Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ครีบยันลอย[1] (อังกฤษ: flying buttress, arc-boutant) ในทางสถาปัตยกรรม ครีบยันลอยเป็นครีบยัน (Buttress) ประเภทหนึ่งที่มักจะใช้ในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถาน โดยเฉพาะกับสถาปัตยกรรมกอทิก เพื่อแบ่งรับน้ำหนักจากหลังคามาสู่ครีบยันที่กระจายออกไปเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางเดินข้าง (aisle) คูหาสวดมนต์ หรือระเบียงนอกสิ่งก่อสร้าง ครีบยันลอยต่างกับครีบยันตรงที่จะมีลักษณะที่กางออกไปจากตัวสิ่งก่อสร้างแทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งหรือแนบกับตัวสิ่งก่อสร้างของครีบยัน การใช้ครีบยันลอยทำให้ทุ่นการรับน้ำหนักหรือแรงกดดันกำแพงที่แต่เดิมต้องรับน้ำหนักและความกดดันทั้งหมด จึงทำให้สามารถทำหน้าต่างได้กว้างขึ้นได้ ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นโดยไม่มีครีบยันลอยก็จะทำให้กำแพงไม่แข็งแรง
จุดประสงค์ของครีบยันลอยก็เพื่อช่วยลดน้ำหนักกดดันของกำแพงทางเดินกลาง แรงกดดันและน้ำหนักส่วนใหญ่จะอยู่ส่วนบนของครีบยันฉะนั้นเมื่อทำครีบยันเป็นครึ่งซุ้มโค้งก็ทำให้สามารถรับน้ำหนักได้เท่า ๆ กับครีบยันที่ตัน นอกจากนั้นยังทำให้ครีบยันเบาขึ้นและราคาถูกกว่าที่จะสร้าง ฉะนั้นกำแพงจึง “บิน” (flying) ออกไปจากสิ่งก่อสร้างแทนที่จะเป็นกำแพงทึบ จึงทำให้เรียกกันว่า “ครีบยันลอย”
วิธีการก่อสร้างที่ใช้ครีบยันมีมาตั้งแต่สมัยสถาปัตยกรรมโรมันและต้นโรมาเนสก์แต่สถาปนิกมักจะพรางครีบยันโดยการซ่อนไว้ใต้หลังคา เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 สถาปนิกเมื่อมีการวิวัฒนาการการสร้างครีบยันลอยกันขึ้น นอกจากสถาปนิกจะเห็นถึงความสำคัญของครีบยันที่ใช้แล้ว ก็ยังหันมาเน้นการใช้ครีบยันเป็นสิ่งตกแต่งสิ่งก่อสร้างเช่นที่มหาวิหารชาทร์ มหาวิหารเลอม็อง (Le Mans Cathedral) มหาวิหารโบแว (Beauvais Cathedral) มหาวิหารแร็งส์ และมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีสเอง
บางครั้งเมื่อเพดานสูงมากๆ สถาปนิกก็อาจจะใช้ครีบยันลอยซ้อนกันสองชั้นหรือบางครั้งการจ่ายน้ำหนักก็จะกระจายออกไปกับครีบยันสามสี่อัน ตามปกติแล้วน้ำหนักของครีบยันก็จะเพิ่มน้ำให้กับตัวอาคารพอสมควร ฉะนั้นครีบยันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ การใช้ครีบยันดิ่งเป็นระยะ ๆ ทำให้เพิ่มการรับน้ำหนักและแรงกดทับได้ดีขึ้นกว่าที่จะสร้างตลอดแนวกำแพง ครีบยันดิ่งที่ใช้ในการก่อสร้างมหาวิหารลิงคอล์น แอบบีเวสต์มินสเตอร์อยู่ภายนอกหอประชุมสงฆ์ ครีบยันดิ่งมักจะใช้ยอดแหลม (pinnacle) เหนือครีบยันในการสร้างแรงต่อต้านการรับน้ำหนักของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้น
วิธีการก่อสร้างนี้ถูกนำไปใช้โดยสถาปนิกชาวแคนาดาวิลเลียม พี แอนเดอร์สันในการสร้างประภาคารเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20[2]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.