ต่อมไทรอยด์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ต่อมไทรอยด์ (อังกฤษ: Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ โดยอยู่ด้านข้างนาเดียร์และใต้ต่อมกระดูกอ่อนไทรอยด์ (thyroid cartilage) และอยู่ลึกลงไปจากกล้ามเนื้อสเตอร์โนไฮออยด์ (sternohyoid) , สเตอร์โนไทรอยด์ (sternothyroid) และโอโมไฮออยด์ (omoyoid) ต่อมนี้มี 2 พู แผ่ออกทางด้านข้างและคลุมพื้นที่บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของหลอดลม (trachea) รวมทั้งส่วนของกระดูกอ่อนคริคอยด์ (cricoid cartilage) และส่วนล่างของกระดูกอ่อนไทรอยด์ (thyroid cartilage) ทั้งสองพูนี้จะเชื่อมกันที่คอคอดไทรอยด์ (isthmus) ซึ่งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าต่อกระดูกอ่อนของหลอดลม (trachea cartilage) ชิ้นที่สองหรือสาม
ไทรอยด์ | |
---|---|
ต่อมไทรอยด์ของมนุษย์เมื่อมองจากด้านหน้า ในภาพแสดงหลอดเลือดแดงไว้ด้วย | |
ต่อมไทรอยด์เมื่อมองจากด้านหลัง | |
รายละเอียด | |
คัพภกรรม | Thyroid diverticulum (an extension of endoderm into 2nd pharyngeal arch) |
ระบบ | ระบบต่อมไร้ท่อ |
ตัวระบุ | |
ภาษาละติน | Glandula thyreoidea |
MeSH | D013961 |
TA98 | A11.3.00.001 |
TA2 | 3863 |
FMA | 9603 |
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์ |
ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย รวมไปถึงมีหน้าที่ในการควบคุมพลังงานในร่างกายและมีผลต่อการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ อีกด้วย โดยส่วนมากจะมีผลต่อสมองและหัวใจมากที่สุด ซึ่งฮอร์โมนนี้จะอยู่ในการควบคุมของสมองส่วนไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้มีผลต่อร่างกายมาก หากเกิดความผิดปกติกับต่อมไทรอยด์ก็จะส่งผลต่อภาพรวมของร่างกายตามไปด้วย
หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงโครงสร้างของต่อมไทรอยด์ จะมาจากหลอดเลือดแดงซุพีเรียร์ลาริงเจียล (Superior laryngeal artery) และหลอดเลือดแดงอินฟีเรียร์ลาริงเจียล (Inferior laryngeal artery)
สำหรับระบบหลอดเลือดดำที่นำเลือดออกจากต่อมไทรอยด์ จะผ่านทางหลอดเลือดดำไทรอยด์ (thyroid veins) ที่อยู่ด้านบน ตอนกลาง และด้านล่างของต่อม จากนั้นแขนงหลอดเลือดดำทางด้านบนและตอนกลางจะออกไปสู่หลอดเลือดดำใหญ่บริเวณคอ (internal jugular vein) ขณะที่แขนงด้านล่างไปรวมกับหลอดเลือดดำใหญ่บริเวณไหปลาร้า (brachiocephalic vein) ส่วนน้ำเหลืองในบริเวณต่อมไทรอยด์จะเข้าไปยังต่อมน้ำเหลือง (lymph nodes) ที่อยู่ใกล้เคียงคือต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดลม (paratracheal nodes) และต่อมน้ำเหลืองในลำคอส่วนลึก (deep cervical nodes) .......
