Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โฮกูไซ หรือ คัตสึชิกะ โฮกูไซ (ญี่ปุ่น: 葛飾北斎?, อังกฤษ: Hokusai หรือ Katsushika Hokusai) (ตุลาคม หรือ พฤศจิกายน ค.ศ. 1760 - 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1849[1]) เป็นจิตรกรภาพอูกิโยะและภาพพิมพ์แกะไม้ชาวญี่ปุ่นของสมัยเอโดะของคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนจิตรกรรมจีน[2]
คัตสึชิกะ โฮกูไซ 北斎 | |
---|---|
ภาพเหมือนตนเอง ค.ศ. 1839 | |
เกิด | Tokitarō 時太郎 ตุลาคม หรือ พฤศจิกายน ค.ศ. 1760 โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1849 ประเทศญี่ปุ่น |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
มีชื่อเสียงจาก | ภาพพิมพ์แกะไม้ |
ผลงานเด่น | “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ” |
แบบแผนการกล่าวถึง | จิตรกรรม และภาพอูกิโยะ |
โฮกูไซเกิดที่เอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) งานที่มีชื่อเสียงของโฮกูไซที่เป็นที่รู้จักกันดีคือภาพพิมพ์แกะไม้ชุด “ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ” (富嶽三十六景) ที่รวมภาพ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ” ซึ่งเป็นภาพสัญลักษณะอันเป็นที่รู้จักกันดีไปทั่วโลกที่เขียนในคริสต์ทศวรรษ 1820
โฮกูไซได้วาดภาพ “ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ” เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และความหลงใหลส่วนตัวในการวาดภาพภูเขาฟูจิ[3] ภาพชุดนี้และโดยเฉพาะภาพ “คลื่นยักษ์” และภาพ “ภูเขาฟูจิวันอากาศดี” เป็นภาพที่สร้างความมีชื่อเสียงให้แก่โฮกูไซทั้งภายในและภายนอกประเทศ นักประวัติศาสตร์ริชาร์ด เลนสรุปว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้าจะให้เลือกงานชิ้นหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้แก่โฮกูไซทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศแล้ว ก็เห็นจะเป็นงานชิ้นใหญ่ชุดนี้...”[4] โดยเฉพาะภาพ “คลื่นยักษ์” ที่เป็นภาพที่สร้างความประทับใจให้แก่โลกตะวันตก
โฮกูไซเกิดเมื่อวันที่ 23 ของเดือนที่เก้าของปีที่สิบของสมัยโฮเรกิ (ตุลาคม หรือ พฤศจิกายน ค.ศ. 1760) ในครอบครัวช่างฝีมือในตำบลคัตสึชิกะในเอโดะ[5] เมื่อยังเด็กโฮกูไซมีชื่อว่าโทกิตาโร ญี่ปุ่น: 時太郎; โรมาจิ: Tokitarō[1] เชื่อกันว่าบิดาชื่อนากาจิมะ อิเซะ เป็นช่างทำกระจกสำหรับโชกุน[1] แต่บิดาไม่ได้ให้โฮกูไซเป็นทายาท ซึ่งทำให้สันนิษฐานว่าแม่ของโฮกูไซอาจจะเป็นภรรยาน้อย[5] โฮกูไซเริ่มเรียนการเขียนภาพเมื่อมีอายุได้หกขวบ อาจจะเรียนจากบิดา ที่งานการทำกระจกรวมทั้งการเขียนภาพรอบกระจกด้วย[5]
