Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท้าวเทพกระษัตรี (เกิดราวปี พ.ศ. 2278 หรือ 2280 - ราวปี พ.ศ. 2336) และ ท้าวศรีสุนทร (ไม่ทราบปีเกิด)[1] นามเดิมว่าคุณหญิงจันและคุณมุกตามลำดับ เป็นสองวีรสตรีในประวัติศาสตร์ไทย ผู้มีบทบาทในการป้องกันเมืองถลางเกาะภูเก็ตจากการรุกรานของพม่าในสงครามเก้าทัพเมื่อพ.ศ. 2328
ข้อมูลต้นกำเนิดของท้าวเทพกะษัตรี (จัน) และท้าวศรีสุนทร (มุก) ได้จากพงษาวดารเมืองถลาง ระบุว่าท้าวเทพกะษัตรี (จัน) และท้าวศรีสุนทร (มุก) เป็นธิดาของจอมร้างเจ้าเมืองถลางบ้านตะเคียน มารดาคือ"นางหม่าเซี้ย"ซึ่งเป็น”แขกเมืองไทร”[2]หรือหญิงมลายู ระบุว่าหม่าเซี้ยนั้นเป็นธิดาของ”มะหุม” หรือ “มาร์ฮุม” (Marhum) หรือสุลต่านเมืองไทรบุรี หม่าเซี้ยเกิดความขัดแย้งเรื่องเงินมรดกกับน้องชายที่เมืองไทรบุรี หม่าเซี้ยมีความไม่พอใจจึงเดินทางย้ายมาอาศัยอยู่ที่เกาะภูเก็ต ได้พบกับจอมร้างเจ้าเมืองถลางบ้านตะเคียนและสมรสกัน มีบุตรธิดาจำนวนห้าคนได้แก่;[2]
คุณหญิงจัน เกิดเมื่อประมาณพ.ศ. 2278 คุณมุก เกิดเมื่อประมาณพ.ศ. 2280 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น บนเกาะถลางมีชุมชนอยู่สองแห่งได้แก่ เมืองถลางบ้านตะเคียน ปกครองโดย"จอมร้าง" และเมืองถลางบ้านดอน ปกครองโดย"จอมเฒ่า" จอมร้างและจอมเฒ่าเป็นพี่น้องต่างมารดาบิดาเดียวกัน จอมเฒ่าบ้านดอนมีบุตรชื่อ "ทองพูน" เป็นลูกพี่ลูกน้องของคุณหญิงจันและคุณมุก
คุณหญิงจัน สมรสครั้งแรกกับหม่อมศรีภักดี หรือหม่อมภักดีภูธร หรือหมื่นศรีภักดี ซึ่งหมื่นศรีภักดีนั้น เป็นบุตรของจอมนายกองกับนางบุญเกิด คุณหญิงจันกับหมื่นศรีภักดีมีบุตรด้วยกันสองคนได้แก่
ต่อมาหมื่นศรีภักดีถึงแก่กรรม คุณหญิงจันสมรสใหม่เป็นครั้งที่สองกับหลวงพิมล (ขัน) เจ้าเมืองกระบุรี และมีบุตรด้วยกันอีกห้าคนได้แก่;
เมื่อจอมร้างเจ้าเมืองถลางบ้านตะเคียน บิดาของคุณหญิงจันและคุณมุกได้ถึงแก่กรรมลง นายอาดน้องชายของคุณหญิงจันและคุณมุกจึงได้เป็นเจ้าเมืองถลางคนต่อมา แต่ต่อมาพระยาถลาง (อาด) ถูกยิงเสียชีวิต[2] พระพิมล (ขัน) สามีของคุณหญิงจัน“ต้องความ”[2]จึงแยกจากคุณหญิงจัน ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง[3] ภายใต้การปกครองของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) แห่งชุมนุมนครศรีธรรมราช จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพเข้าตีชุมนุมนครศรีธรรมราชได้สำเร็จ พระพิมลขันสามีของคุณหญิงจันจึงได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ในขณะที่นายทองพูน บุตรของจอมเฒ่าบ้านตอน ได้เป็นพระปลัดเมืองถลาง และนายเทียน บุตรชายของคุณหญิงจันกับสามีคนก่อน ได้ดำรงตำแหน่งเป็น"เมืองภูเก็จ"ปกครองเมืองภูเก็จท่าเรือ (บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทรในปัจจุบัน)
