โชคัง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโชคัง (ทิเบต: ཇོ་ཁང་, ไวลี: jo khang, พินอินทิเบต: qo kang) หรือ จุกลักคัง (ทิเบต: གཙུག་ལག་ཁང༌།, ไวลี: gtsug-lag-khang, พินอินทิเบต: Zuglagkang หรือ Tsuklakang) หรือในภาษาจีนเรียก ต้าเจาซื่อ (大昭寺, dà zhāo sì)เป็นวัดพุทธในลาซ่า ทิเบต ชาวทิเบตโดยทั่วไปเคารพบูชาวัดนี้ในฐานะวัดที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของทิเบต ปัจจุบันวัดโชคังอยู่ในนิกายเกลุก แต่ก็เปิดรับพุทธศาสนิกชนจากทุกนิกาย สถาปัตยกรรมของวัดผสมผสานวิหารอย่างอินเดีย, ทิเบต และเนปาล
โชคัง | |
---|---|
วัดโชคัง | |
ศาสนา | |
ศาสนา | ศาสนาพุทธแบบทิเบต |
นิกาย | เกลุก |
เทพ | พระศากยมุนีพุทธเจ้า |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | พาร์โกร์ ลาซ่า ทิเบต |
ประเทศ | จีน |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบ | วิหาร, ทิเบต, เนปาล |
ผู้ก่อตั้ง | ซงแจ็นกัมโป |
เริ่มก่อตั้ง | 7th century |
ชื่อทางการ | วัดอารามโชคัง |
บางส่วน | กลุ่มโบราณสถานพระราชวังโปตาลาในลาซ่า |
เกณฑ์พิจารณา | วัฒนธรรม: (i), (iv), (vi) |
อ้างอิง | 707ter-002 |
ขึ้นทะเบียน | 1994 (สมัยที่ 18th) |
เพิ่มเติม | 2000, 2001 |
พื้นที่ | 7.5 ha (810,000 sq ft) |
พื้นที่กันชน | 130 ha (14,000,000 sq ft) |
พิกัด | 29°39′11″N 91°2′51″E |
วัดนี้ถือเป็น "หัวใจทางจิตวิญญาณของนครลาซ่า" และเป็นสถานที่ที่ผู้คนให้ความเคารพสูงสุดในทิเบต[1][2][3] ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของเครือข่ายวัดพุทธโบราณในลาซ่า รวมถึงเป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมการค้าในลาซ่า โดยรอบของวัดเต็มไปด้วยถนนและซอกซอยที่มีร้านค้ามากมาย[2] โชคังตั้งอยู่ 1,000 เมตร (3,300 ฟุต) ทางตะวันออกของพระราชวังโปตาลา[4] โดยรอบของวัดเป็นจัตุรัสตลาดพาร์โกร์ ซึ่งมีทางเดินเท้าให้แก่ศาสนิกชนได้เดินจาริกรอบอาณาเขตของวัดซึ่งใช้เวลาเดินรอบราว 20 นาที[5]
ชาวทิเบตมองดินแดนของตนว่าถูกครอบครองโดยสิ่งมีชีวิตนามว่า srin ma (หรือ "sinma") ซึ่งเป็นปีศาจสตรีที่ต้านทานการเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา กษัตริย์ซงแจ็นกัมโปปฐมกษัตริย์แห่งทิเบตหลังรวมแผ่นดิน[6] ได้ริเริ่มแผนเพื่อต้านกับพลังของปีศาจนี้โดยสร้างวัดจำนวนสิบสองแห่งทั่วดินแดนทิเบต โดยจะสร้างขึ้นในสามช่วง ช่วงแรกประกอบด้วยสี่วัดในใจกลางของทิเบต เรียกว่า "เขาสัตว์ทั้งสี่" (ru bzhi) สี่วัดต่อมาจะสร้างในพื้นที่ท่อยู่ห่างนอกออกไปอีก (mtha'dul) และสี่วัดสุดท้าย yang'dul สร้างอยู่ที่พรมแดนของทิเบต และโชคังสร้างขึ้นท้ายสุดเพื่อเป็นศูนย์กลางของ srin ma ถือเป็นการจบพลังของปีศาจตนนี้[7]
ส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของวัดสร้างขึ้นในปี 652 โดยซงแจ็นกัมโป กษัตริย์องค์นี้ได้ร่อนหมวก (บ้างว่าเป็นแหวน) ออกไปเพื่อหาสถานที่เหมาะสมแก่การสร้างวัด[8] หมวกนั้นหล่นลงในทะเลสาบหนึ่ง และทันใดนั้นก็มีสถูปผุดขึ้นมาจากทะเลสาบ[9] วัดโชคังจึ้งสร้างขึ้นตรงที่นี้ ในตำนานอีกรูปแบบหนึ่งเล่าว่าราชินี Bhrikuti สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อประดิษฐานเทวรูปที่ได้นำมา และราชินี Wencheng ได้เลือกที่ตรงนี้ตามหลักฮวงจุ้ยของจีน[6] ทะเลสาบที่ว่านั้นถูกถมขึ้นมาและสร้างวัดขึ้นบนที่ที่ถมขึ้นมานั้น ปัจจุบันยังคงเหลือให้เห็นเพียงบ่อน้ำเล็ก ๆ ตลอดเก้าศตวรรษถัดมา วัดมีการขยับขยายออกเรื่อยมา ครั้งสุดท้ายคือในปี 1610 โดยองค์ทาไลลามะที่ห้า[9]