โฮกูไซมีนามที่เป็นที่รู้จักกันอย่างน้อยก็ 30 ชื่อระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ว่าการใช้ชื่อหลายชื่อจะเป็นเรื่องปกติที่ทำกันโดยจิตรกรญี่ปุ่นในยุคนั้น และจำนวนชื่อของโฮกูไซก็ยังถือว่ามีมากกว่าผู้อื่นมาก ชื่อที่เปลี่ยนบ่อยมักจะพ้องกับการเปลี่ยนลักษณะการเขียน ที่มีประโยชน์ในการแบ่งสมัยงานของโฮกูไซ[5]
เมื่ออายุได้ 12 ปี บิดาก็ส่งโฮกูไซให้ไปทำงานกับร้านหนังสือและห้องสมุดให้ยืมหนังสือ ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นที่นิยมมีกันในเมืองใหญ่ ๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานที่ที่สำหรับอ่านหนังสือที่พิมพ์จากภาพพิมพ์แกะไม้ สำหรับคนชั้นกลางและชนชั้นสูง[6] เมื่ออายุได้ 14 ปีโฮกูไซก็ไปฝึกงานกับช่างแกะไม้เป็นเวลาสี่ปีจนอายุ 18 ปีเมื่อได้รับให้เข้าทำงานกับห้องศิลป์ของคัตสึกาวะ ชุนโช ผู้เป็นศิลปินผู้เขียนภาพอูกิโยะซึ่งเป็นงานพิมพ์แกะไม้และจิตรกรรมประเภทที่โฮกูไซกลายมาเป็นปรมาจารย์ต่อมา และเป็นผู้นำของตระกูลงานทำนองที่เรียกว่าตระกูลงานศิลปะแบบคัตสึกาวะ (Katsukawa school)[1] ภาพอูกิโยะที่เขียนโดยจิตรกรเช่นชุนโชจะเน้นการเขียนภาพสตรีในราชสำนักหรือนักแสดงคาบูกิที่มีชื่อเสียงตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นในขณะนั้น[7]
หลังจากนั้นปีหนึ่งโฮกูไซก็เปลี่ยนชื่อเป็นครั้งแรกโดยอาจารย์ว่า “ชุนโร” (Shunrō) ขณะที่ใช้ชื่อนี้โฮกูไซก็ได้สร้างภาพพิมพ์ของตนเองเป็นครั้งแรกซึ่งเป็นภาพชุดของนักแสดงคาบูกิในปี ค.ศ. 1779 ระหว่างช่วงสิบปีที่ทำงานกับห้องแกะไม้ของชุนโช โฮกูไซก็แต่งงานเป็นครั้งแรกแต่ก็ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับภรรยาซึ่งเสียชีวิตเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1790 โฮกูไซแต่งงานครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1797 ผู้เสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น โฮกูไซมีบุตรสองคนและมีบุตรีสามคนกับภรรยาสองคน ลูกสาวคนเล็กสุดซากาเอะ (Sakae) หรือ โออิ (Ōi) ต่อมาเป็นศิลปินเหมือนพ่อ[7]
เมื่อชุนโชเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1793 โฮกูไซก็เริ่มศึกษาลักษณะงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ที่รวมทั้งลักษณะแบบยุโรป ที่มีโอกาสได้เห็นภาพพิมพ์ทองแดงของฝรั่งเศสและดัตช์[7] ต่อมาโฮกูไซถูกขับออกจากตระกูลงานศิลปะแบบคัตสึกาวะโดยชุงโก (Shunkō) ผู้เป็นผู้นำในบรรดาผู้ติดตามงานของชุนโช ที่อาจจะเป็นเพราะโฮกูไซไปศึกษากับโรงเรียนคู่แข่งสำนักคาโนะ (Kanō school) ก็เป็นได้ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่เป็นแรงผลักดันทางกำลังใจโฮกูไซกล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้ผมพัฒนางานเขียนของผมก็คือความอับอายที่ได้รับจากน้ำมือของชุงโก”[4]
