บัสรา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บัสรา, แบสรา (อังกฤษ: Basra) หรือ อัลบัศเราะฮ์ (อาหรับ: ٱلْبَصْرَة) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนชัฏฏุลอะร็อบ มีการประมาณการว่ามีประชากรใน ค.ศ. 2018 ที่ 1.4 ล้านคน[3] เมืองนี้ยังเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล แต่ไม่มีท่าเรือน้ำลึกเหมือนเมืองอุมก็อศร์ (أم قصر) ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน
บัสรา[ม 1] ٱلْبَصْرَة อัลบัศเราะฮ์ | |
---|---|
เมือง | |
สมญา: เวนิสตะวันออก[1] | |
บัสรา[ม 6] ที่ตั้งของบัสราในประเทศอิรัก | |
พิกัด: 30°30′54″N 47°48′36″E | |
ประเทศ | อิรัก |
เขตผู้ว่าการ | บัสรา |
ก่อตั้ง | ค.ศ. 636 |
การปกครอง | |
• ประเภท | นายก–สภา |
• นายกเทศมนตรี | As'ad Al Eidani |
พื้นที่ | |
• เมือง | 50−75 ตร.กม. (21 ตร.ไมล์) |
• รวมปริมณฑล | 181 ตร.กม. (70 ตร.ไมล์) |
ความสูง | 5 เมตร (16 ฟุต) |
ประชากร (2018) | |
• เมือง | 1,326,564[2] คน |
เขตเวลา | UTC+3 (AST) |
รหัสพื้นที่ | (+964) 40 |
เว็บไซต์ | http://www.basra.gov.iq/ |
เมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองท่าที่ซินแบดนักเดินเรือ ตัวละครสมมติ เดินทางมา เมืองนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 636 และมีบทบาทสำคัญในยุคทองของอิสลาม บัสราถือเป็นหนึ่งในเมืองที่ร้อนที่สุดในประเทศอิรัก โดยมีอุณหภูมิในฤดูร้อนสูงถึง 50 องศาเซลเซียส (122 องศาฟาเรนไฮต์) ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2017 รัฐสภาอิรักกำหนดให้เมืองบัสราเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญขอประเทศ[4]
เมืองนี้มีชื่อหลายชื่อมาตลอดทั้งประวัติศาสตร์ โดยทั่วไปรู้จักตามชื่อในภาษาอาหรับว่า บัศเราะฮ์ แปลว่า "การแลเห็น" (the overwatcher) ซึ่งอาจเป็นปฏิรูปพจน์ถึงต้นกำเนิดของเมืองในฐานะฐานทัพทหารชาวอาหรับที่มีไว้กันฝ่ายจักรวรรดิซาเซเนียน ในขณะที่บางส่วนโต้แย้งว่าชื่อเมืองมาจากศัพท์ภาษาแอราเมอิกว่า basratha หมายถึง "สถานที่ของกระท่อม, ที่อยู่อาศัย"[5]
เมืองบัสราตั้งขึ้นราว ๆ พ.ศ. 1179 ในเวลานั้นเป็นเพียงค่ายพักสำหรับชนเผ่าอาหรับ ต่อมาเคาะลีฟะฮ์อุมัรแห่งรอชิดูน ตั้งเมืองนี้ขึ้นโดยแบ่งออกเป็นห้าตำบลด้วยกัน มีอะบู มูซา อัลอัชอะรี (أبو موسى الأشعري) เป็นเจ้าเมืองซึ่งยึดดินแดนจากคูซิสตาน (خوزستان) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอิหร่าน ต่อมาเมื่อเคาะลีฟะฮ์อุษมานครองตำแหน่ง เมืองนี้จึงถูกยกสถานะเป็นเมืองหน้าด่าน และตั้งให้อับดุลลอห์ อิบนุลอะมีร์เป็นเจ้าเมือง ต่อมาเจ้าเมืองบัสราได้โจมตีทำลายล้างกองทัพพระเจ้ายัซดิญะริดที่สาม (يزدجرد الثالث, ยัซดิญะริด อัษษาลิษ) กษัตริย์ราชวงศ์ซาซานียะฮ์ ซึ่งนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ ล่วงปี พ.ศ. 1199 อุษมานถูกสังหาร และอะลีขึ้นครองตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ อะลีได้ตั้งให้อุษมาน อิบนุลหะนิฟ เป็นเจ้าเมือง และต่อมาก็เปลี่ยนเป็นอับดุลลอห์ อิบนุลอับบาส จวบจนถึงการวายชนม์ของอะลีเอง อันเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์รอชิดูน ต่อมาเมื่อรัฐคอลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์มีอำนาจ มีอับดุลลอห์ ผู้นำทหารที่ไร้ความสามารถทางปกครองเป็นเจ้าเมือง ต่อมามุอาวิยะฮ์สั่งถอดอับดุลลอห์ออกแล้วเปลี่ยนเป็นซิยาด บิน อะบีซุฟยาน (زياد بن أبي سفيان) ผู้ปกครองด้วยความโหดร้ายเป็นเจ้าเมือง