มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช (เยอรมัน: Universität Leipzig; อังกฤษ: University of Leipzig) ตั้งอยู่ที่เมืองไลพ์ซิช รัฐซัคเซิน ประเทศเยอรมนี และเป็นมหาวิทยาลัยประจำเมืองไลพ์ซิช มีการเรียนการสอน 14 คณะ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ชื่อย่อ | Uni.Leipzig |
---|---|
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ |
สถาปนา | 2 ธันวาคม ค.ศ. 1409 |
ที่ตั้ง | |
เว็บไซต์ | www.uni-leipzig.de |
ประวัติ
มหาวิทยาลัยไลพ์ซิชก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1409 เป็นมหาวิทยาลัยลำดับที่ 3 ที่เปิดการเรียนการสอนในประเทศเยอรมนี (ต่อจาก มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค และมหาวิทยาลัยโคโลญ) แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอายุเก่าแก่อันดับสองของเยอรมนี ที่ยังคงมีการเรียนการสอนในปัจจุบัน เนื่องจากมหาวิทยาลัยโคโลญ มีการหยุดการเรียนการสอนไประยะหนึ่ง
ที่มาในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เนื่องจากในศตวรรษที่ 14 มีการแทรกแซงทางการเมืองในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงปราก ซึ่งการแทรกแซงดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มคณาจารย์ และนักศึกษาที่ใช้ภาษาเยอรมัน กลุ่มคณาจารย์นำโดยโยฮันน์ ฟอน มึนส์เทอร์แบร์ค (Johann von Münsterberg) โดยการสนับสนุนจาก เฟรดเดอริกที่หนึ่ง เจ้าผู้ครองรัฐซัคเซิน และ วิลเฮล์มที่สอง ผู้ปกครองเมืองไมเซิน ให้ย้ายมาเปิดการเรียนการสอน และจัดตั้งมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช โดยครั้งนั้น รวมจำนวนคณาจารย์และนักศึกษาประมาณ400 คน ได้ย้ายมาจากดำเนินการเรียนการสอนต่อที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช โดย โยฮันน์ ฟอน มวนสเตอร์เบือก (Johann von Münsterberg) เป็นอธิการบดีคนแรก โดยใช้เอากุสเทอูมและโบสถ์เซนต์เปาโล เป็นที่ทำการของมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น[1]
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองไลพ์ซิชเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีตะวันออก ซึ่งปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ ในปี ค.ศ. 1953 มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช จึงถูกเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยคาร์ล มาร์กซ์ ต่อมาเมื่อเกิดการรวมประเทศในปี ค.ศ. 1989 จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ดังเดิมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา[2]
เหตุการณ์สำคัญ
ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมีดังนี้[3]
ปี | เหตุการณ์ |
---|---|
พฤษภาคม ค.ศ. 1409 | คณาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอก จำนวน 46 คน และนักศึกษาจำนวน 369 คน อพยพออกจากกรุงปราก สหพันธรัฐปรัสเซีย |
ธันวาคม ค.ศ. 1409 | จัดตั้งมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช |
ค.ศ. 1415 | ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ |
ค.ศ. 1446 | ก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ |
ค.ศ. 1542 | จัดตั้งหอสมุดมหาวิทยาลัย |
ค.ศ. 1760 | เมืองไลพ์ซิช มีประชากรกว่า 30,000 คน และมหาวิทยาลัยมีนักศึกษารวม 600 คน |
ค.ศ. 1884 | จัดตั้งสถาบันทดสอบสุขภาพจิตแห่งแรกของโลก โดย วิลเฮล์ม วุนดท์ (Wilhelm Wundt) |
ค.ศ. 1933 | เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบอรก (Werner Heisenberg) ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี ค.ศ. 1932 จากแนวคิดเรื่องควอนตัม |
ค.ศ. 1945 | สงครามโลกครั้งที่สอง มหาวิทยาลัยปิดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว ผลพวงของสงครามทำให้หนังสือกว่าร้อยละ 70 ขอมหาวิทยาลัยเสียหาย |
ค.ศ. 1946 | มหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง |
ค.ศ. 1953 | มหาวิทยาลัยถูกเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยคาร์ลมาร์กซ์ |
ค.ศ. 1968 | คริสตจักรประจำมหาวิทยาลัยถูกทำลายภายใต้การสั่งการของผู้ปกครองประเทศเยอรมนีตะวันออก และผู้บริหารมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น |
ค.ศ. 1991 | มหาวิทยาลัย ได้กลับมาใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช อีกครั้งภายหลังการรวมประเทศ เป็นประเทศเยอรมนี |
ค.ศ. 2003 | เริ่มวางแผนการก่อสร้างอาคารคริสตจักรประจำมหาวิทยาลัย (โบสถ์นักบุญเปาโล) ขึ้นทดแทนของเดิมที่ถูกทำลาย โดยออกแบบเป็นอาคารหอประชุมแทนที่จะใช้เป็นคริสตจักร[4] |
