Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ (4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2545) นักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี เยาวชน และแม่ชีในศาสนาพุทธ ผู้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี และ "มหาประชาบดีเถรีวิทยาลัย" วิทยาลัยแม่ชีแห่งแรกของประเทศไทย เกิดวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 ที่กรุงเทพมหานคร ในสกุล "สามเสน"
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
บทความชีวประวัตินี้เขียนเหมือนประวัติสมัครงาน |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
บิดาของคุณหญิงกนิษฐา นายมังกร สามเสน เป็นทนายความและคหบดีที่มีชื่อเสียง ได้รับแต่งตั้งให้มีบทบาทเสมือน วุฒิสมาชิก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ใหม่ ๆ ทำให้ น.ส.กนิษฐา สามเสน ในขณะนั้นได้รับการสนับสนุนให้เรียนต่อด้านบัญชีและกฎหมายที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หลังจบมัธยมปลาย จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ในยุคที่สตรีไม่ค่อยจะได้รับการสนับสนุนให้เรียนสูงๆ ทำให้เป็นนักศึกษาหญิงเพียง 1 ใน 10 คนของผู้เรียนกฎหมาย ในชั้นปีเดียวกันกว่า 300 คน และคุณหญิงกนิษฐาเคยเป็นดาวเด่นได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ในการแข่งขัน ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ อีกด้วย
เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรี ธรรมศาสตร์บัณฑิต ในปีพ.ศ. 2488 ได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่ American University และ Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Geneva University ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นผู้สนใจในงานด้านสังคมสงเคราะห์ จึงศึกษาเพิ่มเติมที่ Howard University ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วเริ่มต้นทำงานที่ กรมสหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศ
คุณหญิงกนิษฐา สมรสกับ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2493 มีบุตรธิดาด้วยกันรวม 3 คนคือ
หลังจากแต่งงานและมีบุตร คุณหญิงกนิษฐาได้ลาหยุด เพื่อเลี้ยงดูบุตรอยู่ 3 ปี จึงได้เริ่มงานอีกครั้งที่ บริษัทแสตนดาร์ดแวคคัมออยส์จำกัด (ปัจจุบันคือ ESSO) และ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ปัจจุบันคือ ททท.) ตามลำดับ หลังจากนั้นได้ทำงานที่องค์การยูซอม (USOM ปัจจุบันคือ UNAID) และในที่สุดได้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสมาคมไทยอเมริกัน ยาวนานถึง 21 ปี
ในปี พ.ศ. 2505 คุณหญิงกนิษฐารับตำแหน่ง นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย อีกตำแหน่งหนึ่งควบคู่กับตำแหน่ง เลขาธิการสมาคมไทยอเมริกัน มีภารกิจหลัก คือการระดมนักกฎหมายสตรี มาให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ให้ประชาชนฟรีทุกวันเสาร์ โดยขอยืมใช้สถานที่ใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่มาของ การได้รับรู้ปัญหาสตรีอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน ได้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ ต่อสตรี และความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ อันนำไปสู่ การลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงและเด็ก เช่น ล่อลวง ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ บังคับให้ค้าประเวณี เกิดปัญหาท้องเมื่อไม่พร้อม บ้างก็ถูกทารุณกรรม ทอดทิ้ง ติดเชื้อ HIV/AIDS จากบุคคลในครอบครัว ทำให้คุณหญิงกนิษฐาตัดสินใจเริ่มงานส่งเสริมสถานภาพสตรี ด้านกฎหมาย ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านศาสนา ตามลำดับ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี แม่ชีในพุทธศาสนา และเยาวชน อย่างต่อเนื่องถึง 50 ปีในเวลาต่อมา
เริ่มด้วยการรณรงค์ให้เกิดการทบทวนแก้ไขกฎหมาย ให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้หญิงและเด็ก ก่อตั้งกลุ่มส่งเสริมสถานภาพสตรีขึ้นในปี พ.ศ. 2518 จัดให้มีโครงการบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อเป็นที่พักพิงของผู้หญิง ที่ประสบปัญหาเดือดร้อน โดยเริ่มต้นขึ้นที่บ้านของตัวเอง ต่อมาเมื่อสถานที่คับแคบ เพราะมีผู้เดือดร้อนมาขอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น จึงได้หาที่ทำการใหม่ และจดทะเบียนเป็น สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
