Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บทเรียนกายวิภาคของนายแพทย์นีโกลาส ตึลป์ (ดัตช์: De anatomische les van Dr. Nicolaes Tulp; อังกฤษ: The Anatomy Lesson of Dr. Nicolaes Tulp) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยแร็มบรันต์ จิตรกรชาวดัตช์ในยุคทองของเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่เมาริตส์เฮยส์ (Mauritshuis) เดอะเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
บทเรียนกายวิภาคของนายแพทย์ตึลป์ | |
---|---|
ศิลปิน | แร็มบรันต์ |
ปี | ค.ศ. 1632 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | เมาริตส์เฮยส์, เดอะเฮก |
แร็มบรันต์เขียนภาพ "บทเรียนกายวิภาคของนายแพทย์ตึลป์" เสร็จในปี ค.ศ. 1632 นายแพทย์นีโกลาส ตึลป์ (Nicolaes Tulp) ในภาพกำลังอธิบายระบบกล้ามเนื้อของแขนแก่นักศึกษาแพทย์ ศพในภาพเป็นของอาชญากรอาริส กินต์ (Aris Kindt) ที่เสียชีวิตโดยการถูกลงโทษโดยการแขวนคอในเช้าวันเดียวกันด้วยข้อหาลักทรัพย์[1] ผู้สังเกตการณ์เป็นนายแพทย์ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อจะปรากฏในภาพเขียน
การชำแหละเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1632 สมาคมศัลยแพทย์แห่งอัมสเตอร์ดัมที่นายแพทย์ตึลป์เป็นผู้เชี่ยวชาญกายวิภาคศาสตร์ประจำเมืองอนุญาตให้ทำการชำแหละ (dissection) ได้เพียงปีละครั้ง และร่างที่ใช้ในการชำแหละต้องมาจากอาชญากรผู้ถูกสังหารเท่านั้น[2]
บทเรียนกายวิภาคศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จัดกันในห้องบรรยายที่เป็นโรงละครจริง ๆ โดยมีผู้เข้าร่วมที่เป็นนักศึกษา ผู้ร่วมวิชาชีพ และสาธารณชนที่ต้องจ่ายค่าเข้าชม ผู้ที่เข้ามาสังเกตการณ์จะแต่งตัวให้เหมาะสมอย่างการเข้าร่วมพิธีการของสังคม
เชื่อกันว่านอกไปจากบุคคลที่อยู่ข้างหลังและบุคคลทางด้านซ้ายมาเพิ่มในภายหลัง บุคคลหนึ่งที่ขาดจากภาพนี้คือผู้เตรียมศพที่มีหน้าที่เตรียมร่างสำหรับการชำแหละ ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 นักวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญเช่นนายแพทย์ตึลป์จะไม่ทำหน้าที่ที่ถือว่าเป็นหน้าที่ย่อย ๆ เช่นการชำแหละ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้อื่น ฉะนั้นเราจึงไม่เห็นภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการชำแหละในภาพนี้ แต่จะมีภาพของตำรากายวิภาคศาสตร์เปิดอยู่ตรงมุมล่างขวาของภาพ ที่อาจจะเป็นตำรา "โครงสร้างของร่างกายมนุษย์" (De humani corporis fabrica) ที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1543 โดยอันเดรอัส เวซาลีอุส
ผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องของกล้ามเนื้อและเอ็นที่เขียนโดยแร็มบรันต์เมื่อมีอายุได้ 26 ปี เราไม่ทราบว่าแร็มบรันต์ไปศึกษาเกี่ยวกับกายวิภาคของมนุษย์มาจากที่ใด อาจจะเป็นไปได้ว่าแร็มบรันต์ลอกรายละเอียดมาจากหนังสือตำราทางกายวิภาคศาสตร์ แต่ในปี ค.ศ. 2006 นักค้นคว้าชาวดัตช์สร้างฉากเดียวกับภาพเขียนโดยใช้ศพที่เป็นชายและแสดงให้เป็นความบกพร่องต่าง ๆ ของแขนซ้ายที่ถูกชำแหละเมื่อเทียบกับศพจริง[3] ผู้เชี่ยวชาญพบว่าจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อปลายแขนที่ถูกชำแหละแสดงขึ้นซึ่งน่าจะเป็นกล้ามเนื้อกลุ่มงอแขนนั้นเกาะที่ปุ่มแลทเทอรัล อีพิคอนไดล์ของกระดูกต้นแขน (lateral epicondyle) ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะเป็นปุ่มมีเดียล อีพิคอนไดล์ (medial epicondyle) ความจริงแล้วปุ่มแลทเทอรัล อีพิคอนไดล์เป็นจุดเกาะร่วมของกล้ามเนื้อกลุ่มเหยียดแขน
ใบหน้าของศพบางส่วนอยู่ในเงา[2] ซึ่งเป็นนัยยะถึงเงาแห่งความตาย (umbra mortis) ซึ่งเป็นลักษณะที่แร็มบรันต์ใช้บ่อยในการเขียนภาพ แร็มบรันต์ลงชื่อด้านบนซ้ายของภาพว่า "Rembrandt f[ecit] 1632" ซึ่งเป็นภาพแรกที่ทราบว่าลงชื่อด้วยชื่อตัวแทนที่จะเป็นอักษรย่อ "RHL" (Rembrandt Harmenszoon of Leiden, แร็มบรันต์ ฮาร์เมินส์โซนแห่งไลเดิน) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความมั่นใจในตนเองพอที่จะลงชื่อตัวได้
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.