Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงชาติเดนมาร์ก หรือ "ธงแดนเนอบรอก" (เดนมาร์ก: Dannebrog, ออกเสียง: [ˈtænəˌpʁoˀ]) เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง มีรูปกางเขนแบบสแกนดิเนเวียสีขาวปลายจดขอบธง โดยที่ส่วนหัวของกางเขนนั้นอยู่ชิดกับทางด้านคันธง รูปกางเขนบนผืนธงดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนศาสนาคริสต์ [2][3][4] ได้มีการนำไปปรับใช้ในธงของกลุ่มประเทศนอร์ดิก อันได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ หมู่เกาะโอลันด์ และหมู่เกาะแฟโร เช่นเดียวกับธงของกลุ่มเกาะเชตแลนด์และออร์คนีย์ของสกอตแลนด์ ในระหว่างที่ประเทศเดนมาร์กและนอร์เวย์รวมตัวเป็นสหภาพเดียวกันนั้น ธงแดนเนอบรอกยังได้ใช้เป็นธงชาติสำหรับนอร์เวย์ และยังคงมีการใช้ต่อมาโดยมีการดัดแปลงเล็กน้อย ตราบจนกระทั่งนอร์เวย์ได้เริ่มใช้แบบธงปัจจุบันในปี ค.ศ. 1821
การใช้ | ธงพลเรือน และ ธงเรือพลเรือน |
---|---|
สัดส่วนธง | 28:34 (14:17) ถึง 28:37 |
ประกาศใช้ | ค.ศ. 1625 (ธงชาติ)[1] ค.ศ. 1748 (ธงการค้า) ค.ศ. 1842 (ธงทหาร) ค.ศ. 1854 (ใช้บนที่ดินส่วนบุคคล) สืบทอดจากสมัยกลาง (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13/14) |
ลักษณะ | ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สัดส่วนด้านยาว 6:2:9 สัดส่วนด้านกว้าง 6:2:6 ธงกางเขนนอร์ดิกสีขาวบนพื้นสีแดง ส่วนหัวของกางเขนอยู่ชิดกับทางด้านคันธง สัดส่วน: กว้าง 3:1:3 / ยาว 3:1:4.5 ถึง 3:1:5.25 |
Rigets flag — ธงราชอาณาจักร [เดนมาร์ก]; มีอีกชื่อว่า Splitflaget | |
การใช้ | ธงราชการ และ ธงเรือราชการ |
สัดส่วนธง | 56:107 |
ธงราชนาวี | |
สัดส่วนธง | 70:107 |
ลักษณะ | ลักษณะเหมือนธงราชการแต่ค่าสีต่างกันเเละสัดส่วนต่างกันเล็กน้อย |
ธงแดนเนอบรอกนับเป็นธงประจำรัฐชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งยังคงใช้อยู่โดยรัฐชาติที่เป็นอิสระ[1]
ตามตำนานกล่าวว่ากำเนิดของธงแดนเนอบรอกเกิดขึ้นในยุทธการลินดันนิสเซ (Battle of Lyndanisse) หรือที่รู้จักกันในชื่อยุทธการวัลเดอมาร์ (เดนมาร์ก: Volmerslaget) ณ บริเวณใกล้เมืองลินดันนิสเซ (ปัจจุบันคือเมืองทาลลินน์) ในประเทศเอสโตเนีย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1219[5]
สถานการณ์การรบในวันนั้นเป็นไปอย่างเลวร้าย และความพ่ายแพ้ของชาวเดนมาร์กก็ดูจะชัดเจน อย่างไรก็ตามได้มีบาทหลวงชาวเดนมาร์กคนหนึ่งยืนดูการสู้รบอยู่บนเนินเขาเพื่อภาวนาต่อพระเจ้า ซึ่งนั่นหมายถึงว่ายิ่งบาทหลวงภาวนามากเท่าไร ชาวเดนมาร์กก็ยิ่งเข้าใกล้ชัยชนะมากขึ้นเท่านั้น ชั่วขณะหนึ่งนั้นเองเขาเกิดเมื่อยล้าและวางแขนของตนลง ชาวเดนมาร์กจึงเกิดความเสียเปรียบแล้วเข้าใกล้กับความพ่ายแพ้ทุกที บาทหลวงจึงจำเป็นต้องให้ทหาร 2 คนช่วยยกแขนของเขาขึ้นในการภาวนา และเมื่อชาวเดนมาร์กจวนจะได้ชัยชนะ ธงแดนเนอบรอกก็ได้ปลิวลงมาจากฟ้า และกษัตริย์เดนมาร์กได้รับผืนธงนั้นไว้พร้อมทั้งชูผืนธงให้กองทหารทั้งหมดได้เห็น กองทัพเดนมาร์กจึงเกิดขวัญกำลังใจขึ้นมาและสามารถเอาชัยจากการต่อสู้ครั้งนั้นได้ในที่สุด
