อนุสรณ์สถานแด่ชาวยิวผู้ถูกสังหารในยุโรป
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสรณ์สถานชาวยิวผู้ถูกสังหารในยุโรป (อังกฤษ: Memorial to the Murdered Jews of Europe,[1] เยอรมัน: Denkmal für die ermordeten Juden Europas) หรือ อนุสรณ์สถานฮอโลคอสต์ (เยอรมัน: Holocaust-Mahnmal) เป็นอนุสรณ์สถานในเบอร์ลินที่ระลึกถึงเหยื่อชาวยิวจากฮอโลคอสต์ ผลงานออกแบบโดย ปีเตอร์ ไอเซนมัน และ บูโร ฮัพโพลด์ มีขนาดพื้นที่รวม 19,000-ตารางเมตร (200,000-ตารางฟุต)[2][3] ซึ่งเต็มไปด้วยแผ่นคอนกรีต 2,711 ชิ้นที่วางเรียกกันเป็นรูปแบบกริด บนลานซึ่งมีความชัน แปลนเดิมตั้งใจจะสร้างแผ่นคอนกรีตรวม 4,000 แผ่น แต่หลังการคำนวณใหม่เพื่อให้เข้ากันได้กับกฎหมาย ปริมาณสูงสุดที่จะสร้างแผ่นคอนกรีตได้คือ 2,711 แผ่น แผ่นคอนกรีตเหล่านี้เรียกว่า สเตเล (stelae) และแต่ละแผ่นมีความขาว 2.38 m (7 ft 9 1⁄2 in) กว้าง 0.95 m (3 ft 1 1⁄2 in) และมีความสูงต่างกันไประหว่าง 0.2 ถึง 4.7 เมตร (8 นิ้ว ถึง 15 ฟุต 5 นิ้ว)[2] วางเรียงกันเป็นแถวรวม 54 แถวจากเหนือจรดใต้ และ 87 แถวในทิศตะวันออกจรดตะวันตก ทำมุมฉากกันแต่เอียงเล็กน้อย[4][5] ใต้ดินของอนุสรณ์สถานเป็น "สถานข้อมูล" (เยอรมัน: Ort der Information) ซึ่งแสดงรายชื่อชาวยิวราวสามล้านคนที่ถูกสังหารในฮอโลคอสต์ ซึ่งได้รับมาจากยัดวาเชมในอิสราเอล[6]
Denkmal für die ermordeten Juden Europas | |
ภาพมุมกว้างมองจากทางใต้ | |
พิกัด | 52°30′50″N 13°22′44″E |
---|---|
ที่ตั้ง | เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี |
ผู้ออกแบบ | ปีเตอร์ ไอเซนมัน |
วัสดุ | คอนกรีต |
เริ่มก่อสร้าง | 1 เมษายน 2003 |
สร้างเสร็จ | 15 ธันวาคม 2004 |
วันที่อุทิศ | 10 พฤษภาคม 2005 |
อุทิศแด่ | เหยื่อชาวยิวจากฮอโลคอสต์ |
เว็บไซต์ | stiftung-denkmal.de |
อนุสรณ์สถานเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อ 1 เมษายน 2003 แล้วเสร็จนวันที่ 15 ธันวาคม 2004 มีพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อ 10 พฆษภาคม 2005 หกสิบปีนับจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดในยุโรป ก่อนจะเปิดสู่สาธารณชนในอีกสองวันให้หลัง อนุสรณ์สถานตั้งอยู่ห่างไปจากประตูบรันเดนบวร์กหนึ่งช่อง ในย่านมิตเตอ ค่าใช้จ่ายก่อสร้างอยู่ที่ €25 ล้าน[7]
ตามข้อมูลโครงการของไอเซนมัน สเตเล (stelae) ถูกออกแบบและวางเรียงเพื่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัว (uneasy) สร้างบรรยากาศสับสน และประติมากรรมโดยรวมนั้นมีเป้าหมายเพื่อแสดงถึงระบบสั่งการที่ควรจะตัดขาดกับการให้เหตุผลของมนุษย์ (a supposedly ordered system that has lost touch with human reason)[8] การออกแบบนี้เป็นการท้าทายแนวคิดแบบธรรมเนียมเกี่ยวกับการสร้างอนุสรณ์สถาน เป็นต้นว่าจำนวนตัวเลขและการออกแบบล้วนไม่ได้มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ใด ๆ[9][10]