ต่อมาโฮกูไซก็เปลี่ยนหัวข้องานเขียนจากการวาดภาพของสตรีภายในราชสำนักและนักแสดงที่มักจะเป็นหัวเรื่องของการวาดภาพอูกิโยะ ไปวาดภาพภูมิทัศน์และภาพชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นจากชนระดับต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงหัวข้อเป็นการสร้างแนวเขียนภาพอูกิโยะแบบใหม่และแนวการเขียนใหม่ของโฮกูไซเอง[7] Fireworks at Ryōgoku Bridge (1790) dates from this period of Hokusai's life.[8]
ช่วงต่อมาของงานเขียนเป็นช่วงที่เป็นงานเขียนแบบตระกูลทาวารายะ (Tawaraya School) เมื่อโฮกูไซได้นามใหม่ว่า “ทาวารายะ โซริ” (Tawaraya Sōri) ในช่วงนี้งานที่เขียนเป็นการเขียนด้วยแปรงแบบที่เรียกว่า “ซูริโมโนะ” และภาพประกอบสำหรับ “เกียวกะ เอฮง” (kyōka ehon) ซึ่งเป็นหนังสือประกอบภาพของกวีนิพนธ์ชวนขัน ในปี ค.ศ. 1798 โฮกูไซก็มอบชื่อตนเองให้แก่ลูกศิษย์และออกไปตั้งตัวเป็นศิลปินอิสระ โดยไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนการเขียนใดใดเป็นครั้งแรก และเริ่มใช้ชื่อ “โฮกูไซ โทมิซะ”
เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1800 โฮกูไซก็แปลงการเขียนภาพอูกิโยะที่นอกไปจากการเขียนภาพเหมือน และเปลี่ยนชื่อใหม่ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเป็น “คัตสึชิกะ โฮกูไซ” ส่วนแรกหมายถึงบริเวณในเอโดะที่เป็นที่เกิดและส่วนที่สองแปลว่า “ห้องเขียนภาพทางเหนือ” ในปีนั้นโฮกูไซก็พิมพ์งานชุดภูมิทัศน์สองชิ้น “ทัศนียภาพอันงดงามของทางตะวันออกของเมืองหลวง” และ “ทัศนียภาพ 8 มุมของเอโดะ” ในช่วงนี้ โฮกูไซก็เริ่มมีผู้ต้องการจะมาเป็นลูกศิษย์ ในชั่วชีวิตก็มีนักเรียนถึง 50 คนที่ได้ร่ำเรียนกับโฮกูไซ[7]
ในช่วงสิบปีต่อมาโฮกูไซก็มีชื่อเสียงมากขึ้นทุกขณะ ทั้งจากงานเขียนที่ทำและความความสามารถในการเผยแพร่ชื่อเสียงของตนเอง ระหว่างงานเทศกาลในโตเกียวในปี ค.ศ. 1804 โฮกูไซเขียนภาพพระโพธิธรรมที่กล่าวกันว่ายาวถึง 180 ฟุต (600 เมตร) โดยใช้ไม้กวาดและถังหมึกเขียน อีกเรื่องหนึ่งกล่าวถึงโฮกูไซว่าได้รับเชิญโดยสำนักโชกุนอิเอนาริ ให้ไปเปรียบเทียบผลงานกับศิลปินของสำนักผู้เขียนงานด้วยแปรงที่มีลักษณะแบบดั้งเดิม งานเขียนของโฮกูไซที่เขียนต่อหน้าโชกุนเป็นงานเขียนเส้นโค้งสีน้ำเงินบนกระดาษ เสร็จแล้วโฮกูไซก็ไล่ไก่ที่ขาข้างหนึ่งจุ่มสีแดงให้วิ่งไปบนกระดาษที่เขียนเส้นไว้ โฮกูไซบรรยายต่อโชกุนว่าเป็นภาพภูมิทัศน์ของแม่น้ำทัตสึตะที่มีใบเมเปิลแดงลอยตามสายน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้โฮกูไซได้รับรางวัลในการแข่งขัน[9]
