Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บ่าง หรือ พุงจง หรือ พะจง ในภาษาใต้ หรือ ปักขพิฬาร[2] เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกหนึ่งในอันดับบ่าง (Dermoptera) มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ พบได้แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Galeopterus variegatus นับเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Galeopterus[3]
บ่าง | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Dermoptera |
วงศ์: | Cynocephalidae |
สกุล: | Galeopterus Thomas, 1908 |
สปีชีส์: | G. variegatus |
ชื่อทวินาม | |
Galeopterus variegatus (Audebert, 1799) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของบ่าง | |
ชื่อพ้อง | |
|
มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ ผิวหนังย่น ตามีขนาดใหญ่สีแดง ใบหูเล็ก มีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว สีขนมีหลากหลายมาก โดยสามารถเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำตาลแดง หรือเทา รวมทั้งอาจมีลายเลอะกระจายไปทั่วตัวด้วย โดยตัวเมียมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ หางมีลักษณะแหลมยาว มีพังผืดเชื่อมติดต่อกันทั่วตัว โดยเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้ว มีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว โดยที่ไม่มีหัวแม่มือ เล็บแหลมคมมากใช้สำหรับไต่และเกาะเกี่ยวต้นไม้[4] มีความยาวหัวและลำตัวโตเต็มที่ราว 34-42 เซนติเมตร หาง 22-27 เซนติเมตร น้ำหนัก 1-1.8 กิโลกรัม [5]
บ่างอาศัยและหากินอยู่บนต้นไม้สูง และสามารถอาศัยได้ในป่าทุกสภาพ ไม่เว้นแม้กระทั่งป่าเสื่อมโทรม หรือตามเรือกสวนไร่นาที่มีการทำเกษตรกรรม บ่างเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถเดินบนพื้นดินได้ เมื่อตกลงพื้นจะรีบกระเสือกกระสนตัวเองปีนขึ้นสู่ต้นไม้ทันที เนื่องจากบ่างก็สามารถตกเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อชนิดต่าง ๆ ได้ ออกหากินในเวลากลางคืน โดยตอนกลางวันจะนอนหลับพักผ่อนตามยอดไม้หรือโพรงไม้ กินอาหารจำพวกพืช ได้แก่ ยอดไม้, ดอกไม้ เป็นหลัก แต่จากการศึกษาด้วยเครื่องติดตามตัวของบ่างที่เกาะชวา โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพบว่า บ่างเป็นสัตว์ที่ช่างเลือกกิน โดยจะกินยอดไม้จากต้นไม้เพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น และบ่างตัวเมียจะมีอาณาเขตการหากินที่ชัดเจน แน่นอน ส่วนตัวผู้จะไต่ต้นไม้และร่อนไปทั่ว บ่างสามารถร่อนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นหนึ่งได้ไกลกว่ากระรอกบินมาก โดยใช้นิ้วและผังผืดเป็นตัวควบคุมความเร็วและระยะทางระหว่างร่อน ใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 60 วัน ออกลูกครั้งละตัว เนื่องจากแม่บ่างสามารถรับน้ำหนักลูกได้เพียงคราวละตัว ลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดีคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม้ยามมีลูกอ่อน แม่บ่างก็ร่อนหาอาหารได้เหมือนเดิม โดยลูกบ่างจะยึดเกาะขนที่หน้าท้องแม่ไว้แน่น ลูกบ่างจะกินมูลของแม่ เนื่องจากภายในมีแบคทีเรียที่ช่วยในการย่อยอาหาร ขณะที่แม่บ่างเมื่อเลียตัวทำความสะอาดลูกอาจเลียฉี่ของลูกบ่างไปด้วย ลูกบ่างจะเกาะอาศัยอยู่กับแม่จนกว่าอายุได้ 2-3 ปี จึงแยกตัวออกไปหากินเองเป็นอิสระ จากนั้นแม่บ่างจึงจะมีลูกใหม่ แต่พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของบ่างยังไม่เป็นที่รู้แน่ชัด [4]
บ่าง เป็นสัตว์ที่มีเสียงร้องคล้ายเสียงคนร้องไห้ และความเป็นสัตว์ที่มีหน้าตาน่าเกลียดและหากินในเวลากลางคืน จึงเป็นที่รับรู้กันดีของผู้ที่อาศัยอยู่ชายป่าหรือผู้ที่นิยมการผจญภัย ว่าเสียงร้องของบ่างน่ากลัวเหมือนผี
เมื่อพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า หรือ ยามโพล้เพล้ บ่างจะแสดงพฤติกรรมแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะออกมาจากที่หลบนอน แล้วห้อยตัวลงมาคล้ายค้างคาว โดยใช้เท้าหลังทั้งสองเกาะกิ่งไม้ แล้วทิ้งลำตัวห้อยลงมาในแนวดิ่ง ส่วนหัวและเท้าหน้าจะม้วนงอเข้าหาลำตัว (หากมองผิวเผินจะเหมือนค้างคาวแม่ไก่กำลังห้อยหัวมาก) พฤติกรรมนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ชัดเจน บ่างจะห้อยตัวเช่นนี้ไปจนกว่าแสงสุดท้ายจะลับขอบฟ้าไป แล้วจะปีนป่ายไปหาต้นไม้ต้นประจำในการร่อน มักจะเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสูง ๆ ที่ยืนอยู่เดี่ยว ๆ เพราะจะทำให้มีพื้นที่ในการร่อนมาก
บ่างในบางครั้งอาจจะสับสนกับ กระรอกบิน ซึ่งที่จริงแล้วบ่างกับกระรอกบินเป็นสัตว์คนละอันดับกัน โดยภาษาใต้จะเรียกบ่างว่า "พะจง" หรือ "พุงจง" แต่ในภาษาเหนือและภาษาอีสานจะเรียกกระรอกบินว่า "บ่าง" จึงทำให้อาจเกิดความสับสนกัน
ในสำนวนไทยมีคำที่กล่าวเกี่ยวกับบ่างว่า บ่างช่างยุ มีความหมายเปรียบกับ คนที่ชอบยุแยงให้ผู้อื่นแตกแยกกัน[5]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.