Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปีเอียว หรือ ปี่เอียว[1] (มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 220–231) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฟ่ย์ เย่า (จีน: 費曜 หรือ 費耀[2]; พินอิน: Fèi Yào) หรือ เฟ่ย์ เหยา (จีน: 費瑤[3]; พินอิน: Fèi Yáo) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ปีเอียว (เฟ่ย์ เย่า / เฟ่ย์ เหยา) | |
---|---|
費曜 / 費耀 / 費瑤 | |
ภาพวาดสมัยราชวงศ์ชิงแสดงเหตุการณ์ที่ปีเอียว (ขวา) เผชิญหน้ากับจูกัดเหลียงบนสมรภูมิ | |
ขุนพลทัพหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 230 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
อาชีพ | ขุนพล |
มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับปีเอียวที่บันทึกในประวัติศาสตร์ ต่างจากบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและยุคสามก๊กตรงที่ไม่มีบทชีวประวัติของตนเองในบันทึกประวัติศาสตร์จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) ในศตวรรษที่ 3 ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของยุคสามก๊กที่เชื่อถือได้ ข้อมูลเกี่ยวกับปีเอียวพบได้ในบางส่วนของบทชีวประวัติของบุคคลอื่น ๆ
ปีเอียวถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี ค.ศ. 220 ปีที่รัฐวุยก๊กก่อตั้งขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊ก[4] ปีเอียวเข้าร่วมกับขุนพลโจจิ๋นในการปราบกบฏที่ก่อการโดยจาง จิ้น (張進) ในเมืองจิ่วเฉฺวียน (酒泉郡 จิ่วเฉฺวียนจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครจิ่วเฉฺวียน มณฑลกานซู่)[5]
ปลายปี ค.ศ. 221 เมื่อชนเผ่าหลูฉุ่ยหู (盧水胡; อนารยชนหลูฉุ่ย) เริ่มก่อกบฏในมณฑลเลียงจิ๋ว (ครอบคลุมบางส่วนของมณฑลฉ่านซีและมณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ปีเอียวเข้าร่วมกับโจว ฉี (鄒岐), เตียวกี๋ (張既 จาง จี้), เซี่ยโหว หรู (夏侯儒) และคนอื่น ๆ ในการปราบปรามกบฏ[6]
ต้นปี ค.ศ. 229 เมื่อรัฐจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กส่งกำลังทหารเข้าบุกป้อมปราการของวุยก๊กที่ตันฉอง (陳倉 เฉินชาง; อยู่ทางตะวันออกของนครเป่าจี มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) โจจิ๋นมอบหมายให้ปีเอียวนำกองกำลังไปหนุนช่วยเฮ็กเจียวขุนพลวุยก๊กที่รักษาตันฉอง แต่เฮ็กเจียวป้องกันตันฉองได้อย่างมั่นคง และทัพจ๊กก๊กก็ล่าถอยไปเมื่อปีเอียวยกกำลังมาถึง[7]
ในปี ค.ศ. 230 ปีเอียวได้เลื่อนขั้นเป็นขุนพลทัพหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน) ในปีเดียวกัน จูกัดเหลียงผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กพร้อมด้วยขุนพลอุยเอี๋ยน, งออี้ และขุนพลจ๊กก๊กคนอื่น ๆ นำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีอาณาเขตของวุยก๊กในมณฑลเลียงจิ๋ว ปีเอียวและกุยห้วยขุนพลวุยก๊กอีกคนเข้ารบกับทัพข้าศึกที่บัญชาการโดยอุยเอี๋ยนที่หยางซี (陽溪) แต่ถูกตีแตกพ่ายต้องล่าถอยไป[8][9]
ราวเดือนมีนาคม ค.ศ. 231 จูกัดเหลียงนำทัพจ๊กก๊กโจมตีวุยก๊กอีกครั้ง นำไปสู่ยุทธการที่กิสาน ในเวลานั้นสุมาอี้ขุนพลวุยก๊กรับผิดชอบกิจการทหารในมณฑลเลียงจิ๋วและหยงจิ๋ว สุมาอี้พร้อมด้วยเตียวคับ, ปีเอียว, กุยห้วย, ไต้เหลง (戴陵 ไต้หลิง) และผู้ใต้บังคับบัญชาคนอื่น ๆ นำทัพวุยก๊กไปต้านข้าศึก[10] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 231 สุมาอี้ส่งปีเอียวและไต้เหลงพร้อมด้วยกำลังทหาร 4,000 นายเข้ารักษาอำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ในนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู๋) ส่วนตัวสุมาอี้นำกองกำลังที่เหลือไปโจมตีข้าศึกที่เขากิสาน (祁山 ฉีชาน; ภูมิประเทศภูเขาโดยรอบอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) จูกัดเหลียงนำกองกำลังแยกเข้าโจมตีอำเภอเซียงเท้ง และให้กำลังทหารที่เหลือเข้าโจมตีเขากิสาน จูกัดเหลียงและกองกำลังตีกองกำลังของกุยห้วย ปีเอียว และคนอื่น ๆ แตกพ่ายและเข้ารวบรวมผลผลิตทางการเกษตรในอำเภอเซียงเท้ง[11]
ปีเอียวปรากฏตัวในฐานะตัวละครรองในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ในนวนิยาย ปีเอียวเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจจิ๋นและเข้าร่วมในการรบป้องกันดินแดนของวุยก๊กระหว่างการบุกของจ๊กก๊กครั้งที่สอง ปีเอียวต้องกลถูกซุ่มโจมตีโดยเกียงอุยซึ่งตั้งใจจะวางกลกับโจจิ๋น ปีเอียวฆ่าตัวตายหลังถูกข้าศึกล้อมไว้
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.