ในปี ค.ศ. 1807 โฮกูไซก็ร่วมมือกับนักเขียนนวนิยายผู้มีชื่อเสียงทากิซาวะ บากิง (Takizawa Bakin) ในการเขียนภาพประกอบในหนังสือหลายเล่ม แต่ศิลปินสองคนนี้ก็ไม่ลงรอยกันเพราะมีความคิดเห็นทางศิลปะที่ต่างกัน ซึ่งทำให้ความร่วมมือมาหยุดชะงักลงในหนังสือเล่มที่สี่ เจ้าของสำนักพิมพ์ต้องเลือกระหว่างโฮกูไซหรือบากิงไว้ทำโครงการต่อ ซึ่งทางสำนักพิมพ์ก็เลือกโฮกูไซ ซึ่งแสดงถึงการเน้นความสำคัญของภาพประกอบสำหรับงานพิมพ์ในยุคนั้น[10]
ในปี ค.ศ. 1811 เมื่อมีอายุได้ 51 ปีโฮกูไซก็เปลี่ยนชื่อเป็น “ไทโตะ” (Taito) ซึ่งเป็นช่วงที่เขียนงานแบบที่เรียกว่า “โฮกูไซ มังงะ” (Hokusai Manga) และ “etehon” หรือตำราศิลปะต่าง ๆ[1] โฮกูไซเริ่มงานเขียนตำราในปี ค.ศ. 1812 ด้วย “บทเรียนเขียนภาพเบื้องต้น” ซึ่งเป็นงานเขียนเพื่อหาเงินและหาลูกศิษย์เพิ่มเติม หนังสือ “มังงะ” เล่มแรกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1814 ต่อมาก็มีอีก 12 เล่มที่ตีพิมพ์ก่อนปี ค.ศ. 1820 และอีกสามเล่มที่พิมพ์หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่รวบรวมภาพเขียนเป็นจำนวนพันของสัตว์, บุคคลในศาสนา และบุคคลทั่วไป ที่มักจะแซกอารมณ์ขัน และเป็นงานที่นิยมกันแพร่หลายในยุคนั้น[10]
ในปี ค.ศ. 1820 โฮกูไซก็เปลี่ยนชื่ออีกเป็น “อีตสึ” (Iitsu) ซึ่งเป็นช่วงที่มีความมั่นคงในฐานะจิตรกรไปทั่วญี่ปุ่น (ในขณะนั้นเป็นสมัยญี่ปุ่นปิดประเทศ (Sakoku) จากโลกภาพนอก ฉะนั้นชื่อเสียงของโฮกูไซจึงมิได้เป็นที่เลื่องลือไปยังโลกตะวันตกจนกระทั่งเสียชีวิตไปแล้ว) โฮกูไซมามีชื่อเสียงถึงจุดสุดยอดในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1820 งานเขียนชุดสำคัญ “ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ” ที่รวมทั้งภาพ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ” ก็เป็นงานที่เขียนในช่วงที่ว่านี้ และเป็นที่นิยมจนกระทั่งโฮกูไซตัดสินใจเพิ่มภาพอีกสิบภาพเข้าไปในชุด ภาพชุดอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมที่พิมพ์ในช่วงนี้ก็ได้แก่ชุด “การเที่ยวชมน้ำตกในจังหวัดต่าง ๆ” และชุด “ทัศนียภาพที่แตกต่างของสะพานอันงดงามของจังหวัดต่าง ๆ”[11] นอกจากนั้นแล้วโฮกูไซก็ยังผลิตก็ยังเขียนงานดอกไม้และนกแบบที่มีรายละเอียดอีกหลายภาพ ที่รวมทั้งภาพที่เด่นชื่อ “ดอกฝิ่น” และ “ฝูงไก่”[12]
ช่วงการเขียนต่อมาเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1834 ซึ่งเป็นช่วงที่ใช้ชื่อ “Gakyō Rōjin Manji” (ชายแก่ผู้คลั่งเขียนภาพ)[8] ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เขียน “ทัศนียภาพ ร้อยมุมของภูเขาฟูจิ” ซึ่งเป็นงานเขียนชุดภูมิทัศน์ที่สำคัญอีกชุดหนึ่ง[12]