ครั้นซิยาดถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 1207 อุบัยดุลลอห์ อิบนุลซิยาด (عبيد الله بن زياد) บุตรของซิยาดขึ้นครองอำนาจ ระหว่างนั้นเองฮุซัยน์บุตรอะลี ในฐานะหลานของศาสดามุฮัมมัดได้รับความนิยมจากปวงชนทั้งหลายขึ้นมาก อุบัยดุลลอห์จึงเข้ายึดเมืองกูฟะฮ์ ฮุซัยน์ส่งมุสลิม อิบน์ อะกีล (مسلم بن عقيل) ไปเป็นทูต แต่กลับถูกประหารชีวิตจนเกิดยุทธการกัรบะลาอ์ขึ้น ผลของการยุทธในครั้งนั้นทำให้ฮุซัยน์และพรรคพวกถูกตัดศีรษะทั้งหมดจนเกิดพิธีอัรบะอีนขึ้นจนถึงทุกวันนี้ แต่กาลต่อมาราชวงศ์อุมัยยะฮ์ล่มสลายลงโดยการปฏิวัติ
ล่วงสมัยอับบาซียะฮ์ บัสราเป็นศูนย์กลางการศึกษา อาทิ เป็นเมืองที่อยู่ของอิบนุลฮัยษัม อัลญาฮิซ เราะบีอะฮ์แห่งบัสรา รวมถึงนักวิชาการนานาสาขาวิชา ผ่านยุครุ่งเรืองไปไม่นาน เมืองบัสราก็ถูกกบฏซันจญ์ (ثورة الزنج, เตาเราะตุลซันจญ์) เข้าปล้นสะดมในปี พ.ศ. 1414[6] และถูกทำลายล้างโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเกาะรอมิเฎาะฮ์ (قرامطة) ในปี พ.ศ. 1466[7] ต่อมาราชวงศ์บูญิฮียะฮ์ (بويهية) ซึ่งเป็นราชวงศ์อิหร่านนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ เข้ายึดครองเมืองบัสรารวมถึงเมืองแบกแดด และประเทศอิรักส่วนใหญ่อีกด้วย ล่วงปี พ.ศ. 2206 จักรวรรดิอุษมานียะฮ์ยึดเมืองบัสราได้ โดยระหว่าง พ.ศ. 2318-2322 ราชวงศ์ซันดียะฮ์ (زندية) เข้ายึดเมืองเป็นระยะเวลาสั้น ๆ สารานุกรมบริตานิกา รายงานว่าในปี พ.ศ. 2454 มีประชาชนชาวยิวประมาณ 4000 คน และชาวคริสต์อีก 6000 คน อาศัยในเมือง[8] ต่อมาเข้าสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษยึดเมืองบัสราจากจักรวรรดิอุษมานียะฮ์ได้ แล้วจัดผังเมืองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
ราว พ.ศ. 2490 ประชากรในเมืองบัสรามีจำนวน 101,535 คน[9] สิบปีให้หลังประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 219,167 คน[10] จึงได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยบัสราขึ้นในปี พ.ศ. 2507 ประชากรที่มีอยู่แล้วก็เพิ่มจำนวนเรื่อยมา ต่อมาเกิดสงครามอิรัก-อิหร่าน ขึ้น จนประชากรลดลงมาก ระหว่างนี้เองมียุทธการที่สำคัญ อาทิ ปฏิบัติการเราะมะฎอน และปฏิบัติการกัรบะลาอ์ 5 ศอดดาม ฮุซัยน์ ก็ขึ้นครองอำนาจกดขี่ประชาชน แม้จะมีการกบฏสักเท่าใด ศอดดามก็ใช้ความรุนแรงจัดการทั้งหมด
ล่วงเข้าสงครามอิรักเมื่อปี พ.ศ. 2546 เมืองบัสราถูกกองทัพสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยึดใช้เป็นฐานทำการ เมื่อวันที่ 21 เมษายนปีถัดมา มีการทิ้งระเบิดทั่วเมืองจนมีคนตายไป 74 คน ในใจกลางเมืองมีกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลอิรักอยู่อย่างเหนียวแน่นแม้ว่าจะมีการต่อต้านโดยกลุ่มมุสลิมนิกายซุนนีและชาวเคิร์ด ในการนี้มีผู้สื่อข่าวถูกลักพาตัวและสังหารด้วย[11] ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ทหารกรมปฏิบัติการพิเศษทางอากาศแห่งสหราชอาณาจักรสองนายปลอมตนเป็นพลเรือนชาวอาหรับ เมื่อถูกตรวจค้นโดยด่านตรวจ ทหารทั้งสองก็ยิงตำรวจได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตและถูกจับกุมส่งเรือนจำจังหวัดบัสรา เป็นผลให้กองทัพอังกฤษตัดสินใจบุกเรือนจำเพื่อช่วยเหลือ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก[12][13] ล่วง พ.ศ. 2550 อำนาจการปกครองทั้งหมดกลับคืนสู่รัฐบาลอิรักหลังจากที่ศอดดาม ฮุซัยน์ ถูกประหารชีวิต[14] เมืองได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่ก็ถูกฟื้นฟูขึ้นมาในภายหลังจนกระทั่งมีศูนย์กีฬาบัสราสปอร์ตซิตี