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาอินทรวงศามาเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันตกอยู่ที่เมืองปากพระ นายฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) พ่อค้าชาวอังกฤษ เดินทางมายังเกาะถลางเพื่อตั้งสถานีการค้าในพ.ศ. 2308 ฟรานซิส ไลท์ ได้หญิงลูกครึ่งถลาง-โปรตุเกสเป็นภรรยา และมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับพระพิมลขันและคุณหญิงจัน ต่อมานายฟรานซิส ไลท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชกปิตัน หรือ "พระยาราชกปิตันเหล็ก" เมื่อสิ้นสุดยุคสมัยกรุงธนบุรีในพ.ศ. 2325 ทางกรุงเทพฯได้ส่งพระยาธรรมไตรโลกยกทัพลงมายังปากพระเพื่อปราบเจ้าพระยาอินทรวงศา เจ้าพระยาอินทรวงศาหลบหนีข้ามฝั่งจากเมืองปากพระมาเกาะถลาง เจ้าพระยาอินทรวงศาเมื่อสู้ทัพของพระยาธรรมไตรโลกไม่ได้จึงฆ่าตัวตาย
อีกสามปีต่อมาเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ พระยาธรรมไตรโลกมีคำสั่งให้จับกุมคุณหญิงจันด้วยข้อหาบางประการ[4] (อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เจ้าพระยาอินทรวงศา[5]) ไปสอบสวนที่เมืองปากพระ เมื่อคุณหญิงจันถูกคุมตัวไปถึงเมืองปากพระ ทัพพม่านำโดยยี่หวุ่น ยกทัพจำนวน 3,000 คน มาถึงเข้าโจมตีเมืองตะกั่วป่าพอดี พม่าสามารถยึดเมืองตะกั่วป่าและเมืองปากพระได้ พระยาธรรมไตรโลกเสียชีวิตในการรบกับพม่า[2] คุณหญิงจันจึงเดินทางกลับมายังเมืองถลาง ดังปรากฏในจดหมายของคุณหญิงจันถึงนายฟรานซิส ไลท์ เมื่อพ.ศ. 2330 ว่า "...เมื่อพ่มาญกมานั้น พญาธรัมไตรยโลกให้เก้าะเอาต้อตูฃาลงไปไวณ่ปากพระ ครันพ่มาญกมาตียปากพระได้ กลับแล้นขินมาณ่บาน..."[4] ในเวลานั้นพระยาถลาง (พิมลขัน) ล้มป่วยอยู่ นายฟรานซิส ไลท์ ได้แจ้งเตือนแก่คุณหญิงจันว่าพม่ากำลังยกทัพลงมาเมืองถลาง ดังปรากฏในจดหมายที่คุณหญิงจันเขียนถึงนายฟรานซิส ไลท์ เมื่อธันวาคมพ.ศ. 2328;
(ปริวรรตเป็นการสะกดแบบปัจจุบัน)
หนังสือท่านผู้หญิง มาถึงลาโตก ด้วยมีหนังสือไปนั้นได้แจ้งแล้ว ครั้นจะเอา หนังสือเรียนแก่พญาถลาง พญาถลางป่วยหนักอยู่ แลซึ่งว่ามาค้าขายณเมืองถลางขาดทุนหนักหนาช้านานแล้ว นั้นเห็นธุระของลาโตกอยู่ แต่หากว่าลาโตกมีเมตตา เอ็นดูข้าเจ้าจึงเปลืองทุนเป็นอันมากทรมานอยู่ ด้วยความเอ็นดู แลซึ่งว่าแต่งกำปั่นแล้วจะลากลับไป แลมีราวข่าวว่าพม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพญาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจึงข้าเจ้าจะได้ลาโตกเป็นหลักที่ยึดต่อไป...
