Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล (อังกฤษ: Behind the Painting The Musical) เป็นละครเวที จาก นวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ บทประพันธ์ อมตะของ ศรีบูรพา ที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ และในรูปแบบภาพยนตร์มาแล้วถึงสองครั้ง[1] และในครั้งนี้ถูกถ่ายทอดออกมา ในรูปแบบละครเพลง โดยค่าย เอ็กแซ็กท์ & ซีเนริโอ อำนวยการสร้างโดย ถกลเกียรติ วีรวรรณ เปิดการแสดง ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ทั้งสิ้น 49 รอบการแสดง โดยเนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวของความรักต่างวัย ต่างสถานะ นำแสดงโดย สุธาสินี พุทธินันทน์ และ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว[2]
ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล | |
---|---|
กำกับ | ถกลเกียรติ วีรวรรณ |
นักแสดงนำ | สุธาสินี พุทธินันทน์ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว โกวิทย์ วัฒนกุล รัดเกล้า อามระดิษ เขมรัชต์ สุนทรนนท์ เลอวิทย์ สังข์สิทธิ์ กฤษณะ ประจงการ พีรชยา พิณเมืองงาม |
วันฉาย | รอบแรก 21 สิงหาคม ถึง 28 กันยายน พ.ศ. 2551 รอบสอง 17 ตุลาคม ถึง 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551 แสดงที่สหรัฐอเมริกา ในชื่อ "Waterfall" เมืองแพซาดีนา (รัฐแคลิฟอร์เนีย) - พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน - ตุลาคม พ.ศ. 2558 |
เนื้อเรื่องได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีภาษาอังกฤษในชื่อว่า "Waterfall" โดยริชาร์ด มาลท์บี จูเนียร์ [3][4] ดนตรีประกอบโดยเดวิด ไชร์ และสราวุธ เลิศปัญญานุช [4] แสดงที่เมืองแพซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย และ เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา นำแสดงโดย เอมิลี่ แพ็ดเจ็ท และสุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว [3]
หม่อมราชวงศ์กีรติดำรงความเป็นสาวอยู่จนเข้าขีดความสาวทึมทึก ก็ยังไม่พบรักหรือชายที่สมควรแก่ความรักของเธอมาสู่ขอในขณะที่อายุย่างเข้าปีที่ 35 จึงมีข้าราชการชั้นพระยาอายุ 50 ปี ซึ่งเป็นพ่อหม้ายมีลูกติด 2 คนมาสู่ขอ ด้วยความหมดหวังที่จะได้พบชายที่ดีกว่านั้น และนิสัยนักศิลปะของเธอทำให้มีความต้องการจะรู้จักความเป็นไปของโลกให้กว้างกว่าที่ได้พบเห็นอยู่ในวงแคบเป็นเวลาถึง 35 ปี หม่อมราชวงศ์กีรติจึงได้ยอมแต่งงานกับเจ้าคุณผู้นั้น และแล้วก็ได้พบเห็นโลกภายนอกบ้านของเธอสมความปรารถนา เจ้าคุณสามี ( พระยาอธิการบดี ) พาเธอไปเที่ยวญี่ปุ่น ณ ที่นั้นเอง หม่อมราชวงศ์กีรติก็ได้พบกับนพพร นิสิตหนุ่มอายุ 22 ปี แห่งมหาวิทยาลัยริคเคียว ซึ่งเป็นบุตรชายของเพื่อนสามี และซึ่งสามีของเธอขอร้องให้ช่วยจัดหาบ้านพักและนำเที่ยวด้วยเป็นครั้งแรก
หม่อมราชวงศ์กีรติยังสาวและสวยสดชื่นอยู่ เช่นเดียวกับสุภาพสตรีสมัยใหม่ที่รู้จักบำรุงรักษาความงามแลวัยไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเป็นที่สะดุดตาสะดุดใจของนพพร เด็กหนุ่มผู้ห่างการสมาคมกับสุภาพสตรีไทยถึง 3 ปีเศษแล้วอย่างมากมาย และโดยที่ได้ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาที่หม่อมราชวงศ์กีรติกับสามีพักอยู่ที่ประเทศนั้นจึงทำให้นพพรกับหม่อมราชวงศ์กีรติคุ้นกันจนถึงขีดสนิทสนม ประกอบกับได้อยู่ด้วยกันท่ามกลางภูมิภาพอันสวยงามของประเทศญี่ปุ่น และความงามความเปล่งปลั่งของหม่อมราชวงศ์กีรติเป็นสื่อชักจูงใจด้วยในที่สุดนพพรเด็กหนุ่มผู้ไม่เดียงสาในเรื่องรัก ก็เกิดความรักในหม่อมราชวงศ์กีรติขึ้น
