เสือดาวอินโดจีน หรือ เสือดาวจีนใต้[1] (อังกฤษ: Indochinese leopard, South-Chinese leopard; ชื่อวิทยาศาสตร์: Panthera pardus delacouri) เป็นชนิดย่อยของเสือดาว (P. pardus) ชนิดหนึ่ง โดยชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ฌ็อง เตออดอร์ เดอลากูร์ นักปักษีวิทยาชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน[2]

ข้อมูลเบื้องต้น เสือดาวอินโดจีน, การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ ...
เสือดาวอินโดจีน
Thumb
เสือดาวอินโดจีนในสวนพฤษศาสตร์และสวนสัตว์ไซง่อน เวียดนาม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Felidae
สกุล: Panthera
สปีชีส์: P.  pardus
สปีชีส์ย่อย: P.  p. delacouri
Trinomial name
Panthera pardus delacouri
Pocock, 1930
ปิด

เสือดาวอินโดจีนมีรูปร่างและลักษณะคล้ายกับเสือดาวอินเดีย (P. pardus fusca) ที่พบในภูมิภาคอนุทวีปอินเดีย แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเล็กน้อย โดยมีสีขนออกเป็นสีแดงเข้ม แต้มจุดรอบนอกของลายขยุ้มตีนหมาค่อนข้างหนา ขนาดของลายขยุ้มตีนหมาโดยเฉลี่ยเล็กกว่าของเสือดาวอามูร์ (P. pardus orientalis) และเสือดาวจีนเหนือ (P. pardus japonensis) พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคใต้ของจีน ภาคตะวันออกของอินเดีย และหลายประเทศในภูมิภาคอินโดจีนรวมถึงประเทศไทย[3]

เสือดาวอินโดจีนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าชะตี้นของพม่ามีปริมาณลดลงอย่างมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940–1980 จนกระทั่งมีสถานะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในท้องถิ่นเมื่อถึงปี ค.ศ. 2000[4]

Thumb
กะโหลกของเสือดาวอินโดจีน

ในประเทศไทย พบกระจายพันธุ์ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในจังหวัดเพชรบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในจังหวัดอุทัยธานีและกาญจนบุรี โดยการศึกษาด้วยปลอกคอวิทยุในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบว่าเสือดาวอินโดจีนตัวผู้มีพื้นที่หากินประมาณ 14.6–18.0 ตารางกิโลเมตร (5.6–6.9 ตารางไมล์) และตัวเมียที่ 8.8 ตารางกิโลเมตร (3.4 ตารางไมล์) เสือดาวอินโดจีนต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์มีปริมาณอาหารที่เพียงพอ ในระดับต่ำกว่า 500–600 เมตร (1,600–2,000 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล ในช่วงฤดูฝนถิ่นที่อยู่จะขยายกว้างออกไป[5]

จากการติดตามศึกษาเสือดาวอินโดจีนจำนวน 10 ตัวในพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นระยะเวลา 9–41 เดือน พบว่าตัวผู้มีพื้นที่หากิน 35.2–64.6 กิโลเมตร (13.6–24.9 ตารางไมล์) และตัวเมียขนาดใหญ่ 6 ตัว 17.8–34.2 กิโลเมตร 2 (6.9–13.2 ตารางไมล์) และทั้งหมดได้ขยายถิ่นที่อยู่ในช่วงฤดูแล้งราวเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน เสือดาวอินโดจีนทั้งหมดอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบที่มีความลาดชันและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ[6]

ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาที่อยู่ในแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย พบเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่เดินผ่านกล้องในปี ค.ศ. 2004 และในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007[7]

เสือดาวอินโดจีนในไทยไม่มีพฤติกรรมซ่อนเหยื่อบนต้นไม้มากเหมือนเสือดาวแอฟริกา (P. pardus pardus) ในทวีปแอฟริกา และในพื้นที่ภาคใต้ พบเสือดาวที่เป็นเสือดำมาก สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะสภาพพื้นที่เป็นป่ารกทึบ[3]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.