ค.ศ. 2009 | มหาวิทยาลัยมีอายุครบ 600 ปี |
หอสมุดมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช
หอสมุดมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช หรือ หอสมุดอัลเบอตินา
คณะที่เปิดสอน
มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช มีคณะที่เปิดสอนในปัจจุบัน ทั้งสิ้น 14 คณะ มีหลักการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งสิ้นกว่า 150 หลักสูตร ณ ปีการศึกษา 2007/2008 มีนักศึกษาทั้งสิ้น 26,978 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นนักศึกษาต่างชาติ 2,347 คน[5]
รายชื่อคณะที่เปิดทำการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ในปัจจุบันทั้งสิ้น 14 คณะ [6] มีดังนี้
- คณะศาสนศาสตร์
- คณะนิติศาสตร์
- คณะประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และตะวันออกศึกษา
- คณะนิรุกติศาสตร์ (ภาษาศาสตร์)
- คณะศึกษาศาสตร์
- คณะสังคมศาสตร์และปรัชญา
- คณะเศรษฐศาสตร์และการจัดการ (รวมถึงวิศวกรรมโยธา)
- คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
- คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช
- คณะคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์
- คณะชีววิทยา เภสัชศาสตร์ และจิตวิทยา
- คณะฟิสิกส์และธรณีวิทยา
- คณะเคมี และแร่ธาตุ
- คณะสัตวแพทยศาสตร์
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช มีความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว อาจารย์ประจำหน่วยวิจัยเคมีคอมพิวเตอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมงานวิจัย และงานวิชาการร่วมกับ ดร.ซีกฟรีด ฟริทซ์เช่ อาจารย์ประจำสถาบันฟิสิกส์เชิงทฤษฎี คณะฟิสิกส์และธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช[7]
เกียรติประวัติ
คณาจารย์
- กูสทาฟ ลูดวิช เฮิร์ทซ (Gustav Ludwig Hertz) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี ค.ศ. 1925 ได้เข้าเป็นอาจารย์คณะฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ระหว่างปี ค.ศ. 1955 - ค.ศ. 1967
- ปีเตอร์ เดบาย (Peter Debye) นักเคมีฟิสิกส์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี ค.ศ. 1936 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิชระหว่างปี ค.ศ. 1927 - ค.ศ. 1936
- ธีโอดอร์ มอมเซน (Theodor Mommsen) นักประวัติศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1902 จากผลงานประวัติศาสตร์โรม ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ระหว่างปี ค.ศ. 1848 - ค.ศ. 1851
- นาธาน ซัวเดอร์โบลม (Nathan Söderblom) นักประวัติศาสตร์รางวัลโนเบล ประจำปี ค.ศ. 1930 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ระหว่างปี ค.ศ. 1912 - ค.ศ. 1914
- วิลเฮลม โอสท์วาล์ด (Wilhelm Ostwald) นักเคมีรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี ค.ศ. 1909 ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์คณะเคมี มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ระหว่างปี ค.ศ. 1887 - ค.ศ. 1906
- แวร์เนอร์ ไฮเซินแบร์ก (Werner Heisenberg) ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี ค.ศ. 1932 จากแนวคิดเรื่องควอนตัม
นักศึกษา
- กอทท์ฟรีด วิลเฮล์ม ไลบ์นิซ (ค.ศ. 1646 - ค.ศ. 1716) ปรัชญาเมธี และนักคณิตศาสตร์คนสำคัญ เป็นชาวเมืองไลพ์ซิชโดยกำเนิด และเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ระหว่างปี ค.ศ. 1661 - ค.ศ. 1666 ปัจจุบันอนุสวรีย์ของ กอทท์ฟรีด วิลเฮล์ม ไลบ์นิซ ได้จัดวางไว้ ณ ลานด้านหน้าอาคารเรียนคณะเศรษฐศาสตร์
- โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธอ (ค.ศ. 1749 - ค.ศ.1832) นักประพันธ์ นักวิจารณ์ ปรัชญาเมธีผู้โด่งดังของเยอรมนี สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตการทำงานที่เมืองไวมาร์ ปัจจุบัน อนุสวรีย์ของ โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธอ ได้จัดตั้งไว้ ณ ลานด้านหลังศาลาว่าการเมืองหลังเก่า
- ริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีที่เกิดในไลพ์ซิชเมื่อ ค.ศ. 1813 แม้จะไปใช้ชีวิตวัยเด็กในเดรสเดน แต่ก็กลับมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ก่อนจะผันตัวเองไปเป็นนักประพันธ์เพลง และอุปรากรในช่วงที่เหลือของชีวิต
- อังเงลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมันคนแรก และคนปัจจุบัน เป็นศิษย์เก่า คณะฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช ระหว่างปี ค.ศ. 1973 - ค.ศ. 1978
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.