ในเวลานั้นพระยาถลาง (พิมลขัน) สามีของคุณหญิงจันได้ถึงแก่กรรมลงในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2328[4] เมื่อพระพิมลขันเจ้าเมืองถลางถึงแก่กรรมลง ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ คุณหญิงจันภรรยาหม้ายของพระพิมลขัน และคุณมุกน้องสาวของคุณหญิงจัน รวมทั้งพระปลัดถลาง (ทองพูน) หลวงเพชรภักดีฯยกกระบัตรเมืองถลาง และเมืองภูเก็จ (เทียน) บุตรชายของคุณหญิงจัน เตรียมการป้องกันเมืองถลาง และได้รับอาวุธจากฟรานซิส ไลท์ คุณหญิงจันและคุณมุกตั้งค่ายที่วัดพระนางสร้าง มีปืนใหญ่ชื่อแม่นางกลางเมือง[5] ส่วนพระยาปลัด (ทองพูน) ตั้งค่ายที่ทุ่งนางดัก มีปืนใหญ่ชื่อว่าพระพิรุณสังหาร ทัพเรือพม่ายกพลขึ้นบกที่ท่าตะเภา นำไปสู่การรบที่ถลาง พม่าตั้งค่ายที่นาโคกกับนาบ้านกลาง ฝ่ายถลางและพม่าต่อสู้กัน ฝ่ายถลางยิงปืนใหญ่ใส่พม่า การรบดำเนินไปเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน[4] จนกระทั่งฝ่ายถลางยกทัพเข้าตีพม่าแตกพ่ายไปในวันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1147 ตรงกับ 13 มีนาคมพ.ศ. 2329[4] พม่าจึงถอยกลับไป
หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้ถอยไปแล้วนั้น เมืองภูเก็จ (เทียน) บุตรของคุณหญิงจันได้นำใบบอกข้อราชการเรื่องศึกเมืองถลางไปกราบทูลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่เมืองสงขลา พระปลัดเมืองถลาง (ทองพูน) ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลาง และนายเทียนขึ้นเป็นพระยาทุกขราษฎร์เมืองถลาง หลังจากสิ้นสุดสงครามเก้าทัพแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองภาคใต้มีหน้าที่ดูแล"พระราชทรัพย์"หรือดีบุก เจ้าพระยาสุรินทรราชานำท้องตรามาแต่งตั้งคุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกะษัตรี คุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร ส่วนพระยาถลาง (ทองพูน) เจ้าเมืองถลางคนใหม่นั้น ได้รับพระราชทานพานทองเป็นกรณีพิเศษ จึงได้รับสมยานามว่า"พระยาถลางเจียดทอง"
นายฟรานซิส ไลท์ ย้ายออกจากเกาะถลางไปอาศัยอยู่เกาะปีนังหรือเกาะหมากในพ.ศ. 2329 ครอบครัวของคุณหญิงจันและนายฟรานซิส ไลท์ ยังคงติดต่อกันผ่านทางจดหมายหกฉบับที่เขียนระหว่างพ.ศ. 2328 ถึงพ.ศ. 2331 หลังจากสงครามเก้าทัพ คุณหญิงจันและครอบครัวประสบกับความลำบาก ดังจดหมายที่แม่ปรางธิดาของคุณหญิงจันได้เขียนถึงฟรานซิส ไลท์ ในพ.ศ. 2331 ว่า "...แลข้าพระเจ้าทุกวันนีใดความทุกยากอยูนักหนา..."[4] ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาถลาง (ทองพูน) และพระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) บุตรชายของคุณหญิงจันไม่สู้ดีนัก ดังจดหมายของพระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) ถึงฟรานซิส ไลท์ เมื่อพ.ศ. 2330 ว่า "...ทุกวันนี ฯข้าฯกับเจาพญาถลาง ก่อวีวาดกันหาปกกตียกันใหม..." (ทุกวันนี้ข้าพเจ้ากับเจ้าพญาถลางก็วิวาทกันหาปกติกันไม่)[4] ท้าวเทพกะษัตรี (คุณหญิงจัน) ได้เดินทางไปยังกรุงเทพฯในพ.ศ. 2331 ท้าวเทพกะษัตรี (คุณหญิงจัน) ได้ถวายบุตรสาวคือทองมาหรือแม่ทองเป็นเจ้าจอมทอง และถวายบุตรชายคือนายเนียนเป็นมหาดเล็ก ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จนกระทั่งเมื่อพระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) ได้ฟ้องร้องความผิดของพระยาถลาง (ทองพูน) ต่อทางกรุงเทพฯ เป็นเหตุให้พระยาถลาง (ทองพูน) ถูกเรียกตัวไปสอบสวนและถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ[2] พระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) บุตรชายของคุณหญิงจัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามเจ้าเมืองถลางคนใหม่ ได้รับสมยานามว่า "พระยาถลางหืด" โดยมีนายเรือง น้องชายของท้าวเทพกะษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นพระยาปลัดเมืองถลาง[2] ต่อมาเจ้าจอมทองได้ประสูติพระธิดาคือพระองค์เจ้าอุบลในพ.ศ. 2334
