คณะกรรมการ (ถ้าหมายถึงคนเดียวจะเรียกว่า กรรมการ) เป็นสมัชชาปรึกษาหารือ (deliberative assembly) ของบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งโดยปกติจะอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของสมัชชาหรือองค์กรอื่นที่ใหญ่กว่า คณะกรรมการระดับสูงสุดอาจเรียกว่า คณะกรรมาธิการ คณะกรรมการมีหน้าที่หลายอย่างแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง อาทิ
- การกำกับดูแล - การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของสมาชิกทุกคนในองค์กร อาจยากเกินกว่าจะควบคุมได้และส่งผลกระทบโดยรวมต่อองค์กร ดังนั้นคณะกรรมการคณะหนึ่งจะถูกก่อตั้งขึ้นเป็นตัวแทนของสมาชิกทั้งมวล (ซึ่งอาจเรียกว่าคณะผู้บริหารหรือคณะกรรมการบริหาร) เพื่อให้อำนาจตัดสินใจในเรื่องการปฏิบัติการหรือการใช้จ่ายเป็นต้น อำนาจของคณะกรรมการเช่นนั้นอาจถูกจำกัดหรือไม่จำกัดก็ได้ เมื่อตัดสินใจปฏิบัติการไปแล้วอาจเพิกถอนได้หรือไม่ได้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการบริหารคณะหนึ่งได้ตัดสินใจทำสัญญากับบรรษัทอีกแห่งหนึ่ง การบังคับใช้สัญญาและการเพิกถอนสัญญาจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย
- การประสานงาน - บุคคลจากส่วนต่าง ๆ ขององค์กรอาจต้องปรึกษาหารือกันอย่างเป็นปรกติ เพื่ออภิปรายพัฒนาการในขอบข่ายงานของตน เพื่อนำเสนอหรือวิจารณ์โครงการให้เป็นไปตามนโยบายขององค์กร เพื่อวางแผนทางด้านการเงิน การตลาด เป็นต้น คณะกรรมการจึงเป็นศูนย์รวมของการประสานงานให้กับบุคคลเหล่านี้ และเมื่อคณะกรรมการมีขนาดใหญ่เกินไปอาจต้องแบ่งเป็นคณะกรรมการย่อย (หรือคณะอนุกรรมการ) เพื่อรับผิดชอบส่วนงานที่เป็นเฉพาะกิจมากขึ้น ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการบริหารของบรรษัทขนาดใหญ่ อาจต้องมีคณะอนุกรรมการสอบบัญชี คณะอนุกรรมการการเงิน คณะอนุกรรมการบริหารค่าตอบแทน เป็นอาทิ
- การวิจัยและการแนะนำ - บ่อยครั้งที่คณะกรรมการก่อตั้งขึ้นมาเพื่อวิจัยค้นคว้าและชี้แนะแนวทาง ให้กับโครงการหรือการเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพหรือที่ได้วางแผนไว้ ตัวอย่างเช่น องค์กรหนึ่งซึ่งกำลังพิจารณาการลงทุนขนาดใหญ่ อาจจำเป็นต้องก่อตั้งคณะอนุกรรมการจากกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องหรือมีความรู้ความสามารถ เพื่อแจกแจงทางเลือก ข้อดีข้อเสีย และชี้แนะแนวทางที่ดีที่สุดให้กับคณะกรรมการบริหาร และเมื่อคณะอนุกรรมการดำเนินงานจนบรรลุผลแล้วก็จะยุบเลิกไป