เนื่องจากไดโนเสาร์ มีชีวิตอยู่ในช่วงมหายุคมีโซโซอิก ซากดึกดำบรรพ์ ไดโนเสาร์จึงอยู่ในชั้นของหินตะกอน ที่สะสมตัวกันในช่วงนี้ ซึ่งในประเทศไทย หินที่มีอายุดังกล่าวพบอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ราบสูงโคราช และพบอยู่เป็นแห่งๆ ในภาคเหนือ และภาคใต้ หินบริเวณที่ราบสูงโคราชนั้น เรียกว่า กลุ่มหินโคราช ซึ่งแบ่งออกเป็นหมวดหินย่อยๆ ได้อีก 6 หมวด คือ
หมวดหินน้ำพอง (มีอายุ 200 ล้านปี)
หมวดหินภูกระดึง (มีอายุ 190-150 ล้านปี)
หมวดหินพระวิหาร (มีอายุ 140 ล้านปี)
หมวดหินเสาขัว (มีอายุ 130 ล้านปี)
หมวดหินภูพาน (มีอายุ 120 ล้านปี)
หมวดหินโคกกรวด (มีอายุ 100 ล้านปี)
การค้นหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นได้ไม่นาน โดยในปี พ.ศ. 2519 กรมทรัพยากรธรณี ได้ค้นพบโครงกระดูกขนาดใหญ่ในเขตอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งผลการวิจัยขณะนั้นทราบเพียงว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด มีความยาวประมาณ 15 เมตร นับว่าเป็นรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 และ พ.ศ. 2525 ได้มีการสำรวจที่บริเวณภูเวียงอีกทำให้พบกระดูกส่วนต่างๆ ของไดโนเสาร์และสัตว์อื่นๆอีกมากมายหลายชนิดเป็นจำนวนมากอยู่ในชั้นหิน จึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์อย่างจริงจัง[1]
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย สามารถแยกออกเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุคไทรแอสสิก
พ.ศ. 2550 ได้สำรวจพบพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ในพื้นที่ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ได้ขุดชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ส่วนขา สันหลังจำนวนกว่า 10 ชิ้นที่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ คาดว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อในยุคไทรแอสสิก อายุประมาณ 210 ล้านปี โดยเจอที่ชั้นกลุ่มหินน้ำพอง ห่างจากภูกระดึงประมาณ 6 กม.[2]
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุคไทรแอสสิกตอนปลาย
ในปี พ.ศ. 2535 กรมทรัพยากรธรณีสำรวจพบกระดูกสะโพกส่วนหน้าของไดโนเสาร์โพรซอโรพอด ที่ชั้นหินทรายสีแดงของหมวดหินน้ำพอง ในเขตอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ มีอายุประมาณ 200 ล้านปี นับเป็นโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนับเป็นการพบซากดึกดำบรรพ์โพรซอโรพอดเป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับฟอสซิลชนิดนี้จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก พบว่าโพรซอโรพอดของไทยมีขนาดใหญ่ แข็งแรง อาจยาวถึง 8 เมตร
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุคจูแรสสิก
ในปี พ.ศ. 2539 คณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสได้พบแหล่งซากดึกดำบรรพ์ฟันไดโนเสาร์ที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในชั้นหินของหมวดหินภูกระดึง อายุประมาณ 150-190 ล้านปี เป็นฟันของไดโนเสาร์เทอโรพอด ไดโนเสาร์ซอโรพอด และไดโนเสาร์สเทโกซอร์ ซึ่งเป็นการพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สเทโกซอร์ครั้งแรกในประเทศไทย
ซากดึกดำบรรพ์คอมพ์ซอกนาธัส
คอมพ์ซอกนาธัส เป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดตัวเล็กที่สุด แต่เดิมพบเฉพาะในบริเวณประเทศเยอรมนี และประเทศฝรั่งเศส สำหรับในประเทศไทยพบซากดึกดำบรรพ์คอมพ์ซอกนาธัสที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบเป็นกระดูกชิ้นเล็กๆ สองชิ้น มีรูกลวงตรงกลางคล้ายกระดูกนกหรือกระดูกไก่ หลังการตรวจสอบพบว่าเป็นกระดูกขาหลังท่อนล่างชิ้นหนึ่ง และเป็นกระดูกขาหน้าชิ้นบนอีกชิ้นหนึ่งคของไดโนเสาร์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคอมพ์ซอกนาธัสที่พบในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุคครีเทเชียส
มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุค ครีเทเชียส เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งจำแนกออกได้ดังนี้
การค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์
พบในชั้นหินของหมวดหินพระวิหาร อายุประมาณ 140 ล้านปี บริเวณที่พบมี 4 แห่ง ได้แก่
บริเวณลานหินป่าชาด อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
พบรอยเท้าไดโนเสาร์ซึ่งทำให้ทราบว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ เดินด้วยขาหลัง เคลื่อนไหวว่องไว มีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังพบรอยเท้าไดโนเสาร์พวกคาร์โนซอร์ ที่มีขนาดใหญ่กว่า
พบรอยเท้าไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดใหญ่ มีรอยเท้ากว้าง 26 ซม. ยาว 31 ซม. รวมทั้งพวกออร์นิโธพอด และซีลูโรซอร์ ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ขนาดเล็ก รอยเท้ากว้าง 14 ซม. ยาว 13.7 ซม.
พบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่พวกคาร์โนซอร์ รอยเท้ากว้าง 40 ซม. ยาว 45 ซม.
พบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดย่อม แต่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์บริเวณแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง
มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์หลายชนิดในชั้นหินของหมวดหินเสาขัว บริเวณแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง ดังนี้
สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส ในแสตมป์เมื่อปี พ.ศ. 2540
ซากดึกดำบรรพ์สยามโมไทรันนัส ถูกค้นพบที่บริเวณหินลาดยาว อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 โดยพบกระดูกสันหลังหลายชิ้นโผล่ออกมาจากชั้นดินทรายสีแดงของหินหมวดเสาขัว ต่อมาพบกระดูกสะโพกด้านซ้าย และกระดูกส่วนหางอีกหลายชิ้นเรียงต่อกัน หลังจากที่คณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้วก็พบว่า เป็นไดโนเสาร์ตระกูลใหม่ของไทย จึงได้ตั้งชื่อว่า สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis )
ไฟล์:ไดโนเสาร์11.jpg ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน
ซากดึกดำบรรพ์ภูเวียงโกซอรัส ถูกค้นพบที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนคอ 3 ชิ้น กระดูกสันหลังส่วนกลางตัว 4 ชิ้น กระดูกซี่โครงหลายชิ้น กระดูกสะบักซ้ายและส่วนปลายสะบักขวา กระดูกต้นขาหน้าซ้าย บางส่วนของกระดูกแขน กระดูกสะโพกทั้งสองข้าง กระดูกต้นขาทั้งสองข้าง และกระดูกหน้าแข้งซ้าย ลักษณะของกระดูกที่พบบอกได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ มีขนาดใกล้เคียงกับ คัมมาราซอรัส ที่ถูกค้นพบในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว จึงอัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosauraus sirindhornae )
ไฟล์:Buffetaut1986-6.jpg สยามโมซอรัส สุธีธรนี ในแสตมป์
ซากดึกดำบรรพ์สยามโมซอรัส พบเพียงแค่ฟัน ที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยฟันที่ค้นพบมีลักษณะเป็นแท่งกรวยปลายแหลม มีสันเล็กๆ ยาวตลอดฟัน ซึ่งต่างจากฟันของไดโนเสาร์เทอโรพอด ทั่วไป ที่แบน และมีรอยหยัก สันนิษฐานว่าสยามโมซอรัสเป็นเทอโรพอดที่มีลักษณะปากคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน พวกกินปลา หรือเพลสซิโอซอร์ และได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวราวุธ สุธีธร ผู้ค้นพบ ว่า สยามโมซอรัส สุธีธรนี (Siamosaurus suteethorni )[3]
ซากดึกดำบรรพ์กินรีไมมัส ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2552
ซากดึกดำบรรพ์คาร์โนซอร์ พบเพียงแค่ฟัน ที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยฟันที่ค้นพบมีลักษณะแบน ปลายแหลม โค้งงอเล็กน้อยคล้ายมีดโค้ง ที่ขอบมีรอยหยักเหมือนมีดหั่นเนื้อ ฟันลักษณะนี้เป็นฟันของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่พวกเทอโรพอด ซึ่งคาดว่าเป็นไดโนเสาร์คาร์โนซอร์
ซากดึกดำบรรพ์ ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมี Phuwiangvenator yaemniyomi[4]
ซากดึกดำบรรพ์ วายุแรปเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส Vayuraptor nongbualamphuensis[4]
จากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากที่แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียงนี่เอง ทำให้บริเวณนี้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ภูเวียง ในปี พ.ศ. 2535 และเป็นอุทยานไดโนเสาร์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ไฟล์:Buffetaut1992-9.jpg ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กี ในแสตมป์
ซากดึกดำบรรพ์ซิททาโคซอรัส
ซิตตะโกซอรัส เป็นไดโนเสาร์ปากนกแก้วชนิดหนึ่ง แต่เดิมพบเฉพาะในบริเวณประเทศจีน ประเทศมองโกเลีย และไซบีเรีย สำหรับในประเทศไทยพบซากดึกดำบรรพ์ซิททาโคซอรัสที่จังหวัดชัยภูมิ ในชั้นหินของหมวดหินโคกกรวด ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่เป็นกะโหลกด้านซ้าย และกรามล่างด้านขวาที่มีฟันครบ และได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายนเรศ สัตยารักษ์ ผู้ค้นพบว่า ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กี (Psittacosaurus sattayaraki )
ดร.จงพันธ์ จงลักษมณี นักโบราณชีววิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ได้พบฟอสซิลของอิกธิโอซอร์ ขนาดตัวยาวเพียง 20 ซม. ในหินปูนยุคไทรแอสสิกตอนปลาย ที่เขาทอง จังหวัดพัทลุง อิกธิโอซอร์ที่พบตัวนี้มีวิวัฒนาการอยู่ในช่วงปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในทะเลยังไม่สมบูรณ์ดี แขนทั้งสองข้างยังเปลี่ยนเป็นใบพายไม่สมบูรณ์นัก รูปร่างและโครงสร้างของกะโหลกยังเหลือร่องรอยของการสืบทอดจากสัตว์บกอยู่มาก
ฟอสซิลของอิกธิโอซอร์ชิ้นนี้นั้บเป็นอิกธิโอซอร์ที่โบราณมาก แตกต่างไปจากพวกที่เคยพบมาแล้ว จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ไทยซอรัส จงลักษมณี" (Thaisaurus chonglakmanii) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ
เป็นไดโนเสาร์กลุ่ม Iguanodontia ที่พบชิ้นส่วนของขากรรไกรบนด้านซ้ายที่สมบูรณ์และมีฟันติดอยู่ มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว พบที่บ้านสะพานหิน ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวิทยา นิ่มงาม ผู้ค้นพบว่า สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami )
แหล่งที่พบคือ บริเวณสระน้ำของหมู่บ้านโป่งแมลงวัน ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยซากดึกดำบรรพ์ราชสีมาซอรัสได้ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2554
ซากดึกดำบรรพ์ อีสานโนดัส พาลาเดซิ
ซากดึกดำบรรพ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์
หลังจากที่มีการค้นพบซากฟอสซิลครั้งแรกเมื่อปี 2551 ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 จังหวัดกาฬสินธุ์ได้พบฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่ของโลก และชนิดกินพืชตัวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยนักวิจัยระบุอยู่ในยุคจูราสสิกตอนปลายอายุ 150 ล้านปี[5]
ซากดึกดำบรรพ์ โคราโตดัส ฟอเรย์อี
ซากดึกดำบรรพ์ มุกดาหารโนดัส ไตรศิวกุลไล
Adun Samathi; Phornphen Chanthasit; P. Martin Sander (2019). "Two new basal coelurosaurian theropod dinosaurs from the Lower Cretaceous Sao Khua Formation of Thailand". Acta Palaeontologica Polonica . 64 . doi :10.4202/app.00540.2018 .
[1]
วราวุธ สุธีธร, ไดโนเสาร์ของไทย , ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมทรัพยากรธรณี, 2545. ISBN 9740125999 . 6. ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา, ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังน้ำจืดชนิดและสกุลใหม่ของโลกที่พบในประเทศ , ม.ป.ท., ม.ป.พ.