มหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ หรือ มหาวิทยาลัยอังกฤษภาคตะวันตก (University of the West of England, ชื่อย่อ: UWE Bristol หรือ UWE) เป็นสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักร มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ต้องปฏิบัติและการจัดการ วิทยาเขตหลักตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองบริสตอล ใกล้กับทางหลวงพิเศษหมายเลข M32 และมีวิทยาเขตรองในเขตเมืองบริสตอล และเทศมณฑลกลอสเตอร์เชอร์ มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดในเมือง โดยมีจำนวนนักศึกษามากกว่ามหาวิทยาลัยบริสตอลที่อยู่ใกล้เคียง[1][2]

ข้อมูลเบื้องต้น คติพจน์, ประเภท ...
มหาวิทยาลัยอังกฤษภาคตะวันตก
University of the West of England
Thumb
คติพจน์อังกฤษ: Light Liberty Learning
ไทย: แสงสว่าง อิสรภาพ และการเรียนรู้
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล
สถาปนาพ.ศ. 2535 - ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2513 - วิทยาลัยเทคนิคบริสตอล
ที่ตั้ง,
51.50021°N 2.54749°W / 51.50021; -2.54749
วิทยาเขตชานเมืองหนาแน่น
สีขาว ดำ แดง
เครือข่ายEUA
AMBA
ยูนิเวอร์ซิตียูเค
สมาคมมหาวิทยาลัยเครือจักรภพ
เว็บไซต์www.uwe.ac.uk
Thumb
ปิด

มหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ยกฐานะจากวิทยาลัยเทคนิคบริสตอลเมื่อ พ.ศ. 2535 ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาชั้นสูงและการศึกษาต่อเนื่องที่ให้ยุบสภาทุนอุดหนุนวิทยาลัยเทคนิคเสีย มหาวิทยาลัยเป็นผู้ให้บริการรถบัส U+WE นอกเหนือจากที่บริษัทเฟิสต์จัดการเดินรถเป็นประจำอยู่แล้วเพื่อเป็นสวัสดิการแก่นักศึกษา คณาจารย์ พร้อมกับให้บริการกับบุคคลทั่วไปด้วย[3]

ประวัติ

มหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2513 ในฐานะวิทยาลัยเทคนิคบริสตอล โดยอาศัยรากฐานจากโรงเรียนสมาคมพ่อค้าบริสตอล ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2138 ต่อมามหาวิทยาลัยบริสตอลและมหาวิทยาลัยบาธได้เข้ามาร่วมมือในการจัดการศึกษาของโรงเรียน จนสามารถแปรสภาพเป็นวิทยาลัยเทคนิคในเวลาต่อมา พื้นที่ของวิทยาลัยตั้งอยู่ที่ทุ่งแอชลีย์ (Ashley Down) ซึ่งปัจจุบันได้ยกให้วิทยาลัยนครบริสตอลไปแล้ว[4] นอกจากวิทยาลัยเทคนิคแล้ว ยังมีวิทยาลัยศิลปกรรมอังกฤษตะวันตก (West of England College of Art) ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งตั้งที่ตำบลแอชตันเกต ทางตอนใต้ของแม่น้ำเอวอน และวิทยาลัยสาธารณสุขเอวอนและกลอสเตอร์เชอร์ ซึ่งตั้งที่ตำบลเกลนไซด์ สถาบันทั้งหมดเหล่านี้ได้ยุบรวมเข้ากับวิทยาลัยเทคนิคราว ๆ พ.ศ. 2519

ต่อมาตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาชั้นสูงและการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ. 2535 (Further and Higher Education Act, 1992)[5] ทำให้วิทยาลัยต้องแปรสภาพมาเป็นมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยอังกฤษภาคตะวันตก หรือ มหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์

ส่วนงาน

มหาวิทยาลัยทำการเรียนการสอนเป็นหลักในด้านการออกแบบและการจัดการ ซึ่งเป็นส่วนที่มหาวิทยาลัยบริสตอลไม่ได้เปิดสอน โดยมีคณะวิชา 4 คณะ ดังนี้[6]

  • คณะศิลปะ การออกแบบอุตสาหกรรม และศึกษาศาสตร์
    • ภาควิชาอุตสาหกรรมศิลปะและวัฒนธรรม
    • ภาควิชาศิลปกรรมและการออกแบบ
    • ภาควิชาการศึกษา
    • ภาควิชาภาพยนตร์และวารสารศาสตร์
  • คณะบริหารธุรกิจและนิติศาสตร์
    • ภาควิชาบริหารธุรกิจ (Bristol Business School)
    • ภาควิชานิติศาสตร์ (Bristol Law School)
  • คณะสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี
    • ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และสิ่งแวดล้อมการก่อสร้าง
    • ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์
    • ภาควิชาวิศวกรรมการออกแบบและคณิตศาสตร์
    • ภาควิชาการจัดการภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
  • คณะเวชศาสตร์ประยุกต์
    • ภาควิชาสหเวชศาสตร์
    • ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์ชีวเวช และวิทยาศาสตร์เชิงวิเคราะห์
    • ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์
    • ภาควิชาพยาบาลศาสตร์และการผดุงครรภ์