ตำนานยังได้กล่าวอ้างว่า ธงแดนเนอบรอกเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าได้ประทานแก่ชาวเดนมาร์ก และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา ธงนี้จึงได้กลายเป็นธงประจำชาติและธงของกษัตริย์แห่งเดนมาร์กมาโดยตลอด
ไม่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ใดๆ ที่สนับสนุนตำนานดังกล่าว บันทึกตำนานฉบับแรกมีอายุย้อนหลังไปราว 300 ปี หลังจากยุทธการครั้งนั้น และบันทึกได้เชื่อมโยงกับตำนานไปยังการรบขนาดเล็กกว่าที่สมรภูมิเฟลลิน (ในภาษาเอสโตเนียเรียกว่า Viljandi) ในปี ค.ศ. 1208 ถึงแม้ว่าสถานที่เกิดเหตุจะยังคงอยู่ในเอสโตเนียก็ตาม แม้เรื่องราวของธงในการรบที่เฟลลินจะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนเช่นกัน แต่ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าเหตุใดสถานที่เล็กและไม่เป็นที่รู้จักอย่างเฟลลิน จึงถูกแทนที่ด้วยการรบขนาดใหญ่กว่าที่เรวาล (ทาลลินน์) จากการทำสงครามในเอสโตเนียของพระเจ้าวัลเดอมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (ครองราชย์ ค.ศ. 1202 – 1241)
เรื่องราวดังกล่าวนี้มีที่มาจากงานเขียนสองชิ้นในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 16
งานเขียนชื้นแรกพบในเอกสาร "Danske Krønike" (พงศาวดารเดนมาร์ก) ของคริสเตียน เปเดอร์สัน (Christiern Pedersen) ซึ่งเป็นงานเขียนต่อยอดจากเอกสาร "Gesta Danorum" ของซักโซ กรัมมาติคุส (Saxo Grammaticus) เขียนขึ้นในช่วง ค.ศ. 1520 – 1523 เอกสารดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับการรบในเอสโตเนียของพระเจ้าวัลเดอมาร์ที่ 2 แต่มีความเกี่ยวข้องกับการรบครั้งหนึ่งในรัสเซียแทน เปเดอร์สันยังกล่าวว่าธงนี้ซึ่งร่วงลงมาจากฟ้าระหว่างการรบในรัสเซียของพระเจ้าวัลเดอมาร์ที่ 2 น่าจะเป็นธงผืนเดียวกับที่พระเจ้าเอริคแห่งพอเมเรเนียได้นำติดพระองค์ได้ด้วย เมื่อเสด็จออกจากประเทศของพระองค์เองหลังจากถูกถอดจากราชสมบัติในปี ค.ศ. 1440
งานเขียนชื้นที่สองเป็นบันทึกของนักบวชคณะฟรันซิสกันชื่อ เปตรุส โอไล (Petrus Olai) หรือเปเดอร์ โอลเซ็น (Peder Olsen) แห่งรอสกิลเด (Roskilde) เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1527 บันทึกดังกล่าวบรรยายถึงการรบในปี ค.ศ. 1208 ซึ่งเกิดขึ้นใกล้บริเวณที่เรียกว่า "เฟลิน" ("Felin") ระหว่างการทำสงครามในเอสโตเนียของพระเจ้าวัลเดอมาร์ที่ 2 ชาวเดนมาร์กในเวลานั้นพ่ายแพ้แล้ว แต่เมื่อมีผืนธงทำด้วยหนังลูกแกะซึ่งแสดงภาพกางเขนสีขาวปลิวลงมาในสนามรบ สิ่งนั้นก็ได้นำชัยชนะมาสู่ชาวเดนมาร์กอย่างปาฏิหาริย์ งานเขียนอีกชิ้นหนึ่งของเปตรุส โอไลที่มีชื่อว่า "Danmarks Tolv Herligheder" (ความวิเศษสิบสองประการของเดนมาร์ก) ในหัวข้อความวิเศษประการที่เก้า ได้เล่าเรื่องเดียวกันซ้ำอีกครั้งแทบจะเรียกได้ว่าคำต่อคำ อย่างไรก็ตาม มีอยู่ย่อหน้าหนึ่งได้แทรกเข้ามาโดยใส่เลขปีที่เกิดเหตุการณ์นั้นเป็น 1219
ไม่ว่าบันทึกเหล่านี้จะบอกเล่าเรื่องจริงจากมุขปาฐะในสมัยนั้น หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ในปัจจุบัน
อนึ่ง เชื่อกันว่าชื่อเมืองทาลลินน์ เมืองหลวงของประเทศเอสโตเนียในปัจจุบัน ปรากฏขึ้นหลังจากการยุทธครั้งนั้นผ่านพ้นไปแล้ว เพราะชื่อดังกล่าวกลายมาจากคำว่า "Taani linn" ในภาษาเอสโตเนีย หมายถึงเมืองของชาวเดนมาร์ก
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.