กรณีพิพาทหมู่เกาะเซ็งกากุ ว่าด้วยกรณีพิพาทดินแดนเหนือกลุ่มเกาะร้าง ซึ่งเรียกว่าหมู่เกาะเซ็งกากุในญี่ปุ่น เตียวหยูในจีนแผ่นดินใหญ่[1] หรือ หมู่เกาะเตียวหยูไท ในไต้หวัน[2] ประเทศญี่ปุ่นปกครองกลุ่มเกาะดังกล่าวตั้งแต่ ค.ศ. 1895[3] นอกเหนือจากระหว่าง ค.ศ. 1945 ถึง 1972 ที่สหรัฐอเมริกาปกครองหมู่เกาะดังกล่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) โต้แย้งการเสนอการส่งมอบอธิปไตยคืนให้แก่ญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1971[4] และได้อ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะมานับแต่นั้น[5] สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เองก็คัดค้านเช่นกัน ดินแดนดังกล่าวอยู่ใกล้กับเส้นทางเดินเรือสำคัญ แหล่งประมงอันอุดมสมบูรณ์ และอาจมีน้ำมันสำรองอยู่ในพื้นที่[6]
จีนได้กล่าวอ้างถึงความเป็นเจ้าของหมู่เกาะดังกล่าว โดยมีจุดยืนดังนี้ [7]
- จีนได้ค้นพบและบันทึกหมู่เกาะดังกล่าวไว้ในแผนที่การเดินทางไว้ก่อน หมู่เกาะดังกล่าวเป็นชายแดนนอกชายฝั่งของจีนเพื่อใช้ในการป้องกันโจรสลัดญี่ปุ่น (Wokou) ในระหว่างปีพ.ศ. 1911 – 2454 (ค.ศ. 1368-1911) ซึ่งอยู่ในช่วงราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ทั้งนี้ แผนที่แสดงภูมิภาคเอเชียของจีน รวมถึงแผนที่ซึ่งจัดทำขึ้นโดยนักเขียนแผนที่ชาวญี่ปุ่นในช่วงคริสศตวรรษที่ 18 แสดงว่าหมู่เกาะเซ็งกากุ/เตียวหยู เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน (ขณะที่ ก่อนปี พ.ศ. 2427 ไม่มีข้อมูลอ้างอิงถึงหมู่เกาะดังกล่าวในเอกสารทางการของญี่ปุ่น) ต่อมาญี่ปุ่นยึดครองหมู่เกาะดังกล่าวในปี พ.ศ. 2438 ตามการลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ภายหลังจากที่จีนแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 อย่างไรก็ตาม จดหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) แสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการตอบสนองของจีน หากญี่ปุ่นแสดงท่าทีการยึดครองหมู่เกาะเซ็งกากุ/เตียวหยู อย่างเป็นทางการ ซึ่งบ่งชี้ว่าญี่ปุ่นรู้ว่าหมู่เกาะดังกล่าวไม่ใช่ดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ (Terra Nullius) อย่างที่ญี่ปุ่นได้กล่าวอ้างไว้
- ปฏิญญาพ็อทซ์ดัมระบุว่า "อำนาจอธิปไตยญี่ปุ่นจะจำกัด อยู่ที่เกาะฮนชู เกาะฮกไกโด เกาะคีวชู เกาะชิโกกุและเกาะเล็กอื่น ๆ ที่เรากำหนด ซึ่ง "เรา" หมายถึงผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองที่ประชุมกันที่เมืองพ็อทซ์ดัม (สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐประชาชนจีน) โดยญี่ปุ่นได้ยอมรับเงื่อนไขของประกาศดังกล่าว
- จีนออกมาประท้วงการโอนอำนาจการครอบครองหมู่เกาะเซ็งกากุ/เตียวหยู ของสหรัฐฯ เป็นของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) ทั้งนี้ จีนอ้างว่า นายเจียง ไคเชก หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ล้มเหลวในการต่อต้านการตัดสินใจของสหรัฐฯ ในการให้สิทธิการครอบครองหมู่เกาะเซ็งกากุ/เตียวหยูแก่ญี่ปุ่น เนื่องจากในช่วงดังกล่าว นายเชียงไคเช็กต้องการการสนับสนุนจากทางการสหรัฐฯนอกจากนี้ ในเดือน เมษายน 2555 ไต้หวันปฏิเสธคำเชิญจากจีนที่จะร่วมกันแก้ไขข้อพิพาทดินแดนกับญี่ปุ่น โดยจีนยังคงยืนยันในสิทธิการครอบครองหมู่เกาะดังกล่าว แม้ว่าจะเกิดกรณีพิพาทกับไต้หวัน
ญี่ปุ่นกล่าวอ้างว่า ได้สำรวจหมู่เกาะดังกล่าวช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และพบว่าเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ (terra nullius) และต่อมาจีนก็มิได้คัดค้านอธิปไตยของญี่ปุ่นบนหมู่เกาะดังกล่าวจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1970 ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันอ้างถึงหลักฐานเอกสารก่อนสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งระบุว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของจีน ดินแดนดังกล่าวจึงควรคืนแก่จีนเช่นเดียวกับดินแดนอื่นที่จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ส่งมอบคืนเมื่อ ค.ศ. 1945
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการกับกรณีพิพาทนี้[8] หมู่เกาะดังกล่าวปรากฏอยู่ใน U.S. Japan Security Treaty ซึ่งญี่ปุ่นอาจได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐอเมริกาเพื่อปกป้องดินแดนดังกล่าว[9]
เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ซื้อเกาะที่เหลือสามเกาะในหมู่เกาะดังกล่าวจากผู้ครอบครองเอกชน จนทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นครั้งใหญ่ในจีน[10]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.