จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาสนาพุทธซึ่งถือกำเนิดขึ้นในอนุทวีปอินเดียมีจำนวนผู้นับถือลดน้อยลงตามลำดับจนกระทั่งสูญไปเมื่อถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 12[1][2] ลาร์ส โฟเกลิน นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่มีสาเหตุเดียว แต่เป็นกระบวนการที่ดำเนินอยู่เป็นเวลาหลายศตวรรษ"[3]
การเสื่อมถอยของศาสนาพุทธมีปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะกระบวนการภูมิภาคาภิวัตน์อินเดียหลังสมัยจักรวรรดิคุปตะ (ค.ศ. 320–650) ซึ่งนำไปสู่การขาดการอุปถัมภ์และการบริจาคจากราชวงศ์และกลุ่มพ่อค้า อีกปัจจัยหนึ่งคือการบุกรุกตอนเหนือของอินเดียโดยกลุ่มชนหลายกลุ่ม (เช่น ชาวฮันอินโด-อิเรเนียน, ชาวฮันขาว, ชาวเติร์ก-มองโกลมุสลิมซุนนี, ชาวอาหรับ และชาวเปอร์เซีย) และการทำลายสถาบันทางศาสนาพุทธในเวลาต่อมาอย่างนาลันทาเป็นต้น[4] การแข่งขันทางศาสนากับศาสนาฮินดูและกับศาสนาอิสลามในเวลาต่อมาก็เป็นปัจจัยสำคัญ เชื่อกันว่ากระบวนการทำให้เป็นอิสลามในเบงกอลตะวันตกและการทำลายนาลันทา, วิกรมศิลา และโอทันตบุรีโดยมุฮัมมัด อิบน์ บัคติยาร ค็อลญี นายพลแห่งรัฐสุลต่านเดลี ทำให้การประกอบพุทธศาสนกิจในอินเดียตะวันออกลดลงอย่างมาก[5]
จำนวนผู้นับถือศาสนาพุทธเมื่อ ค.ศ. 2010 ในอนุทวีปอินเดีย (ไม่รวมศรีลังกา เนปาล และภูฏาน) อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน โดยประมาณร้อยละ 7.2 อยู่ในบังกลาเทศ, ร้อยละ 92.5 อยู่ในอินเดีย และร้อยละ 0.2 อยู่ในปากีสถาน[6]
พุทธศาสนาได้ขยายตัวในอนุทวีปอินเดียในช่วงหลายศตวรรษหลังจากการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะหลังจากที่ได้รับการรับรองและการสนับสนุนจากราชวงศ์เมารยะภายใต้การปกครองของพระเจ้าอชาตศัตรูในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราช ศาสนาพุทธได้แพร่ขยายออกไปนอกอนุทวีปอินเดียไปยังเอเชียกลางและจีนด้วย
ในสมัยพุทธกาลมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการขยายตัวของนครและการเริ่มต้นของการก่อตั้งรัฐรวมศูนย์[7] การขยายตัวของศาสนาพุทธนำไปสู่ความรุ่งเรืองมีปัจจัยประกอบอยู่กับเศรษฐกิจที่เติบโตในช่วงเวลานั้น พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของรัฐรวมศูนย์อันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้[8]
ศาสนาพุทธแพร่ขยายไปทั่วอินเดียโบราณ และการสนับสนุนจากรัฐโดยระบอบการปกครองต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสหัสวรรษที่ 1[9] การรวมกลุ่มของคณะสงฆ์ทำให้ศาสนาพุทธกลายเป็นศูนย์กลางแห่งวิถีชีวิตทางปัญญาและศาสนาในอินเดียโบราณ[10] ราชวงศ์คันวะสืบทอดต่อมามีกษัตริย์คันวะที่เป็นพุทธศาสนิกถึง 4 พระองค์[11]
ในราชวงศ์คุปตะช่วงศตวรรษที่ 4 ถึง 6 ลัทธิไวษณพ ลัทธิไศวะ และลัทธิทางศาสนาฮินดูอื่น ๆ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พราหมณ์พัฒนาความสัมพันธ์ใหม่กับรัฐ ความแตกต่างระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูเริ่มไม่ชัดเจน เนื่องจากศาสนาพุทธมหายานรับเอาแนววิธีปฏิบัติพิธีกรรมมามากขึ้น ขณะที่แนวคิดของศาสนาพุทธถูกนำไปใช้ในการศึกษาโรงเรียนพระเวท [12] เมื่อลัทธิขยายตัวขึ้น วัดในศาสนาพุทธก็ค่อยเสื่อมการถือครองที่ดิน ในขณะเดียวกัน กษัตริย์คุปตะทรงสร้างวัดในศาสนาพุทธ เช่น วัดในกุสินารา[13][14] และมหาวิทยาลัยสงฆ์ เช่น นาลันทา ตามหลักฐานที่บันทึกไว้โดยนักแสวงจาริกบุญชาวจีนสามรูปที่เดินทางไปอินเดีย[15][16][17]
