Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกหัสดีลิงค์ เป็นชื่อนกใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยาย อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะตัวส่วนใหญ่เป็นนก แต่มีจะงอยปากเป็นงวงอย่างงวงช้าง นกหัสดีลิงค์มักใช้ในพิธีกรรมฌาปนกิจแสดงว่า ผู้ตายมีบุญบารมีมาก จึงอยู่บนหลังนกได้ เนื่องจากนกหัสดีลิงค์สามารถนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ได้[1] การทำเมรุนกหัสดีลิงค์ปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้าง แต่ที่อุบลราชธานี มีประเพณีเฉพาะคือ ต้องเชิญนางเทียมเจ้านางสีดามาทำพิธีฆ่านกตามจารีตเดิม[2]
นกหัสดีลิงค์ ปรากฏเป็นภาษาบาลีว่า หตฺถิลิงฺคสกุโณ มาจากคำสามคำสมาสกัน สามารถแยกเป็น หัตถี+ลิงค์+สกุโณ คำว่า หัตถี หมายถึง ผู้มีมืออันโดดเด่นขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือ งวงของช้าง คำว่า ลิงค์ คือ การแสดงเพศ และคำว่า สกุโณ แปลว่านก ชาวล้านนานิยมเรียกย่อว่า นกหัส หรือ นกงางวง ออกสำเนียงลื้อยองเป็น งาโงง
คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ภาค 2 ระบุว่า นกหัสดีลิงค์เป็นนกขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะผสมของสัตว์สี่ชนิด ดังนี้ ลำตัวเป็นนก ใบหน้าเป็นสิงห์ จะงอยปากเป็นงวงช้างเขี้ยวหน้าเป็นงา มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ 3–5 เชือกรวมกัน[3]
หนังสือไตรภูมิ บรรยายลักษณะของนกหัสดีลิงค์ว่า ลำตัวเป็นหงส์ หัวเป็นช้าง ทำหน้าที่คาบซากศพไปทิ้ง เพื่อมิให้ดินแดนอุตตรกุรุทวีปสกปรก[4]
นกหัสดีลิงค์ปรากฏในตำนานการสร้างนครหริภุญไชย ว่าฤๅษีทั้งสาม ซึ่งประกอบด้วย ควาสุเทพฤๅษี สุกทันตฤๅษี และอนุสิสฤๅษี ได้ช่วยกันวางรากฐานเมืองลำพูน ได้เรียกนกหัสดีลิงค์ ออกมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อบินไปคาบหอยสังข์จากห้วงมหาสมุทร เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างเมืองลำพูน เหล่าฤๅษีใช้ไม้เท้าขีดเส้นเขตแดนเมืองตามขอบรูปร่างของหอยสังข์นั้น กลายมาเป็นแผ่นดินที่มีลักษณะคล้ายกระดองเต่าและมีน้ำล้อมรอบ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผังเมืองที่จะทำให้ผู้อาศัยมีความสมบูรณ์พูนสุข
ส่วนตำนานนกหัสดีลิงค์ ในวัฒนธรรมล้านช้าง ระบุในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์ถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง พระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง แต่เมื่อนกหัสดีลิงค์ได้เห็นพระศพจึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน พระมหาเทวีเห็นเช่นนั้นก็ประกาศให้คนดีต่อสู้นกหัสดีลิงค์เพื่อเอาพระศพคืนมา แต่ก็ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด ธิดาแห่งพญาตักกะศิลา นามว่า สีดา จึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์ โดยใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์จนถึงแก่ความตายตกลงมาพร้อมพระศพ พระมหาเทวีรับสั่งให้ช่างทำเมรุคือหอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน[5]
พิธีศพของชาวล้านนามีการจัดงานศพขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่คนตายอย่างสมเกียรติ โดยการสร้างปราสาทใส่ศพประดับประดาด้วยดอกไม้สดหรือแห้งให้แลดูสวยงาม นัยว่าเพื่อเป็นการยกย่องผู้ตายให้ได้ขึ้นไปสู่สรวงสรรค์ชั้นฟ้า ปราสาททำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ โดยเฉพาะพีธิศพของพระเถระ ระดับเจ้าอาวาส หรือ พระที่มีอายุพรรษามาก ๆ หรือเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ก็จะจัดงานที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น[6]
ในจังหวัดอุบลราชธานี มีประเพณีเฉพาะ คือ พิธีกรรมฆ่านกหัสดีลิงค์ เมื่อเชิญศพขึ้นตั้ง ก่อนเผาต้องมีพิธีฆ่านก แล้วเผาทั้งศพทั้งนกเพื่อขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์[7] ในอดีตจะสร้างนกหัสดีลิงค์แล้วชักลากไปประกอบพิธีฌาปนกิจที่สนามทุ่งศรีเมือง เป็นเวลา 3 วัน ผู้ที่จะฆ่าต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเมืองนครเชียงรุ่งโบราณ ประเพณีนี้ยกเลิกการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองในสมัยปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล พระธรรมบาลผุย หลักคำเมือง เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม นับเป็นนกหัสดีลิงค์ตัวสุดท้าย แต่มีการรือฟื้นประเพณี เช่น งานพระราชทานเพลิงศพ พระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท) อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีและเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ณ วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2548[8] อย่างไรก็ตามการรื้อฟื้น มีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดที่สำคัญทั้งสถานที่เผา จากทุ่งศรีเมืองเป็นสถานที่อื่น และรูปแบบของนกหัสดีลิงค์ จากตั้งบนพื้นหรือนกต้องนอนแนบดินมาเป็นตั้งบนบุษบก รวมถึงปรับเปลี่ยนพิธีกรรมจากวัฒนธรรมผู้ที่สืบเชื้อสายเจ้าเมือง เป็นกลุ่มวัฒนธรรมราษฎร์
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.