Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระแสเกาหลี (เกาหลี: 한류; ฮันจา: 韓流; อาร์อาร์: Hallyu; แปล กระแส/คลื่นเกาหลี) หรือ คลื่นเกาหลี[1] (อังกฤษ: Korean Wave) เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ทั่วโลกนิยมวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 ความสนใจต่อวัฒนธรรมเกาหลีทั่วโลกได้รับอิทธิพลหลักมาจากการแพร่กระจายของเคป็อปและละครเกาหลี โดยความสำเร็จที่สำคัญได้แก่ โบอา, บีทีเอส และเพลง "คังนัมสไตล์" ของไซ เช่นเดียวกันกับ แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง, เพลงรักในสายลมหนาว และ สควิดเกม เล่นลุ้นตาย กระแสเกาหลีได้รับการรับรองเป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจอ่อน และเป็นสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเกาหลีใต้ โดยสร้างรายได้ทั้งจากการส่งออกและการท่องเที่ยว[2][3]
หลังวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ค.ศ. 1997 และการตรวจพิจารณาอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ของฝ่ายทหารสิ้นสุดลง เกาหลีใต้จึงกลายเป็นผู้ส่งออกวัฒนธรรมสมัยนิยมรายใหญ่ หลังการเพิ่มขึ้นของสื่อดาวเทียมในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 กระแสเกาหลีช่วงแรกขับเคลื่อนด้วยการเผยแพร่ละครและภาพยนตร์เกาหลีเข้าสู่จีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางพื้นที่ นักข่าวจีนเป็นผู้คิดคำศัพท์ "กระแสเกาหลี" ครั้งแรกใน ค.ศ. 1999 ภายใต้ชื่อ หานหลิว (จีน: 韩流; พินอิน: hánliú; แปลตรงตัว: "คลื่นเกาหลี") ซึ่งสื่อถึงความสำเร็จของรายการโทรทัศน์เกาหลีใต้ในประเทศจีน จากนั้นในคริสต์ทศวรรษ 2000 ฮัลลยูจึงพัฒนาเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก โดยขยายตัวอย่างรวดเร็วเข้าสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก ต่อมาใน ค.ศ. 2008 มูลค่าการส่งออกทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้แซงหน้ามูลค่าการนำเข้าทางวัฒนธรรมเป็นครั้งแรก[4] การขยายตัวนี้ได้รับแรงหนุนจากการถือกำเนิดของสื่อสังคมและอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำให้วงการบันเทิงเกาหลีเข้าถึงผู้ชมในต่างประเทศ รวมถึงการที่รัฐบาลเกาหลีใต้สนับสนุนปรากฏการณ์นี้ด้วย
ในประเทศไทย กระแสเกาหลีเริ่มต้นในราว ค.ศ. 2001 จากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม[5] จากนั้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005 เมื่อช่อง 3 ได้นำละครโทรทัศน์เรื่อง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง เข้ามาฉาย ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นปรากฏการณ์ ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ได้ซื้อลิขสิทธิ์ละครโทรทัศน์เกาหลีมาฉายแข่งขันกัน[6][7] จนกระทั่งในราวต้นปี ค.ศ. 2014 กระแสเกาหลีในประเทศไทยเริ่มสร่างซาลง มีการวิเคราะห์กันว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะหวนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง[8]