นักแสวงจาริกบุญชาวจีนที่เดินทางผ่านภูมิภาคนี้ระหว่างศตวรรษที่ 5 ถึง 8 เช่น ฟาเซียน เสวียนจั้ง อี้จิง ฮุยเซิง และซ่งหยุน เริ่มกล่าวถึงความเสื่อมถอยของคณะสงฆ์ของศาสนาพุทธในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรุกรานของชาวฮั่นจากเอเชียกลางในศตวรรษที่ 6[4] เสวียนจั้งบันทึกว่าวัดหลายแห่งในอินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือถูกทำลายจนเหลือเพียงซากปรักหักพังโดยชาวฮั่น[4][18]
มิฮิรากุลา ผู้ปกครองอาณาจักรฮั่น ซึ่งปกครองภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันคือแถบประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศปากีสถาน และประเทศอินเดียทางตอนเหนือ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 515 ได้ปราบปรามศาสนาพุทธ โดยการทำลายวัดวาอารามตลอดถึงอลาหาบาด (หรือ ประยาคราช) ในปัจจุบัน[19] กษัตริย์ผู้ปกครองยโศธรมันและคุปตะมีพระราชศรัทธาในราวปี ค.ศ. 532 และทรงปรามปรามจนพลิกสถานการณ์ของผู้ปกครองอาณาจักรฮั่นและยุติยุคของมิฮิรากุลาได้[20][21]
ตามการรายงานของปีเตอร์ ฮาร์วีย์ ศาสนาพุทธฟื้นตัวอย่างทีละลำดับจากการรุกรานเหล่านี้ในช่วงศตวรรษที่ 7 โดยที่ "ศาสนาพุทธในแคว้นปัญจาบและแคว้นสินธ์ยังคงมีศรัทธาเข้มแข็งอยู่"[22] ในรัชสมัยของราชวงศ์ปาละช่วงศตวรรษที่ 8 ถึง 12 ศาสนาพุทธในอินเดียตอนเหนือฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ปาละซึ่งสนับสนุนศูนย์กลางพุทธศาสนาต่าง ๆ อย่างนาลันทา อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงศตวรรษที่ 11 การปกครองของราชวงศ์ปาละก็อ่อนแอลง[22]
ตามที่ปีเตอร์ ฮาร์วีย์ กล่าวไว้:
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 986 ชาวเติร์กเริ่มโจมตีอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือจากอัฟกานิสถาน ปล้นสะดมอินเดียตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 11 มีการบังคับให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และทำลายรูปเคารพของศาสนาพุทธ เนื่องจากชาวอิสลามไม่ชอบการบูชารูปเคารพ[22]
— ปีเตอร์ ฮาร์วีย์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
การยึดครองของชาวมุสลิมในอนุทวีปอินเดียถือเป็นการรุกรานครั้งใหญ่ครั้งแรกของชนกลุ่มน้อยที่ทำลายรูปเคารพในอนุทวีปอินเดีย[24] ในช่วงต้นศตวรรษที่ 8 ผู้พิชิตชาวอาหรับได้รุกรานประเทศปากีสถานในปัจจุบัน ในระลอกที่สอง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ถึงศตวรรษที่ 13 พวกชาวเติร์ก, ชาวเติร์ก-มองโกเลีย, และชาวมองโกเลียได้เข้ายึดครองที่ราบทางตอนเหนือของอินเดีย[25][26] บันทึกความทรงจำของอัล บีรูนี นักเดินทางชาวเปอร์เซีย ระบุว่าศาสนาพุทธได้หายไปจากกัซนี (ประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน) และแคว้นปัญจาบในยุคกลาง (ประเทศปากีสถานทางตอนเหนือในปัจจุบัน) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 11[27]ในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ศาสนาพุทธได้หายไปอีก[4][28] พร้อมกับการทำลายวัดและเจดีย์ในอนุทวีปอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกในยุคกลาง (ประเทศปากีสถานและประเทศอินเดียทางตอนเหนือในปัจจุบัน)[29] บันทึกประวัติศาสตร์ของกองกำลังชาฮาบุดดินกอร์ ได้ระบุถึงการประทุษกรรมภิกษุและสามเณร ซึ่งถือเป็นชัยชนะเหนือพวกนอกรีตที่ไม่ใช่มุสลิม ศูนย์กลางหลักของศาสนาพุทธอยู่ในอินเดียตอนเหนือและเส้นทางรบหลักของทัพชาฮาบุดดินกอร์ เนื่องจากถือเป็นแหล่งเป้าหมายของความมั่งคั่งและศาสนาอื่นที่ไม่ใช่มุสลิม[30]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.