พ.ศ. 2450[9] |
บานแผนกของพงศาวดารกล่าวว่า พงศาวดารนี้เกิดจากการที่มีรับสั่งใน จ.ศ. 1042 (พ.ศ. 2223) ให้คัดจดหมายเหตุต่าง ๆ เข้าด้วยกัน[1] และนักประวัติศาสตร์เห็นว่า ผู้มีรับสั่งคือสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะปีที่ระบุไว้ตรงกับรัชสมัยของพระองค์[4][5][6][7] นอกจากนี้ พงศาวดารไม่ได้เอ่ยถึงผู้แต่ง แต่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกบางคนเชื่อว่าเป็นผลงานของโหรหลวงที่มีบรรดาศักดิ์ว่า "โหราธิบดี"[2][3]
เนื้อหาของพงศาวดารว่าด้วยเหตุการณ์เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่การสร้างพระพุทธรูปเจ้าพแนงเชีงใน จ.ศ. 686 (พ.ศ. 1867) ตามด้วยการสถาปนากรุงศรีอยุธยาใน จ.ศ. 712 (พ.ศ. 1893) มาจนค้างที่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชคราวที่ทรงยกทัพไปอังวะใน จ.ศ. 966 (พ.ศ. 2147) ต้นฉบับมีเนื้อหาเท่านี้ แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าน่าจะมีต่อ จึงทรงเพียรหา กระทั่งทรงได้ฉบับคัดลอกในสมัยกรุงธนบุรีมาเมื่อ พ.ศ. 2456 ซึ่งมีเนื้อหาเท่ากัน จึงทรงเห็นว่า เนื้อหาที่เหลือคงสูญหายมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างน้อยแล้ว[8]
พงศาวดารนี้เป็นที่เชื่อถือด้านความแม่นยำ[4][10][11] เหตุการณ์และวันเวลาที่ระบุไว้สอดคล้องกับเอกสารต่างประเทศ[12] ทั้งให้ข้อมูลที่ไม่ปรากฏในพงศาวดารสมัยหลัง[10] นอกจากนี้ ยังเขียนโดยใช้ศิลปะทางภาษาน้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงการแทรกความคิดความรู้สึกส่วนตัวของผู้แต่งลงไป[11] อย่างไรก็ดี เนื้อหาที่เขียนแบบย่อ ๆ ไม่ลงรายละเอียด และไม่พรรณนาเหตุการณ์ให้สัมพันธ์กันนั้น ถูกวิจารณ์ว่า เข้าใจยาก[11] และแทบไม่เป็นประโยชน์ต่อนักประวัติศาสตร์ที่พยายามจำลองภาพในอดีตของไทย[13]
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2457) ว่า ได้ต้นฉบับพงศาวดารนี้มาเมื่อ พ.ศ. 2450[14] และทรงเล่ารายละเอียดไว้ใน นิทานโบราณคดี เรื่องที่ 9 หนังสือหอหลวง (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2487) ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) พบหญิงชราผู้หนึ่งกำลังรวบรวมสมุดไทยดำใส่กระชุอยู่ที่บ้านแห่งหนึ่ง หญิงนั้นบอกว่า จะเอาสมุดเหล่านี้ไปเผาไฟทำเป็นสมุกไว้ใช้ลงรัก หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ขอดู พบสมุดต้นฉบับพงศาวดารนี้อยู่ในบรรดาสมุดที่จะเอาไปเผา จึงออกปากว่าอยากได้ หญิงชราก็ยกให้ไม่หวงแหน หลวงประเสริฐอักษรนิติ์นำสมุดนั้นมาให้หอพระสมุดวชิรญาณ กรรมการหอพระสมุดตรวจดูแล้วเห็นเป็นพงศาวดารเก่าแก่ ศักราชแม่นยำกว่าฉบับอื่น จึงตั้งชื่อว่า "ฉบับหลวงประเสริฐ" ให้เป็นเกียรติแก่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์[9]
เกี่ยวกับสถานที่พบสมุดนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนใน นิทานโบราณคดี ว่า "หลวงประเสริฐอักษรนิติไปเห็นยายแก่กำลังเอาสมุดดำรวมใส่กระชุที่บ้านแห่งหนึ่ง"[15] และทรงเขียนใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 ว่า "หลวงประเสริฐอักษรนิติไปพบต้นฉบับที่บ้านราษฎรแห่ง 1"[8] ส่วนนิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ข้อมูลในการแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์พบสมุดนี้ที่เมืองเพชรบุรี[16] และนาฏวิภา ชลิตานนท์ ก็เขียนใน ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2524) ว่า "หลวงประเสริฐอักษรนิติ์...ได้ต้นฉบับมาจากราษฎรคนหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี"[17]