ความรักอันบริสุทธิ์และร้อนแรงของผู้ที่เพิ่งมีความรักเป็นครั้งแรกนี้ดูเหมือนจะทำให้หม่อมราชวงศ์กีรตินักศิลปะซึ่งไม่เคยได้พบความรักเลยรู้สึกลำบากใจ ที่จะข่มใจไว้อยู่มากเหมือนหัน แต่หม่อมราชวงศ์กีรติมีอายุมากแล้ว และทั้งได้รับการอบรมศึกษาในทางดีงามในชีวิตเบื้องต้นมาแล้ว ก็ข่มใจไว้อย่างดี จนนพพรไม่สามารถจะทราบได้ว่า หม่อมราชวงศ์กีรติรักตนหรือไม่ ครั้นแล้วทั้งสองก็จากกัน เมื่อกำหนดการเที่ยวญี่ปุ่นของพระยาอธิการบดียุติลง ความรักของนพพรคงรบเร้าจิตใจให้กระสับกระส่ายจนถึงขีดสุด เมื่อตอนที่จากกันไปใหม่ๆครั้นแล้วก็ค่อยๆอ่อนลงตามธรรมชาติของคนที่มีภาระที่จะต้องใส่ใจมากกว่าความรู้สึกนี้ จนในที่สุดเมื่อสองปีล่วงไปแล้ว นพพรก็รู้สึกในกีรติอย่างมิตรคนหนึ่งเท่านั้น
6 ปีล่วงไป นพพรสำเร็จการศึกษาและฝึกหัดงานที่ญี่ปุ่นพอสมควรแก่การแล้วก็กลับสยาม ในขณะนี้หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นหม้ายแล้ว และบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างสงบเสงี่ยม เขาทั้งสองคนได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการพบที่นพพรรู้สึกเหมือนพบพี่สาวที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น เวลา 6 ปีในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจิตใจของนพพรเด็กหนุ่มผู้อ่อนแก่ความรักให้เป็นชายหนุ่มญี่ปุ่นที่ไม่ใคร่จะคิดถึงใครจะคิดถึงอะไรนอกจากงานและการตั้งตัวเท่านั้น ครั้นแล้วนพพรก็แต่งงานกับคู่หมั้นที่บิดาหาไว้ไห้เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น เมื่อแต่งงานแล้วได้สองเดือน นพพรได้ทราบว่าหม่อมราชวงศ์กีรติได้เจ็บหนักด้วยโรควัณโรค และอยากพบเขา จนแพทย์และพยาบาลรู้สึกว่าควรจะมาตามเขาให้ไปพบ เพื่อให้คนไข้ได้สงบจิตใจในวาระสุดท้าย นพพรก็ไปเยี่ยมและหม่อมราชวงศ์กีรติก็ให้ภาพเขียนที่ระลึกถึงสถานที่ให้กำเนิดความรักแก่เขาทั้งสอง ซึ่งเป็นภาพวาดโดยฝีมือของเธอเอง พร้อมด้วยคำตัดพ้อบางประโยคเป็นที่สะกิดใจนพพรให้ระลึกถึงความหลังและหวนคิดเสียดายอาลัยคนรักคนแรกของตน ครั้นแล้วหม่อมราชวงศ์กีรติสตรีผู้อาภัพในเรื่องรักก็ถึงแก่กรรมใน 7 วันต่อมา และเรื่องก็จบลงเพียงเท่านี้
นักแสดงหลัก | |||||
---|---|---|---|---|---|
นักแสดง 2551 | นักแสดง 2568 | บทบาท | |||
รัดเกล้า อามระดิษ | - | นวล | |||
โกวิท วัฒนกุล | - | ท่านเจ้าคุณอธิการบดี | |||
พีรชยา พิณเมืองงาม | - | ปรีดิ์ | |||
เขมรัชต์ สุนทรนนท์ | - | พาที | |||
เลอวิทย์ สังข์สิทธิ์ | - | เสรี | |||
กฤษณะ ประจงการ | - | สมบูรณ์ | |||
สุธาสินี พุทธินันทน์ | - | หม่อมราชวงศ์กีรติ | |||
สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว | - | นพพร |
ข้างหลังภาพ วรรณกรรมคลาสสิก ของ ศรีบูรพา ซึ่งในครั้งนี้ถูกนำกลับมาสร้างอีกครั้ง ในรูปแบบที่ฉีกไปจากเดิม นั่นคือการวางบทประพันธ์ลงในรูปแบบของละครเวที บทประพันธ์ข้างหลังภาพนั้นมีความหมายมากมายซ่อนอยู่ ซึ่งผู้สร้าง ถกลเกียรติ วีรวรรณ ได้กล่าวไว้ว่า