โฮกูไซเขียนคำลงท้ายสำหรับงานชุดนี้ว่า:
ตั้งแต่อายุได้หกขวบผมก็ชอบร่างภาพจากแบบจริง ผมเป็นจิตรกร และตั้งแต่อายุได้ห้าสิบปีเป็นต้นมาก็ได้เขียนงานที่ทำให้มีชื่อเสียงบ้าง แต่งานที่เขียนก่อนอายุได้เจ็บสิบก็ไม่มีชิ้นใดที่มีคุณค่าที่ควรจะกล่าวถึง เมื่ออายุได้เจ็ดสิบสามปีผมก็เริ่มเข้าใจโครงสร้างของนกและสัตว์, แมลงและปลา, และการเติบโตของพันธุ์ไม้ ถ้าผมพยายามต่อไปผมก็คงจะเข้าใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อไปถึงอายุแปดสิบหก ซึ่งพอถึงอายุเก้าสิบผมก็คงจะเข้าถึงหัวใจของธรรมชาติได้ ถ้าอายุได้ร้อยปีผมก็อาจจะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่เมื่ออายุไปถึงร้อยสามสิบ, ร้อยสี่สิบ หรือกว่านั้นผมก็คงจะถึงจุดที่ทุกจุดทุกฝีแปรงที่ผมเขียนก็คงมีชีวิตจิตใจขึ้นมาได้ ขอให้สวรรค์ให้ผมมีอายุยืนเพื่อให้ผมได้มีโอกาสพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ผมพูดมานี้ไม่ใช่เรื่องเท็จ[1]
ในปี ค.ศ. 1839 ห้องเขียนภาพและภาพเขียนเป็นจำนวนมากของโฮกูไซถูกเพลิงไหม้ เมื่อมาถึงช่วงนี้ชื่อเสียงของโฮกูไซก็เริ่มจะลดถอยลง เมื่อมีศิลปินรุ่นเด็กกว่าเช่นฮิโรชิเงะที่มามีชื่อเสียงแทนที่ แต่โฮกูไซก็ไม่ได้หยุดเขียนภาพ เช่นยังคงเขียนภาพ “เป็ดในสระ” เมื่ออายุ 87 ปี[14]
โฮกูไซพยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะเขียนที่ดีกว่าเดิม เล่ากันว่าเมื่อใกล้จะเสียชีวิต โฮกูไซอุทานว่า “ถ้าสวรรค์จะให้เวลาอีกสิบปีเท่านั้น...หรือเพียงอีกห้าปี ผมก็ได้กลายเป็นจิตรกรที่แท้จริง” โฮกูไซเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1849 และถูกฝังไว้ที่วัดเซเกียวในโตเกียว[1]
สี่ปีหลังจากที่โฮกูไซเสียชีวิต กองเรืออเมริกันที่นำโดยแมทธิว ซี. เพอร์รีย์ก็สามารถบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประตูติดต่อกับทางตะวันตกได้ โฮกูไซเป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นในช่วงสุดท้ายก่อนที่จะมีการติดต่อกับชาวตะวันตกที่เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของญี่ปุ่นไปโดยสิ้นเชิง[14]
โฮกูไซเป็นจิตรกรอยู่เป็นเวลานานแต่งานชิ้นสำคัญ ๆ เขียนหลังจากที่อายุ 60 แล้ว งานที่มีชื่อเสียงที่สุดชุด “ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ” เขียนระหว่าง ค.ศ. 1826 ถึง ค.ศ. 1833 ที่อันที่จริงแล้วมีด้วยกันทั้งหมด 46 ภาพ (10 ภาพเป็นภาพที่มาเขียนเพิ่มภายหลัง)[4] งานเขียนภาพอูกิโยะของโฮกูไซเปลี่ยนแปลงจากการเขียนภาพของสตรีในราชสำนักและนักแสดงที่เป็นที่นิยมกันในสมัยเอโดะ มาเป็นการเขียนที่กว้างขึ้นที่รวมภูมิทัศน์, ต้นไม้ และสัตว์เข้าไปด้วย[7]