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์นำสมุดมามอบให้หอพระสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2450[8] ตรงกับที่ทะเบียนของหอสมุดแห่งชาติระบุว่า "19/3/2450" (19 มิถุนายน พ.ศ. 2450)[18]
สมุดที่ได้มามีเล่มเดียว ลายมืออยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื้อหาค้างอยู่ที่ จ.ศ. 966 (พ.ศ. 2147) ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่บานแผนกของสมุดระบุว่า ให้เขียนถึงปัจจุบัน คือ จ.ศ. 1042 (พ.ศ. 2223) กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงเชื่อว่าน่าจะมีอีกเล่มเป็นเล่มสอง ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเพียรสืบหาเรื่อยมา แต่ก็ไม่พบ กระทั่งใน พ.ศ. 2456 ทรงได้สมุดพงศาวดารเนื้อความอย่างเดียวกันมาอีกชุด มีสองเล่มต่อกัน เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ดีพระทัย แต่เมื่อทรงตรวจดู ปรากฏว่า เนื้อหามาค้างที่ จ.ศ. 966 เหมือนกันแบบคำต่อคำ จึงเข้าพระทัยว่า เป็นฉบับคัดลอกจากฉบับที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ไปพบนั้นเอง เนื้อหาที่เหลือคงสูญหายมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว และตรัสว่า "สิ้นหวังที่จะหาเรื่องได้อีกต่อไป"[8]
ต่อมาใน พ.ศ. 2511 คุณหญิงปทุมราชพินิจจัย (ปทุม บุรณศิริ) มอบสมุดพงศาวดารชุดหนึ่งให้หอสมุดแห่งชาติ[18] เนื้อหาอย่างเดียวกับสมุดที่ได้มาก่อนหน้าทั้งสองชุด ค้างอยู่ที่ จ.ศ. 966 เช่นกัน โดยอาลักษณ์หมายเหตุไว้ว่า "สิ้นฉบับแล้ว หาต่อไปเถิด"[19] อาลักษณ์ยังระบุว่า สมุดชุดนี้เขียนเสร็จใน จ.ศ. 1149 (พ.ศ. 2330) ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[18]
สมุดไทยที่ได้มามีอยู่สามชุด
บานแผนกของสมุดเองระบุว่า
"ศุภมัสดุ 1042 ศก วอกนักษัตร ณ วัน 4 12ฯ 5 ค่ำ ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหรเขียนไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดารนั้นให้คัดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้"[1]
แสดงว่า พงศาวดารนี้เกิดจากรับสั่งที่ให้นำเอกสารสองประเภท คือ "กฎหมายเหตุของพระโหร" และ "กฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ" ออกมา แล้วคัดเหตุการณ์เนื่องในพระราชพงศาวดารที่มีอยู่ในเอกสารเหล่านั้นเข้าเป็นฉบับเดียวกัน โดยเรียงลำดับตามปีเรื่อยมาจนปัจจุบัน[21] แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตีความว่า รับสั่งดังกล่าวให้นำข้อความจากเอกสารสามประเภท คือ "กฎหมายเหตุของพระโหร", "กฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ", และ "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" มาคัดเข้าเป็นฉบับเดียวกัน โดยทรงเห็นว่า "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" นี้หมายถึงจดหมายเหตุที่เก็บไว้ในหอศาสตราคม และทรงระบุว่า เป็นธรรมเนียมเก่าที่มหาดเล็กสองตำแหน่ง คือ นายเสน่ห์และนายสุจินดาหุ้มแพร จะบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เก็บไว้ในหอนี้[22] ส่วนนิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เห็นว่า พงศาวดารนี้มาจากเอกสารสามประเภทเช่นกัน โดยประเภทที่สาม "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" นั้น เขาเห็นว่า หมายถึงเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนจะเขียนฉบับนี้ เช่น พระราชพงศาวดาร ฉบับปลีก[7]
