Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาวไทยในสิงคโปร์ หมายถึงบุคคลที่ถือสัญชาติไทยหรือมีเชื้อสายไทยสยามที่เกิดหรือพำนักในประเทศสิงคโปร์ จากข้อมูลของสถานกงสุลไทยระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2555 มีจำนวน 47,700 คน และใน พ.ศ. 2564 มีจำนวน 18,335 คน[1] ถือเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่แปดของโลก และเป็นอันดับที่สองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2]
มีชาวสยามเข้าไปตั้งถิ่นฐานหรือพำนักในสิงคโปร์มาช้านานแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาอรรคราชนารถภักดี (เนตร เนตรายน) ไปศึกษาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ เมื่อทราบภาษาอังกฤษพอสมควรแล้ว ได้แต่งตั้งให้เป็นกงสุลที่สองในสิงคโปร์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนย้ายกลับไปรับราชการในสยามต่อไป[3] เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2413 พร้อมพระราชทานช้างสัมฤทธิ์เป็นของขวัญแก่สิงคโปร์[4] และการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์เป็นการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2433 ทรงกล่าวถึงกลุ่มคนเชื้อสายไทยที่เข้าไปอาศัยและแต่งงานกับคนที่สิงคโปร์ ทรงตรัสเรียกคนไทยเหล่านี้รวมกับคนชาติอื่น ๆ ในนั้นว่า เถื่อน ความว่า "...คนพวกที่จะเรียกได้ว่าคน ‘เถื่อน’ เหล่านี้มักจะเป็นคนพ่อเป็นฝรั่งบ้างเป็นเจ๊กบ้าง แม่เป็นแขก [มลายู] หรือเป็นคนไทยแต่ไปแต่งตัวเป็นแขก [...] บางทีก็แม่เป็นพะม่าพ่อเป็นฝรั่ง อยู่ในคงพูดแขก พูดเจ๊กพูดไทยได้ทั้งสามภาษา โดยมากบางคนก็พูดอังกฤษได้ แต่คงพูดแขกเป็นท้องภาษา ถึงพูดไทยไม่ได้ก็เข้าใจเกือบทุกคน คนเหล่านี้แต่งตัวเป็นแขก แต่ผัดหน้าแต่งตัวคล้าย ๆ ไทย กินหมากสูบบุหรี่ ไม่ใคร่เหม็นปาก พวกที่ปินังกินเหล้าจัดอยู่หน่อยหนึ่ง หน้ามักจะดี ผิวขาวกว่าแขกมะลายู แต่ไม่ถึงเจ๊กหรือฝรั่ง ที่มีความรู้ดีจนน่าพิศวงว่าทำไมจึ่งไปเป็นคนเช่นนี้ได้ก็มี"[5]
ทรงกล่าวถึงหญิงสยามไว้ ความว่า "เราพบที่สิงคโปร์คน 1 รูปร่างหน้าตาเป็นเมียขุนนางได้ดี ๆ รู้ภาษาอังกฤษพูดอ่านเขียนได้คล่อง เรียนที่แรฟฟัลสกูล อายุก็เพียง 19 ปีเท่านั้นมันเป็นคนเช่นนี้ได้ขันเต็มที..."[5] และ "คนไทยที่เราพบคน 1 นั้นเป็นคนกฎีจีน ไม่ได้ไว้มวย ไว้ผมประบ่า เขาชอบกันแต่เราเกลียดเต็มที อีแม่สื่อชื่อเอมเป็นคนบ้านอยู่วัดสระเกศ เป็นเมียแขก ดูท่าทางตอแหลเต็มที คนหากินพวกนี้ดูมันรู้จักกันหมด เราเข้าใจว่าคนพวกนี้เห็นจะเป็นพวกที่ดีกว่า 2 พวกที่ว่ามาก่อนนั้น และมักสรรเสริญกันว่ามีวิชชาดีต่าง ๆ ในเชิงนักเลง"[5]
ปี | ประชากร | ±% |
---|---|---|
2555 | 47,700 | — |
2557 | 40,000 | −16.1% |
2564 | 18,335 | −54.2% |
อ้างอิง: กระทรวงการต่างประเทศ[2][6][1] |
คาดว่าคนไทยในสิงคโปร์ยุคแรก ๆ คือคนจีนที่มีสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทยเช่นเดียวกับคนจีนเมืองปีนัง คือ พูดภาษาไทยหรือนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท แต่มีรูปพรรณและแต่งกายเป็นจีนหรือบ้าบ๋า[7] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินบนเกาะสิงคโปร์จำนวนสองแปลง แปลงแรกมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานทูตไทย และอีกแปลงให้สร้างวัดพุทธแบบไทยประเพณี[8] มีการตั้งข้าราชการสยามรับราชการในสิงคโปร์ เช่น ตันกิมเจ๋ง เป็นกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้สนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อหลังตันกิมเจ๋งถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงเผื่อน อนุกูลสยามกิจ ภรรยา, คง อนุกูลสยามกิจ บุตรชาย และเชย วัชราภัย หลานสาว จึงย้ายกลับไปกรุงเทพมหานคร[9] ใน พ.