“ | สิ่งสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความคลาสสิก เพราะผมเชื่อว่าคนอ่านแต่ละคนมีการตีความที่แตกต่างกันออกไป ร้อยคนอ่านก็ตีความร้อยอย่าง ผู้หญิงก็มองในมุมผู้หญิง ผู้ชายอ่านก็มองในมุมผู้ชาย แต่ละคนมีความหมายของคำว่า ข้างหลังภาพ ที่แตกต่างกัน[5] | ” |
“ | ถ้าอ่าน ข้างหลังภาพ คุณสามารถตีความได้มากมาย สำหรับผมได้เห็น ภายใน ตัวละครนั้นจริงๆ ว่ามันพรั่งพรูมากๆ แต่ด้วยภาพลักษณ์ในสังคมทำให้พวกเค้าไม่สามารถแสดงออกมา เพราะฉะนั้น ความเป็น มิวสิคัล จะเอื้อให้สามารถบอกเล่าอารมณ์ของตัวละครที่กดแน่นอยู่ข้างในผ่านบทเพลง ตรงนี้เป็นจุดเด่นของละครเวทีเรื่องนี้ เพราะจะเป็นข้างหลังภาพที่คุณรู้สึกได้ และความสง่างามของตัวละครยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นข้างหลังภาพ ในแบบที่คุณไม่เคยเห็น แต่คุณอาจจะเคยแอบรู้สึกแต่ไม่กล้าเอ่ยออกมา[5] | ” |
ปัจจุบัน สังคมเป็นตัวกำหนดให้ทุกคนต้องมีภาพออกมาภาพหนึ่งเสมอ แล้วผู้คนก็พร้อมที่จะตัดสินและยึดติดกับภาพนั้นๆอย่างง่ายๆ โดยบางครั้งก็ไม่ได้รู้ว่าข้างหลังของภาพนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร[5] เหมือนภาพวาดที่คุณหญิงกีรติ มอบให้ นพพร ก่อนสิ้นใจ ที่ปรีดิ์คู่หมั้นของ นพพร มองปราดเดียวก็รู้ว่าภาพนั้นไม่สวย แต่นพพรกลับมองว่าสวย เพราะภาพนั้นเป็นภาพวาดน้ำตกมิตาเกะในญี่ปุ่นที่เขาเกิดความรักต่อคุณหญิงกีรติที่นั่น ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของภาพนั้น อาจจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันจากการมองเพียงข้างหน้าภาพเพียงอย่างเดียว ตัวละครของปรีดิ์จึงเปรียบเสมือนคนโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่มักจะมองเพียงหน้าภาพและตัดสินว่าคนอื่นๆเป็นอย่างไร
การเมืองเป็นประเด็นทางสังคม ที่ ผู้เขียน ศรีบูรพา ได้แทรกเข้าไป เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นบรรยากาศของสังคมในช่วงรอยต่อผ่านการต่อสู้ และสำหรับในรูปแบบของละครเวที ก็ยังได้มีการสอดแทรกประเด็นทางการเมืองลงไปเล็กน้อยด้วย
ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล จัดแสดงตั้งแต่ 21 สิงหาคม - 28 กันยายน 2551 และ 17 - 26 ตุลาคม พ.ศ 2551 ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ศูนย์การค้าเอสพลานาด โดยเปิดการแสดงทั้งหมดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 49 รอบการแสดงด้วยกัน[10] และมีการเปิดรอบการแสดงทั้งรอบที่มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น
เปิดการแสดงตั้งแต่ 21 สิงหาคม-14 กันยายน 2551 ณ เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ศูนย์การค้าดิเอสพลานาด รวมทั้งหมด 27 รอบการแสดง
เปิดการแสดงตั้งแต่ 17 กันยายน-28 กันยายน 2551 ณ เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ศูนย์การค้าดิเอสพลานาด รวมทั้งหมด 14 รอบการแสดง
เปิดการแสดงตั้งแต่ 17 ตุลาคม-26 ตุลาคม 2551 ณ เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ศูนย์การค้าดิเอสพลานาด รวมทั้งหมด 8 รอบการแสดง[11]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.