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า พงศาวดารฉบับนี้อาจนำแหล่งข้อมูลชั้นต้นจากราชสำนักพิษณุโลกมาใช้ด้วย เพราะไม่สับสนเหตุการณ์ช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายราชสำนักขึ้นไปพิษณุโลก ในขณะที่พงศาวดารสมัยหลังล้วนสับสนเหตุการณ์ตอนนี้ อนึ่ง พงศาวดารฉบับนี้ยังระบุเหตุการณ์ช่วงนี้คล้ายกับที่ปรากฏในจารึกวัดจุฬามณีพิษณุโลก[23]
ตามบานแผนกข้างต้น การจัดทำพงศาวดารฉบับนี้เป็นไปตามรับสั่งที่มีขึ้นเมื่อวัน 4 12ฯ 5 ค่ำ (วันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5) ปีวอก จ.ศ. 1042 ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2223[1] บานแผนกมิได้ระบุว่ารับสั่งเป็นของใคร แต่วันเวลาดังกล่าวตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสรุปว่า "พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เปนหนังสือเรื่องพงษาวดารกรุงเก่า ซึ่งสมเด็จพระนารายน์มหาราชมีรับสั่งให้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปีวอก โทศก จุลศักราช 1042 พ.ศ. 2223"[4] ข้อสรุปนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับ เช่น นาฏวิภา ชลิตานนท์ เขียนว่า "บานแผนกแจ้งไว้ว่าเขียนขึ้นโดยพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ พ.ศ. 2223"[5] สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนว่า "สมเด็จพระนารายณ์ฯ มีรับสั่งให้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารขึ้น ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ"[6] และนิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนว่า "รับสั่งของสมเด็จพระนารายณ์ในบานแผนก...ให้รวบรวมเรื่องราวในหลักฐานต่าง ๆ และในพระราชพงศาวดาร 'คัดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว'"[7]
แม้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งเลยในตัวพงศาวดารเองหรือในที่อื่น แต่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกบางคนเชื่อว่า พงศาวดารนี้เป็นผลงานของโหรหลวงที่มีบรรดาศักดิ์ว่า "โหราธิบดี" เช่น เดวิด เค. วัยอาจ (David K. Wyatt) เขียนว่า พงศาวดารนี้ "เชื่อกันว่าเขียนขึ้นโดยอาลักษณ์หรือโหรหลวงชื่อหลวงโหราธิบดีในราว ค.ศ. 1680"[2] และเอียน ฮอดส์ (Ian Hodges) เขียนว่า "พงศาวดารหลวงประเสริฐ (พลป.) ดังที่รู้จักกันในสมัยนี้ เขียนขึ้นเมื่อ 226 ปีก่อน ใน ค.ศ. 1681 โดยหัวหน้าโหรหลวงของสยาม (พระโหราธิบดี) ตามรับสั่งของพระนารายณ์ (ครองราชย์ ค.ศ. 1656–1688)"[3]
เนื้อหาของสมุดที่ได้มานั้นว่าด้วยเหตุการณ์เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา เริ่มที่การสร้างพระพุทธรูป "เจ้าพแนงเชีง" ในปีชวด จ.ศ. 686 (พ.ศ. 1867)[1] ตามด้วยการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 712 (ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893)[1] แล้วดำเนินเรื่อยมาจนมาค้างที่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนที่เสด็จออกจาก "ปาโมก" โดยทางน้ำเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 3 ค่ำ เดือน 2 ปีมะโรง จ.ศ. 966 (ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2147)[19] ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีอังวะ[8]
บานแผนกของสมุดระบุว่า มีรับสั่งให้เขียนพงศาวดารนี้จนถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน คือ จ.ศ. 1042 (พ.ศ. 2223) กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสันนิษฐานว่า เนื้อหาที่สูญหายน่าจะดำเนินต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2127–2199) เป็นอย่างมาก[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่า การสันนิษฐานเช่นนี้ขัดกับบานแผนกเองที่ระบุให้เขียนถึง พ.ศ. 2223 แต่เนื้อหาที่สมบูรณ์จะจบที่ปีใดแน่ ก็เป็นปัญหาที่ตัดสินได้ยาก[7]