ศ. 2443 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงระบุว่าไว้ในหัตถเลขาไปถึงพระยาสิทธิศัลการ อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอนเกี่ยวกับการจ้างงานของคนไทยในสิงคโปร์ว่า "...ด้วยพระยาสิทธิศัลการก็ทราบอยู่ด้วยว่าคนที่เป็นไทยแท้นั้น คงไม่รับจ้างฝรั่งที่ไม่เป็นหลักฐานไปยุโรปจากกรุงเทพฯ แลถ้าจะจ้างออนกันไป ก็ย่อมมีผู้รู้เห็น แลรู้จักชื่อเสียงผู้ที่จ้างไป การจ้างลูกจ้างโดยออกไปยุโรปจึงมีชุกชุมอยู่แต่ที่เมืองสิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ แลที่มักมีคนไทยเป็นอันมากหลบหนีอพยพไปอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่คิดจะกลับบ้านเมืองเดิมเช่นนี้ จะถือเป็นคนไทยก็ยาก เพราะฉะนั้นมีกลาสีแขกแลคนชาวตะวันออกเป็นอันมากซึ่งอาศัยอยู่ในหัวเมืองขึ้นอังกฤษที่พูดไทยได้ แลเมื่อตกอับก็ชองเอาว่าเป็นคนไทย..."[10] และมีกรณีชาวไทย 5 คนจากสิงคโปร์ติดตามคณะละครสัตว์ของชาวยุโรป แต่ถูกคณะละครสัตว์ทอดทิ้งที่เมืองโดเวอร์ ประเทศอังกฤษ จนมีสภาพเป็นคนอนาถาก่อนได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลสยาม[11] เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จเยี่ยมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินซึ่งประทับที่สิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. 2467 แต่ทรงหาพระตำหนักของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินไม่พบ จึงไปถามพระภิกษุในวัดพุทธคยา (ปัจจุบันคือ วัดศากยมุนีพุทธคยา) หรือมีชื่ออย่างสามัญว่า วัดเสือ[12] ซึ่งเป็นวัดไทยที่ก่อตั้งโดยพระมอญ[13][14] ก็ทรงพบปะคนไทยอาศัยในบริเวณนั้นจำนวนหนึ่ง[12]
หลังการก่อตั้งประเทศ สิงคโปร์มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร และขาดแรงงานฝีมือจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้สิงคโปร์จึงเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศที่หลากหลายขึ้น เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่มีพื้นเพเป็นชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เบื้องต้นแรงงานชายจะเป็นคนงานก่อสร้าง[15] และแรงงานหญิงทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ใน พ.ศ. 2531 มีแรงงานไทยจำนวน 25,000 คน ต่อมา พ.ศ. 2533 มีแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คน กระทั่ง พ.ศ. 2537 มีแรงงานไทยในสิงคโปร์มากถึง 50,000 คน โดยไม่รวมแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งด้วย[16] นอกจากการเป็นแรงงานและแม่บ้านแล้ว ยังมีชาวไทยอีกกลุ่มดำเนินธุรกิจด้านอาหารไทยและเครื่องดื่ม (โดยเฉพาะชาไทย)[17] กระจายทั่วไปทั้งรายใหญ่และรายย่อย[18]