เมืองบัสราตั้งอยู่ในเขตชัฏฏุลอะร็อบ หรือบริเวณที่แม่น้ำไทกริสและแม่น้ำยูเฟรทีสบรรจบกัน บริเวณเมืองประกอบไปด้วยคลองชลประทานทำให้เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม และในอดีตก็ใช้ในการขนส่งสินค้าด้วย ตัวเมืองตั้งห่างจากอ่าวเปอร์เซียประมาณ 110 กิโลเมตร (68 ไมล์)
บัสรามีสภาพภูมิอากาศทะเลทรายร้อน (เคิพเพิน BWh) ซึ่งคล้ายกับบริเวณข้างเคียง ถึงกระนั้นตัวเมืองมีฝนตกมากกว่าพื้นที่ตอนในแผ่นดิน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งมากกว่าที่อื่น ๆ ระหว่างช่วงฤดูร้อน คือเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม อุณหภูมิโดยทั่วไปจะขึ้นสูงถึง 50 องศาเซลเซียส (122 องศาฟาเรนไฮต์) ในกรกฎาคมถึงสิงหาคม ส่วนในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยที่ 20 องศาเซลเซียส (68 องศาฟาเรนไฮต์) ในบางคืนของฤดูหนาว อุณหภูมิอาจลดต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส (32 องศาฟาเรนไฮต์)
อุณหภูมิที่สูงสุดตลอดกาลบันทึกในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 โดยมีอุณหภูมิในช่วงกลางวันสูงถึง 53.8 องศาเซลเซียส (128.8 องศาฟาเรนไฮต์) และในเวลากลางคืน อุณหภูมิต่ำสุดคือ 38.8 องศาเซลเซียส (101.8 องศาฟาเรนไฮต์) อุณหภูมิที่ต่ำที่สุดเท่าที่บันทึกมาในบัสราอยู่ที่ −4.7 องศาเซลเซียส (23.5 องศาฟาเรนไฮต์) ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1964.[15]
ข้อมูลภูมิอากาศของบัสรา | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) | 34 (93) |
39 (102) |
39 (102) |
42 (108) |
48 (118) |
51 (124) |
53.8 (128.8) |
52.2 (126) |
49.6 (121.3) |
46 (115) |
37 (99) |
30 (86) |
53.8 (129) |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 18.4 (65.1) |
21.7 (71.1) |
27.7 (81.9) |
33.9 (93) |
40.7 (105.3) |
45.3 (113.5) |
46.9 (116.4) |
47.1 (116.8) |
43.2 (109.8) |
36.8 (98.2) |
25.9 (78.6) |
19.8 (67.6) |
33.95 (93.11) |
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) | 12.9 (55.2) |
15.7 (60.3) |
21.0 (69.8) |
27.2 (81) |
33.9 (93) |
38.3 (100.9) |
40.0 (104) |
39.8 (103.6) |
35.7 (96.3) |
29.6 (85.3) |
20.1 (68.2) |
14.4 (57.9) |
27.38 (81.29) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 7.6 (45.7) |
9.5 (49.1) |
13.9 (57) |
19.7 (67.5) |
25.9 (78.6) |
30.4 (86.7) |
32.3 (90.1) |
31.9 (89.4) |
27.8 (82) |
22.4 (72.3) |
14.5 (58.1) |
9.2 (48.6) |
20.43 (68.77) |
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) | -4.7 (23.5) |
-4 (25) |
1.9 (35.4) |
2.8 (37) |
8.2 (46.8) |
18.2 (64.8) |
22.2 (72) |
20 (68) |
13.1 (55.6) |
6.1 (43) |
1 (34) |
-2.6 (27.3) |
−4.7 (23.5) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 34 (1.34) |
19 (0.75) |
23 (0.91) |
11 (0.43) |
4 (0.16) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
7 (0.28) |
30 (1.18) |
31 (1.22) |
159 (6.26) |
วันที่มีฝนตกโดยเฉลี่ย | 4 | 2 | 2 | 2 | 1 | 0 | 0 | 0 | 0 | 1 | 2 | 3 | 17 |
จำนวนชั่วโมงที่มีแดด | 186 | 198 | 217 | 248 | 279 | 330 | 341 | 310 | 300 | 279 | 210 | 186 | 3,084 |
แหล่งที่มา 1: Climate-Data.org[16] | |||||||||||||
แหล่งที่มา 2: Weather2Travel for rainy days and sunshine[17] |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.