เนื่องจากพงศาวดารนี้เป็นการคัดข้อความจากเอกสารอื่นมารวมไว้ และเอกสารหลักเป็นประเภท "กฎหมายเหตุ" (จดหมายเหตุ) เนื้อหาที่ปรากฏจึงมีรูปแบบเหมือนจดหมายเหตุ คือ เป็นข้อความย่อ ๆ ไม่มีคำอธิบายหรือรายละเอียดใด ๆ[21] เช่น
"ศักราช 834 มะโรงศก พระราชสมภพพระราชโอรสท่าน ศักราช 835 มะเส็งศก หมื่นณครรให้ลอกเอาทองพระเจ้าลงมาหุ้มดาบ ศักราช 836 มะเมียศก เสด็จไปเอาเมืองชเลยิง ศักราช 837 มะแมศก มหาราชขอมาเป็นไมตรี ศักราช 839 ระกาศก แรกตั้งเมืองณครรไทย ศักราช 841 กุนศก พระศรีราชเดโชถึงแก่กรรม"[24]
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า พงศาวดารฉบับนี้น่าเชื่อถือกว่าฉบับอื่น ๆ[10] ทั้งเนื้อหาก็ตรงกับเอกสารต่างประเทศ[12] สอดคล้องกับที่กรมศิลปากรระบุว่า พงศาวดารฉบับนี้ "ได้รับความเชื่อถือว่าแม่นยำทั้งในเชิงเนื้อหาและศักราช"[4] และพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ว่า "สาระโดยทั่วไปของหนังสือพงศาวดารเล่มนี้จึงได้รับการเชื่อถือมากที่สุด"[11] ในขณะที่พงศาวดารฉบับอื่น ๆ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยหลัง คือ สมัยรัตนโกสินทร์นั้น ลงวันเวลาไว้คลาดเคลื่อนไปราว 4–20 ปี[25][26] และเพราะสับสนวันเวลา พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์จึงลงเหตุการณ์ไว้สับสนตามไปด้วย เช่น ระบุว่า สมเด็จพระราเมศวรขึ้นครองราชย์แล้วทรงยกทัพไปล้อมเชียงใหม่ เอาปืนใหญ่ถล่มกำแพงเมือง ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสงสัย เพราะปืนใหญ่เพิ่งมีใช้ในยุโรปราวเก้าปีก่อนเหตุการณ์นั้น[27] และศานติ ภักดีคำ เห็นว่า เป็นการนำเหตุการณ์ของพระราเมศวรอีกพระองค์ คือ สมเด็จพระเอกาทศรถ มาลงไว้ที่พระราเมศวรพระองค์นี้[28]
พงศาวดารฉบับนี้ยังให้ข้อมูลซึ่งไม่ปรากฏในพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์[10] เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตว่า พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า พระมหากษัตริย์พม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาสองครั้งในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ คือ "พระเจ้าลิ้นดำ" (พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้) พระองค์เดียว แต่พงศาวดารฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าเป็นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กับพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารพม่า[29] หรือกรณีที่พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาแล้วทรงสร้างวัดจุฬามณี ทำให้เชื่อกันมาแต่เดิมว่า วัดนี้อยู่ที่อยุธยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยพากันตามหาวัดนี้ที่อยุธยาก็ไม่พบ กระทั่งมาได้พงศาวดารฉบับนี้ที่ระบุว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายขึ้นไปครองราชย์ที่พิษณุโลกแล้วทรงสร้างวัดจุฬามณี จึงรู้ว่าเป็นวัดจุฬามณีที่พิษณุโลก[30][31]
พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ยังให้ข้อมูลขัดแย้งกันเอง เช่น บางฉบับว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต พระราชโอรส คือ พระบรมราชา ครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และบางฉบับว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต พระราชโอรส คือ พระอินทราชา จึงครองราชย์ต่อจนสวรรคต แล้วพระราชโอรสของพระอินทราชาครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2[32] มาได้ความกระจ่างในพงศาวดารฉบับนี้ ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนว่า "เนื้อความที่มัวมนสนเท่ห์ในตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ความแจ่มแจ้งชัดเจนใน พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ สามารถจะตัดสินได้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร"[33]
นอกจากนี้ พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะผ่านการชำระตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ เพื่อวัตถุประสงค์หรือผลประโยชน์ใด ๆ ก็ตาม ซึ่งทำให้เนื้อหาไม่บริสุทธิ์แท้ ตามความเห็นของนาฏวิภา ชลิตานนท์[34] และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า พงศาวดารที่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เกิดจากแรงผลักดันของชนชั้นนำที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์อันน่าตระหนก คือ ความล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา และเหลียวกลับไปมองอดีตเพื่อหาสาเหตุของเหตุการณ์นั้น พงศาวดารยุครัตนโกสินทร์จึงแฝงอคติ[35] เช่น มีการใส่เนื้อหาโจมตีราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา และตัดเนื้อหายกย่องราชวงศ์นี้ออกไป[36] ในขณะที่พงศาวดารฉบับนี้เขียนขึ้นแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และกรมพระราชดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า "ทั้งลายมือที่เขียนและโวหารที่แต่ง เห็นว่าเป็นหนังสือเก่า ไม่มีเหตุอย่างใดจะควรสงสัยว่าได้มีผู้แก้ไขแทรกแซงให้วิปลาศในชั้นหลังนี้"[29] ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เห็นว่า "มีการใช้ศิลปะทางภาษาน้อยที่สุด จึงหลีกเลี่ยงการเพิ่มเติมอารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดเห็นของผู้เรียบเรียงไปได้เป็นส่วนมาก"[11]
อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์มองว่า ความที่พงศาวดารนี้มีเนื้อหาย่อ ๆ เป็นปัญหาต่อการใช้งาน เช่น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ วิจารณ์ว่า "มีข้อจำกัดที่มีการย่อให้สั้น บางครั้งอาจทำความเข้าใจความหมายได้ไม่ถูกต้อง และมีขอบเขตในการนำมาใช้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ค่อนข้างน้อย"[11] และเอียน ฮอดส์ วิจารณ์ว่า เนื้อหาที่ไม่ได้เขียนพรรณนาให้ต่อเนื่องกัน ทำให้พงศาวดารนี้มีคุณค่าน้อยในการใช้งานสำหรับนักประวัติศาสตร์ที่พยายามจะกำหนดภาพในอดีตของไทย[13]
หอพระสมุดวชิรญาณให้พิมพ์พงศาวดารนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2450 อันเป็นปีที่ได้รับสมุดไทยชุดแรก (ชุดอยุธยา) มานั้นเอง[14] แต่เนื้อหาบกพร่อง เพราะอักษรในสมุดลบเลือน เมื่อได้สมุดชุดที่สอง (ชุดธนบุรี) มาใน พ.ศ. 2456 จึงตรวจสอบจุดที่บกพร่องกับสมุดชุดนี้ แล้วพิมพ์ใหม่เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมพงศาวดาร ภาค 1 เมื่อ พ.ศ. 2457[37] หลังจากนั้น พงศาวดารนี้ก็ได้รับการพิมพ์อีกหลายครั้ง ทั้งพิมพ์รวมกับเอกสารอื่น และพิมพ์ต่างหาก นับตั้งแต่ครั้งแรกจนถึง พ.ศ. 2542 แล้ว พิมพ์ทั้งหมด 17 ครั้ง ถือเป็นพงศาวดารที่พิมพ์บ่อยที่สุด ตามข้อมูลของกรมศิลปากร[4]
ในการพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1 เมื่อ พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรนำฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2457 มาตรวจสอบใหม่กับสมุดชุดอยุธยา สมุดชุดนี้ลบเลือนที่ใด ก็ตรวจกับสมุดชุดที่สาม (ชุดรัชกาลที่ 1) แทน เพราะสมุดชุดที่สองหาไม่พบ แล้วจึงจัดพิมพ์ แต่แก้ไขการสะกดคำให้เป็นแบบปัจจุบัน ยกเว้นวิสามานยนามที่ยังคงไว้ตามเดิม นอกจากนี้ ยังคำนวณวันเดือนปีแบบจันทรคติให้เป็นสุริยคติแล้วใส่ไว้ในเชิงอรรถ[18] การคำนวณดังกล่าวใช้วิธีของรอเฌ บียาร์ (Roger Billard) แต่เป็นไปได้ที่โหรวางอธิกวารหรืออธิกมาสไม่ตรงกัน ซึ่งอาจทำให้คำนวณคลาดเคลื่อน การคำนวณอธิกวารและอธิกมาสจึงใช้วิธีของทองเจือ อ่างแก้ว โดยมีประเสริฐ ณ นคร คอยตรวจแก้[38]
การพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2450 ลงชื่อเรื่องไว้ว่า พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ การพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2457 ใช้ชื่อเรื่องว่า พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ โดยมีคำชี้แจงของกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า หอพระสมุดวชิรญาณตั้งชื่อว่า พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ทั้งขึ้นหัวเรื่องว่า พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ การพิมพ์ของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2542 จึงใช้ชื่อตามฉบับ พ.ศ. 2457 โดยปริวรรตคำว่า "พงษาวดาร" เป็น "พงศาวดาร"[14]
ออสการ์ แฟรงก์เฟอร์เทอร์ (Oscar Frankfurter) แปลพงศาวดารนี้เป็นภาษาอังกฤษ และสยามสมาคมนำลงพิมพ์ใน วารสารสยามสมาคม เมื่อ ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452/53) ใช้ชื่อว่า Events in Ayuddhya from Chulasakaraj 686–966 ("เหตุการณ์ในอยุธยาตั้งแต่จุลศักราช 686 ถึง 966")[39] แต่คำแปลนี้ผิดพลาดหลายจุด[Note 1]
ต่อมา ริชาร์ด ดี. คัชแมน (Richard D. Cushman) แปลใหม่เป็นภาษาอังกฤษ และสยามสมาคมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535 เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ The Royal Chronicles of Ayutthaya ("พระราชพงศาวดารอยุธยา") มีเดวิด เค. วัยอาจ เป็นบรรณาธิการ[40] แต่นักวิชาการเห็นว่า หลายจุดแปลผิดและใช้คำแปลที่แปลกประหลาด[Note 2]
นอกจากนี้ ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ แปลบางส่วนของพงศาวดารนี้เป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า Krung Kao Chronicle: Luang Prasert Aksonnit's Version ("พงศาวดารกรุงเก่า: ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์") พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2542 เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ วรรณกรรมอาเซียน ประเทศไทย เล่ม 2 เอ: วรรณกรรมสมัยอยุธยา ฉบับแปล[41]
อนึ่ง อัญชนา จิตสุทธิญาณ แปลพงศาวดารนี้เป็นภาษาเขมร พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2552 ใช้ชื่อว่า พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ภาษาไทย–เขมร มีศานติ ภักดีคำ เป็นบรรณาธิการ[42]
ตรงใจ หุตางกูร ได้รับมอบหมายจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ให้ศึกษาลำดับเวลาในพงศาวดารนี้เพื่อเทียบศักราชให้สอดคล้องกับเอกสารอื่น ๆ ผลของการศึกษาเป็นหนังสือชื่อว่า การปรับแก้เทียบศักราชและการอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2562[43]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.