สมัยที่จีนเข้ายึดครองทิเบตและเข้ามาทำการพัฒนาพื้นที่ลาซ่า รัฐบาลจีนได้ทำลายทางเดินรอบวัดที่เชื่อมกับลานจัตุรัสด้านหน้าทิ้ง ทางเดินภายมนถูกแปลงเป็นตลาดนัด เหลือทางเดินให้แก่ผู้มาจาริกแสวงบุญเพียงเล็กน้อย ส่วนศาสนวัตถุต่าง ๆ ในจัตุรัสหน้าวัดถูกนำไปขายทิ้ง[9] ต่อมาในสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรม ยุวชนแดงได้เข้าโจมตีวัดโชคังในปี 1966 เริ่มต้นในวันที่ 24 สิงหาคม[10][11] และนับจากนั้นเป็นเวลาร่วมทศวรรษ ไม่มีการประกอบศาสนกิจภายในโชคังและพุทธารามทิเบตใด ๆ อีก โชคังเริ่มถูกบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งในปี 1972 แล้วเสร็จเป็นส่วนใหญ่ในปี 1980 หลังจากนั้นวัดได้กลับมาประกอบศาสนกิจดังเดิม ปัจจุบันวัดเป็นศาสนสถานสำคัญของทิเบต ผู้คนมากมายเดินทางมาเพื่อสักการะเทวรูปของโชโพรินโปเช ภายในวิหารด้านในสุดของวัด[12] ในสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น วัดโชคังรอดพ้นจากการถูกทำลายล้าง และมีบันทึกไว้ว่าวัดถูกล้อมปิดไม่ให้ใครเข้าจนถึงปี 1979[9] ในระหว่างนั้น มีบันทึกว่าภายในวัดโชคังบางส่วนถูกใช้งานเป็นโรงเลี้ยงหมู โรงฆ่าหมู และเป็นที่ตั้งของกองทัพจีน วรรณกรรมทิเบตภายในวัดถูกทหารเผาทิ้ง และในช่วงเวลาหนึ่ง วัดโชคังเคยถูกใช้เป็นโรงแรม[13]
ในปี 2000 โชคังได้รับการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก ในฐานะส่วนต่อขยายของพระราชวังโปตาลา ซึ่งขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี 1994[14][15]
ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2018 เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณวัดที่เวลา 18:40 ตามเวลาท้องถิ่น มีภาพถ่ายและวิดีโอจำนวนมากที่ถูกเผยแพร่ไปบนสื่อสังคมของจีน แสดงให้เห็นหลังคาโค้งถูกเพลิงขนาดใหญ่โหมไหม้ และมีควันพวยพุ่งขึ้นมาจำนวนมาก แต่ต่อมาภาพเหล่านี้ถูกปิดกั้นการมองเห็นและหายไปจากสื่อสังคมของจีน สำนักข่าวทางการของรัฐจีน Tibet Daily อ้างทางออนไลน์ว่าเพลิงไหม้ "ถูกดับอย่างรวดเร็ว" และ "ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต" ตามด้วย People's Daily ตีพิมพ์เนื้อหาเดียวกันนี้ออนไลน์และรายงานเพิ่มเติมว่า "พุทธศาสนวัตถุภายในวัดไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ" กระนั้น รายงานทั้งสองชุดนี้ไม่มีภาพประกอบ[16] วัดถูกปิดไม่ให้เข้าชมชั่วคราว ก่อนจะเปิดอีกครั้งในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ตามข้อมูลของสำนักข่าวซินหัว[17] อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าจีวรสีเหลืองของเทวรูปโชโพรินโปเช พระองค์หลักของวัด เป็นผ้าชิ้นใหม่ รวมถึงคำสั่งห้ามมิให้ขึ้นไปชั้นสองของวัด ตามแหล่งข้อมูลของ Radio Free Asia ภาคภาษาทิเบต[18]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.