ทั้งการเลือก “ชื่อ” และการเขียนภาพภูเขาฟูจิมาจากความเชื่อทางศาสนา ชื่อโฮกูไซที่แปลว่า “ห้องเขียนภาพเหนือ” ซึ่งเป็นคำย่อของ “Hokushinsai” (北辰際)หรือ “ห้องเขียนภาพดาวเหนือ” โฮกูไซนับถือ Nichiren ซึ่งเป็นลัทธิหนึ่งของพุทธศาสนาที่เห็นว่าดาวเหนือ เกี่ยวข้องกับ Myōken (妙見菩薩)[4] ภูเขาฟูจิตามธรรมเนียมแล้วมีความเชื่อมโยงกับความเป็นอมตะ ความเชื่อนี้ย้อนหลังไปถึงเรื่อง “ตำนานคนตัดไผ่” (竹取物語?) ของคริสต์ศตวรรษที่ 10 ที่เล่ากันว่าเป็นที่พระจักรพรรดินำยาอายุวัฒนะไปไว้บนยอดเขา เฮนรี สมิธอธิบายว่า “ฉะนั้นตั้งแต่โบราณกาลเป็นต้นมาภูเขาฟูจิจึงถือกันว่าเป็นแหล่งของความลับของความเป็นอมตะ ซึ่งเป็นหัวใจของความผูกพันอันล้ำลึกของโฮกูไซกับภูเขา”[3]
งานชิ้นใหญ่ที่สุดของโฮกูไซคืองานเขียน “โฮกูไซ มังงะ” (北斎漫画) ที่มีด้วยกันทั้งหมด 15 เล่มที่ประกอบด้วยภาพราว 4,000 ภาพ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1814[4] งานมังงะของโฮกูไซมักจะเข้าใจผิดกันว่าเป็นที่มาของมังงะสมัยใหม่ แต่มังงะของโฮกูไซเป็นภาพวาดชุด (ของสัตว์, คน, สิ่งของ หรืออื่น ๆ) ซึ่งต่างจากหนังสือคอมมิคที่เป็นเรื่องราว[4]
โฮกูไซเป็นแรงบันดาลใจให้แก่งานรวมเรื่องสั้น “24 มุมของภูเขาฟูจิโดยโฮกูไซ” ที่ได้รับรางวัลฮิวโกโดยนักเขียนนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์โรเจอร์ เซลาซนี ในเรื่องนี้ตัวเอกของเรื่องเดินทางรอบบริเวณภูเขาฟูจิและทุกที่ที่หยุดเป็นที่เดียวกับที่โฮกูไซเขียนภาพ
อิทธิพลของโฮกูไซมีต่อจิตกรร่วมสมัยของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่กำลังนิยมแนวเขียนใหม่ที่เรียกว่าอาร์ตนูโวหรือที่เรียกว่า “Jugendstil” ในเยอรมนีที่ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของโฮกูไซและศิลปะญี่ปุ่นโดยทั่วไป และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ ที่จะเห็นได้จากงานเขียนในหัวข้อที่คล้ายคลึงกันกับโฮกูไซในงานเขียนของโคลด โมเนท์ และ ปีแยร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ นอกจากนั้นก็ยังจะเห็นได้ในงานเขียน “Peitschenhieb” ของแฮร์มัน โอบริสท์ซึ่งเป็นแนวการเขียนใหม่ที่มีอิทธิพลโดยตรงจากงานเขียนของโฮกูไซอย่างเห็นได้ชัด
งานเขียนในรายการข้างล่างเรียงตามลำดับเวลาที่เขียน งานเขียนแต่ละชิ้นได้รับการกล่าวถึงหรือใช้เป็นภาพประกอบในงานชีวประวัติชิ้นหนึ่งชิ้นใด ที่อาจจะเป็นงานที่ถือว่าเป็นงานชิ้นเด่นหรืองานที่เป็นตัวแทนของแต่สมัยการเขียนของโฮกูไซ[15]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.