ที่ตั้ง

Thumb
วิทยาเขตเฟรนเชย์ ซึ่งเป็นวิทยาเขตหลัก

มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตหลักที่ทางตอนเหนือของเมืองบริสตอล อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟิลตันแอบบีย์วูดและบริสตอลพาร์กเวย์ มีรถบัสเข้าถึงสะดวกและมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีรถบัส U+WE ระหว่างวิทยาเขตและเขตเมือง ดำเนินการโดยบริษัทเวสเซกส์บัส นอกเหนือจากที่บริษัทเฟิสต์จัดการเดินรถอยู่แล้ว[7] เพื่อเป็นสวัสดิการแก่นักศึกษาและคณาจารย์ด้วย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีวิทยาเขตรองที่บาวเวอร์แอชตัน ติดเขตเทศมณฑลซัมเมอร์เซต ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของคณะศิลปะ แต่เดิมเป็นวิทยาลัยศิลปกรรมอังกฤษตะวันตก ซึ่งย้ายมาบริเวณนี้เมื่อ พ.ศ. 2512 จากที่ตั้งเดิมที่สะพานคลิฟตัน (ปัจจุบันกลายเป็นหอศิลป์)[8][9] มหาวิทยาลัยมีโครงการปรับปรุงทั้งวิทยาเขตรอง และขยายพื้นที่วิทยาเขตหลักให้กว้างขึ้น โดยซื้อที่ดินของบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด ขนาด 177 ไร่ เพื่อขยายที่ดินที่มีอยู่เดิม 202 ไร่ และรองรับการเรียนการสอนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังวางแผนจะย้ายคณะเวชศาสตร์จากโรงพยาบาลเกลนไซด์มาสอนที่นี่แทนหากการก่อสร้างแล้วเสร็จ[10] ณ ปัจจุบัน การเรียนการสอนสายสุขภาพของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันยังดำเนินการที่โรงพยาบาลเกลนไซด์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลาง มีงานวิจัยหลักด้านตัวรับรู้ชีวภาพ (biosensor) และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม[11]

วิทยาเขตเซนต์มัทเทียส (St Mathhias Campus) เดิมเคยเป็นของมหาวิทยาลัย เคยใช้ทำการเรียนการสอนสาขาวิชาศิลปะและการศึกษา อาคารหลักสร้างขึ้นในยุคสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แต่ป้จจุบันมหาวิทยาลัยได้ขายที่ดินส่วนนี้ให้แก่โรงเรียนสไตเนอร์[12] แล้วย้ายอาคารเรียนไปสร้าง ณ วิทยาเขตรอง ณ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีแผนสร้างสนามกีฬาเป็นของตนเองแต่ยังมิได้ดำเนินการใด ๆ[13]

ตราสัญลักษณ์

มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานตราอาร์มซึ่งออกแบบโดยสำนักมุรธาธรแห่งสหราชอาณาจักร (College of Arms)[14] ประกอบด้วยโล่ขอบสีขาว แบ่งเป็นสองซีกด้วยเส้นสลับฟันปลาเป็นสำคัญหมายถึงแม่น้ำเอวอนและแม่น้ำเซเวิร์น ซีกซ้ายพื้นสีดำ มีกุญแจไขว้กัน ซีกขวาพื้นสีแดง มีพระมหามงกุฎสีเงิน 3 องค์ วางเรียงจากบนลงล่าง โล่นี้ตกทอดมาจากวิทยาลัยเซนต์มัทเทียส ที่เหนือโล่เป็นหมวกเกราะพร้อมพู่ เหนือหมวกเกราะขึ้นไปเป็นใบเรือและเสากระโดง แทนต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยที่แต่เดิมมาจากวิทยาลัยพาณิชยนาวี บนยอดเสาเป็นกระบะมีเปลวเพลิง แทนความโชติช่วงและความปรารถนาที่จะศึกษาเล่าเรียน ด้านซ้ายและขวาของตราเป็นม้าเขาเดียว (ยูนิคอร์น)และกวางหางปลาตามลำดับ ที่ไหล่หน้ามีวงกลมและเส้นหยักเป็นสัญลักษณ์ของการเรียนรู้ ขาหน้าข้างหนึ่งถือโล่ไว้ อีกข้างถือต้นแอปเปิล อันเป็นต้นไม้แห่งวิชาการ และที่คอมีจุลมงกุฎสวมครอบไว้ แทนพระเจ้าเอ็ดการ์ผู้รักสงบ ซึ่งขึ้นครองราชย์ที่บาธ ใกล้ ๆ กับเมืองบริสตอล ทั้งม้าและกวางนำมาจากตราประจำเทศมณฑลบริสตอล และตราประจำเทศมณฑลเอวอนเดิม ด้านใต้ตราเป็นแพรแถบจารึกภาษิตของมหาวิทยาลัย[15]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.