กระนั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอนุสรณ์สถานมีความคล้ายคลึงกันกับสุสาน[11][12][13] ด้วยลักษณะเป็นนามธรรมของชิ้นงานนี้ทำให้สามารถตีความได้แตกต่างกันไป หนึ่งในการตีความที่พบบ่อยที่สุดคือการตีความเป็นสุสาน บ้างเปรยกับลักษณะของสุสานที่ศพถูกโยนลงในหลุมโดยไม่มีการระบุตัวตนใด ๆ[3] แม้ว่าแผ่นคอนกรีตแต่ละแผ่นจะมีขนาดใกล้เคียงกับโลงศพ แต่ไอเซนมันเองได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีความตั้งใจจะให้มันออกมาดูเหมือนโลงศพหรือหลุมศพใด ๆ[14]
อนุสรณ์สถานนี้ถูกวิจารณ์ว่าระลึกถึงเพียงแต่เหยื่อฮอโลคอสต์ที่เป็นชาวยิว[15] กระนั้น นับจากอนุสรณ์สถานนี้เปิด ก็มีอนุสรณ์สถานแห่งอื่นที่ระลึกถึงกลุ่มเฉพาะที่เป็นเหยื่อจากฮอโลคอสต์และนาซีเกิดขึ้น เช่น อนุสรณ์สถานแด่คนรักร่วมเพศที่ถูกสังหารภายใต้ลัทธินาซี (ปี 2008) และอนุสรณ์สถานแด่เหยื่อชาวซินตีและชาวโรมาจากแนวคิดชาตินิยมสังคมนิยม (ปี 2012) มีผู้วิจารณ์จำนวนมากเสนอว่าการออกแบบอนุสรณ์สถานควรแสดงรายชื่อของเหยื่อไปจนถึงจำนวนของเหยื่อที่ถูกสังหารและสถานที่ที่มีการสังหารเหยื่อเหล่านี้
เนื่องจากบริเวณของอนุสรณ์สถานยังถูกใช้งานเป็นพื้นที่นันทนาการในย่านใจกลางนครเบอร์ลิน ทำให้มีความโกรธเคืองเกิดขึ้นเมื่อมีผู้พบเห็นการใช้งานอนุสรณ์สถานนี้อย่างสนุกสนานและมองว่าเป็นการดูหมิ่นสถานที่ นักวิจารณ์สถาปัตยกรรม นิโกไล อูรูสซอฟ ระบุว่า "วันที่ผมเดินทางไปเยือนอนุสรณ์นี้ [ผมพบกับ]เด็กชายวัยสองขวบกำลังเล่นอยู่บนยอดของเสา – พยายามที่จะปีนป่ายจากเสาหนึ่งไปอีกเสา ในขณะที่แม่ของเขาจับมือเด็กน้อยโดยเนิบ"[16] ในปี 2016 เกิดข้อครหาขึ้นหลังมีรายงานโดยมูลนิธิของอนุสรณ์สถานว่าแอปเกม Pokémon Go ใช้อนุสรณ์สถานนี้เป็นหนึ่งในจุดที่ผู้เล่นสามารถมาจับตัวโปเกม่อนได้[17] ผู้คนจำนวนมากโกรธเคืองกรณีนี้เพราะมองว่าเป็นการดูหมิ่นสถานที่[17] ในต้นปี 2017 ศิลปินชาวอิสราเอล ชาฮัก ชาปีรา สังเกตเห็นคนหนุ่มสาวจำนวนมากเผยแพร่ภาพบนสื่อสังคม เช่น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทินเดอร์ และ ไกรน์เดอร์ ด้วยภาพเซลฟีของตนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มถ่ายที่อนุสรณ์สถานนี้ ไปจนถึงภาพถ่ายของตนทำโยคะ กระโดด หรือเต้นรำบนแผ่นคอนกรีตของอนุสรณ์สถาน เขาจึงทำการสร้างโครงการศิลปะซึ่งนำเอาภาพเหล่านี้ไปวางตัดกัน (juxtaposing) กับภาพถ่ายจากค่ายสังหารหมู่ของนาซี เพื่อเตือนให้ระลึกถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่อนุสรณ์สถานเช่นนี้ โดยเขาตั้งชื่อผลงานชุดนี้ว่า "Yolocaust"[18] ("โยโล่คอสต์" เป็นการเล่นคำโดยผสมคำว่า "โยโล่" เข้ากับฮอโลคอสต์)
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.