Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การรั่วไหลของโทรเลขภายในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เมื่อเว็บไซต์วิกิลีกส์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนิวมีเดีย ซึ่งตีพิมพ์ข้อมูลส่วนบุคคลหรือความลับทางราชการจากแหล่งข่าวนิรนาม เริ่มต้นตีพิมพ์เอกสารที่เป็นความลับอันมีเนื้อหาเกี่ยวกับรายละเอียดการติดต่อระหว่างกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกากับคณะผู้แทนทูตทั่วโลก และได้โพสต์เอกสารเพิ่มขึ้นทุกวัน วิกิลีกส์ได้ส่งต่อโทรเลขภายในดังกล่าวให้กับหนังสือพิมพ์หลักของโลกอีกห้าฉบับ ซึ่งได้ตีพิมพ์บทความโดยมีข้อตกลงกับวิกิลีกส์
การโพสต์โทรเลขภายในสถานทูตสหรัฐคราวนี้นับเป็นครั้งที่สามใน "การรั่วไหลครั้งใหญ่" ของเอกสารความลับของสหรัฐอเมริกาซึ่งวิกิลีกส์นำออกเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2553 หลังจากการรั่วไหลของเอกสารสงครามอัฟกันในเดือนกรกฎาคม และเอกสารสงครามอิรักในเดือนตุลาคม เนื้อหาที่ได้รับการเปิดเผยอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสถานทูตมากกว่า 300 แห่ง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2509-2553 ซึ่งรวมไปถึงการวิเคราะห์ทางการทูตต่อผู้นำโลก การประเมินประเทศที่สถานทูตนั้นตั้งอยู่ และการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นระหว่างประเทศและภายประเทศ
เอกสาร 220 ฉบับแรก[1] จากทั้งหมด 251,287 ฉบับได้รับการตีพิมพ์ในวันที่ 28 พฤศจิกายน โดยเกิดขึ้นพร้อมกับการรายงานในสื่อไล่ตั้งแต่เอลปาอิส (สเปน) เลอ มงด์ (ฝรั่งเศส) แดร์ สปีเกล (เยอรมนี) เดอะการ์เดียน (สหราชอาณาจักร) และเดอะนิวยอร์กไทมส์ (สหรัฐอเมริกา)[2][3] เอกสารมากกว่า 130,000 ยังไม่ถูกปลดจากชั้นความลับ แต่ไม่มีเอกสารใดอยู่ในระดับ "ลับที่สุด" ตามเกณฑ์การจัดชั้นความลับ เอกสารราว 100,000 ฉบับได้รับการจัดให้อยู่ในระดับ "ลับ" และอีก 15,000 ฉบับได้รับการจัดให้อยู่ในระดับ "ลับมาก" ซึ่งสูงกว่า[2][4] จนถึงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553 โทรเลขภายในกว่า 1,532 ฉบับได้รับการเปิดเผย[5] วิกิลีกส์วางแผนที่จะเผยแพร่โทรเลขภายในทั้งหมดภายในช่วงเวลาอีกหลายเดือนข้างหน้าด้วยอัตรา 80 ฉบับต่อวัน[3][6]
ปฏิกิริยาต่อการรั่วไหลดังกล่าวมีหลากหลาย เจ้าหน้าที่รัฐบาลตะวันตกบางประเทศได้แสดงความไม่เห็นด้วยและประณามอย่างรุนแรง และวิจารณ์ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงของโลก การรั่วไหลดังกล่าวยังได้มีหลายฝ่ายให้ความสนใจ ทั้งสาธารณชน นักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์สื่อ วิกิลีกส์ได้รับการสนับสนุนจากนักวิจารณ์บางส่วนผู้ซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นในการรักษาความลับของราชการในระบอบประชาธิปไตยในการรักษาผลประโยชน์ของประชากร ผู้นำการเมืองบางคนได้เรียกจูเลียน อาสซานจ์ บรรณาธิการบริหารของวิกิลีกส์ ว่าเป็นอาชญากรและเรียกร้องให้มีการจับกุม แต่ก็ยังกล่าวประณามกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่ปล่อยให้เอกสารลับเกิดการรั่วไหล