Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล หรือเรียกอย่างง่ายว่า เคเบิลทีวี (อังกฤษ: Cable television) เป็นระบบการส่งสัญญาณรายการโทรทัศน์ไปถึงผู้ชมทางบ้านผ่านสายเคเบิล แทนการส่งสัญญาณทางอากาศ เริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2491 แต่เดิมจะใช้ในภูมิประเทศที่เป็นภูเขาหรือหุบเขา เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับภาพให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันพัฒนาเป็นการส่งสัญญาณโดยใช้สายไฟเบอร์ออปติก และเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ระบบการบอกรับเป็นสมาชิก
โทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล ที่ได้รับสัมปทานจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เป็นรายแรกคือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือไอบีซี เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2532 มีอายุสัมปทาน 20 ปี (ถึงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552) โดยให้บริการทั้งระบบอนาล็อกและดิจิตอล ผ่านคลื่น, ระบบไมโครเวฟแบบบริการกระจายสัญญาณแบบหลายจุดหลายช่อง (Multichannel Multipoint Distribution Service) และจานดาวเทียมระบบ KU-Band ต่อมา ไอบีซีขอขยายระยะเวลาสัมปทานกับ อ.ส.ม.ท. อีกประมาณ 5 ปี 5 เดือน จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 อ.ส.ม.ท.อนุญาตให้เพิ่มผู้ประกอบกิจการรายใหม่คือ บริษัท ยูทีวี เคเบิล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือยูทีวี เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรมและสมดุล ซึ่งต่อมามีการขยายระยะเวลาสัมปทาน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยให้บริการทั้งระบบอนาล็อก และดิจิตอล ผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง และโคแอกเชียล ซึ่งต่อมามีการซื้อหุ้นและรวมกิจการกัน โดยเปลี่ยนชื่อเป็นยูบีซี ซึ่งปัจจุบันคือทรูวิชันส์
โทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลระดับท้องถิ่น (อังกฤษ: Local Cable Television) เป็นชื่อเรียกผู้ให้บริการส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล ไปยังบ้านเรือนที่เป็นสมาชิกโดยตรง ซึ่งมีเขตการให้บริการอยู่ในแต่ละท้องถิ่นของประเทศไทย ถือเป็นธุรกิจขนาดกลาง มีรายได้จากการจำหน่ายบริการแก่สมาชิก ซึ่งผู้ใช้บริการจะอาศัยอยู่ในแถบชานเมือง หรือตัวเมืองในต่างจังหวัด เนื่องจากคุณภาพในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบนี้ ให้ความคมชัดมากกว่าการใช้เสาอากาศ และยังมีช่องรายการให้รับชมเป็นจำนวนมาก[1]
ผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลทั่วประเทศ รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยมีสมาชิกทั้งสิ้น 250 บริษัททั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมเครือข่ายรวม 500 สถานีฯ และมีสมาชิกกว่า 2,000,000 ราย[2]
ผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลระดับท้องถิ่น ซึ่งมีผู้รับบริการรวมกว่า 1.5 ล้านรายทั่วประเทศ เป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดเดิมมาตลอด แต่ภายหลังมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ในช่วงสิบปีหลังมานี้มีการแข่งขันสูง[3] เนื่องจากผู้ให้บริการรายใหม่แทบไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม เพราะมีการเดินสายเคเบิลครอบคลุมพื้นที่กลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว ไม่ต้องมีโครงข่ายใหญ่โต เพียงครอบคลุมจังหวัดของตนเองก็เพียงพอ[1] เฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า 1,000 รายทั่วประเทศ โดยมีทั้งที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และที่ลักลอบประกอบการอยู่ ตามท้องถิ่นห่างไกล และตามหุบเขาต่างๆ[4]
ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2550 สมาคมฯ มีมติให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก จัดเรียงช่องรายการที่ออกอากาศ ให้เป็นรูปแบบเดียวกันในช่อง 21-40 รวมทั้งสิ้น 20 ช่องคือ ช่อง 21 เอ็มไอซี, ช่อง 22 เอ็มวีทีวี, ช่อง 23 ฮิต สเตชัน, ช่อง 24 เอช พลัส แชนแนล, ช่อง 25 สตาร์ แชนแนล, ช่อง 26 เอ็มวีนิวส์, ช่อง 27 เอส สเตชัน, ช่อง 28 เนชั่น แชนแนล, ช่อง 29 เอชเอสเอ, ช่อง 30 มันนีแชนแนล, ช่อง 31 นิวส์วัน, ช่อง 32 ไทยแลนด์ เอาต์ลุก แชนแนล, ช่อง 33 เอเอสทีวี 3 แฮปปี วาไรตี แชนแนล, ช่อง 34 อีสาน ดิสคัฟเวอรี, ช่อง 35 สถานีสุวรรณภูมิ, ช่อง 36 เพื่อแผ่นดิน, ช่อง 37 จอยทีวี, ช่อง 38 ไลฟ์ทีวี, ช่อง 39 สไมล์ทีวีเน็ตเวิร์ก และช่อง 40 เอ็มทีวี เอเชีย[5]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.