ในพ.ศ. 2335 พระยาเพชรคีรีฯ (เทียน) เจ้าเมืองถลาง เขียนจดหมายถึงฟรานซิส ไลท์ ว่ามารดาของตนคือคุณหญิงจันนั้นชราและล้มป่วย ส่วนแม่ปรางนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว "...โตกทานใดเอนดูแกคุนมารดาด้วยเทีด ด้วยทุกวันนีก่แกลงกว่ากอร แลวก่ขัดสนไมสบายเหมือรแตกอร แลวแมปรางกต้ายเสียแล้ว..."[4] ท้าวเทพกะษัตรี หรือคุณหญิงจัน ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2335 ด้วยอายุ 57 ปี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ส่วนท้าวศรีสุนทร หรือคุณมุกนั้น ไม่ปรากฏว่าถึงแก่กรรมเมื่อใด
ประกอบด้วย 16 สายสกุล
อนุสาวรีย์ของทั้งสองท่านตั้งอยู่ที่วงเวียนสี่แยกท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 [6] จากหลักฐานสำคัญในจดหมายเหตุเมืองถลาง 6 ฉบับ เพื่อเป็นการเสริมและสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จเปิดถนนสายถลาง ที่ได้พระราชทานนามว่า ถนนเทพกระษัตรี และได้มีการตั้งชื่อตำบลในภูเก็ต 2 ตำบลตามท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร คือตำบลเทพกระษัตรี และตำบลศรีสุนทรโดยจะมีการจัดงานรำลึกถึงท่านทุกปี [7] [8]
วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร และปิดทอง เจิมช่อฟ้าพระอุโบสถวัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) เมื่อครั้งเสด็จประพาส จังหวัดภูเก็ต พุทธศักราช 2510 [9]
ในปัจจุบัน รูปอนุสาวรีย์นำไปใช้เป็นตราประจำจังหวัดภูเก็ต เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2528 เป็นรูปอนุสาวรีย์สองวีรสตรี อยู่ในวงกลมล้อมด้วยลายกนก ซึ่งแสดงถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร [10]
คำจารึก ที่อนุสาวรีย์ฯ [11] โดย กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
|
|
ข้อความที่แท่นฐานทิศเหนือ ด้านหน้าอนุสาวรีย์
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
(จัน) (มุก)
ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองถลางไว้เป็นสามารถ
เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2328
มิให้ข้าศึกตีหักเอาเมืองได้
เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชนชาวเมืองถลาง
ตลอดจนชาวไทยทั่วกันยกย่องสรรเสริญ
จึงสร้างอนุสาวรีย์ให้ไว้เป็นอนุสรณ์
เมื่อ พ.ศ. 2509
อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก [12] (ประดิษฐานอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร) ได้เริ่มโครงการก่อสร้างขึ้น ในช่วงปี พศ 2553 ตั้งอยู่ ณ สนามสมรภูมิรบของวีรบรรพชนถลาง บนพื้นที่ 96 ไร่ มีการเชิญรูปปั้นของ 9 วีรชนผู้กล้าเมืองถลางมาประดิษฐานไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณงามความดี และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองถลาง ตลอดจนวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร[13] ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย [14]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.