ผู้สนับสนุนอาสซานจ์ได้เรียกเขาว่าเป็นวีรบุรุษและเป็นตัวแทนของเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อ[7][8][9][10] ในโลกที่สื่อมิได้ประพฤติเป็นผู้เฝ้ามองของสาธารณะและภาคเอกชนอีกต่อไป เลขาธิการฝ่ายข่าวทำเนียบขาว โรเบิร์ต กิบบส์ ได้กล่าวว่า "รัฐบาลที่เปิดเผยและโปร่งใสเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีเชื่อว่ามีความสำคัญอย่างแท้จริง แต่การขโมยข้อมูลปกปิดและการเผยแพร่ความลับนั้นถือว่าเป็นอาชญากรรม"[11] ตามที่ได้มีปฏิกิริยาด้านลบต่อวิกิลีกส์นั้น ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความกังวลออกมาเกี่ยวกับ "สงครามไซเบอร์" ที่มีต่อวิกิลีกส์[12] และในแถลงการณ์ร่วมกับองค์การนานารัฐอเมริกัน ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติได้เรียกร้องให้รัฐและตัวแสดงอื่น ๆ จดจำหลักการของกฎหมายไว้[13]
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 นิตยสารไวเอิร์ด รายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐและเจ้าหน้าที่สถานทูตมีความกังวลว่าแบรดเลย์ แมนนิง ทหารกองทัพบกสหรัฐ ผู้ซึ่งได้รับแจ้งข้อหาดาวน์โหลดข้อมูลลับทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาตในขณะที่เขากำลังประจำการอยู่ในอิรัก ได้เผยแพร่โทรเลขภายในของกระทรวง วิกิลีกส์ได้ปฏิเสธว่ารายงานดังกล่าวผิดพลาด: "ข้อกล่าวหาในไวเอิร์ดที่ว่าเราได้ส่งโทรเลขภายในสถานทูตสหรัฐที่เป็นคามลับทางราชการกว่า 260,000 ฉบับนั้นไม่เป็นความจริง"[14] แมนนิงตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้อัปโหลดสิ่งที่เขาได้รับมานั้นให้กับวิกิลีกส์ ซึ่งเลือกที่จะเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเพื่อที่จะให้เกิดผลกระทบตามมาให้ได้มากที่สุด[15]
ตามข้อมูลของเดอะการ์เดียน โทรเลขภายในทั้งหมดได้รับการทำเรื่องหมายว่า "Sipdis" หมายความว่า "การแจกจ่ายโพรโทคอลอินเทอร์เน็ตลับ" ซึ่งหมายความว่า ข้อมูลดังกล่าวได้รับการแจกจ่ายผ่านทางซิปเปอร์เน็ตปิด ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตพลเรือนรุ่นที่เป็นความลับทางรัฐการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ[16] ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่และทหารสหรัฐมากกว่าสามล้านคนสามารถเข้าถึงเครือข่ายดังกล่าวได้[17] เอกสาร "ลับที่สุด" ไม่อยู่รวมในระบบนี้ด้วย การที่ข้อมูลลับจำนวนมากขนาดนี้สามารถเข้าถึงได้โดยในวงกว้าง เนื่องจาก ตามการอ้างของเดอะการ์เดียน หลังจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ได้มีการมุ่งให้ความสนใจเพิ่มขึ้นในการแบ่งปันข้อมูลเนื่องจากช่องว่างของการแบ่งปันข้อมูลภายในรัฐบาลได้เปิดออก[16] หรือจะกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานด้านการทูต การทหาร การบังคับใช้กฎหมาย และข่าวกรองจะสามารถทำงานได้ดีขึ้นด้วยการเข้าถึงข้อมูลเชิงวิเคราะห์และข้อมูลเชิงปฏิบัติการที่ง่ายขึ้น[16] โฆษกได้กล่าวว่าในช่วงสัปดาห์และเดือนที่ผ่านมา ได้มีการจัดหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของระบบการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลเพิ่มเติม[16]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.