เส้นประสาทที่อยู่ในบริเวณของต่อมไทรอยด์ คือ เส้นประสาทรีเคอร์เรนท์ลาริงเจียล (recurrent laryngeal nerve) ซึ่งเป็นแขนงของเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) ที่อ้อมรอบหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา (right subclavian artery) และโค้งหลอดเลือดแดงใหญ่จากหัวใจ (aortic arch) ทางด้านซ้าย แล้วขึ้นมาทอดอยู่ระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหาร แล้วจึงผ่านขึ้นมาทางด้านหลังของต่อมไทรอยด์ทั้งสองพู ก่อนจะเข้าสู่กล่องเสียง (larynx) ทางขอบล่างของกล้ามเนื้อรอบคอหอยตอนล่าง (inferior constrictor muscle)
ต่อมไทรอยด์มีต้นกำเนิดมาจากการบุ๋มตัวของของคอหอย (pharynx) ที่บริเวณโคนลิ้น บริเวณที่เริ่มมีการบุ๋มตัวลงไปเรียกว่า ฟอราเมน ซีกัม (foramen caecum) แล้วลงไปตามท่อที่เรียกว่า ท่อไทโรกลอสซัล (thyroglossal duct) ซึ่งปกติจะหายไปเมื่อโตเต็มที่ แต่อาจพบได้ในลักษณะของถุงน้ำ (cyst) หรือช่องเปิดที่ผิดปกติ (fistula) มีส่วนน้อยที่อาจเหลือเป็นเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ที่โตผิดที่ (ectopic thyroid tissue) ซึ่งความผิดปกตินี้สามารถแก้ไขได้โดยการผ่าตัด
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือ Thyroidectomy เป็นวิธีการทางศัลยกรรมที่ค่อนข้างพบได้ทั่วไป โดยปกติจะเป็นการผ่าตัดเอาบางส่วนของต่อมออก ซึ่งการผ่าตัดนี้มักจะใช้ในการรักษาเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ แต่บางครั้งก็อาจใช้ในการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วย เนื่องจากตำแหน่งของต่อมไทรอยด์มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างต่างๆ คือ ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid glands) และเส้นประสาทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกล่องเสียงและคอหอย จึงต้องระมัดระวังในการผ่าตัดเป็นพิเศษ ผลข้างเคียงของการผ่าตัดอาจทำให้เกิดอาการเสียงแหบ (hoarseness) หรืออาการกลืนลำบาก (dysphagia) เนื่องจากเส้นประสาทในบริเวณต่อมไทรอยด์ได้รับความเสียหายบางส่วน
ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้อง ซึ่งในปัจจุบันมีความนิยมมากขึ้น เนื่องจากแผลเล็ก ซ่อนแผลไว้ได้ เจ็บน้อยฟื้นตัวเร็ว แต่ข้อเสียคือ ต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในเรื่องการผ่าตัดผ่านกล้อง ในประเทศไทยมีทำได้ไม่ถึง 20 คน การผ่าตัดผ่านกล้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงแผลเป็นที่คอ โดยจะเปิดแผลเล็กๆที่บริเวณอื่นแทน เช่น รักแร้ หน้าอก ลานหัวนม หลังหู หลังผ่าตัดคนไข้จะไม่มีเป็นแผลเป็นที่คอ แต่จะเป็นแผลเป็นที่อื่นแทน เช่น รักแร้ หน้าอก เป็นต้น โดยขนาดแผลก็มีตั้งแต่ 5mm - 3cm แล้วแต่ชนิดการผ่าตัด (ในประเทศไทยที่แพร่หลาย ก็คือ ผ่าตัดผ่านกล้องผ่านทางรักแร้ และรักแร้-หน้าอก)
เทคนิคล่าสุดของการผ่าตัดไทรอยด์คือ คือ การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องผ่านทางช่องปาก โดยจะเปิดแผลเล็กๆในช่องปาก ขนาด 5mm และ 10mm สอดกล้อง+เครื่องมือเข้าไปผ่าตัด คีบต่อมไทรอยด์ออกมา แผลจะถูกซ่อนไว้ในช่องปากแทน โดยที่หลังผ่าตัดคนไข้ไม่มีแผลเป็นที่ผิวหนังแม้แต่นิดเดียว แผลในปากจะสมานแผลเร็วมาก 2 วันก็ทานได้ตามปกติ และหายเจ็บแผล การผ่าตัดผ่านช่องปากจะเจ็บน้อยกว่าแบบอื่น และในแง่ของความสวยงามจะดีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ทั่วโลกในตอนนี้มีทำการผ่าตัดแบบนี้ที่เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และที่เมืองไทยมีทำที่แรกและที่เดียวที่ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลตำรวจ
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.