Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พันตรี หลวงทัศนัยนิยมศึก นามเดิม ทัศนัย มิตรภักดี (22 กันยายน พ.ศ. 2443 – 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2476) อดีตนายทหารม้าชาวไทย และผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรชุดแรก (7 คนแรก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และทำการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 22 กันยายน พ.ศ. 2443 เมืองนครราชสีมา ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 (32 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
พรรคการเมือง | คณะราษฎร |
คู่สมรส | หม่อมหลวงเวก ทัศนัยนิยมศึก |
บุตร | 1 คน |
บุพการี |
|
อาชีพ | ทหาร |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ไทย |
สังกัด | กองทัพบกสยาม |
ประจำการ | พ.ศ. 2465 – พ.ศ. 2476 |
ยศ | พันตรี |
หน่วย | ทหารม้า |
หลวงทัศนัยนิยมศึก เป็นบุตรของเสวกเอก นายพันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) กับคุณหญิงเจิม นรินทรราชเสนี (นามสกุลเดิม นาครทรรพ) เกิดที่บ้านพักในจังหวัดนครราชสีมาของบิดา ตรงกับวันเสาร์ที่ 22 กันยายน รัตนโกสินทร์ศก 119 (พ.ศ. 2443) เมื่อแรกเกิด พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ในฐานะที่ทรงเป็นเจ้านายของ พระยานรินทร์ฯ บิดาของหลวงทัศนัยฯ ทรงประทานนามว่า "ทัศนัย" ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติขนานนามสกุลในรัชกาลที่ 6 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ก็ได้ประทานนามสกุลให้แก่ พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) ว่า "มิตรภักดี" พระองค์ยังได้มีรับสั่งด้วยเหตุที่ประทานนามสกุลนี้ให้สืบเนื่องจากบรรพบุรุษของพระยานรินทรฯ ย้อนกลับไปได้ถึงการรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 4
หลวงทัศนัยนิยมศึก ได้เข้าศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวราราม จากนั้นจึงได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เป็นเวลาราว 3-4 ปี จากนั้นบิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จากนั้นพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก จนกระทั่งจบการศึกษาและได้รับพระราชทานยศร้อยตรีเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2465[1]โดยรับราชการเป็นนายทหารเหล่าทหารม้าที่จังหวดนครราชสีมา จากนั้นในปี พ.ศ. 2467 จึงได้ลาออกไปเพื่อศึกษาต่อยังประเทศฝรั่งเศส ด้วยทุนของบิดา โดยเดินทางออกจากพระนครทางรถไฟพร้อมกับร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ ในวันที่ 18 พฤษภาคม แล้วลงเรือชื่อโปลคาร์ต ณ เมืองสิงคโปร์ ถึงกรุงปารีสในวันที่ 20 มิถุนายน ปีเดียวกัน
หลวงทัศนัยนิยมศึก เข้าศึกษายังโรงเรียนทหารม้าโซมูร์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนทหารม้าที่ขึ้นชื่อในระดับนานาชาติ ซึ่งในระหว่างที่ศึกษาอยู่นี้นั้นได้รับคำชมเชยและเกียรติบัตรต่าง ๆ จากทางโรงเรียน รวมถึงเคยเข้าแข่งขันการขี่ม้าได้อันดับหนึ่ง
ซึ่งในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสนี้ หลวงทัศนัยนิยมศึก และ ร.ท.แปลก เพื่อนนักเรียนทหารด้วยกัน ได้เข้าร่วมกับนักเรียนฝ่ายพลเรือน 2 คน คือ นายประยูร ภมรมนตรี และนายปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นมาในปี พ.ศ. 2469 ซึ่งนับว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรชุดแรก ซึ่งมีสมาชิกจำนวนด้วยกันทั้งหมด 7 คน คือ นายปรีดี พนมยงค์, นายประยูร ภมรมนตรี, นายแนบ พหลโยธิน, นายตั้ว ลพานุกรม, นายจรูญ สิงหเสนี, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ และ หลวงทัศนัยนิยมศึก
ซึ่งหลวงทัศนัยนิยมศึกนั้นเป็นบุคคลที่มีบุคคลิกใจร้อน หุนหันพลันแล่น อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความรวดเร็ว และมีน้ำจิต น้ำใจรักเพื่อนฝูงมาก[2]
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหารม้าแล้ว ทางบิดายังเห็นว่า ยังมีความเห็นว่า ควรจะเข้าศึกษาต่อยังโรงเรียนผสมพันธุ์สัตว์ หากกลับมารับราชการเกิดตกม้าแขนขาหัก หรือในราชการทหารม้าไม่ต้องการใช้ จะได้มีวิชาชีพอื่นติดตัวต่อไป จึงตกลงให้เรียนวิชาชีพนี้ต่อไป ในปี พ.ศ. 2470
จากนั้นในปี พ.ศ. 2471 จึงสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับสู่ประเทศไทย กลับเข้าประจำการเป็น ครูโรงเรียนการขี่ม้า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2471 ได้รับพระราชทานยศ ร้อยโท เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2472 [3](ร.ท.) วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2473 ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก (ร.อ.)
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ ตามราชทินนามในสัญญาบัตร เป็น "หลวงทัศนัยนิยมศึก" ถือศักดินา 800 [4] และ คงรับราชการในตำแหน่งครูโรงเรียนการขี่ม้าตามเดิม
ในวันที่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลวงทัศนัยนิยมศึกพร้อมกับนายทหารม้าคณะราษฎรอีก 3 นาย ได้เข้าพบพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เสนาธิการผู้วางแผนการปฏิวัติ ถึงที่บ้านพักของพระยาทรงสุรเดช ในเวลาประมาณ 04.00 น. เพื่อขอทราบถึงแผนการ ก่อนที่ทั้งหมดจะออกมาด้วยการเดินเท้าถึงที่ตำบลนัดพบซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของพระยาทรงสุรเดชราว 200 เมตร[5] เพื่อสมทบกับคณะราษฎรคนอื่น ๆ จากนั้นเมื่อได้ลงมือ ในฐานะของนายทหารม้า หลวงทัศนัยนิยมศึกได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของคณะ โดยเป็นผู้บังคับบัญชาการทหารโดยเฉพาะในส่วนของทหารม้า และรถรบ, รถหุ้มเกราะ (รถถัง) อันเป็นอาวุธสำคัญประการหนึ่งของการก่อการครั้งนั้น หลังจากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม ปีเดียวกัน ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 1 รอ.) วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 คงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 1 รอ.) ได้รับพระราชทานยศ เป็น นายพันตรี (พ.ต.)[6]รับเงินเดือนอัตรานายทหารม้าชั้นสัญญาบัตรชั้นที่ 13 เดือนละ 200 บาท
ด้านชีวิตครอบครัว หลวงทัศนัยนิยมศึกสมรสกับหม่อมหลวงเวก ทัศนัยนิยมศึก (ชื่อเดิม: หม่อมหลวงเตอะ สนิทวงศ์) บุตรีของหม่อมราชวงศ์ทวีวัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศสนิท และพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีมงคลสมรสให้ ณ วังถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 ต่อมา ซึ่งทั้งคู่มีบุตรหญิงด้วยกัน 1 คน แต่พอคลอดก็ถึงแก่กรรม
หลวงทัศนัยนิยมศึกถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2476[7] สิริอายุเพียง 32 ปี 7 เดือน 18 วันเท่านั้น และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 19 สิงหาคม ปีเดียวกัน[8]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.