ผลของกระแสเกาหลีทำให้มีการให้ความสนใจอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเกาหลีแบบใหม่อย่างมาก เช่น การใช้สัญญาทาสในอุตสาหกรรมไอดอลและการแพร่กระจายของการค้ามนุษย์ทางเพศในเรื่องอื้อฉาวเบิร์นนิงซัน[9][10][11][12] มีหลายรายการและบุคคลในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีที่ถูกวิจารณ์ว่ามีคตินิยมเชื้อชาติ, การเลือกปฏิบัติตามผิวสี และกีดกันผู้หญิง ในขณะที่การฆ่าตัวตายของนักแสดงเกาหลีที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเน้นย้ำถึงสภาพการทำงานที่โหดร้ายของอุตสาหกรรมนี้[13][14] นอกจากนี้ ผู้ชมชาวเกาหลีพินิจพิเคราะห์ละครย้อนยุคเกาหลีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านการปฏิเสธประวัติศาสตร์ (historical negationism) และการพรรณนาประวัติศาสตร์เกาหลีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้ละคร สโนว์ดรอป ถูกคว่ำบาตร และละคร Joseon Exorcist ถูกยกเลิก[15][16]
ศัพท์ ฮัลลยู (เกาหลี: 한류; ฮันจา: 韓流) เป็นคำสร้างใหม่ที่มาจากรากศัพท์ 2 ราก ได้แก่ ฮัน (한; 韓) หมายถึง "เกาหลี" และ รีว (류; 流) หมายถึง "คลื่น" หรือ "กระแส"[17]: 419 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 Beijing Youth Daily ตีพิมพ์บทความที่มีคำว่า "กระแสเกาหลี" (จีนตัวย่อ: 韩流; จีนตัวเต็ม: 韓流; พินอิน: hánliú; แปลตรงตัว: "คลื่นเกาหลี") แบบแรกในบทความที่กล่าวถึง "ความกระตือรือร้นของผู้ชมชาวจีนต่อละครโทรทัศน์และเพลงป็อปเกาหลี"[18] ในประเทศจีน ก็มีการใช้คำว่า "ไข้ฮัน" ด้วยการนำปรากฏการณ์ไปเทียบกับโรคไข้หวัดนกที่แพร่ระบาดในประเทศ[19] คำนี้เข้าสู่การใช้งานแบบทั่วไปหลังการออกอากาศละครรักเกาหลี เพลงรักในสายลมหนาว ซึ่งประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่น[20]: 13
ฮัลลยูสื่อถึงการแพร่กระจายวัฒนธรรมเกาหลีใต้ระหว่างประเทศตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 หลังการปกครองของทหารสิ้นสุดลง และการเปิดเสรีอุตสาหกรรมวัฒนธรรม[21] คำนี้โดยหลักหมายถึงการแพร่กระจายของโทรทัศน์ เพลงป็อป ภาพยนตร์ และแฟชั่นเกาหลี แต่คำนี้อาจรวมถึงแอนิเมชัน วิดีโอเกม เทคโนโลยี วรรณกรรม เครื่องสำอาง และอาหารเกาหลีด้วย[22][23][24]: 1 ในขณะที่ฮัลลยูรุ่นแรกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 ยังคงจำกัดอยู่ในเอเชียและอ้างถึงความนิยมของละครและภาพยนตร์เกาหลีในทวีปนี้ รุ่นที่สอง หรือฮัลลยู 2.0 ได้รับแรงหนุนหลักจากความนิยมเคป็อปที่เผยแพร่ผ่านฐานช่องทางออนไลน์อย่างยูทูบ[25]
ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน กระแสเกาหลีเผชิญกับการสะท้อนกลับอย่างรุนแรงและมีการนำไปเปรียบเทียบกับจักรวรรดินิยมด้านวัฒนธรรม[26][17]: 422 โดยในประเทศจีนและไต้หวัน กระแสเกาหลีมักถูกเรียกเป็น "การรุกรานทางวัฒนธรรม" และจำกัดจำนวนละครโทรทัศน์เกาหลีให้แก่ผู้ชมชาวจีน[27][26][28] ในงาน Tai Ke Rock Concert เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005 Chang Chen-yue นักดนตรีชาวไต้หวัน ร้องเพลงแร็ปเหยียดผิวและผู้หญิงชื่อ "The Invasion of the Korean Wave" ซึ่งโจมตีทั้งแพ ยง-จุน, นักดนตรีหญิงชาวไต้หวัน และกระแสเกาหลี[29]
การสะท้อนกลับอย่างรุนแรงต่อกระแสเกาหลีอาจมีรากฐานมาจากลัทธิชาตินิยมหรือความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์[30][31] อุตสาหกรรมเคป็อปก็ถูกวิจารณ์ในด้านการสนับสนุนการเหมารวมคนเอเชียในทางเพศ[17]: 422
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.