บ้านพักฉุกเฉินนี้ ได้เป็นที่พักพิงชั่วคราวของสตรี และเยาวชนที่ประสบปัญหาครอบครัว เช่น ท้องเมื่อไม่พร้อม หรือ ติดเชื้อ HIV/AIDS ถึงประมาณวันละ 150-200 คน โดยแต่ละคนได้รับการดูแลจากนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา ตามหลักสังคมสงเคราะห์
เมื่อตั้งบ้านพักฉุกเฉินเป็นที่พึ่งเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว คุณหญิงกนิษฐาเห็นว่า การศึกษา เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนา คุณภาพชีวิต จึงได้จัดตั้ง ศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพสตรี เพื่อเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนทางไกลสายสามัญ ในระดับชั้นมัธยมศึกษา และเสริมหลักสูตรวิชาชีพ ให้แก่สมาชิก บ้านพักฉุกเฉินและผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งจัดตั้งคลินิกเพื่อรับปรึกษาปัญหาสุขภาพผู้หญิง ขึ้นในบริเวณเดียวกัน จากการทุ่มเททำงานเพื่อสังคม อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ในปี พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า จึงได้ใช้คำนำหน้านามว่า "คุณหญิง" ตั้งแต่นั้นมา และต่อมาก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้า ในปี พ.ศ. 2522 และ ทุติยจุลจอมเกล้า ในปี พ.ศ. 2531
ในปี พ.ศ. 2533 เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และสร้างการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับมิติของหญิงชาย คุณหญิงกนิษฐาได้ร่วมกับ คุณหญิงกนก สามเสน วิล (น้องสาว) และ ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์ ก่อตั้ง สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ขึ้น เพื่อดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการ และรณรงค์ในระดับนโยบาย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสตรี ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทุกระดับ อันจะนำไปสู่ความเสมอภาคระหว่าง หญิงชายในสังคม
จนเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2536 ระหว่างที่ไปร่วมประชุมสตรีชาวพุทธสากล ครั้งที่ 3 ที่ประเทศศรีลังกา คุณหญิงกนิษฐาได้ตัดสินใจบวชเป็นแม่ชี ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่สาวๆ เพื่อมุ่งศึกษาพุทธธรรม และอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจัง โดยมีภาพของภคินีคาทอลิกเป็นต้นแบบ และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสถานภาพแม่ชีไทย ให้ได้รับการศึกษาและได้รับการยอมรับ จนในที่สุดได้ก่อตั้ง "มหาประชาบดีเถรีวิทยาลัย" ซึ่งเป็นวิทยาลัยการศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับสตรี แห่งแรกในประเทศไทยขึ้น ในสังกัดคณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้แม่ชี สามารถเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เผยแพร่ธรรมะ กล่อมเกลาจิตใจแก่ประชาชน ให้ได้ใช้ธรรมะในชีวิตประจำวัน
แม่ชีคุณหญิงกนิษฐาเห็นว่าเยาวชนเป็นพลังสำคัญของชาติ จึงได้ก่อตั้ง ศูนย์เยาวชนดอนเมืองร่วมพัฒนาสังคมไทย ขึ้นเพื่อฝึกอบรมเยาวชน ให้เป็นผู้นำ กล่อมเกลาให้มีทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสม เคารพในความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่เท่าเทียมกัน อีกทั้งปลูกฝังจิตสำนึก ให้รับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเททำงานถึง 50 ปี ทำให้ แม่ชีคุณหญิงกนิษฐา ได้รับยกย่องอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในฐานะบุคคลที่อุทิศตน เพื่อสังคมอย่างแท้จริง เป็นสตรี 1 ใน 12 คน ที่ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นของโลก, เป็น 1 ใน 5 คนที่ได้รับรางวัล Sacred Souls Award, ได้รับรางวัล สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา, ได้รับโล่เกียรติคุณ ในฐานะบุคคลที่มีผลงานและบทบาทดีเด่น สาขาแก้ไขปัญหาโสเภณี อีกทั้งยังได้รับ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาสังคม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
แม่ชีคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 สิริอายุที่สร้างคุณูปการแก่สังคมไทยได้ 82 ปี โดยได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.