ชาวไทยจำนวนมากนั่งรถโดยสารมาจนถึงสิงคโปร์ ตึกโกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์ (Golden Mile Complex) ซึ่งเป็นจุดขึ้นรถโดยสารกลายเป็นหลักแหล่งชุมนุมของคนไทยในสิงคโปร์ มีธุรกิจร้านอาหาร บริษัททัวร์ และหนังสือพิมพ์ไทยผุดขึ้นในย่านนี้ จนตึกโกลเดนไมล์มีสมญาว่า "เมืองไทยน้อย" (Little Thailand)[19] ทั้งยังเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับคนไทยในสิงคโปร์[20] ใกล้กับโกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์มีสวนสาธารณะริมน้ำกัลลัง หรือที่ชาวไทยเรียกว่า สวนมะพร้าว เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ค้าขาย และสังสรรค์[21] นอกจากโกลเดนไมล์คอมเพล็กซ์แล้ว ยังมีคนไทยอาศัยอยู่ในแฟลตคนงานแออัดย่านบุนเลย์ (Boon Lay) และมีหญิงชาวไทยค้าบริการแบบผิดกฎหมายในย่านนั้นเป็นสำคัญ[22]
ชาวไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษสำหรับสื่อสารกับชาวสิงคโปร์[23] แต่ใช้ภาษาไทยหรือภาษาไทยถิ่นอีสานร่วมกับกลุ่มชนเดียวกัน[21] โดยภาษาไทยในประเทศสิงคโปร์ จะมีคำศัพท์เฉพาะของตัวเองไม่กี่คำ เช่น สวนมะพร้าว หมายถึง สวนสาธารณะริมน้ำกัลลัง[21] ใบเวิร์ก แปลว่า ใบอนุญาตทำงาน (มาจาก work permit)[24][25] แท็ก [ออกเสียง แถ็ก] แปลว่า สัญญาอนุญาต (มาจาก contract)[26] และ จ๊อบ หรือ จ๊อบเข้า-จ๊อบออก แปลว่า การเข้าไปทำงานในช่วงเวลาสั้น ๆ มาจากคำว่า job (งาน) และ chop (การลงตราประทับวีซ่าของเจ้าหน้าที่) ทั้งออกเสียงคล้ายคำว่า จอบ แปลว่า แอบ หรือ ลักลอบ ในภาษาไทยถิ่นอีสาน ชาวไทยในสิงคโปร์ใช้ในความหมายว่า การเข้าไปทำงานระยะสั้นตามอายุวีซ่าผ่านแดนชั่วคราวที่ทางการสิงคโปร์กำหนดให้ ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการทำงานระยะสั้นนี้จะถูกเรียกว่า เซียนจ๊อบ[21]
ชาวไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ปัจจุบันมีวัดไทยในการปกครองของเจ้าคณะรัฐสิงคโปร์และเครือสมัชชาสงฆ์ไทยในสิงคโปร์ จำนวน 51 วัด[27] ชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจกับเครื่องรางของขลังไทย โดยเฉพาะพระเครื่องหรือเครื่องรางอื่น ๆ ด้วยมองว่าเป็นสิริมงคล ส่งเสริมหน้าที่การงานและสุขภาพ เป็นที่นิยมทั้งสวมใส่หรือพกติดตัว[28][29]
ทั้งนี้วัดไทยในประเทศสิงคโปร์มิได้เน้นศาสนบริการแก่ชาวไทยเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นที่พึ่งของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในสิงคโปร์ วัดไทยกลายเป็นพื้นที่ของชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ วัดไทยมีสถาปัตยกรรมจีนเพิ่มขึ้นและมีทรัสตีชาวจีนทั้งหมด ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องสะท้อนความหลากหลายทางสังคม โดยพระสงฆ์ใช้อำนาจผ่านศาสนพิธีและกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ อย่างถ่อมตัว การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ที่จะก่อให้เกิดความคล่องตัวและตอบสนองกับคนรุ่นใหม่[30]
ชาวไทยในสิงคโปร์ ได้ก่อตั้งสมาคมไทย (สิงคโปร์) เพื่อเป็นศูนย์กลางของคนไทยในสิงคโปร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2540[31] และสมาคมสามัคคีไทยไกลบ้าน (สิงคโปร์) เดิมใช้ชื่อว่า สมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์[32] ทั้งยังมีชมรมนาฏศิลป์ไทยในสิงคโปร์ จัดการสอนนาฏศิลป์แก่เยาวชนไทยและลูกครึ่งไทยที่อาศัยในสิงคโปร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูต[33] นอกจากนี้ประเทศสิงคโปร์ยังมีการจัดประเพณีสงกรานต์[34] และกิจกรรมลอยกระทง[35]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.